6 พ.ค. 2021 เวลา 13:55 • ปรัชญา
"เมื่อไม่มีมา ไม่มีไป ย่อมไม่มีเกิด และไม่มีดับ "
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงชักชวนภิกษุทั้งหลาย
ด้วยธัมมิกถาอันเนื่องเฉพาะด้วยนิพพาน,
ได้ทรงเห็นว่าภิกษุทั้งหลายสนใจฟังอย่างยิ่ง
จึงได้ตรัสพระพุทธอุทานนี้ขึ้นในเวลานั้นว่า:
ความหวั่นไหว
ย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยแล้ว
ความหวั่นไหว
ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว
ความหวั่นไหวไม่มี,
ปัสสัทธิย่อมมี เมื่อปัสสัทธิมี,
นติ(ความน้อมไป) ย่อมไม่มี
เมื่อนติไม่มี,
อาคติคติ(การมาและการไป)ย่อมไม่มี
เมื่ออาคติคติไม่มี
จุตูปปาตะ (การเคลื่อนและการเกิดขึ้น) ย่อมไม่มี
เมื่อจุตูปปาตะไม่มี,
อะไร ๆ ก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น
ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง
นั่นแหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข์ละ.
- อุ.ขุ.๒๕/๒๐๘/๑๖๑.
สักแต่ว่า... (นัยที่ ๑)
พาหิยะ ! เมื่อใดเธอ
เห็น รูป แล้ว สักว่าเห็น,
ได้ฟังเสียง แล้ว สักว่าฟัง,
ได้กลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสทางผิวกาย,
ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส,
ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่า ได้รู้แจ้งแล้ว ;
เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี.
เมื่อใด “เธอ” ไม่มี ;
เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้,
ไม่ปรากฏในโลกอื่น,
ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง :
นั่นแหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข์ละ.
- อุ. ขุ. ๒๕ / ๘๓ / ๔๙.
Photo by Benjamin DeYoung on Unsplash
ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนไฟกองใหญ่
พึงลุกโพลงด้วยไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง
ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง
สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง.
บุรุษพึงเติมหญ้าแห้งบ้าง
มูลโคแห้งบ้าง ไม้แห้งบ้าง
ลงไปในกองไฟนั้น ตลอดเวลาที่ควรเติม
อยู่เป็นระยะ ๆ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยอาการ อย่างนี้แล
ไฟกองใหญ่
ซึ่งมี เครื่องหล่อเลี้ยง อย่างนั้น
มี เชื้อเพลิง อย่างนั้น
ก็จะพึงลุกโพลง ตลอดกาลยาวนาน
ข้อนี้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อภิกษุเป็นผู้มีปกติ
เห็นโดยความเป็นอัสสาทะ (น่ารักน่ายินดี)
ใน อุปาทานิยธรรม (ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน) อยู่
ตัณหาย่อมเจริญ อย่างทั่วถึง
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย
ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
จึงเกิดขึ้นครบถ้วน
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
- นิทาน. สํ. ๑๖/๑๐๒/๑๙๖-๑๙๗.
ตัณหา คือ “เชื้อแห่งการเกิด”
วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้น
สำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่ (สอุปาทานสฺส)
ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน
วัจฉะ ! เปรียบเหมือน ไฟที่มีเชื้อ
ย่อมโพลงขึ้นได้ (อคฺคิ สอุปาทาโน ชลติ)
ที่ไม่มีเชื้อ ก็โพลงขึ้นไม่ได้
อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น
วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้น
สำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่
ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน
“พระโคดมผู้เจริญ !
ถ้าสมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล,
สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติซึ่งอะไรว่าเป็นเชื้อแก่เปลวไฟนั้น
ถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?”
วัจฉะ ! สมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล
เราย่อมบัญญัติเปลวไฟนั้น ว่า
มีลมนั่นแหละเป็นเชื้อ
วัจฉะ ! เพราะว่า สมัยนั้น
ลมย่อมเป็นเชื้อของเปลวไฟนั้น.
“พระโคดมผู้เจริญ ! ถ้าสมัยใด
สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น,
สมัยนั้นพระโคดม ย่อมบัญญัติ ซึ่งอะไร
ว่าเป็นเชื้อแก่สัตว์นั้น ถ้าถือว่า มันยังมีเชื้ออยู่ ?”
วัจฉะ ! สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้
และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น
เรากล่าว สัตว์นี้ ว่า มีตัณหานั่นแหละเป็นเชื้อ
เพราะว่า สมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น แล.
- สฬา. สํ. ๑๘/๔๘๕/๘๐๐.
.
"ตัณหาผู้สร้างภพ การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป"
ทุกข์ดับ เพราะเหตุคือตัณหาดับ จากการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา