6 พ.ค. 2021 เวลา 14:27
11 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตัดสินใจ
.
คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการตัดสินใจของคุณนั้นถูกต้อง?
คุณแน่ใจได้แค่ไหนว่าคุณไม่ต้องการความเห็นของคนอื่น?
คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการตัดสินใจของคุณนั้นไม่ได้อยู่บนความลำเอียง?
.
วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ 11 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตัดสินใจที่อาจจะทำให้หลายๆ คนเลือกเส้นทางที่ผิด ซึ่งทั้ง 11 ข้อนี้ มาจากการเก็บข้อมูลของบริษัท Decisive บริษัทที่ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจมามากกว่า 20 ปี ที่ได้ชี้ว่าส่วนใหญ่แล้วคนเราจะมีความคิดและความเชื่ออย่างไรบ้างที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจ ไปดูกันเลย!
.
#การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพคือการตัดสินใจที่เร็ว
.
หลายๆ คนอาจจะชอบคิดว่าการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพคือการตัดสินใจที่ ‘รวดเร็ว’ แต่ความจริงแล้วการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ คือการที่เรารู้และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าเรากำลังตัดสินใจไปเพื่ออะไร การรีบตัดสินใจทำให้เราศึกษาข้อมูลหรือปัจจัยได้อย่างไม่เพียงพอ ส่งผลให้เราตัดสินใจผิดๆ ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้เราผิดหวังและเสียใจกับสิ่งที่เราได้เลือกไป
.
ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในโชว์รูมรถและอยากที่จะซื้อรถสักคันหนึ่ง เซลล์ขายรถก็พยายามที่จะพูดแต่ข้อดีของมันให้คุณฟัง บอกว่าถ้าคุณไม่ซื้อตอนนี้เดี๋ยวก็มีคนเข้ามาซื้อ ถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อตอนนี้เลยไม่อย่างนั้นต้องรออีกนาน ซึ่งก็ทำให้คุณตัดสินใจซื้อรถคนนั้นมาเลย แต่จริงๆ แล้วคุณอาจจะไม่ได้ต้องการรถคันนั้นจริงๆ ทำให้คุณรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำการบ้านและศึกษาเกี่ยวกับมันให้เยอะกว่านี้
.
#ยุ่งเกินไปยังไม่มีเวลาตัดสินใจ
.
การที่เราบอกว่าเรายังไม่ว่าง ยังไม่มีเวลาตัดสินใจเพราะยุ่งอยู่ เป็นการลดประสิทธิภาพและความเร็วในการตัดสินใจ ซึ่งนี่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องตัดสินใจทันที แต่ในเมื่อสุดท้ายคุณก็จะต้องกลับมาคิดทบทวนมันอยู่ดี แทนที่จะผัดมันออกไป ก็สามารถที่จะค่อยๆ ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องใช้ในการประกอบการตัดสินใจไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะเป็นการประหยัดเวลา แทนที่เราจะต้องรีบหาและใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลรวดเดียว
.
#จะต้องตัดสินใจเรื่องนี้ทันที
.
บางคนอาจจะมีความคิดที่ว่า เรื่องนี้จะต้องตัดสินใจเดี๋ยวนี้เท่านั้น การตัดสินใจเช่นนี้มักเกิดจากการที่เราไปโฟกัสกับปัญหาเล็กๆ จนลืมมองภาพรวมและทำความเข้าใจกับสถานการณ์ภาพใหญ่ๆ จนทำให้คุณนั้นรีบที่จะตัดสินใจ ส่งผลให้คุณแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดหรือแก้ไขปัญหาแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น
.
#สามารถตัดสินใจเรื่องนี้คนเดียว
.
การตัดสินใจที่สำคัญนั้น ‘ต้อง’ ให้คนอื่นนั้นเข้ามามีส่วนร่วม การกันไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมตัดสินใจจะสามารถแก้ไขปัญหาได้แค่ส่วนเดียวเท่านั้น หรือในอีกทางหนึ่ง ยิ่งเป็นการทำให้ปัญหานั้นถลำลึกเข้าไปอีก คุณควรที่จะรับฟังเสียงของคนอื่นและนำเหตุผลของพวกเขามานั่งคิดและตกผลึก เพราะการตัดสินใจแค่คนเดียว จะทำให้คุณมีมุมมองกับเรื่องนั้นๆ เพียงฝั่งเดียว ที่อาจจะส่งผลให้คุณนั้นตัดสินใจผิดพลาด
.
#เชื่อในความคิดตัวเองแค่ต้องหาหลักฐานมารับรอง
.
การตัดสินใจที่มาจากการที่ตัวคุณเชื่อว่าความคิดของคุณนั้นถูกต้อง แต่แค่ต้องหาหลักฐานมาสนับสนุนว่าคุณนั้นคิดถูกแล้ว สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Confirmation Bias’ ซึ่งบางทีก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับ
‘Groupthink’ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่อยากที่จะค้าน เพราะว่ากลัวจะแปลกแยกไปจากคนอื่น
.
ซึ่งความเชื่อเช่นนี้อันตรายมาก และทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายและเกิดความล้มเหลวมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของทหารสหรัฐฯ ในการบุกโจมตีอ่าวหมู (Bay of Pigs) หรือจะเป็นเหตุการณ์วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ รวมถึงการระเบิดของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์
.
โดยการที่จะแก้ปัญหานี้ คุณอาจจะลองตั้งสมมติฐานขึ้นมาเพื่อค้านกับความเชื่อแรกของคุณ และลองวิเคราะห์และประเมินว่าสมมติฐานนั้นจริงหรือไม่ เพื่อที่จะได้เห็นมุมมองจากทั้งสองด้าน และป้องกันไม่ให้เราต้องหลุมพรางของ Confirmation Bias
.
#เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง
.
ในการตัดสินใจเล็กๆ ที่ไม่สำคัญมากอย่างการเลือกร้านอาหารที่จะกิน เลือกซื้อของที่เราชอบ มันไม่ผิดถ้าเราจะใช้สัญชาตญาณของเราในการตัดสินใจ แต่ถ้าคุณจะต้องตัดสินใจเรื่องที่สำคัญหรือเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง ถ้าหากว่าเราเชื่อในสัญชาตญาณของเรา นั่นก็แปลว่าเรากำลังทำการตัดสินใจบนความลำเอียงและความทรงจำที่ผิดๆ ของเราอยู่ ทำให้เรามักจะตัดสินใจผิดพลาด แต่จริงๆ แล้วการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญจะต้องมาจาก ‘ข้อมูลเชิงลึก’ และ ‘ความเข้าใจอย่างถ่องแท้’ ที่จะทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น
.
#การตัดสินใจเป็นเส้นตรง
.
ความเชื่อที่ว่าการตัดสินใจเป็นเส้นตรง หรือหากพูดง่ายๆ คือถ้าหากว่าเราตัดสินใจไปแล้วก็คือตัดสินใจไปเลย ไม่มีการย้อนกลับมา แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป การตัดสินใจนั้นเป็นเหมือนกับวงจร ที่จะเดินทางผ่าน Feedback Loop หมายความว่า เมื่อเราได้ตัดสินใจไปแล้ว และเราได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เรามองข้ามไปในการตัดสินใจครั้งแรก เราก็สามารถที่จะวนกลับมาตัดสินใจใหม่ เพื่อที่จะหาการตัดสินใจที่ดีสุด เพราะจริงๆ แล้วหนึ่งการตัดสินใจใหญ่ๆ คือการรวมกันของการตัดสินใจเล็กๆ หลายๆ อัน ซึ่งการเดินทางของการตัดสินใจเล็กๆ นี้ก็จะผ่าน Feedback Loop เป็นวงจรอยู่เรื่อยๆ จนเราได้การตัดสินใจที่ดีที่สุดออกมา
.
#สามารถเชื่อมโยงไอเดียต่างๆอยู่แค่ในหัว
.
อย่างที่กล่าวไปในข้อที่แล้วว่า การตัดสินใจใหญ่ๆ นั้นเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเล็กๆ รวมกัน ดังนั้นเมื่อเราพยายามที่จะร้อยเรียงความคิดเหล่านั้นภายในหัวของเรา มันกลายเป็นว่าความคิดของเรานั้นยุ่งเหยิงและทำให้เกิดความทรงจำที่ผิดๆ ดังนั้น ในการที่จะคิดวิเคราะห์และทำการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น เราจะต้องเอาความคิดต่างๆ ออกมาจากหัวของเราและจดบันทึกมันลงไป เพื่อที่จะเห็นภาพรวมของมันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
.
#มีข้อมูลที่ต้องการครบแล้ว
.
บางทีเราก็คิดว่าเรามีข้อมูลที่ครบแล้ว โดยไม่คิดว่าการตัดสินใจนั้นมันเหมาะกับเราหรือไม่ อย่างเช่นถ้าคุณต้องการจะซื้อรถสักหนึ่งคัน แล้วคุณไปขอคำปรึกษาเพื่อนของคุณว่ารถคันไหนดี แต่เพื่อนของคุณกับตัวคุณนั้นมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันมาก เพื่อนของคุณนั้นเป็นคนที่ลุยๆ เล่นกีฬา และมีครอบครัว แต่คุณนั้นอยู่คนเดียวแถมยังไม่ได้มีไลฟ์สไตล์ที่ลุยๆ หรือต้องขนของชิ้นใหญ่ๆ อะไร เมื่อเพื่อนของคุณแนะนำรถ SUV มา คุณก็คิดว่าคุณนั้นได้ข้อมูลที่ต้องการครบแล้ว และก็ตัดสินใจซื้อตามเพื่อนของคุณ โดยไม่ได้ดูว่าสิ่งนั้นตอบโจทย์ความต้องการของตัวคุณเองหรือไม่
.
#สามารถตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล
.
จากที่ Amos Tversky และ Daniel Kahneman นักจิตวิทยาทั้งสองคนได้ระบุไว้ว่า มนุษย์เราไม่มีใครมีเหตุผล เราทุกคนมีความลำเอียงที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์เก่าๆ ที่เราเคยเจอและจากอารมณ์ส่วนตัวของเรา ทำให้การตัดสินใจของเรานั้นไม่ได้มาจากความเป็นเหตุเป็นผลซะทีเดียว
.
#มีการตัดสินใจแค่แบบเดียวเท่านั้น
.
แต่ละทุกการตัดสินใจ มันมีหนทางมากกว่าหนึ่งทางที่เราสามารถที่จะเลือกเดิน อย่าพึ่งปักใจกับทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เรามักจะถูกขังอยู่ในกรอบความคิดของตัวเอง กรอบข้อมูลที่ตัวเองมี และกรอบที่คนอื่นได้สร้างไว้ ทำให้เรามองไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ ดังนั้น ลองก้าวออกมาจากกรอบนั้นๆ และมองการตัดสินใจในมุมที่ต่างออกไป ก็อาจจะทำให้เราได้พบกับทางเลือกที่มากขึ้นกว่าเดิม
.
.
แปลและเรียบเรียง:
.
เนื้อหาบางส่วนถอดมาจาก Mission To The Moon EP.1121 : 11 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตัดสินใจ
.
.
#MissionToTheMoonPodcast
โฆษณา