7 พ.ค. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กระแสสังคมในช่วงนี้โดยเฉพาะจากคน gen Z หรือแม้แต่ gen Y หลายๆคนเองก็ตาม ซึ่งเป็นวัยทำงานและสร้าง productivity ให้กับประเทศ มันก็สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในบ้านตัวเองไม่น้อย ถึงแม้ว่าจะมีส่วนน้อยมากที่จะทำฝันให้เป็นจริงได้ เพราะการดิ้นรนย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบันเมื่อเทียบกับในอดีต
#ย้ายประเทศกันเถอะ
คำถามมันอยู่ที่ว่า วลีนี้ใครเป็นคนพูด เพราะผลกระทบมันไม่เหมือนกันแน่นอน
ถ้าเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ที่ได้รับผลกระทบช่วงนี้ ก็คงเหมือนเป็นเสียงบ่น จากความอึดอัด
ถ้าเป็นชนชั้นกลางที่เป็นระดับมันสมองของประเทศ ก็เหมือนเรากำลังจะเสียหัวกระทิชั้นดีไป ซึ่งก็มีอยู่เรื่อยๆก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงหลังมันอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆรึเปล่านั้น ไม่แน่ใจ
ถ้าเป็นกลุ่มทุน อันนี้หายนะ เพราะ impact มันวงกว้างและกระทบระยะยาวมากๆ
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงสามก๊กที่ว่า แม่ทัพเก่งๆ 1 คน มีค่ามากกว่าพลทหารนับแสน นั่นคือเหตุว่าทำไมโจโฉถึงได้เก่งกาจในการใช้คนและดึงตัวคนมาเป็นพวกมากๆจนเกือบจะได้ครองทั้งแผ่นดินในช่วงนึง
ในวันนี้ ประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างไม่ต้องสงสัย หันไปมองรอบๆตัวก็จะเข้าใจดี ว่าคนในวัยทำงานทุกวันนี้คิดแล้วคิดอีกกับการจะมีลูกซักคน เหตุเพราะหลายๆปัจจัยแวดล้อมและความเชื่อมั่นในการอยู่รอดอย่างสุขสบายในอนาคตนั้นมันไม่เอื้ออำนวยเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สัดส่วนของประชากรวัยทำงานในช่วงอายุ 20-60 ปี มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ 6% ในทุกๆ 10 ปีจากนี้ไป ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2041 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า เราจะเหลือคนในวัยทำงานเพียง 45.6% จากวันนี้ที่มีอยู่ 57.5% รวมถึงจำนวนประชากรในประเทศก็จะลดลงเรื่อยๆด้วย ซึ่งเราอยู่ใกล้ๆจุดพีคของจำนวนคนในประเทศแล้ว ณ วันนี้
สิ่งที่จะตามมาคือ productivity ของประเทศที่ต้องการการขับเคลื่อนจากคนกลุ่มนี้ก็จะลดลงตามจำนวนเช่นกัน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่างๆของรัฐเพื่อคนสูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบสวนทางกับรายได้
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าถึงเวลาที่เราถึงวัยที่ควรจะได้รับสวัสดิการเหล่านี้บ้าง ที่เราจ่ายให้กับกลุ่มคนสูงวัย ณ วันนี้ ในตอนนั้นยังจะมีเหลือเท่าเดิมกับทุกวันนี้รึเปล่า ไม่ได้ขอดอกเลย ขอแค่ต้นยังอยู่ครบก็ดีนักหนา
บางคนอาจจะบอกว่า ประเทศเล็กๆบางประเทศที่เค้ามีประชากรน้อยกว่าเรามาก ยังรวยกันได้ เช่นพวกในยุโรป แต่อย่าลืมว่า คุณภาพของประชากรประเทศเหล่านั้นที่สร้าง productivity ต่อหนึ่งหน่วยของคนมันมากกว่าของเราไหนต่อไหน เหตุเพราะเค้ามีเทคโนโลยี หรือ know how ในสาขาต่างๆ ซึ่งตรงนี้ดูได้ง่ายๆจาก GDP per capita
แล้วพี่ใหญ่อย่างทางด้านเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนล่ะ จีนเองก็เริ่มจะมีการชะลอตัวของประชากรลงแต่ช้ากว่าเรา ซึ่งจุดพีคของจำนวนคนน่าจะอยู่ที่อีก 10 ปีข้างหน้า จากนั้นจะทรงๆค่อยๆลดลงเล็กน้อย
ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น จำนวนประชากรวัยทำงานแทบไม่ได้ลดลงเลย และจำนวนคนทั้งหมดกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยในโมเดล ก็เพราะจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนจากทุกมุมโลกเช่นกันผสมกับการเกิดของคนรุ่นใหม่ที่ยังมีต่อเนื่อง
หันกลับมาดูเพื่อบ้านของเราอย่างเวียดนามบ้าง จะเห็นว่า เวียดนามน่าจะมีการเติบโตของประชากรต่อเนื่องไปถึงจุดพีคในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยที่สัดส่วนวัยทำงานไม่ได้ลดลงมากนัก ภาพคล้ายๆไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ผมไม่ได้เอาข้อมูลของประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศที่มีนโยบายเปิดรับคนที่มีศักยภาพให้ย้ายสัญชาติไปอยู่เพื่อพัฒนาประเทศเค้า หรือประเทศยอดฮิตที่ชาวเอเชียทั้งหลายนิยมย้ายถิ่นฐานไป ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย แคนาดา หรือแม้แต่ อังกฤษ ซึ่งในโมเดลได้คาดการณ์จำนวนประชากรของประเทศเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปีไปจนปี 2100 เหตุเพราะว่ามีคนอพยพย้ายถิ่นบานไปมากขึ้นๆนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์อนาคต โดยใช้ข้อมูลจากอดีตมาทำโมเดล ซึ่งก็อาจจะคลาดเคลื่อนได้ในระยะยาวหากมีสถานการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นบนโลกของเราวันใดวันหนึ่ง ไม่ว่าจะเรื่องสงคราม ภัยพิบัติ นโยบายการเปิดครับคนย้ายสัญชาติของประเทศนั้นๆ หรืออื่นๆ
ในมุมของการลงทุน ถึงแม้ว่าหลายๆคนอาจจะย้ายตัวเองไปไม่ได้เพราะต่างเหตุผล แต่การย้ายเงินทุนเพื่อไปหาผลตอบแทนในที่อื่นนั้นอาจจะง่ายกว่า จากโครงสร้างหลายๆอย่าง ณ วันนี้ และในอนาคต
ถือว่าเรายังโชคดี ที่ ณ วันนี้ยังไม่ได้มีการปิดกั้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศจากทางภาครัฐหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าดูสัดส่วนเงินลงทุนของคนไทยที่เอาไปลงในต่างประเทศ ถือว่ายังมีอยู่น้อยมาก โดยรวมคนส่วนใหญ่ยังค่อนข้าง home country bias กัน แต่ช่วงหลังๆก็เริ่มเห็นมากขึ้นอยู่
การที่ยอดขายสุทธิสะสมของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2013 และยิ่งหนักขึ้นมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จนยอดรวมแตะระดับล้านล้านบาท มีเพียงกองทุนและรายย่อยในประเทศที่เป็นผู้ซื้อกันเอง ก็น่าจะพอบอกอะไรได้บางอย่างในภาพรวม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะแย่ไปหมด ในดีมีแย่ และในแย่ก็มีดีอยู่เสมอ เพียงแต่หายากหน่อยเท่านั้นเองที่จะฝากชีวิตไว้ในระยะยาว
#ย้ายประเทศกันเถอะ
โฆษณา