7 พ.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 22] อักษรละติน/อักษรโรมัน
Latin/Roman alphabet
1
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 1 ของซีรีส์ "อักษรแบบต่าง ๆ ทั่วโลก" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอักษรละติน/อักษรโรมัน อักษรที่ใช้กันหลายทวีปตั้งแต่ออสเตรเลีย เอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพรวมของอักษรละติน/โรมัน วิวัฒนาการจากอักษรตัวใหญ่จนเกิดอักษรตัวเล็ก และการเผยแพร่ตามดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
แผนภาพแสดงวิวัฒนาการของอักษรละติน/อักษรโรมัน จากอักษรโรมันโบราณ มีอักษร 21 ตัว อักษรโรมันในภาษาละตินคลาสสิก 23 ตัว (เพิ่ม G และ Y) มาจนถึงอักษรโรมันแบบที่ใช้ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน 26 ตัว (เพิ่ม J U และ W) [Credit ภาพ: Matt Baker, UsefulCharts.com]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : https://www.youtube.com/watch?v=3y3PiK3wj64
เพลง “In Memoriam” เพลงภาษาละตินออกมาใน ค.ศ.2011 โดย Globus วงดนตรีในสหรัฐฯ
1
ระบบการเขียนที่ใช้ในภาษาละติน เรียกว่า “อักษรละติน” หรือ “อักษรโรมัน” (สองคำนี้เรียกสลับกันได้) หากเริ่มต้นจากอักษรที่ใช้ตามภาษาละตินคลาสสิก จะเรียกตามชื่อภาษาว่า “อักษรละตินคลาสสิก” (Classical Latin alphabets) ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้ในภาษาละตินตั้งแต่ช่วงปีที่ 75 ก่อนคริสตกาล (สมัยสาธารณรัฐโรมันตอนปลาย) ประกอบด้วยตัวอักษรทั้งหมด 23 ตัว ได้แก่
A B C D E F G H I K L M N O P Q R S T V X Y Z
ตัวอักษรละตินคลาสสิกทั้ง 23 ตัวนี้ จะจำว่าเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ที่ตัดออกไป 3 ตัว (J U W) ก็ได้ ซึ่งอักษรทั้ง 3 ตัวนี้ เติมเข้ามาภายหลัง
อักษรละติน/อักษรโรมันส่วนหนึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ตัว K เป็นคู่ตัวอักษรกับตัว C และตัว K ปรากฏในฐานะเป็นตัวอักษรใช้แทนตัว C ในคำบางคำ
- ตัว I เป็นได้ทั้งสระและพยัญชนะ เมื่อเป็นพยัญชนะจะออกเสียงเป็นตัว J ในภาษาอังกฤษ การใช้ I เป็นพยัญชนะมีมาจนถึงเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน
- ตัว V เป็นได้ทั้งสระและพยัญชนะ เมื่อเป็นสระจะออกเสียงเป็นตัว U ในภาษาอังกฤษ ซึ่งตัว U เริ่มเขียนแยกจากตัว V ในช่วงยุคกลาง แต่ตำราเรียนภาษาละตินที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษหลายเล่มจะใช้ตัว U แทนตัว V ตอนเป็นสระ (บทความที่มีคำภาษาละตินของผมจึงใช้ตัว U ตามตำราเรียนภาษาละตินส่วนใหญ่)
- ตัว Y และ Z ปรากฏเฉพาะในคำยืมที่ภาษาละตินได้รับจากภาษากรีกโบราณ ซึ่งรับเข้ามาใช้ในอักษรละตินคลาสสิก หลังโรมันยึดครองกรีซได้ในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล
ในสมัยโรมันโบราณ ภาษาละตินมักจะใช้แต่อักษรโรมันแบบตัวใหญ่ โดยมีลักษณะฟอนต์หลายแบบตามแต่ละยุคสมัย ตัวอย่างของฟอนต์อักษรละติน/อักษรโรมันในสมัยโบราณ ได้แก่
1. “อักษรโรมันตัวใหญ่แบบจารึก” (Roman Square Capitals หรือ Inscriptional Capitals) เป็นฟอนต์อักษรโรมันแบบที่ใช้จารึกมากกว่าใช้เขียนลงเอกสารต่าง ๆ ตัวอย่างสถานที่ในกรุงโรมที่มีศิลาจารึกอักษรละตินคลาสสิกที่ใช้ฟอนต์นี้ ได้แก่ วิหารแพนธีอัน เสาไตรยานุส และซุ้มประตูแห่งติตุส
ตัวอย่างอักษรโรมันตัวใหญ่แบบจารึก บนแผ่นศิลาจารึกบนซุ้มประตูเเห่งติตุส (Arco di Tito) ในกรุงโรม ซึ่งซุ้มประตูเเห่งนี้สร้างในปี ค.ศ.81 [Credit ภาพ : Kimberly Cassibry]
ตัวอย่างอักษรโรมันตัวใหญ่แบบจารึก บนแผ่นจารึกทองแดงแห่งลียง (Lyon tablet) ซึ่งจารึกในช่วงประมาณปี ค.ศ.48 พบในประเทศฝรั่งเศส [Credit ภาพ : User ‘Marie-Lan Nguyen’ @ Wikimedia.org]
2. “อักษรโค้งโรมัน” (Roman cursive) เป็นฟอนต์อักษรแบบที่ใช้เขียนภาษาละตินลงเอกสารต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างจดหมาย เอกสารทางธุรกิจ การเรียนภาษาละตินของเด็ก ๆ ในโรงเรียน หรือคำสั่งจากจักรพรรดิโรมัน
อักษรแบบนี้ใช้กันจนถึงยุคกลาง การเขียนฟอนต์อักษรแบบนี้ในโอกาสที่ไม่เป็นทางการและต้องเขียนด้วยมือเร็ว ๆ ส่งผลให้ฟอนต์อักษรแบบนี้เริ่มมีรูปร่างโค้งมนขึ้น (เมื่อเทียบกับอักษรโรมันตัวใหญ่แบบจารึก) และจะวิวัฒนาการกลายเป็น “อักษรโรมันตัวเล็ก” ต่อไป
ฟอนต์อักษรโค้งโรมันสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่
- อักษรโค้งโรมันแบบเก่า (Old Roman cursive) ใช้ในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3
- อักษรโค้งโรมันแบบใหม่ (New Roman cursive) ใช้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 - 7 เริ่มมีลักษณะของ “อักษรโรมันตัวเล็ก” แบบที่ใช้ในปัจจุบันชัดเจนขึ้น หลังจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 จะเริ่มวิวัฒนาการเป็นอักษรโรมันฟอนต์อื่น ๆ
แผนภาพเปรียบเทียบอักษรโค้งโรมันแบบเก่า (ภาษาสเปน : Cursiva antigua) และอักษรโค้งโรมันแบบใหม่ (ภาษาสเปน : Cursiva nova) [Credit แผนภาพ : User ‘Osado’ @ Wikimedia.org]
ส่วนหนึ่งของกระดาษปาปิรุสที่มีลายมือเขียนอักษรโค้งโรมันแบบเก่า ในช่วงรัชสมัยจักรพรรดิเกลาดิอุส (ค.ศ.41-54) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์รัฐเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
ส่วนหนึ่งของจดหมายกระดาษปาปิรุสที่เขียนภาษาละตินด้วยอักษรโค้งโรมันแบบใหม่ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 เริ่มมีร่องรอยการแยกอักษรโรมันตัวใหญ่กับตัวเล็กแล้ว
3. อักษรโรมันตัวใหญ่แบบรุสติค (Rustic Capitals) เป็นฟอนต์อักษรโรมันตัวใหญ่เพื่อใช้เขียนลงกระดาษปาปิรุสหรือกระดาษหนังมากกว่าใช้กับจารึก ช่วงเวลาที่ใช้งานประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 1 – 9 โดยมีช่วงนิยมใช้ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 – 5
อักษรโรมันตัวใหญ่แบบรุสติคบนหน้าหนึ่งของ Vergilius Romanus เอกสารตัวเขียนสีวิจิตรจัดทำเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยรวมเนื้อหาจากบทกวีต่าง ๆ ที่เวอร์จิล (Virgil : ปีที่ 70 – 19 ก่อนคริสตกาล) กวีชาวโรมันเขียนไว้
จากนั้น ถึงเกิดการเขียนแยกกันเป็นอักษรโรมันตัวใหญ่กับตัวเล็กอย่างชัดเจนในภาษาละตินยุคกลาง พร้อมกับนำตัวอักษร W เพื่อแทนเสียงในกลุ่มภาษาเยอรมานิก ซึ่งไม่มีในเสียงภาษาละตินยุคกลาง เมื่อถึงช่วงประมาณยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ถึงได้เริ่มแยกตัว U ในฐานะสระจากตัว V และตัว J ในฐานะพยัญชนะจากตัว I
แผนภาพสรุปวิวัฒนาการและความสัมพันธ์ของฟอนต์ต่าง ๆ ของอักษรโรมันตั้งแต่อดีต เริ่มต้นที่อักษรโรมันตัวใหญ่แบบจารึก (ต้นแบบของฟอนต์ Trajan ในปี ค.ศ.1989) และอักษรโรมันตัวใหญ่แบบรุสติค การวิวัฒนาการเกิดอักษรโรมันตัวเล็กและการเพิ่มตัวอักษร J U W ในภายหลัง [Credit แผนภาพ : User ‘Squidonius’ @ Wikimedia.org]
ถึงแม้อักษรละตินหรืออักษรโรมัน จะเริ่มใช้ในโรมันโบราณกับภาษาละติน ต่อมาก็เริ่มแผยแพร่ไปในทวีปยุโรป กับกลุ่มภาษาต่อไปนี้
การสืบทอดการใช้อักษรโรมันจากภาษาละติน : กลุ่มภาษาโรมานซ์ (กลุ่มภาษาที่วิวัฒนาการจากภาษาละตินสามัญ ประกอบด้วยอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส โรมาเนีย)
การรับอักษรโรมันเข้ามาผ่านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในยุคกลาง ในพื้นที่ยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง ยุโรปเหนือ และหมู่เกาะบริติช :
- กลุ่มภาษาเยอรมานิก (อังกฤษ เยอรมัน ดัตช์ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์)
- กลุ่มภาษาสลาวิก (เฉพาะกลุ่มภาษาสลาวิกตะวันตก (โปแลนด์ เช็ก สโลวัก) ภาษาสโลวีเนียและภาษาโครเอเชีย)
- กลุ่มภาษาฟินโน-อูกริก (ฮังการี ฟินแลนด์ เอสโตเนีย)
- กลุ่มภาษาบอลติก (ลิทัวเนีย ลัตเวีย)
- กลุ่มภาษาเคลต์ (เวลส์ ไอร์แลนด์)
เมื่อภาษาตามดินแดนต่างๆ ทั่วยุโรปนำอักษรโรมันไปใช้ ก็เพิ่มตัวอักษรเฉพาะที่ไม่มีในอักษรโรมันเข้าไปในภาษาของตน โดยใช้อักษรโรมันเป็นต้นแบบ หรือเพิ่มเครื่องหมายไว้ด้านบนหรือด้านล่างตัวอักษร ตามตัวอย่างดังนี้
- ภาษาฝรั่งเศส: เพิ่ม À Â Æ Ç É È Ê Ë Î Ï Ô Œ Ù Û Ü และ Ÿ
- ภาษาสเปน: เพิ่ม Ñ
- ภาษาเยอรมัน: เพิ่ม Ä Ö Ü และ ß
- ภาษาสวีเดนและฟินแลนด์: เพิ่ม Å Ä และ Ö
- ภาษาเดนมาร์กและนอร์เวย์: เพิ่ม Æ Ø และ Å
- ภาษาโปแลนด์: เพิ่ม Ą Ć Ę Ł Ń Ó Ś Ź และ Ż
- ภาษาเช็ก: เพิ่ม Á Č Ď É Ě Í Ň Ř Š Ť Ú Ů Ý และ Ž
- ภาษาฮังการี: เพิ่ม Á É Ó Ö Ő Ú Ü และ Ű
- ภาษาลิทัวเนีย: เพิ่ม Ą Č Ę Ė Į Š Ų Ū และ Ž
- ภาษาลัตเวีย: เพิ่ม Ā Č Ē Ģ Ī Ķ Ļ Ņ Š Ū และ Ž
แผนที่โลกแสดงประเทศต่าง ๆ ที่ใช้อักษรโรมันเป็นระบบการเขียนหลักในภาษาทางการ (สีเขียวเข้ม) และใช้เป็นระบบการเขียนร่วมในภาษาทางการ (สีเขียวอ่อน)
อักษรโรมันเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก ผ่านหลายปัจจัย เช่น
- การเผยแพร่ศาสนา การค้าและลัทธิจักรวรรดินิยม โดยชาวตะวันตกนำอักษรโรมันจากภาษาของตนไปส่งเสริมการใช้งานกับภาษาท้องถิ่นของดินแดนอาณานิคม หรือผ่านภาษาของตนที่นำไปแทนที่ภาษาท้องถิ่นดินแดน เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์) ทวีปแอฟริกายกเว้นประเทศแถบชายฝั่งทางเหนือและเอธิโอเปีย ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้
- “การถอดเป็นอักษรโรมัน” (Romanization) สำหรับภาษาที่ไม่ได้ใช้อักษรโรมันเป็นหลัก เช่น ภาษาจีน (อักษรพินอิน) ภาษาญี่ปุ่น (อักษรโรมาจิ) หรือภาษาไทย ก็นำอักษรโรมันมาใช้ถอดเสียงคำในภาษาของตน เพื่อให้ชาวต่างชาติออกเสียงตามชื่อหรือคำในภาษาที่ไม่ได้ใช้อักษรโรมันเป็นหลักได้
- ประเทศมุสลิมบางประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เช่น แอลเบเนีย (ค.ศ.1908 ก่อนที่จะแยกตัวจากตุรกีใน ค.ศ.1912) และตุรกี (ค.ศ.1928 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐเมื่อ ค.ศ.1923)
นักภาษาศาสตร์ฝั่งอังกฤษและฝรั่งเศสที่ใช้อักษรโรมันในภาษาแม่ของตนอยู่แล้ว ได้อาศัยอักษรโรมันเป็นต้นแบบสร้าง “สัทอักษรสากล” (International Phonetic Alphabet: IPA) ใช้เป็นอักษรระบุการออกเสียงของภาษาต่าง ๆ ในปี ค.ศ.1888 ซึ่งเป็นช่วงที่อักษรโรมันใช้กันแพร่หลายทั่วโลกแล้ว
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของอักษรละติน/โรมัน วิวัฒนาการจากอักษรตัวใหญ่จนเกิดอักษรตัวเล็ก ความหลากหลายที่เกิดกับอักษรโรมันเมื่อแพร่ไปตามชาติต่าง ๆ ในยุโรป และการเผยแพร่อักษรโรมันตามดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านหลายปัจจัย
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา