7 พ.ค. 2021 เวลา 00:24 • ปรัชญา
#25บทเรียนแพ้ภัยตนเองในสามก๊ก
ตอนที่ 2
"หลงตนเอง"
ต้นเหตุความพ่ายแพ้ของจูล่ง
จูล่ง คือยอดนักรบในอุดมคติของหลายๆคน
โดยเฉพาะวีรกรรมฝ่าทัพรับอาเต๊า(เล่าเสี้่ยน)
จนเป็นที่เลืองลือสะเทือนแผ่นดิน
ผสานกับการเป็นขุนพลไร้พ่าย
ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของจูล่งทั้งยิ่งใหญ่และงดงาม
แต่ใครเลยจะรู้ว่า
จูล่ง วีรบุรุษแห่งเสียงสาน จะเคยปราชัย
ให้กับ แฮหัวหลิม แม่ทัพใหญ่ผู้ด้อยประสบการณ์ของวุยก๊ก
เพียงเพราะจูล่ง ดูแคลนแฮหัวหลิม
ทำให้เขาประมาทจนเกือบเสียชีวิตในสมรภูมิ
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อขงเบ้งยกทัพบุกวุยก๊ก
โดยมีจูล่ง แม่ทัพเฒ่าวัย70 เป็นแม่ทัพหน้า
ฝ่ายวุยก๊กแต่งตั้งแฮหัวหลิมเขยขวัญของโจโฉเป็นแม่ทัพใหญ่รับศึก
แฮหัวหลิมอ่อนหัดและด้อยฝีมือ
จึงเสียท่าให้พยัคฆ์เฒ่าอย่างจูล่ง
ชนิดแพ้แล้วแพ้อีกเสียขุนพลไปหลายคน
กระทั่งแฮหัวหลิมใช้อุบายซุ่มทหาร
โดยใช้แผน "ยั่วขุนพล" หลอกล่อให้จูล่งออกศึก
แม้ที่ปรึกษาจูล่งจะห้ามไม่ให้เสือเฒ่าออกรบ
แต่จูล่งผู้ชนะตลอดกาลกลับไม่สนใจ
เพราะดูแคลนศัตรูว่าอ่อนหัด
ประกอบกับต้องการสร้างผลงาน
จึงยกทัพออกบุกตะลุย
แฮหัวหลิมซุ่มทัพไว้ตลอดทาง
รบไปถอยไปเพื่อล่อจูล่งเข้าสู่กับดักสังหาร
เมื่อจูล่งติดกับดัก ก็ไม่ต่างกับราชสีห์ติดจั่น
ทหารวุยก๊กที่ซุ่มอยู่ทั้งสี่ทิศก็บุกเข้าตีกระหนาบ
ทหารที่ติดตามจูล่งล้มตายเกือบหมด
จูล่งทำศึกตั้งแต่เช้ายันค่ำโดยมิได้พัก
ก็เริ่มเข้าตาจน หมดหวังที่จะรอด
ในวรรณกรรมกล่าวว่า
"จูล่งแหงนหน้าขึ้นมองฟ้าแล้วว่า
เราทำศึกมาแต่หนุ่มจนแก่ ไม่เคยเสียทีแก่ผู้ใด
ครั้งนี้คงจะเป็นวาระสุดท้ายของเราแล้ว"
ทว่าฟ้ายังไม่ต้องการให้จูล่งตายในสมรภูมิ
กวนหินและเตียวเปา 2 ขุนพลหนุ่ม
ยกทัพมาช่วยจูล่งเอาไว้
ทำให้จูล่งรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด
#เมื่อใดที่คุณหลงตนเองหายนะจะมาเยือน
คุณผู้อ่านครับ
ใครจะรู้ว่าจูล่งผู้เก่งกาจราวกับพยัคฆ์
จะหลงกลเสียท่า แฮหัวหลิม แม่ทัพใหญ่ผู้ด้อยประสบการณ์อย่างง่ายดาย
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจาก
จูล่งเชื่อมั่นในตนเองสูง
เพราะประสบความสำเร็จมาโดยตลอด
ทำให้ยิ่งสูงวัยก็ยิ่งมั่นใจในตนเอง
การ "ดูแคลน"ศัตรูจนเกิดเป็นความประมาท
และความประมาทคือหนทางหายนะที่คุณคาดไม่ถึง
ผู้บริหารหลายคนมีความสามารถ
ทว่ากลับตัดสินใจผิดพลาดเพราะ
ชอบ "ดูแคลน" คนอื่น
บางคนอาการหนัก
"ดูแคลน" ไม่พอยัง "ดูถูก" อีกต่างหาก
อาศัยอารมณ์และความรู้สึกตนเอง
ตัดสินสถานการณ์โดยไม่สนใจข้อมูล
บ้างก็อาศัยข้อมูลเก่า
ประสบการณ์เดิมมาเป็นเครื่องมือตัดสิน
เพราะเชื่อว่าความสำเร็จในอดีตที่ผ่านไปแล้ว
จะสามารถนำมาใช้กับปัญหาปัจจุบันได้ทุกเรื่อง
(หากเหมือนใครบางคนก็ขออภัยด้วยนะครับ)
ความคิดแบบนี้คือ "ักับดัก"หนึ่งของนักบริหารหรือผู้นำในระดับต่างๆในองค์กร
โดยเฉพาะท่านที่ประสบความสำเร็จมาหลายครั้ง
พอมีคนเห็นแย้งหรือเห็นต่าง
ก็มักจะพูดว่าผมอาบน้ำร้อนมาก่อนคุณ
สร้างความเอือมระอาให้กับคนอื่น
คราวนี้องค์กรก็จะเต็มไปด้วย
พลพรรคใช่ครับพี่ ดีครับท่าน ถูกต้องครับนาย
กลายเป็นองค์กรสอพลอ
เพราะคนเก่งที่คิดต่างอยู่มิได้
ฉะนั้นหากต้องการให้องค์กรเจริญรุ่งเรือง
นักบริหารต้องทำใจ ยอมฟังความเห็นต่าง
ยกเลิกระบบ "ตัวกูคือศูนย์กลาง"
เพราะคุณอาจจะไม่โชคดีเหมือนจูล่งนะครับ
🙏ด้วยจิตคารวะ🙏
เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป
ติดตามผลงานที่ผ่านมาได้ที่
💥Facebook #ครบเครื่องเรื่องสามก๊ก
🎉Youtube #สามก๊กทอล์ค
โฆษณา