7 พ.ค. 2021 เวลา 05:05 • ศิลปะ & ออกแบบ
# ทำไมมุกตลกบางมุกถึงฮา ในขณะที่บางมุกแป้ก ส่วนบางมุกทำให้เรารู้สึกรับไม่ได้?
= นักจิตวิทยาพบว่า มุกตลกจะมีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่าง
= องค์ประกอบที่ 1 มันจะต้องมีความ “ผิดปกติ” ไปจากสิ่งที่ “ควรจะเป็น” (violation) อยู่ในนั้น
= องค์ประกอบที่ 2 มันต้องมี “ระยะห่าง” (psychological distance) มากพอที่จะทำให้เรารู้สึกว่าความ “ผิดปกติ” นี้เป็นอะไรที่ “ไม่มีพิษไม่มีภัย” (harmless) กับเรา
= ถ้ามุกตลกขาดองค์ประกอบที่หนึ่ง มันจะแป้ก น่าเบื่อ
= ถ้ามุกตลกขาดองค์ประกอบที่สอง มันจะทำให้คนฟังไม่พอใจ (offensive)
1
= มุกตลกที่ฮา คือ มุกตลกที่มีส่วนผสมของทั้ง 2 องค์ประกอบอย่างลงตัว
= ยิ่งถ้ามุกตลกมีเนื้อหาที่ “ผิดปกติ” มากๆ (เช่น พวกมุกที่ล้อเล่นกับความตาย ความเจ็บป่วย สงคราม) “ระยะห่าง” ก็ควรจะต้องมากตามไปด้วย
= ยกตัวอย่างเช่น “ภาษาอังกฤษของมะม่วงคืออะไร? Mango! สีเหลืองล่ะ? Yellow! มีด? อีโต้! ไฟแช็ก? ซิปโป้! ชุดชั้นใน? วาโก้! หล่อแบบนี้? มาริโอ้! แล้วแบบนี้คือ (ชี้นิ้วไปที่เพื่อน)? ไอ้โง่!”
= มุกตลกในตัวอย่างมีความ “ผิดปกติ” อยู่อย่างน้อย 3 จุด
= จุดแรก คือ เสียงของคำที่ลงท้ายด้วย “สระโอ” ตลอดเวลา…มันคล้องจองติดๆกันเสียจน “ผิดปกติ” ไปจากบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน
= จุดที่สอง คือ มันสร้าง pattern ของการ “แปลจากภาษา” มาตลอด…จนกระทั่ง “ไอ้โง่!” ที่กลายเป็นคำด่า ซึ่งถือว่า “ผิดปกติ” ไปจาก pattern ที่มันสร้างไว้ก่อนหน้านั้น
= จุดที่สาม คือ การด่า “ไอ้โง่!” ถือเป็นพฤติกรรมที่ “ผิดปกติ” ไปจากมารยาททางสังคม
= สำหรับผม ความ “ผิดปกติ” ของมุกตลกในตัวอย่างไม่ได้ “เข้มข้น” มากนัก ฉะนั้น คนที่เล่นมุกนี้ให้ผมฟังจึงไม่จำเป็นต้องสร้าง “ระยะห่าง” เท่าไหร่
 
= แต่สำหรับคนที่มีเรื่องฝังใจเกี่ยวกับการโดนด่าว่า “ไอ้โง่!” มากๆ มุกตลกในตัวอย่างอาจจะต้องมีการสร้าง “ระยะห่าง” มากกว่านี้ (เช่น เปลี่ยนคำว่า “ไอ้โง่!” เป็นคำด่าอื่นที่ลงท้ายด้วยสระโอแทน…หรือรอให้เวลาผ่านไปสักหน่อย แล้วค่อยเล่นมุกนี้กับเขา)
-
แหล่งอ้างอิง
McGraw, A.P. & Warren, C. (2014). Benign violation theory. Encyclopedia of Humor Studies,75-77.
-
ปล. ใครอยากอ่านสิ่งที่ผมเขียนในเรื่องอื่นๆ สามารถอ่านได้ที่ https://www.facebook.com/journalingmyjourney หรือ https://www.blockdit.com/journalingmyjourney นะครับ
โฆษณา