7 พ.ค. 2021 เวลา 20:31 • การศึกษา
Inside out @ Outside in...
การมี Internet เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อมาพูดมาบรรยาย หรือทำผลงานทางวิชาการนั้นเราจะได้ Explicit Knowledge กับการมี Internet เพื่อไว้สำหรับถ่ายทอดสิ่งที่เรามีเรารู้ออกไปทาง Internet หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นคือการถ่ายทอด Tacit Knowledge ออกไปสู่สาธารณชน
Internet นั้นมีทั้งคุณ มีทั้งประโยชน์
นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการหรือประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ใช้โทรศัพท์มือถือ Internet Facebook Ipad Iphone กันเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อทำรายงานส่งอาจารย์ ค้นคว้าเอกสารเพื่อทำผลงานวิจัยใช้ในการนำเสนอผลงานหรือเพื่อให้สอบผ่านการเรียนการศึกษาในระดับต่าง ๆ ทั้งปริญญาตรี โท เอก รวมถึงสอบเลื่อนขั้นวิทยฐานะ ตามชั้น ตามซี ตามวุฒิการทำงานที่มีเพื่อเลื่อนขั้นขึ้นไปในระดับต่าง ๆ
การค้นคว้าหาข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่สัดส่วนการค้นคว้าหาข้อมูลภายนอก (Explicit Knowledge) นั้น ต้องมาวัดสัดส่วนจากการค้นคว้าเพื่อสกัดให้ได้ออกมาจากข้อมูลภายในซึ่งเป็นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่มีอยู่ในจิตในใจ ที่ถูกฝังไว้ผ่านกาล ผ่านเวลา หมัก หม่ม เพาะ ผ่านสิ่งแวดล้อม ผ่านประสบการณ์ สัดส่วนของทั้งสองสิ่งนี้นั้น (Explicit @ Tacit) จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ทางวิชาการสำหรับงานเขียน งานบรรยายในชุดความรู้ ชุดวิชา หรือผลงานทางวิชาการในชิ้นนั้น ๆ
ซึ่งในปัจจุบัน ในแวดวงวิชาการ มีแนวโน้มที่นักเรียนนักศึกษาพากันตกหลุมพลางทางวิชาการกันมาก กล่าวคือ พากันเสาะแสวงหาความรู้ในอากาศ คือ ก้มหน้าก้มตากระโดดลงหลุมพรางที่มีแผ่นกระจกบาง ๆ กั้นไว้ได้แก่จอแสดงผลในลักษณะต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายทางความรู้ที่ระเบิด (Knowledge Explosion) ออกมาทาง World Wide Web
ความรู้ที่ระเบิดออกมาอย่างกระจัดกระจายนี้เอง (Knowledge Explosion) ทำให้การขุด การค้น การคว้าที่จะเกิดมี เกิดขึ้น เกิดได้ในตัวเรียนนักศึกษา หรือที่เรียกว่า Inside out คือการสกัด การค้น การคว้าความรู้ของตัวเองแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นรายงาน เป็นผลงานทางวิชาการต่าง ๆ นั้นน้อยลง
สถาบันการจัดการความรู้ Knowledge Management Institute จึงเล็งเห็นความสำคัญ โดยจัดตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นองค์กรทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างให้ทุกคนได้ตระหนักเห็นคุณค่าของความรู้ที่มีอยู่ในตัวเอง
คิดย้อนไปในสมัยเรียน ที่อาจารย์สั่งให้เราทำรายงานนั้น อาจารย์ท่านต้องการอะไร
ต้องการข้อมูลที่เป็น Outside In หรือ เป็นข้อมูลที่เป็น Inside Out (ดังเช่นบทความเรื่อง อคติทางวิชาการ....)
ข้อมูลการทำรายงานส่วนใหญ่ที่นักเรียน นักศึกษาทำกัน ที่เรารู้เราเห็น เราเรียกกันติดปากนั้นก็คือการ Copy & Paste นั่นก็คือ Outside in หรือการไปค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่านหน้าจอ หน้ากระจกแผ่นบาง ๆ แล้ว คัดลอก (Copy) แล้วนำมาวาง (Paste) ผ่านโปรแกรมจัดการเอกสารต่าง ๆ (Word Processing) แล้วพิมพ์ (Print) ออกมาลงในกระดาษ เพื่อส่งครู ส่งอาจารย์ ส่งคณะกรรมการเพื่อขอคะแนน ขอเกรด ขอผลงาน โดยนำเสนอ (Present) ตัวเองว่า “ฉันมีความรู้”
ประกาศ หรือปริญญาบัตรในระดับต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสมมติ หรือเป็นเครื่องแสดงความรู้ที่มีในตัวบุคคลนั้น ๆ
เพราะความรู้ที่มีอยู่ในสมองเป็น “นามธรรม” เราต้องหา “รูปธรรม” อะไรสักอย่างที่จับต้องหรือมองเห็นได้ง่าย ๆ เพราะจะวัดระดับ หรือรับใครสักคนมาทำงานให้เรา เขาจึงสร้างระบบการศึกษาโดยให้ใบปริญญาเพื่อเป็นเครื่องวัดคุณค่าความรู้ในตัวของบุคคล
ดังนั้น ปัญหาในระบบการศึกษา หรือสัดส่วนของบัณฑิตที่เรียน ที่จบออกมา ที่เป็นปัญหาการตกงาน หรือเรียนมาแล้วไม่ได้ความรู้จากในระบบเท่าที่ควรนั้นคือ การเรียนการสอนแบบ Outside In นี้ใช่หรือไม่
เพราะผู้ที่ทำการสอน การบรรยายแต่เดิมนั้นก็ไปค้นคว้าหาข้อมูลจาก Internet ผ่านระบบ World Wide Web มาเช่นกัน จึงทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการการศึกษานั้นต้องออกกฎ หรือวางภาระงานให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งหลายต้องพากัน “ทำวิจัย” หรือสร้างผลงานทางวิชาการ...
หัวใจแห่งการทำวิจัย หรือการสร้างผลงานทางวิชาการนั้น ก็คือ การสร้างความตระหนักในความรู้เพื่อถ่ายทอดข้อมูลภูมิรู้ภูมิปัญญาแบบ (Inside Out) คือ นำความรู้ที่อาจารย์ทั้งหลายร่ำเรียนซึ่งได้ปริญญามาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไปค้นคว้าผสานผสมกับภูมิปัญญาที่ฝังตัวหรือตกหล่นอยู่ตามพื้นดิน ตามผู้คน ตามชุนชนในท้องถิ่น ตามที่สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ตั้งอยู่ตามภูมิลำเนาในจังหวัดต่าง ๆ
สำนักวิจัยทั้งในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับนนุนงานวิจัย หรือองค์กรแหล่งทุนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงเล็งเห็นความสำคัญให้ทุนสนับสนุนนักวิชาการทั้งในระบบ และนอกระบบ (NGOs) เพื่อให้พากันตระหนักถึงคุณค่า ให้ไปค้นหา ค้นคว้าให้ได้มาซึ่งความรู้ฝังลึกทั้งหลายเหล่านั้น
สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่นักวิชาการทางการศึกษาได้เห็นความสำคัญและทำการมานานหลายสิบปี แต่ทว่า ปัญหามันอยู่ที่ ผลงานที่ได้รับทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ นั้น สัดส่วนการค้นคว้า หรือทำรายงานการวิจัยออกมานั้น สิ่งที่ได้มา มีเปอร์เซ็นต์ หรือสัดส่วนระหว่างความรู้แบบ Inside Out หรือ Outside In มากกว่ากัน
ถ้าเป็นแบบ Outside In มากกว่า ก็เป็นการวนลูป (Loop addict)กลับไปเหมือนกับสมัยที่เราเป็นนักศึกษา ก็คือเข้าระบบแบบ Copy & Paste เหมือนเดิม
แต่ถ้าหากได้ความรู้ ได้ภูมิปัญญาที่สกัดออกมาแบบ Inside Out มากกว่า นั้นคือ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แห่งแวดวงการศึกษาของประเทศไทย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะไปในทิศทางใด ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้ให้คะแนน...
ทำไมปัญหาเหล่านี้เรารู้ เราเห็น แต่ก็ยังเป็นอยู่ล่ะ...?
ก็เพราะว่ากรรมการยังให้คะแนนการทำผลงานแบบ Outside In อยู่
สาเหตุก็คือ นับตั้งแต่ต้นน้ำ คือ อาจารย์ที่สั่งให้นักศึกษาทำรายงาน ก็ยังให้คะแนน ให้เกรดกับนักศึกษาที่ไป Copy & Paste แล้วพิมพ์เย็บเล่มมาส่งอยู่ ให้คะแนนกับสิ่งเหล่านั้นอยู่ อันนำมาซึ่งใบปริญญาที่มอบให้ในระดับต่าง ๆ อยู่นั่นเอง
ถัดขึ้นมา หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยต่าง ๆ ก็ยังให้คะแนน หรือให้ “ผ่าน” กันอยู่ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ลูกเกรงใจก็มีเยอะ ทุนก็รับไปแล้ว จะต้องเคลียร์ให้จบปีงบประมาณ มหาวิทยาลัยก็ต้องการอาจารย์ที่มีภาระงาน หรือสอบผ่านเพื่อให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้น ผศ. รศ. ศ. เพื่อใช้ในการประเมินคุณภาพหรือประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มดัชนีชี้วัด (KPI) ของหน่วยงาน ก็ช่วยกันผลัก ช่วยกันดันผลงานทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มดัชนีชี้วัดของสถาบันการศึกษาของตนเอง
เราจะทำอย่างไร ที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน...
จุดหลักเบื้องต้นอยู่ที่คณะกรรมการผู้ให้คะแนน ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการทำงานของนักศึกษา หรือนักวิชาการที่จะทำผลงานเพื่อสอบผ่านในระดับขั้นต่าง ๆ นั้น
ถ้าหากกรรมการให้คะแนน Outside In แบบเดิมมาก คนที่ทำผลงาน ก็ทำตามแบบนั้น เพราะง่ายสบายแล้วก็ผ่านด้วย
ถ้าหากกรรมการยังไม่เห็นคุณค่าของผลงานแบบ Inside Out อยู่ดังเช่นปัจจุบัน ผู้ที่ตระหนักในการถ่ายทอดความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่มีอยู่น้อยนิดในสังคมนี้นั้น ก็จะพากันหลบหลีหนีหน้า หรือล้มหายตายจากไปจากวงการวิชาการ...
ความคึกคักในตลาดวิชาการมันเทไปทาง Outside In ดูง่าย ๆ อย่างกลุ่มไลน์ต่าง ๆ ที่ปัจจุบันแทบจะคุมการแชร์ความรู้ต่าง ๆ กันไม่อยู่ รู้ปุ๊บแชร์ปั๊บ ไม่มีการคัดการกรองก่อนแชร์ เพราะภูมิคุ้มกันทางวิชาการของคนปัจจุบันนั้น ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่การทำรายงานแบบ Copy & Paste ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน นักศึกษานั่นเอง
สมัยนี้ง่ายด้วย พอเห็นใครส่งอะไรมา ก็ใช้นิ้วแช่ข้อความนั้นไว้หน่อย เทคโนโลยีก็คอยสนับสนุนก็ช่วยให้คัดลอกลงคลิปบอร์ดง่าย ๆ แล้วไปวางตามช่อง ตามแชท ตามกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย สบายปรื๋อๆๆ
ถ้าหากการ Copy & Paste ยังง่ายกว่าการพิมพ์ออกมาจากแป้นพิมพ์ ฉันใด
การพัฒนาเพื่อค้นคว้าความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ในวงการวิชาการไทย ก็ยิ่งยากมากขึ้น สวนทางกับความง่ายในการคัดลอก ฉันนั้น...
แล้วทิศทางการการศึกษาของเมืองไทยจะไปในทิศทางใด คำตอบง่าย ๆ ก็สามารถ Copy & Paste สิ่งที่เป็นไปในปัจจุบัน คัดลอกแล้ววางเป็นแนวทางเป็นแบบพิมพ์ หรือพิมพ์เขียวของวงการการศึกษาในอนาคตได้เลย...
บัวพ้นน้ำ...
โฆษณา