8 พ.ค. 2021 เวลา 05:51 • ประวัติศาสตร์
สภาพของเยอรมนีในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ (เยอรมนีหลังยุคจักรวรรดิ)
ซ้าย : วิลเฮล์มที่ 2 จักรพรรดิเยอรมันพระองค์สุดท้าย ขวา : อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเเห่งนาซี
สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) เป็นรัฐบาลของประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 (แต่เป็นสาธารณรัฐโดยพฤตินัยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1919) ถึงปี. 1933 ซึ่งดำรงอยู่ระหว่างหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (WW I) คือหลังจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (Kaiser Wilhelm II,German Emperor) ทรงสละราชบัลลังก์เพราะจักรวรรดิเยอรมันแพ้สงครามโลก เหมือนเป็นอีกนัยน์หนี่งว่าจักรวรรดิเยอรมันเก่าได้ล่มสลายไปแล้ว ซึ่งคำว่า “ไวมาร์” นั้นมาจากชื่อของเมืองไวมาร์ซึ่งเป็นเมืองที่มีการประชุมกันและเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ในช่วงนี้ทางเยอรมนีประสบปัญหามากมายซึ่งผลพวงหลายอย่างมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 อันจะเป็นสาเหตุที่พาไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 (WWII) ต่อไป โดยเฉพาะเรื่องปัญหาดังเช่นปากท้อง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ดีนักเมื่อเทียบกับยุคจักรวรรดิเยอรมัน เป็นต้น
ประเทศเยอรมนีไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีนักหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะเยอรมนีในช่วงสงครามก็เสียหายมาหนักมากแล้ว มีการประท้วงมากมาย มีคนล้มตายเป็นจำนวนมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประชาชนเริ่มอดอยากซึ่งผิดกับช่วงก่อนสงคราม ที่ในปี 1913 ตามที่ผู้เขียนได้อ่านในเว็บ Quora มีการกล่าวว่าประเทศเยอรมนีมีจีดีพีในยุคนั้นสูงกว่าสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจของโลกในยุคนั้นเลยทีเดียว ซึ่งในช่วงสงครามเองนั้นบรรดาประชาชน และบรรดาทหารพากันทิ้งตัวรัฐบาลจักรวรรดิ นอกจากนี้จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมันนีก็แทบจะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ซึ่ง 19% ของประชากรได้รับผลกระทบจากสงครามนี้ มีการประท้วงหยุดงานเพื่อสภาพงานที่ดีขึ้น ทำให้พระองค์จำเป็นต้องสละราชบัลลังก์จากการเป็นจักรพรรดิเยอรมันและกษัตริย์แห่งปรัสเซียในเดือนพฤศจิกายน ปี 1918 บรรดาเจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ในจักรวรรดิ เช่น บาวาเรีย กับดินแดนอีกหลายรัฐเป็นต้น ก็ถูกกราบบังคมทูลให้สละราชสมบัติ อภิสิทธิ์ขุนนางเยอรมันถูกยกเลิก ดินแดนเยอรมันซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีรัฐศักดินากระจัดกระจายมากมายในนามจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์*** (Holy Roman Empire) ซึ่งมีอภิสิทธิ์ชนมากมายครอบครองบัดนี้กลับหายไป เยอรมนีสิ้นสุดความเป็นจักรวรรดิไปโดยสิ้นเชิง
*** เมื่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ซึ่งออสเตรียเป็นใหญ่สิ้นสุดลง ผ่านไปอีกหลายสิบปีรัฐเยอรมันซึ่งมีปรัสเซียเป็นใหญ่ก็รวมกันในชื่อจักรวรรดิเยอรมัน
ในเดือนธันวาคม 1918 ได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งซึ่งมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศเยอรมนี โดยในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1919 ได้มีการจัดตั้ง ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีได้เริ่มก่อตั้งขึ้น ซึ่งเป็นการกำเนิดสาธารณรัฐไวมาร์อย่างเป็นทางการ และทางรัฐบาลเยอรมันไวมาร์ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนปีเดียวกัน ซึ่งมีการบังคับให้ประเทศเยอรมนีลดจำนวนทหารลงและต้องสูญเสียดินแดนประมาณ 1 ใน 10 ของที่มีอยู่เช่น เสียให้ฝรั่งเศส โปแลนด์ เดนมาร์ก และต้องสูญเสียอิทธิพลในดินแดนบางส่วนของตนอีก เป็นต้น แถมเยอรมนียังต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาลอีกด้วย การชดใช้ค่าเสียหายเป็นปัญหาหลักมีการเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งมีราคาแพงซึ่งเยอรมนีต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินจำนวน 230,000 ล้านมาร์ก (แต่ในช่วงหลังมีการปรับลดเนื่องจากมากเกินไป) นอกจากนี้เยอรมนียังต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ทางฝรั่งเศสและเบลเยียมซึ่งยึดครองเขตอุตสาหกรรมก็ดึงดันอยากจะเรียกค่าเสียหายจากเยอรมนีให้ได้ ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่
เนื่องจากในเยอรมนีมีเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก ทางสาธารณรัฐไวมาร์เลยมีการพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้ แต่กลายเป็นว่าการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างมากมายเลยทีเดียว คือเงินเป็นจำนวนมากนั้นแทบไม่มีค่าเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สาธารณรัฐไวมาร์ต้องประสบพบเจอ
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (great Depression)
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1929 (ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 7) ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาพังทลายมีผลทำให้ทางอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลกที่กำลังแซงจักรวรรรดิอังกฤษและหลายๆ ประเทศที่ต้องพึ่งค่าเงินจากอเมริกาต้องมีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างตกต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้เอาจริงๆ มีผลกระเพื่อมไปทั่วโลกเลยทีเดียว สาธารณรัฐไวมาร์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างแรงด้วยซ้ำ ซึ่งในขณะที่เยอรมนีนั้นได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ทำให้เยอรมนีไม่สามารถรับผิดชอบทางการเงินได้อีกทั้งธุรกิจล้มเหลวอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและเยอรมนีต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงอีกครั้ง
ในช่วงภาวะเงินเฟ้อรุนแรงชนชั้นกลางซึ่งเอาจริงๆ แล้วเขาเหล่านี้ส่งเสริมเศรษฐกิจเป็นหลักแต่กลายเป็นว่าต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ หลายๆ คนก็เริ่มผิดหวังกับรัฐบาลเยอรมนี มีโฆษณาชวนเชื่อโจมตีรัฐบาลอย่างมากและเกิดกระแสต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรง
ในปี 1932 พรรคนาซีมีอำนาจอยู่ในการเมืองพอสมควร หลังจากการต่อสู้ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เพื่อแย่งชิงอำนาจในช่วงสั้นๆ กับเพาล์ ฟอน ฮินเดนแบร์ก (Paul von Hindenberg) ซึ่งถึงแม้ฮิตเลอร์เองจะแพ้แต่ก็ทำให้เขามีความมั่นคงทางการเมือง เขาเองนั้นได้รับการเสนอชื่อจากฮินเดนแบร์กให้เป็นนายกรัฐมนตรีประจำสาธารณรัฐไวมาร์ในปี 1933 ซึ่งการที่พรรคนาซีไม่ชนะการเลือกตั้งนั้นก็ทำให้ฮิตเลอร์อยากที่จะเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 5 มีนาคมปีเดียวกัน แต่ก่อนการเลือกตั้งเพียง 6 วันก็ได้เกิดเพลิงไหม้รัฐสภา โดยชาวดัตช์ต้องสงสัยคนหนึ่งได้ถูกจับตัวไป มีหลายๆ คนมองว่านาซีสร้างสถานการณ์ แต่บางคนมองว่านาซีไม่ได้สร้างสถานการณ์แต่อย่างใดเพราะไม่มีหลักฐาน แต่พวกนาซีอาจใช้โอกาสที่เพลิงไหม้ขึ้นมาฉวยโอกาสให้ฝ่ายตนก็เป็นไปได้ (เพลิงไหม้ดังกล่าวไม่มีใครทราบสาเหตุแม้ในบัดนี้) ซึ่งในการที่เกิดเพลิงไหม้นั้นได้มีเนื้อหากล่าวโจมตีฝ่ายฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และทำให้หลายๆ คนเกรงกลัวคอมมิวนิสต์ เนื่องจากทางรัฐบาลประกาศว่า
"การวางเพลิงไรชส์ทาคเป็นความมุ่งหมายที่จะส่งสัญญาณว่าจะเกิดการก่อการจลาจลนองเลือดและสงครามกลางเมือง มีการวางแผนการปล้มสะดมอย่างกว้างขวางในกรุงเบอร์ลิน...มีการกำหนดให้มี...ตลอดทั่วเยอรมนีซึ่งการก่อการร้ายต่อบุคคลสำคัญ ต่อทรัพย์สินส่วนบุคคล ต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชากรอันสงบเรียบร้อย และจะได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองอยู่ทั่วไป..."
แม้ทางฮิตเลอร์จะใช้ข้ออ้างดังกล่าวมาปกป้องภัยต่อความมั่นคงและจำกัดสิทธิพลเมืองหลายประการ แต่การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นตามเคยและพรรคนาซีก็ไม่รับการสนับสนุนมากเท่าที่ควร
และแล้วในวันที่ 23 มีนาคม 1933 ฮิตเลอร์เองสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากสภาเพื่อมอบอำนาจนิติบัญญัติให้กับฮิตเลอร์และรัฐบาล รวมถึงให้อำนาจในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาและประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ฮิตเลอร์นั้นมีอำนาจโดยที่ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น
รายการอ้างอิง
ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ภาณุ ตรัยเวช สำนักพิมพ์มติชน
23 มีนาคม 1933 : “ฮิตเลอร์” กุมอำนาจรัฐสภา เดินหน้าเป็นเผด็จการเต็มตัว - https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1708
27 กุมภาพันธ์ 1933 : ไฟไหม้รัฐสภาเยอรมัน เป็นเหตุประกาศใช้ “ม.48” ปูทางฮิตเลอร์ยึดอำนาจ - https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_6845
โฆษณา