9 พ.ค. 2021 เวลา 08:03 • ข่าว
‘เซินเจิ้น’ จากเมืองที่ถูกดูแคลนว่าเป็นดินแดนของก็อปปี้
พลิกโฉมสู่ซิลิคอนวัลเลย์เอเชีย ท็อบ 10 ศูนย์กลางการเงินโลก
“พวกจีนแดง” หรือ “พวกเซินเจิ้น” วลีที่หลายคนคงเคยได้ยิน หรือไม่ก็พูดกันจนติดปาก ที่อาจเจือเจตนาแฝงไปด้วยการดูถูกดูแคลน เหน็บแนมสินค้าที่มาจากประเทศจีน โดยเฉพาะทัศนคติว่า ของจีน = ของก็อป = ของเกรดต่ำคุณภาพแย่ ซึ่งเมื่อนึกถึงสรรพคุณดังที่กล่าวมานั้น ชื่อเมืองที่แรกๆ มักจะเด้งขึ้นมาในความคิดก็คงจะเป็นเมือง ‘เซินเจิ้น’ เมืองใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนที่ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็ได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองแห่งของก็อปปี้” จริงๆ
1
ในความเป็นจริงแล้วการที่ผู้คนให้สมญานามเซินเจิ้นเป็นแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตสินค้าของเมืองนี้มันก็เริ่มต้นมาจากการผลิตและขายสินค้าลอกเลียนแบบ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจริงๆ
1
สินค้าของก็อปปี้ที่รู้จักกันดีก็มีทั้งกระเป๋า นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงสินค้าเทคโนโลยี โดยเฉพาะกระเป๋าสำหรับสุภาพสตรีที่ถ้าซื้อมาจากเมืองนี้ก็จะถูกตีตราว่าเป็น “หลุยส์เซินเจิ้น” ทันที ต่อให้เป็นของแท้หรือไม่แท้ก็ตาม
ภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับเมืองแห่งนี้มาเนิ่นนานกำลังค่อยๆ เลือนลางจางลง เมื่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเซินเจิ้นมาถึงจุดที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหานครศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีขั้นสูง และการเป็นเมืองที่มีความร่ำรวยมั่งคั่ง 1 ใน 5 เมืองของประเทศจีน
🔵 จากหมู่บ้านชาวประมง สู่ดงบริษัทไอทีของโลก
ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เซินเจิ้นเป็นเพียงแค่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ริมปากแม่น้ำจูในมณฑลกวางตุ้ง ผู้คนก็อยู่กันเรียบง่าย ไม่ได้มีการพัฒนาอะไรมากนัก สังคมการเกษตรคือวิถีชีวิตทำมาหากินหลักของเมืองนี้
1
ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับฮ่องกง ที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษซึ่งกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นประตูทางการค้าที่สำคัญระหว่างโลกตะวันตกและประเทศจีนที่ยังไม่ได้เปิดประเทศมากนัก
รัฐบาลจีนในยุคนั้นซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ประธานาธิบดีของจีน จึงได้มีความคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านนโยบาย ‘การปฏิรูปเศรษฐกิจจีน’ ในปี 1973 เพื่อเปิดประตูการค้าการลงทุนของระหว่างแดนมังกรกับชาวโลกให้กว้างมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงจีนจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม
พร้อมกับมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาในปี 1980 ทั้งหมด 5 แห่งได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ ซันโถว เซี่ยเหมิน และเกาะไหหลำ
เซินเจิ้นกลายเป็นประตูบานใหญ่บานแรกที่สำคัญของจีนในทันที เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบการค้า และการลดหย่อนทางภาษีที่จูงใจให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงหลักปักฐานกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้าไปยังเซินเจิ้นในเวลาอันรวดเร็ว จากเมืองที่เคยมีประชากรแค่ไม่กี่หมื่นคน กลายมาเป็นมหานครขนาดใหญ่ 1 ใน 4 ของจีนที่มีประชากรมากกว่า 12 ล้านคนในเขตเมือง และ 23 ล้านคนรอบเขตปริมณฑลในเวลาไม่ถึงชั่วอายุคน
ปัจจุบันเซินเจิ้นกลายเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศจีนรองจาก เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง โดยมีขนาดเศรษฐกิจเมื่อปี 2020 คิดเป็นมูลค่าถึง 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 13.37 ล้านล้านบาท หรือเกินกว่า 3 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศที่ 16 ล้านล้านบาท
🔵 ที่มาฉายาเมือง “ของฝากนักก็อป”
เซินเจิ้นถูกวางรากฐานให้เป็นเมืองแห่งการผลิต โรงงานต่างๆ มากมายจากทั่วทุกมุมโลกต่างเข้ามาตั้งฐานการผลิตในเซินเจิ้น ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ ความฉลาดของคนจีนก็คือ การใช้ความเชี่ยวชาญจากการเป็นฐานการผลิตให้กับประเทศอื่นๆ มาผลิตสินค้าลอกเลียนแบบนั่นเอง ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ใกล้เคียงกับของถูกลิขสิทธิ์ แต่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
เมื่อเซินเจิ้นที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าอยู่แล้ว ก็ต้องมีแหล่งขายสินค้าอยู่ในเมืองด้วย ห้างสำหรับสินค้าของก็อปปี้ก็เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งเน้นการขายของก็อปปี้แบบจริงจัง ในช่วงแรกอาจจะมีไม่กี่แห่ง แต่ผ่านไปไม่นานก็มีห้างร้านในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นเต็มเมืองไปหมด กลายเป็นสวรรค์ของนักช็อปปิ้งทั้งจากชาวจีน และชาวต่างชาติที่เข้าไปซื้อสินค้ามาใช้เองหรือเหมามาขายต่อ เนื่องจากมีราคาถูกมากอย่างน่าเหลือเชื่อ
แน่นอนว่าด้วยการเป็นของก็อปปี้และเน้นราคาถูก ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่ที่ดวงใครดวงมัน ตาดีได้ตาร้ายเสีย ของจึงมีทั้งที่ได้คุณภาพและห่วยแตกคละกันไป โดยมากแล้วของที่คุณภาพดีอาจจะมีสัดส่วนไม่มาก เพราะเน้นผลิตด้วยต้นทุนต่ำ วัสดุที่ใช้อาจจะไม่ดีมากพอ ทำให้เมื่อก่อนคนไปซื้อของจากเซินเจิ้นมักเจอแต่ “ของก็อปเกรดต่ำ” กันเสียเยอะที่ใช้ไปได้ไม่นานก็พัง ทำให้ภาพจำของคนที่ไปซื้อของจากประเทศจีนมองว่าเป็นของด้อยคุณภาพไปโดยปริยาย ไม่ต่างอะไรกับการที่ชาวต่างชาติมาเที่ยวพัทยาแล้วมองว่าเป็นเมืองแห่งการค้าประเวณี เพราะภาพจำมันถูกฝังแน่นมายาวนาน ซึ่งก็ต้องใช้เวลากว่าที่จะลบภาพจำเดิมๆ ออกได้
1
🔵 ก้าวสู่มหานครแห่งเทคโนโลยีของโลก
หลังจากที่เซินเจิ้นสั่งสมวิชาของการเป็นผู้รับจ้างผลิต และเป็นเมืองแห่การก็อปปี้มาพอสมควร ก็ถึงเวลาที่จีนจะต้องมีเทคโนโลยีอะไรเป็นของตัวเอง มีแบรนด์ที่เป็นสินค้าระดับโลกทัดเทียมกับญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และสหรัฐฯ เสียที
รัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อนโยบายการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอย่างสูง มีการตั้งหน่วยงานเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อผลักดันให้จีนสามารถสร้างสินค้าที่มีความซับซ้อนขั้นสูงได้
1
ประกอบกับการดึงคนจีนที่มีความสามารถ มีฝีมือกลับมาประเทศ จากที่เคยสมองไหลออกไปต่างประเทศกันในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนไม่น้อยเริ่มทยอยกลับมาทำงาน ควบคู่กับการพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กัน
ยุคต้นปี 1990 บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ของจีนเริ่มถือกำเนิดขึ้น อย่างบริษัทชื่อดังระดับโลกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดของจีนก็คือ 'หัวเว่ย' (Huawei) ก็ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น หลังจากนั้นบริษัทด้านไอทีต่างๆ ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดทั้ง ZTE ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ, บริษัท Tencent ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันเช่น WeChat และ Tiktok, บริษัท DJI ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ที่สุดของโลก และบริษัท UBTECH ผู้ผลิตหุ่นยนต์ เป็นต้น
ปัจจุบันเซินเจิ้นเป็นฐานที่มั่นของสำนักงานบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกมากถึง 16,000 บริษัท เรียกได้ว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์เอเชียที่รองรับตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องในด้านไอทีมากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง เทียบชั้นกับซิลิคอนวัลเลย์ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ที่เป็นศูนย์กลางของบริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ของโลก
🔵 ศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 9 ของโลก
การพัฒนาที่ไม่หยุดของเซินเจิ้นได้กลายเป็นเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกการเงิน Global Financial Centers Index จัดอันดับให้มหานครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกอันดับที่ 9 ในปี 2019 และเป็นอันดับ 2 ของประเทศจีนรองจากเซี่ยงไฮ้
เซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เชินเจิ้น SZSE Component (SZI) ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 รองตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ Shanghai Composite (SSEC) โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่ 3.51 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 8 ของโลก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการค้าและการลงทุนของทั้งภูมิภาคเอเชียและของตลาดโลกอย่างมาก
ไม่เพียงเท่านั้นเซินเจิ้นยังติดอันดับเมืองที่มีราคาอสังหาริมทรัพย์แพงที่สุดอีกด้วย ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง Knight Frank ประเมินราคาบ้านหรูในเซินเจิ้นเติบโตในอัตราก้าวกระโดดมากที่สุดในไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้น 18.9% จากปีที่ผ่านมา ส่วนอันดับ 2 และ 3 ก็ล้วนเป็นเมืองจากจีน คือ เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว
1
ในขณะที่เมืองใหญ่ระดับโลกในฝั่งตะวันตกกลับมีราคาบ้านหรูเติบโตรั้งท้ายจากการจัดอันดับ คือ ลอนดอน อันดับที่ 43 ปารีส อันดับที่ 45 และนิวยอร์ก อันดับที่ 46
ผลลัพธ์มาจากการพัฒนาที่ก้าวประโดด คุณภาพชีวิต การศึกษาที่ดี และผู้คนที่มีฐานะทางการเงินที่มากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับการลงทุนในระดับสูง ทำให้มหาเศรษฐีต่างหลั่งไหลเข้าไปจับจองบ้านหรูกันอย่างมากมาย ดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเซินเจิ้นเพิ่มขึ้นนั่นเอง
แม้ทุกวันนี้เซินเจิ้นจะยังสลัดภาพการเป็นเมืองของก็อปปี้ออกไม่หมด 100% แต่ภาพลักษณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นกำลังค่อยๆ เพิ่มศักยภาพของมหานครแห่งนี้ให้เติบโตทิ้งห่างคู่แข่งออกไปเรื่อยๆ
1
ขุมกำลังสำคัญคือการเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยบริษัทด้านเทคโนโลยีจากทั้งในประเทศจีนเองและจากทั่วโลก ที่ขับเคลื่อนให้เซินเจิ้นพัฒนารุดหน้าเมืองอื่นๆ ในเวลาอันสั้น จากหมู้บ้านชาวประมงแสนยากจนริมชายฝั่งปากแม่น้ำ สู่การเป็นมหานครสำคัญของโลกในระยะเวลาเพียง 40 ปี ก็เป็นเครื่องการันตีได้แล้วว่า ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือ 'คน' ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมา ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการปกครองแบบใด พลเมืองที่มีคุณภาพ นโยบายการพัฒนาที่ชัดเจน และการลงมือทำอย่างจริงจังก็พาให้สังคมเกิดความเจริญได้ไม่ต่างกัน
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
โฆษณา