9 พ.ค. 2021 เวลา 09:14 • สุขภาพ
คนที่ติดโควิด-19 มีโอกาสเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน?
ปกติแล้วอัตราการเสียชีวิตของคนที่ติดโควิด-19 ไม่สามารถคำนวณได้ตรง ๆ โดยการเอาจำนวนคนที่เสียชีวิตหารด้วยจำนวนคนที่ติดเชื้อที่ถูกรายงาน เนื่องจากในความเป็นจริงอาจจะมีคนอีกจำนวนมากที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการและอาจจะไม่ได้ถูกนับว่าเป็นผู้ติดเชื้อเพราะไม่ได้มาตรวจ ดังนั้นการคำนวณแบบตรง ๆ จะทำให้ได้ค่าอัตราการเสียชีวิตที่สูงเกินจริง
1
ปัญหาของการคำนวณอัตราการเสียชีวิต (infection fatality ratio, IFR) จึงอยู่ที่ว่า เราจะหาจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงได้อย่างไร วิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือการสุ่มตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ในประชากร
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมา เขาได้ลองคำนวณอัตราการเสียชีวิตของคนที่ติดโควิด-19 ใน 45 ประเทศโดยใช้ข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนคนที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 แล้ว สิ่งที่เขาพบน่าสนใจมาก เขาพบว่าอัตราการเสียชีวิต (IFR) ตามช่วงอายุของคนที่ติดเชื้อมีความสอดคล้องกันทั้ง 45 ประเทศ นั่นคือ ถ้าเราอายุเท่ากัน ไม่ว่าเราจะเป็นคนชาติใดก็ตาม เราจะมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เท่ากัน และโอกาสเสียชีวิตนี้จะเพิ่มขึ้นแบบ exponential เมื่อผู้ติดเชื้อมีอายุมากขึ้น
อัตราการเสียชีวิต (IFR) ของคนที่ติดโควิด-19 ตามช่วงอายุต่าง ๆ (แหล่งที่มาของรูป: https://www.nature.com/articles/s41586-020-2918-0/figures/2)
ถ้าเราสมมุติว่าคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตามมีโอกาสติดเชื้อเท่า ๆ กัน เราอาจจะพอประมาณโอกาสโดยเฉลี่ยที่ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะเสียชีวิตได้โดยการนำโอกาสที่ผู้ติดเชื้อในแต่ละช่วงอายุจะเสียชีวิตมาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนประชากรของไทยในช่วงอายุนั้น ๆ ซึ่งพอคูณออกมาแล้วก็จะได้ว่า โอกาสเฉลี่ยที่คนไทยที่ติดเชื้อจะเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 จะมีค่าประมาณ 0.5%
1
แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมาก ถ้าผู้ที่ติดเชื้อเป็นโรคที่บ่งชี้ว่าตัวเองแก่ (แม้ว่าตัวเองจะอายุไม่มากก็ตาม) เช่น โรคเบาหวานและความดัน และผู้ชายถ้าติดโควิดแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงถึงเกือบสองเท่า
อ้างอิงงานวิจัย: https://www.nature.com/articles/s41586-020-2918-0
โฆษณา