10 พ.ค. 2021 เวลา 07:53 • ประวัติศาสตร์
ตามหาคำว่า "โหลน"
เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๒ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเผยแพร่บทความเรื่อง “โหลน…มาจากไหน” จั่วหัวว่า “...คำว่า ‘โหลน’ ไม่มีที่ใช้และไม่มีความหมายอะไร...”
วรรคต่อไปกล่าวว่า “...แต่คำนี้ปรากฏในบทเพลงปลุกใจเพลงหนึ่ง เนื้อร้องมีว่า ‘ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย’ ข้อความดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า โหลน น่าจะเป็นลูกของเหลน...”
และจบบทความด้วยการกล่าวถึงคำนับลำดับญาตินับจากตนลงไปว่าคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ ลืบ และลืด
ไม่มีคำว่า "โหลน" ?
ข้อน่าสังเกตคือเพลงปลุกใจ "เราสู้" นี้เผยแพร่ครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙
ในขณะที่คนรุ่นเทียดทวดพูดคำว่า “ลูกหลานเหลนโหลน” กันมาก่อนหน้านั้นแล้ว
ไม่มีใครรู้จักคำว่า “ลื่อ” เพราะพูดแต่คำว่า “โหลน” จนชินปาก
"ลูก-หลาน-เหลน-โหลน"
ข้อน่าสังเกตต่อไปคือไม่ปรากฏคำว่า “โหลน” ในพจนานุกรมทั้งฉบับหลวงและฉบับราษฎร์
พจนานุกรมทุกฉบับเก็บแต่คำว่า “ลื่อ” ในบทนิยามว่า “ลูกของเหลน” อย่างที่ราชบัณฑิตย์ว่า
สันนิษฐานว่าความรู้นี้มาจากพระไอยการลักษณะมรดกในกฎหมายตราสามดวงที่ปรากฏข้อความว่า
“...มาตราหนึ่งลูกหลานเหลนลื่ผู้ใดบวดตัวเป็นสามเณร แลบิดามารดาปู่หญ้าตายายถึงแก่มรณภาพไซ้ ควรให้ได้ทรัพยส่วนแบ่งปันตามพระราชกฤษฎีกา ให้เปนจัตุปใจยแก่เจ้าสามเณรนั้น...”
วรรณคดีอันเคยเป็นสรณะที่พึ่งก็ไม่พบคำว่า "โหลน" เลยแม้แต่คำเดียว
พบแต่คำว่า "ลูก/หลาน/เหลน" และมีพิเศษคือพบคำว่า “ลืด” (ลูกของลืบ) ในฉันท์กล่อมช้างของเก่า ความว่า
“...อ้าพ่ออย่าคิดคณผู้บุตร
อันเสน่หนงพาล
อ้าพ่ออย่าคิดคชผู้หลาน
เหลนเหลือลืดแลพงษ์พันธุ์...”
เมื่อไม่พบคำว่า “โหลน” ในเอกสารราชการจึงต้องสืบคำจากภาษาไทยถิ่นหรือภาษาไทกลุ่มอื่น
ภาษาไทยถิ่นเหนือ รศ.เรณู วิชาศิลป์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมตตาตอบว่าเคยท่องจำคำสำรับนี้ว่า “ลูก-หลาน-เหลน-หลีด-หลี้”
ยิ่งกว่านั้นท่านยังกรุณาค้นข้อมูลเพิ่มเติมให้อีกว่าจารึกวัดช้างค้ำ ด้านที่ ๒ พ.ศ. ๒๐๙๑ ปรากฏคำว่า “ลูกหลานเหลนหลีดหลี้” ตรงกับที่อาจารย์เคยท่อง
ภาษาไทยถิ่นใต้ อ.ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์ด้านภาษาและวรรณคดีไทย คนพัทลุง ว่าเรียก "ลูก-หลาน-เหลน-หลิน"
ภาษาไทถิ่นอื่น อ.ประพันธ์ เอี่ยมวิริยะกุล ผู้ก่อตั้งเพจพันศาสตร์พันภาษา ว่าไทดำเวียดนามเรียก “ลูก์-หลาน-เหลน-หล้อน-หลอก์”
แต่ไทโซ่งสุโขทัยเรียกลูกของเหลนว่า “ล่อน” และไทโซ่งนครปฐมเรียก “หล่อน”
ภาษาลาว Mr.Sengfa Hola นักภาษาศาสตร์ชาวนครหลวงเวียงจันทน์ ว่าลูกของเหลนเรียก “หลอน”
คำว่า “หล้อน/ล่อน/หล่อน/หลอน” นี้ใกล้เคียงกับคำว่า “โหลน” ในภาษาไทสยามมาก
เอกสารฝ่ายไทย อ.ศรันย์ ทองปาน นักวิชาการประจำนิตยสารสารคดี ช่วยค้นและพบว่า "โหลน" ปรากฏในวรรณกรรมแปลจีนสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อง “ไซอิ๋ว” ความว่า
“...เห้งเจียนั่งอยู่ข้างริมนั้น ครั้นได้ยินเจ้าวัดบอกดังนั้นก็หัวเราะแล้วพูดว่า ท่านยังเปนคราวแก่หลานเหลนโหลนของเราอยู่...”
แสดงว่าคำว่า “โหลน” เริ่มกระจายตัวและแพร่หลายเป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้วอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๕
และเมื่อค้นต่อไปก็พบว่าเอกสารร่วมสมัยดังกล่าวปรากฏคำว่า “โหลน” อยู่บ้าง ดังตัวอย่าง
“...เหตุฉนั้นเจ้าคุณนวลท่านเปนย่าสมเด็จเจ้าพระยา (ช่วง) เจ้าคุณนวลท่านเปนราชนิกูลแล้ว บุตรหลานเหลนโหลนหลินหลือของท่าน ก็ตกเป็นราชนิกูลทั้งสิ้น...” (มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ : ก.ศ.ร.กุหลาบ)
“...คนนั้นไปป่าให้เสือกินแม้คนนั้นไปทางน้ำให้เงือกใหญ่กิน และให้อัปรีย์จัญไรถึงตัวคนนั้นทุกวันจนชั่วบุตรและหลานเหลนโหลน ใครอย่าได้ชิงเขตต์แดนซึ่งกันและกัน...” (ตำนานลาวพวน : ประชุมพงศาวดารภาค ๗๐)
ทั้งนี้หลักฐานสำคัญที่ควรกล่าวถึงอย่างยิ่งคือพระราชนิพนธ์และสมุดภาพฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ ๕
พระราชนิพนธ์นี้ชื่อ "จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒"
ครั้งนั้นเสด็จฯ จากพระราชวังดุสิตตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) ผ่านจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร รวมระยะเวลา ๓๔ วัน
เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ ๒๖ สิงหาคม ว่าขณะประทับที่เมืองกำแพงเพชร หลังจากพระราชทานพระแสงประจำเมืองแล้วทรงถ่ายรูปตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชรที่มาเข้าเฝ้า
หารู้พระองค์ไม่ว่าพระมหากรุณาธิคุณนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญแก่การศึกษาของชาติในภายภาคหน้า
ทรงถ่ายภาพท่านผู้หญิงทรัพย์ภรรยาพระยากำแพง (เกิด) และภาพท่านผู้หญิงทรัพย์กับบุตรหลานด้วยหลายภาพ
ภาพสำคัญคือภาพ “๕ ชั่วคน” เป็นภาพท่านผู้หญิงทรัพย์กับ “ลูก-หลาน-เหลน-โหลน” ดังความในพระราชนิพนธ์ว่า
“...โหลนได้ตัวมา ๒ คน แต่ถ่ายคนเดียวแต่ที่ชื่อเลอียดบุตรีโน้มอายุ ๑๓ ปี ได้ถ่ายรวมกันเปน ๕ ชั่วคน ที่ถ่ายนี้กันออกเสียบ้างด้วยมาไม่ครบหมดด้วยกัน ลูก หลาน เหลน โหลน ซึ่งสืบมาแต่ท่านผู้หญิงทรัพย์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ด้วยกันเดี๋ยวนี้ ๑๑๑ คน...”
ส่วนสมุดภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ เป็นสิ่งอนุสรณ์ที่รัชกาลที่ ๙ โปรดให้พิมพ์พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายภาวาส บุนนาค อดีตรองราชเลขาธิการ
สมุดภาพหน้า ๒๐๘ และ ๒๐๙ มีลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๕ เขียนคำว่า “โหลน” ในความหมายว่า “ลูกของเหลน” ไว้ชัดเจน
หลักฐานดังประมวลมานี้คงมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คณะกรรมการชำระพจนานุกรมฯ แทรกคำว่า “โหลน” ไว้ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้บ้าง
อย่างไรก็ตามแม้ไม่อาจยืนยันมั่นคงได้ว่า “โหลน...มาจากไหน"
แต่คำว่า "โหลน” นั้น
มีที่ใช้
มีความหมาย
และไม่ได้มาจากเพลงเราสู้เป็นแน่
วิทยาทานแห่งข้อเขียนนี้ขออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระปิยมหาราชและอุทิศแด่กุลทายาทท่านผู้หญิงทรัพย์แห่งตระกูล “รามสูต” ทุกคน
ปรัชญา ปานเกตุ เขียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
#ศัพทาธิบาย #ศัพทานุกรม #ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย #Lexicon of Thai Culture #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #Upper Siamese #ลูกหลานเหลนโหลน #ลูกหลานเหลนลื่อ #ลื่อ #โหลน
ขอกราบขอบพระคุณ
รศ.เรณู วิชาศิลป์ Renoo Wicha
อ.ล้อม เพ็งแก้ว
คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
อ.ประพันธ์ เอี่ยมวิริยะกุล Prapanth Iamwiriyakul
อ.ศรัณย์ ทองปาน Nuinui Sran
อ.สมชาย เดือนเพ็ญ Somchai Duenpen
คุณมาร์ค ทิพยมาบุตร Mark Tipmabutr
Mr.Sengfa Hola Sengfa Hola
Mr.SinXay Soukphilanouvong Sinxay Soukphilanouvong
เพจพันศาสตร์พันภาษา พันศาสตร์พันภาษา
โฆษณา