11 พ.ค. 2021 เวลา 10:53 • การเกษตร
ซีรี่ย์ วิถีเกษตร
ตอน "การเลี้ยง ชันโรง ผึ้งจิ๋วมหัศจรรย์"
ในวันนี้แอดจะพาทุกคนมาทำความรู้จักวิธีการเลี้ยงชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว กามเทพตัวน้อยของเหล่าผลไม้ต่อจากซีรี่ย์ที่แล้ว เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกร ที่ช่วยเพิ่มทั้งผลผลิตทางการเกษตร และยังเพิ่มรายได้เสริมได้อีกด้วย
ขอขอบคุณภาพจาก www.readthecloud.co
ก่อนที่จะลงมือเลี้ยงชันโรงต้องศึกษาอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นเกษตรกรที่กำลังคิดที่จะเลี้ยงชันโรงควรที่จะศึกษาพฤติกรรม ความเป็นอยู่ แล้วนำมาปรับประยุกต์ทำรังเทียม เพื่อให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด ชันโรงมีพฤติกรรมชอบอยู่ในโพรงที่มืด ดังนั้น ควรที่จะทำรังเทียมให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
องค์ประกอบของรังชันโรง
รังชันโรงมีองค์ประกอบสำคัญ 5 อย่าง คือ
1. ปากทางเข้ารัง : ในธรรมชาติมีปากทางเข้ารังหลายแบบตามชนิดของชันโรง เราจะเห็นชันสีดำป้ายอยู่ตรงปากทาง เพื่อให้จำกลิ่นรังของตัวเองได้
2. กลุ่มไข่และตัวอ่อน : เมื่อเปิดฝารังขึ้นมาดู เราจะเห็นกลุ่มไข่และตัวอ่อน อยู่ในถ้วยทรงกลมเรียงซ้อนกันเป็นกลุ่ม
3. ถ้วยอาหาร : เป็นถ้วยทรงกลมใหญ่กว่ากลุ่มไข่และตัวอ่อน ใช้เก็บอาหาร สีน้ำตาลเข้มเก็บน้ำผึ้ง สีน้ำตาลสว่างเก็บเกสร
4. พรอพอลิส : ชันที่ชันโรงผลิตได้มี 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า พรอพอลิส สีเข้ม เป็นยางไม้ที่ชันโรงไปเก็บมาจากต้นไม้ หรือยางไม้ต่างๆ ผสมกับไขผึ้ง ค่อนข้างแข็ง ติดอยู่ตามด้านในของรัง ชันโรงใช้พรอพอลิสอุดรูรั่วในรังไม่ให้ศัตรู เชื้อโรค และแสง เข้ามาได้
5. ซีรูเมน : ชันส่วนที่สองมาจากยางไม้ผสมกับไขผึ้ง มีลักษณะอ่อนนุ่ม ใช้ทำโครงสร้างก้านเสาค้ำยัน ถ้วยไข่ ถ้วยอาหาร
ขอขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org/
วัสดุ อุปกรณ์ในการทำรังชันโรงเทียม
- กล่องไม้สำหรับเลี้ยงผึ้ง หรือกระถางดินเผามีลักษณะเป็นโพรง
- พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชันโรง วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ คือซื้อรังสำเร็จรูป ซึ่งภายในรังมีชันโรงและนางพญาอยู่แล้ว ราคาประมาณรังละ 1,000 -1,500 บาท มีผู้ขายออนไลน์หลายรายอยู่ทั่วประเทศ
ขอขอบคุณภาพจาก www.bansuanpa-chara.com
วิธีการเลี้ยง และการดูแลชันโรง
1. การหาที่ตั้ง ควรหาที่ตั้งที่เหมาะสมภายในสวนไม่ร้อนเกินไป เพราะจะทำให้ถ้วยน้ำหวานละลาย และไม่ตั้งติดพื้น เพราะจะทำให้รังแช่น้ำเวลาหน้าฝน
ขอขอบคุณภาพจาก www.readthecloud.co
2. วางรังชันโรงให้ถูกต้อง เราได้รังมาอย่างไรต้องวางแบบนั้น หรือวางรังให้ระนาบกับพื้นโลก เพื่อให้เซลล์ตัวอ่อนขนานกับพื้นโลก ตัวอ่อนจะได้ไม่จมอาหาร เพราะเขาอาศัยอยู่บนอาหารในเซลล์
3. ควรมีหลังคาบนรังเทียมของชันโรง ถ้ารังชันโรงไม่ได้อยู่ในที่ร่ม ผู้เลี้ยงหลายคนนิยมเอาแผ่นกระเบื้องปิดทับฝารังด้านบน เพื่อป้องกันความร้อน กันฝน และป้องกันลมพัดรังปลิว
4. การเปิด ปิดรัง ชันโรงจะออกหากินในช่วงกลางวัน กลับเข้ารังในช่วงเย็น ดังนั้น ถ้าได้รับรังมาในช่วงกลางวัน ก็นำไปวางในจุดที่เหมาะสมแล้วเปิดรังได้เลย ส่วนการย้ายตำแหน่งรัง ต้องรอให้ชันโรงกลับเข้ารังหมดในเวลากลางคืน ปิดฝา แล้วค่อยย้าย
5. ศัตรูของชันโรง ตำแหน่งที่วางรังควรปลอดภัยจากสัตว์กินแมลงทั้งหลาย เช่น ตุ๊กแก จิ้งจก รวมไปถึงมด มอด และปลวกที่จะทำลายรังด้วย
6. ควรเปิดฝาดูบ่อย ๆ ข้อดีของการเปิดฝารังดูบ่อยๆ จะช่วยให้ชันโรงคุ้นกับแสง และคุ้นกับเรา มันจึงไม่เครียดและดุน้อยกว่าชันโรงที่อยู่ในรังธรรมชาติซึ่งไม่เจอแสง อีกอย่างจะได้ดูความผิดปกติภายในรังอีกด้วย
ขอขอบคุณภาพจาก www.armerspace.com
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงชันโรงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย แค่ควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนลงมือเลี้ยงทุกครั้ง ดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ แล้วจะทำให้เราได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้มีรายได้เพิ่มอีกด้วย
ในซีรีย์วิถีเกษตรตอนต่อไปแอดจะมานำเสนอในเรื่องอะไรนั่นฝากกดติดเพจ "นานาสาระ By Kru Ruji" ไว้ด้วยนะครับ
โฆษณา