10 มิ.ย. 2021 เวลา 11:00 • ยานยนต์
Trabant 601: ยนตรกรรมแบบฉบับ "คอมมิวนิสต์พอเพียง" ที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือก... จากเยอรมนีตะวันออก
หากใครเคยไปเยี่ยมชมที่อนุสรณ์สถานกำแพงเบอร์ลิน เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จะพบว่าชิ้นส่วนหนึ่งของซากกำแพง มีรูป graffiti รูปหนึ่งถูกวาดไว้ คือรูปของรถเล็กๆ คันหนึ่ง พุ่งชนทะลุกำแพงออกมา รถคันนั้นทะเบียน NOV-9-89 และไม่ไกลจากบริเวณนั้น ก็มีพิพิธภัณฑ์ของรถรุ่นเดียวกันอยู่ รวมทั้งมีบางคันที่เปิดให้เช่าขับชมเมืองด้วย
ภาพวาดรถยนต์บนกำแพงเบอร์ลินที่พุ่งทะลุกำแพงออกมา หมายเลขทะเบียนรถคือ "NOV9-89" ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Berlin_Wall_Trabant_grafitti.jpg
รถรุ่นนี้ไม่ได้มีวิศวกรรมอะไรที่โดดเด่น ออกจะแย่ด้วยซ้ำ แต่มันมีประวัติที่ผูกโยงกับการเมืองการปกครอง เป็นสัญลักษณ์ของระบอบคอมมิวนิสต์ในอดีต และเป็นสัญลักษณ์ของ "อิสรภาพของประชาชน" จนเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองและประวัติศาสตร์ รถยนต์รุ่นนั้นคือ Trabant 601
ย้อนกลับไปหลังจากที่เยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ในเวลาต่อมา เยอรมนีได้ "ถูกแยก" ออกเป็นสองประเทศ คือเยอรมนีตะวันออก ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ (สนับสนุนโดยสหภาพโซเวียต) และเยอรมนีตะวันตก ปกครองด้วยระบอบทุนนิยม-เสรี (สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา) ด้วยความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทำให้รัฐบาลสองประเทศนี้ไม่ถูกกัน
รัฐบาลเยอรมนีตะวันออก (จากการสนับสนุนของสหภาพโซเวียต) ถึงกับสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเยอรมนีตะวันออก หลบหนีไปยังเยอรมนีตะวันตก มีนายทหารคุ้มกันแน่นหนา ตลอดเวลา และตลอดแนวกำแพง หากพบบุคคลใด ที่พยายามเคลื่อนตัวข้ามฝั่ง นายทหารจะสามารถลั่นไกได้ทันที หนึ่งในกำแพงกั้นประเทศที่มีชื่อเสียง คือ "กำแพงเบอร์ลิน"
แผนที่การแบ่งประเทศเยอรมนีเป็นสองส่วนในอดีต พื้นที่สีน้ำเงิน คือประเทศเยอรมนีตะวันตก และพื้นที่สีแดง คือประเทศเยอรมนีตะวันออก ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Deutschland_Bundeslaender_1957.svg
บริษัทรถยนต์เยอรมันที่เรารู้จักกันดี ตั้งแต่ Mercedes-Benz, BMW Volkswagen และอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งเยอรมนีตะวันตก แม้แต่ Audi ซึ่งเคยตั้งโรงงานอยู่ในฝั่งเยอรมนีตะวันออก เมื่อเกิดการแบ่งประเทศ ก็ย้ายบริษัทไปตั้งอยู่ในฝั่งเยอรมนีตะวันตกเสียสิ้น
เนื่องด้วยความแตกต่างทางอุดมการณ์ รัฐบาลเยอรมนีตะวันออก ไม่ต้องการอุดหนุนบริษัทรถยนต์ของฝั่งตะวันตก หรือบริษัทต่างชาติในกลุ่มโลกทุนนิยม-เสรี ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองภายในประเทศ จึงสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์จากประเทศกลุ่มโลกเสรี และตั้งหน่วยงานที่ชื่อ "VEB Sachsenring" ขึ้นมาเป็นโรงงานออกแบบ และผลิตรถยนต์ใช้เองในประเทศ ที่เมือง Zwickau ทางตอนใต้ของพื้นที่ประเทศเยอรมนีตะวันออก
ภาพถ่ายหน้าโรงงาน Sachsenring ในปัจจุบัน ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Zwickau_Sachsenring_(aka).jpg
ในขณะนั้น ฝั่งประเทศเยอรมนีตะวันตกนั้นมีรถยนต์ราคาถูกรุ่นหนึ่ง ที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างรถโฟล์กเต่า (Volkswagen Beetle) ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อได้ในราคาสบายกระเป๋า รัฐบาลฝั่งเยอรมนีตะวันออกเองก็ต้องการให้ประเทศฝั่งของตนมีรถยนต์ราคาประหยัดที่ประชาชนสามารถเอื้อมถึงได้ง่ายเช่นกัน
และเป็นโรงงาน Sachsenring นี้เองที่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ออกแบบรถยนต์ราคาประหยัดสำหรับครอบครัว "ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้"
แม้เผชิญข้อจำกัดหลายด้าน แต่วิศวกรภายในหน่วย Sachsenring ก็ยังสามารถออกแบบและสร้างรถออกมาได้หลายรุ่น โดยจะใช้ชื่อยี่ห้อว่า Trabant
ในจำนวนรถมากมายหลายรุ่นของ Trabant มีรุ่นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมสูง มียอดสั่งซื้ออย่างมหาศาลทั้งจากในและต่างประเทศ (แต่เป็นต่างประเทศในกลุ่มประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกันเป็นส่วนใหญ่)
เมื่อยอดคำสั่งซื้อที่เกินกว่าที่คาดหมายไว้มาก กำลังการผลิตของโรงงานก็มีไม่มากนัก อีกทั้งไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะขยายกำลังการผลิตได้เพิ่ม ผลลัพธ์คือคิวการรอส่งมอบรถที่ยาวเหยียด ประชาชนหรือรัฐบาลผู้ที่สั่งจองต้องรอคิวนานถึง 8 - 12 ปีจึงจะได้รับรถที่สั่งไว้ (ย้ำอีกครั้งว่า หน่วยเป็น "ปี")
นอกจากนี้ หลังจากเริ่มผลิตใน ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) และผลิตลากยาวมาจนถึง ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) โดยที่ตลอด 27 ปีนั้น แม้จะแทบไม่มีการพัฒนา ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของตัวรถ เครื่องรถยนต์ หรือเทคโนโลยีใดๆ เลย แต่ก็ยังมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ยาวมาจนถึงช่วงที่เยอรมนีสองประเทศนั้นรวมกันเป็นหนึ่งเดียวใน ค.ศ. 1990 นั่นเองจึงยุติการผลิตไป มียอดการผลิตรวมทั้งสิ้น 2.8 ล้านคัน
(แหล่งอ้างอิง: https://workers-resources.fandom.com/wiki/Trabi_601)
Trabant 601 ในปี ค.ศ. 1963 ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bundesarchiv_Bild_183-B0503-0015-001,_Sachsenring_Trabant_601.jpg
รถยนต์รุ่นนี้ คือสิ่งที่ห่างไกลจากรถยนต์ที่พวกเราทุกคนรู้จักกันอยู่อย่างมาก ด้วยความที่ถูกบีบด้วยปัจจัยทุกด้าน รายละเอียดทางวิศวกรรมที่โดยปกติจะถูกคำนวณมาเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร หรือสมรรถนะในการขับขี่ด้านต่างๆ แต่ในครั้งนี้ถูกตัดออกจากเป้าหมายของการสร้างรถรุ่นนี้ไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง
ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ทำตัวรถ ในขณะที่เรามักจะคุ้นเคยกับรถปัจจุบันที่มีโครงสร้างหลักเป็นวัสดุตระกูลเหล็ก หรือเหล็กผสมต่างๆ
แต่ Trabant จะมีเหล็กค้ำเพิ่มความแข็งแรงอยู่บ้าง แต่โครงสร้างส่วนใหญ่จะสร้างด้วยวัสดุที่ถูกเรียกว่า Duroplast ซึ่งเป็นวัสดุตระกูลพลาสติกผสมจากวัสดุเท่าที่จะหาได้ภายในประเทศ ผสมวัสดุขยะเหลือทิ้งที่รับมาจากสหภาพโซเวียด มาหลอมใหม่ตามสูตรของโรงงาน ทำให้ได้ตัวถังรถที่มีคุณสมบัติคล้าย Fiberglass ที่เบา แต่เปราะแตกง่าย
ผลที่ได้คือรถยนต์คันนี้มีน้ำหนักเบาเพียง 615 กิโลกรัม และมีขนาดกะทัดรัดด้วยมิติตัวถังดังนี้
ยาว 3.510 เมตร
กว้าง 1.505 เมตร
สูง 1.440 เมตร
ระยะฐานล้อ 2.020 เมตร
Track หน้า 1.206 เมตร
Track หลัง 1.255 เมตร
Ground Clearance 0.155 เมตร
แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุชนหนักเมื่อไหร่ ตัวถังของ Trabant 601 จะไม่บุบ หากแต่จะ “แตกเป็นเสี่ยงๆ” จนได้รับฉายาว่า "กระดาษแข็งวิ่งได้" (die Rennpappe หรือ the Running Cardboard)
ลักษณะการชนของ Trabant 601 ที่มาของภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=oF4phDLfGF4
หากคาดหวังว่ารถยนต์ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 615 กิโลกรัมนั้น จะวิ่งตัวปลิวกว่ารุ่นอื่นๆ แล้ว ก็อาจจะต้องผิดหวัง เพราะรถรุ่นนี้มากับเครื่องยนต์ที่ "ไม่ทรงพลัง" อย่างยิ่งยวด
โดยเครื่องยนต์เป็นแบบ 594.5 ซีซี 2 สูบ 2 จังหวะ รหัส P65 และ P66 กำลังอัด 7.8:1 เส้นผ่านศูนย์กลางกระบอกสูบ 72 มิลลิเมตร ระยะช่วงชัก 73 มิลลิเมตร ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ล้อเหล็ก 4Jx13 นิ้ว สวมยางขนาด 5.20-13 (เทียบเท่า 145SR13 หรือใกล้เคียง 175/70R13 ในระบบยางปัจจุบัน อย่างไรก็ตามอาจใส่ไม่ได้กับล้อเดิมโรงงานซึ่งมีความกว้างเพียง 4 นิ้ว) ขับเคลื่อนล้อหน้า
กำลังสูงสุด 26 แรงม้า ที่ 4200 รอบต่อนาที (ย้ำว่า 26 แรงม้าเท่านั้น) แรงบิด 54 นิวตัน-เมตร ที่ 3000 รอบต่อนาที ระบายความร้อนด้วยอากาศ (ไม่มีหม้อน้ำ) สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ถังน้ำมันขนาด 26 ลิตร อยู่ในฝากระโปรงหน้า อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยในสภาวะมาตรฐาน 14.1 กิโลเมตรต่อลิตร อัตราสิ้นเปลืองเมื่อขับด้วยความเร็วคงที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 12.3 กิโลเมตรต่อลิตร อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประมาณ 23.7 วินาที และด้วยความที่มันเป็นเครื่องยนต์ 2 จังหวะ (แบบที่ต้องเติมน้ำมันออโต้ลูป หรือน้ำมัน 2T คล้ายรถจักรยานยนต์หรือเครื่องตัดหญ้ารุ่นเก่า) จึงมี "ควันขาว" ยาวโขมง และมีมลพิษเกินค่าที่กำหนดในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย
ควันขาวในไอเสียนี้เองกลายเป็นมุกตลกหนึ่งของชาวเยอรมนีตะวันออก คือ
ปุจฉา: รถรุ่นอะไร มีความยาวมากที่สุด
วิสัชนา: Trabant ยาวที่สุด ยาวตั้ง 12 เมตร... หมายถึงตัวรถ 2 เมตร กับควันขาวที่ตามหลังอีก 10 เมตร"
หมายเหตุ: อัตราทดของรถ Trabant 601 เป็นดังนี้
เกียร์ 1=4.08
เกียร์ 2=2.32
เกียร์ 3=1.52
เกียร์ 4=1.103
เกียร์ถอยหลัง 3.83
เฟืองท้าย 3.95
ภาพห้องเครื่อง Trabant 601 โดยที่กล่องสีดำด้านบนห้องเครื่อง คือถังน้ำมัน ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Trabant_Engine.jpg
ในทุกยุคสมัย มีรถยนต์หลายรุ่นที่ถูกทำออกมาโดยเน้นราคาถูกเป็นหลัก ระบบภายในรถยนต์ไม่ซับซ้อน ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยพบรถยนต์บางรุ่นที่ทำออกมา ราคาจับต้องได้ง่าย แต่ไม่มีเกจวัดรอบ, ไม่มีวิทยุ-ลำโพง, ล้อเหล็ก, กระจกมองข้างปรับ-พับมือ, กระจกหน้าต่างหมุนมือ และอื่นๆ
แต่สำหรับ Trabant 601 นี้ ได้ก้าวข้ามสู่มิติใหม่แห่งความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน นอกจากจะไม่มีอุปกรณ์ที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนแล้ว ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ พวงมาลัยไม่มีพาวเวอร์ผ่อนแรง และไม่มีก้านล็อกประตูฝั่งคนขับจากภายในรถ (หากต้องการล็อกประตูจากภายในรถ ต้องเอื้อมมือมาเสียบบิดกุญแจ ที่รูกุญแจนอกรถเท่านั้น)
นอกจากนี้ ยังมีความเรียบง่ายที่โดดเด่นของรถยนต์รุ่นนี้ที่สำคัญอีก 2 ประการ คือ
1. เกจวัดปริมาณน้ำมันแบบอัตโนมือ
เนื่องจากพื้นที่การจัดวาง และต้นทุนของรถรุ่นนี้จำกัดมาก ตำแหน่งการวางถังน้ำมันจึงเปลี่ยนจากหลังรถมาอยู่ในห้องเครื่อง การเติมน้ำมัน จะต้องเปิดฝากระโปรงหน้าขึ้นมาเติม
และการที่จะทราบว่าเหลือน้ำมันในถังอยู่เท่าใด จะต้องลงมาเปิดฝากระโปรง และใช้แท่งวัดปริมาณน้ำมันทิ่มลงไปทางฝาถังน้ำมัน เพื่อดูว่าปริมาณน้ำมันติดแท่งวัดขึ้นมามากน้อยเพียงใด (คล้ายการวัดระดับน้ำมันเครื่องในปัจจุบัน) ไม่มีเกจวัดไฟฟ้าให้เป็นภาระการบำรุงรักษา
การวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือในถัง ที่มาของภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=No1-4GsQa-g
2. ระบบฉีดน้ำล้างกระจกแบบอัตโนมือ
ระบบฉีดน้ำล้างกระจก เป็นแบบสูบด้วยมือคล้ายการสูบลมจักรยาน โดยภายในห้องโดยสารจะมีก้านสูบน้ำอยู่ การจะฉีดล้างกระจกจะต้อง กด-ดึง-กด-ดึง ไปเรื่อยๆ (กดหนึ่งครั้ง ฉีดน้ำ "หนึ่งฟืด") ไม่มีมอเตอร์สูบน้ำล้างกระจกมาให้เป็นภาระการบำรุงรักษา
ก้านฉีดน้ำล้างกระจก ที่มาของภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=No1-4GsQa-g
แต่ด้วยความที่เป็นรถที่ "เรียบง่ายอย่างไร้เทียมทาน" นี้เอง ทำให้ราคารถถูกอย่างเหลือเชื่อครับ โดยมีราคาเพียง 8,500-10,000 มาร์ค (หน่วยเงินของเยอรมนีตะวันออกในขณะนั้น) เมื่อเทียบเป็นค่าเงินปัจจุบันจะได้ประมาณ 1,700-1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ (55,000 – 65,000 บาท ในมูลค่าเงินปัจจุบัน) เท่านั้น เป็นรถยนต์ในราคารถจักรยานยนต์ก็ว่าได้
เนื่องจาก Trabant 601 เป็นที่นิยมเฉพาะประเทศคอมมิวนิสต์ที่ปิดประเทศ (และประชาชนในประเทศคอมมิวนิสต์นี้ก็เลือกไม่ได้ เนื่องด้วยถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงยานยนต์ที่ผลิตจากประเทศฝั่งทุนนิยมเสรี จะติดต่อกับประเทศฝั่งเสรีนั้นไม่ง่ายนัก)
ดังนั้น ในช่วงเวลาตลอด 27 ปีตั้งแต่มันเริ่มผลิต โลกภายนอกแทบจะไม่รู้จักมันมากนัก กว่าที่รถรุ่นนี้จะเริ่มเป็นที่รู้จักก็เมื่อประเทศเยอรมนีตะวันออกเปิดพรมแดนให้ผู้คนเข้าออกได้อีกครั้งในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ประชาชนจากฝั่งตะวันออกที่แร้นแค้นต่างทิ้งถิ่นฐาน หลั่งไหลเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฝั่งเยอรมนีตะวันตก
(หมายเหตุ: หลังจากเปิดพรมแดนแล้ว เยอรมนีทั้งสองประเทศยังไม่ได้รวมประเทศกันในทันที แต่กลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้งอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533))
ในวันที่กำแพงเบอร์ลิน และพรมแดนต่างๆ ของเยอรมนีตะวันออกเปิดกว้าง ภาพที่ทั่วโลกได้เห็นและมีการบันทึกไว้มากมายคือประชาชนจากฝั่งตะวันออกที่ไหลผ่านพรมแดนออกมา โดยมีชาวเยอรมันตะวันตกที่รอต้อนรับหน้าพรมแดนด้วยความยินดีที่ประเทศกำลังจะได้รวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง บ้างก็ได้พบหน้าญาติที่ไม่ได้พบกันมานานกว่า 30 ปี
บรรยากาศการเปิดพรมแดนประเทศเยอรมนีตะวันออก-ตะวันตก เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ที่มาของภาพ: https://youtu.be/tg7Jmx3yg5g
เสียงไชโยอย่างปลื้มปิติกระหึ่มทั่วประเทศทั้งสองฝั่ง การโบกมือทักทายและสวมกอดเพื่อนร่วมสัญชาติเกิดขึ้นทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน บรรดาภาพถ่ายที่ถูกเก็บไว้นั้นมีสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นเตะตาคนจำนวนมาก คือ รถที่ประชาชนฝั่งตะวันออกใช้ขับออกมาสู่อิสรภาพนั้น เป็น Trabant 601 รุ่นเดียวกันเกือบทั้งหมด
นั่นเองที่ทำให้โลกภายนอกจึงเริ่มรู้จัก Trabant 601 กันอย่างจริงจัง เมื่อประวัติศาสตร์ของรถยนต์รุ่นนี้ถูกศึกษา Trabant 601 จึงกลายเป็นตำนาน เป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ประชาชนในเยอรมนีตะวันออก ร่วมกับกำแพงเบอร์ลินที่ครั้งหนึ่งเคยปิดกั้นกักขังประชาชนเอาไว้
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับกำแพงเบอร์ลิน คือ Trabant 601 เป็นยานยนต์ที่ประชาชนขับออกมาจากดินแดนที่กดขี่ สู่ดินแดนอิสรภาพ มันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการได้รับอิสรภาพของประชาชนเยอรมนีตะวันออกไปด้วยในตัว
เมื่อประชาชนเยอรมันตะวันออกพ้นพรมแดนมาแล้ว ก็พบกับรถยนต์จากฝั่งโลกเสรีมากมายที่มีคุณภาพสูงกว่าหลายเท่าตัว อีกทั้งพบว่ารถ Trabant ที่ตนใช้อยู่แทบจะไม่ผ่านมาตรฐานใดๆ ที่ประเทศโลกเสรีในขณะนั้นใช้กัน ทั้งไอเสีย สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ฯลฯ
จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่เหมาะสมในการเก็บมันไว้ใช้งานอีกต่อไป เจ้าของจำนวนมากจึงขายรถทิ้งไปในราคาถูกๆ บางคนก็จอดทิ้งมันเป็นเศษเหล็กไว้ข้างทาง จำนวนรถ Trabant บนท้องถนนจึงหายไปอย่างรวดเร็ว โดยจากยอดการผลิตเกือบ 3 ล้านคัน ปัจจุบันมีรถยนต์ Trabant ที่จดทะเบียนในประเทศเยอรมนีเหลือเพียง 30,000 คันเท่านั้น
สำหรับ Sachsenring นั้น ได้ยุติการผลิตรถยนต์ไปในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) และเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์บริษัทต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเวลาผ่านไป รถ Trabant กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์เยอรมนี รถที่เหลืออยู่บางส่วนจึงถูกนำมาบูรณะ และนำเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เฉพาะของรถยนต์รุ่นนี้ ในกรุงเบอร์ลิน (ชื่อว่า Trabi Museum) และยังมีการสร้างเป็นร้านท่องเที่ยวโดยเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เช่ารถ Trabant ที่ได้รับการบูรณะแล้ว ขับชมเมืองเบอร์ลินตามโปรแกรมท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ (ชื่อว่า Trabi Safari และ Trabi World)
ร้านท่องเที่ยวในกรุงเบอร์ลิน ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เช่ารถ Trabent ขับชมเมืองได้ ที่มาของภาพ: http://www.trabi-safari.de/index.php
Trabant 601 เกิดขึ้นด้วยความที่รัฐบาลต้องการกดขี่อิสรภาพของประชาชน แต่ Trabant 601 นี้เองที่พาประชาชนออกสู่อิสรภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ
ปัจจุบันกำแพงเบอร์ลินหลายส่วนถูกทำลายลงไป แต่ก็มีบางส่วนรัฐบาลให้เก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจถึงประวัติศาสตร์อันโหดร้ายในอดีต หนึ่งในซากกำแพงที่ยังตั้งอยู่นั้นได้มีการวาดภาพ Trabant 601 กำลังวิ่งพุ่งทะลุกำแพงออกมา
ภาพวาดรถยนต์บนกำแพงเบอร์ลินที่พุ่งทะลุกำแพงออกมา หมายเลขทะเบียนรถคือ "NOV9-89" ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Berlin_Wall_Trabant_grafitti.jpg
สื่อความหมายถึงการที่ประชาชน ได้พุ่งทะลุกำแพงแห่งการกดขี่ออกสู่อิสรภาพ โดยใช้ "สิ่งประดิษฐ์" ซึ่งครั้งหนึ่งถูกใช้เพื่อกดขี่และจำกัดอิสรภาพของพวกเขาเอง ส่วนเลขทะเบียน NOV-9-89 ของรถคันดังกล่าว ก็คือวันที่เยอรมนีตะวันออกเปิดพรมแดนในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) วันที่ประชาชนเยอรมนีตะวันออกพร้อม Trabant คู่ชีพ ได้ออกมาพบกับเสรีภาพเป็นครั้งแรกนั่นเอง
โฆษณา