12 พ.ค. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
“ปัญหาลินดา” ปัญหาที่อธิบาย ความผิดพลาด ในการตัดสินใจของมนุษย์
เวลาที่เราเลือกที่จะเชื่อในข้อมูล อะไรสักอย่าง
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้
เราเคยนึกสงสัยกันบ้างไหมว่า เพราะอะไรจึงทำให้เราตัดสินใจเช่นนั้น ?
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพาทุกท่านไปเข้าใจหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้เกิดความผิดพลาด ผ่านปัญหาลินดา (Linda Problem) กัน
เรื่องราว “ปัญหาลินดา” นั้น เป็นเพียงแค่เรื่องราวสมมติที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยนักจิตวิทยาที่ได้รับรางวัลโนเบลอย่าง แดเนียล คาห์นแมน และ เอมอส ทเวอร์สกี
โดยมีจุดประสงค์ในการทำการสำรวจและวิจัย เรื่องความผิดพลาดในการตัดสินใจของมนุษย์
แล้วเรื่องราว “ปัญหาลินดา” เป็นอย่างไร ?
ลินดา คือ สตรีสมมติ ที่มีอายุ 31 ปี สถานะโสด
ลินดา เป็นผู้หญิงฉลาด กล้าคิดกล้าทำ และมีความทะเยอทะยานสูง
ลินดา เรียนจบปริญญาตรีสาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งความสนใจของเธอคือ เรื่องราวเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางสังคม
และเธอยังเคยร่วมลงชื่อการรณรงค์ต่อต้าน การสร้างโรงงานนิวเคลียร์ อีกด้วย
คำถามคือ ในตอนนี้ ลินดา กำลังประกอบอาชีพอะไรอยู่ ?
หากให้ท่านผู้อ่าน ลองเลือกจากตัวเลือกระหว่าง
ตัวเลือก A อาชีพพนักงานธนาคาร
ตัวเลือก B อาชีพพนักงานธนาคาร และเป็นสมาชิกในกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี
แน่นอนว่า พอเราได้รับรู้ข้อมูลที่เราได้เกี่ยวกับลินดา มาในเบื้องต้น
ท่านผู้อ่านหลายคน หลังจากพิจารณาแล้ว อาจเลือกตอบ “ตัวเลือก B”
ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น ก็จะตรงกับคำตอบของกลุ่มคนส่วนใหญ่ หรือประมาณ 85% ของผู้สำรวจ ที่ได้เข้าร่วมการวิจัยของคุณแดเนียล อีกด้วย
ซึ่งจากผลการสำรวจนี้ จึงทำให้คุณแดเนียล ได้วิจัยเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจของมนุษย์ ที่อาจใช้ความคิดเชิงอคติเหนือกว่า ความเป็นเหตุเป็นผล
เพราะหากเราพิจารณาให้ดีแล้ว
ตัวเลือก A ลินดาจะประกอบอาชีพเพียงอย่างเดียว
ส่วนตัวเลือก B ลินดาจะต้องประกอบอาชีพมากถึง 2 อย่าง ในเวลาเดียวกัน
1
ดังนั้น จำนวนของคนที่เป็นพนักงานธนาคารเพียงอย่างเดียว
จะมีมากกว่าคนที่เป็นทั้งพนักงานธนาคารและเป็นสมาชิกในกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี
และโอกาสที่ลินดาจะเป็นพนักงานธนาคารเพียงอย่างเดียวก็จะมากกว่า
การเป็นพนักงานธนาคารและเป็นสมาชิกในกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีเช่นกัน
1
หรือพูดง่าย ๆ คือ หากเราใช้ความคิดเชิงตรรกะแบบนี้ เข้ามาช่วยในการตัดสินใจ
การเลือกตอบ “ตัวเลือก A” จะทำให้เรามีโอกาสในการตอบถูก ที่มากกว่า
แต่อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของมนุษย์เรา มักจะถูกโน้มน้าวโดยข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ ณ ที่นั้น ๆ
ซึ่งข้อมูลอาจได้มาจากบุคคลที่เราชื่นชอบ หรือการยึดติดกับข้อมูลทางสถิติมากจนเกินไป จนทำให้เราเกิด ความคลาดเคลื่อนของการตัดสินใจนั่นเอง
อ่านถึงตรงนี้ เราก็คงจะเริ่มเห็นกันแล้วว่า
หนึ่งในสาเหตุของความผิดพลาดในการตัดสินใจ
อาจเกิดมาจาก การที่เราด่วนตัดสินใจอะไรบางอย่างลงไป เพราะเชื่อว่าเรื่องนั้น มีแนวโน้มความน่าจะเป็นที่สูง
ซึ่งแนวโน้มนั้น อาจจะเป็นเพียงแค่ ความคิดวิเคราะห์ของเราเพียงฝ่ายเดียว หรืออาจจะเป็นการเลือกอ่านและเชื่อข้อมูลเพียงด้านเดียว ก็เป็นได้..
โดยข้อคิดจากเรื่องนี้ ยังสามารถสะท้อนให้เราเห็นภาพในด้านอื่น ๆ ที่กว้างขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเงิน อย่างการตัดสินใจที่จะเลือกลงทุน ในหุ้นหรือกองทุน
โดยอ้างอิงจากข้อมูลบางส่วน เช่น ข้อมูลจากงบการเงินของบริษัท หรือผลประกอบการดำเนินงานของกองทุน เพียงแค่ในรอบปีที่ผ่านมา
 
ถึงแม้ว่า ตัวเลขที่ออกมา อาจดูสวยงาม ล่อตาล่อใจ
แต่หากว่าเรามองข้ามปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากตัวเลข หรือข้อมูลรายงานในอดีตที่ลึกกว่านี้
ก็อาจจะทำให้ การตัดสินใจเลือกลงทุนของเรา ผิดพลาดไปได้
1
เหมือนกับที่เราตัดสินใจ เลือกคำตอบ อาชีพของลินดา ที่ผิดพลาดไป เช่นเดียวกัน..
โฆษณา