13 พ.ค. 2021 เวลา 22:55 • หนังสือ
EP.2/7 Eat that frog!
เราขอซื้อเวลาคุณ 10 ปี มูลค่า 100 ล้านบาท
2
ถ้าคุณรู้ว่ามีอายุไข 80 ปี เราขอซื้อเวลาคุณ 10 ปี มูลค่า 100 ล้านบาท หลังจากนั้น เมื่อคุณอายุ 70 คุณจะเสียชีวิตทันที และเงื่อนไขคือมูลค่า ทรัพย์สินหรือสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการขายเวลาของคุณนี้จะสลายไปพร้อมกับชีวิตคุณ
เราทุกคนรู้ดีว่า “เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต เพราะเราไม่สามารถทำให้มันงอกเงยหรือขยายได้ เมื่อเราใช้เวลาไปแล้วมันจะหมดไปในทันที
ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้มีเพียง ใช้เวลาให้มีคุณค่าหรือเหมาะสมคุ้มค่ากับชีวิตของเราให้มากที่สุด
เราเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่เทียบเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ การแลกเวลา 10 ปี กับ 100 ล้านบาทหรือมากกว่านั้นเพียงใด จึงไม่สามารถเทียบเท่ากันได้
5
ครั้งก่อน เราได้พูดถึงการใช้ Eisenhower matrix ในการจัดการเวลาตามความ “สำคัญ” และ “เร่งด่วน” ซึ่งในแต่ละวันเรามีงานทุกประเภทตามความสำคัญเร่งด่วนอยู่แล้ว ในครั้งนี้เราขอเสนอการจัดสรรเวลาแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำ timeboxing ในแต่ละช่อง โดยได้ปรับใช้แนวคิดนี้จากเทคนิค ABCDE ของหนังสือ Eat that frog
ช่อง A: “สำคัญ เร่งด่วน” จัดสรรเวลาให้ 25% ซึ่งสิ่งที่อยู่ในช่องนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นหากเราวางแผนการรับมือได้อย่างดี แต่ก็มีปัจจัยภายนอกบางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่นลูกค้าขอนัดพบเร่งด่วน การตอบอีเมล์ที่ต้องการข้อมูลจากเราเพื่อการตัดสินใจด่วน การประชุมด่วน การเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา (แต่ถ้าเราออกกำลังกาย รักษาสุขภาพอยู่เสมอ ก็สามารถลดความเสี่ยงนี้ได้) ถึงแม้เราจะกันเวลาไว้ให้สำหรับช่องนี้ แต่ถ้าไม่มีเรื่องสำคัญเร่งด่วนเข้ามา ก็ให้จัดเวลาที่ไม่ได้ใช้นี้ให้กับช่องงานสำคัญไม่เร่งด่วน
ช่อง BC: “สำคัญ ไม่เร่งด่วน” จัดสรรเวลาให้มากที่สุด 60% ของเวลาที่มี ช่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เราต้องให้ความสำคัญลำดับแรกและทุ่มเท เพื่อไม่ให้สิ่งสำคัญ ไม่เร่งด่วนนี้ กลายเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งช่อง BC นี้เป็นงานประเภท วางแผนล่วงหน้าได้ทั้งในเรื่องอาชีพ งานประจำและเรื่องส่วนตัว เป็นการวางกลยุทธ์ ป้องกันความเสี่ยงและวางแผนรับมือ งานเซ็นหรือตรวจสอบเอกสารสำคัญ การอ่านและตอบอีเมล์ (เป็นช่วงเวลา) การอ่านหนังสือพัฒนาตนเอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การออกกำลังกาย การกินข้าวกับครอบครัว การโทรศัพท์คุยกับพ่อแม่คนในครอบครัว การทำกิจกรรมกับเพื่อนกัลยาณมิตร เพื่อนร่วมงาน
ช่อง D: “ไม่สำคัญ เร่งด่วน” จัดสรรเวลาให้ 10% ช่องนี้ควรเป็นงานที่เราสามารถแจกจ่ายให้คนอื่นทำแทนได้ แต่หากมีเหตุจำเป็นที่คนอื่นก็ไม่ว่างทำให้ เราก็แบ่งเวลาให้ช่องนี้โดยควรเป็นช่วงเวลาที่ปกติแล้วรู้สึกมี productivity ต่ำเช่นช่วงบ่ายๆ ช่วงเย็นหลังเลิกงาน เพราะเพลียจากการทำงานมาทั้งวัน งานในช่องที่ไม่สำคัญเร่งด่วนนี้เช่น การประชุมที่คนอื่นขอให้เข้าประชุมโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า การไปซื้อหมึกปริ้นเตอร์ที่หมดพอดี การไปซื้อของที่ยังไม่ได้ใช้แต่กำลังลดราคาเยอะมาก 😅
ช่องที่ E: “ไม่สำคัญ ไม่เร่งด่วน” จัดสรรเวลาให้ 5% ช่องนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ทำก็ได้ แต่บางครั้งเราอาจต้องการผ่อนคลาย ต้องการรู้ข่าวสารบันเทิงบ้าง หรือการคุยกับเพื่อนๆ ในโซเชียล
โดยเปอร์เซนต์การจัดสรรเวลาเหล่านี้ สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญและที่ต้องให้เวลามากที่สุด คือช่อง BC
Applied Eisenhower matrix
เรามาคุยกันต่อในซีรีย์หนังสือ "กินกบตัวนั้นซะ" อีก 3 กฎสำหรับการบริหารจัดการเวลา
กฎข้อที่ 4 คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมา
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมการประสบความสำเร็จในชีวิตคือ ความสามารถในการคาดการณ์อย่างแม่นยำว่าผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการทำหรือไม่ทำอะไร และการมองภาพระยะยาวก็เป็นเทคนิคช่วยในการตัดสินใจได้ว่า ทางเลือกที่เรากำลังจะตัดสินใจนั้นส่งผลดีต่อเป้าหมายระยะยาวหรือไม่
กฎข้อที่ 5 ฝึกผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์
เพราะเราไม่สามารถทำงานทุกอย่างที่อยากทำได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงต้องผัดผ่อนงานบางอย่างออกไป หากเราพิจารณาได้ว่างานบางงานที่ไม่สำคัญแต่อยากทำและยังไม่อยากลบงานนี้ออกไปจากชีวิต ก็ให้เลื่อนงานเหล่านี้ออกไปเรื่อยๆ
กฎข้อที่ 6 หมั่นใช้เทคนิค ABCDE อยู่เสมอ
วิธีการคือให้ลิสต์งานที่ต้องทำในแต่ละวัน หรือแต่ละเดือนออกมาเป็นข้อๆ แล้วกำหนดอักษรหรือเกรด A B C D E ให้กับงานนั้นๆ โดยที่
A คืองานที่สำคัญที่สุด ต้องทำเดี๋ยวนี้ เช่นการไปพบลูกค้าด่วน การทำรายงานถึงหัวหน้าที่ต้องใช้ในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้น และหากมีงาน A หลายงานก็ให้ใส่หมายเลขลำดับเป็น A-1, A-2, ..
B คืองานที่ควรทำ เป็นงานสำคัญที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป้าหมายระยะยาวของเราสำเร็จ การพัฒนาตัวเอง
C คืองานที่ถ้าได้ทำก็น่าจะดี เช่นการโทรศัพท์หาเพื่อน การไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน [ในหนังสือเขียนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับชีวิต แต่เรามีความเห็นว่า การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน เป็นหนึ่งในการส่งเสริมความสำเร็จในชีวิต]
D คืองานที่มอบหมายให้คนอื่นทำแทนได้
E คืองานที่จะทำหรือไม่ทำ ก็ไม่เกิดผลใดๆ กับชีวิตเราเลย
หลังจากนั้นเราก็จัดการและทำงานเหล่านั้นตามลำดับความสำคัญ โดยที่เราจะไม่ทำงาน B และ C หากงาน A ยังไม่เสร็จ รวมทั้งมอบหมายงาน D ให้คนอื่น และไม่ทำหรือหลีกเลี่ยงงาน E
ก่อนจบ Ep. นี้ เราขอแชร์ถึงเวลาที่มีเรื่องที่ทำให้ตัวเองรู้สึก down ไม่ว่าจะเนื่องจากเรื่องใดก็ตาม มักจะฟังเพลง “ชีวิตเป็นของเรา” คอยเป็นสิ่งเตือนใจให้ทำสิ่งที่มีคุณค่าและไม่เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญ เพราะสุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปและความคิดเราเติบโตขึ้น เราอาจตระหนักได้ว่ามันเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยก็ได้
เพราะ "เวลา" เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต ชีวิตเป็นของเราใช้ซะ
1
ขอบคุณสำหรับการติดตามพวกเราครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา