Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จารโอม
•
ติดตาม
13 พ.ค. 2021 เวลา 09:19 • ดนตรี เพลง
คนจะเป็นจะตาย ยังมีกะใจจะสุนทรีย์กันอีก? ว่าด้วยเรื่องของดนตรีที่เกี่ยวพันกับความตาย
แน่นอนว่าเพลง ๆ หนึ่งนั้นสามารถเขียนเรื่องราวได้ร้อยแปดพันเก้า คือศิลปินอยากจะเขียนอะไรก็ได้ทั้งนั้น ส่วนใหญ่เราคงได้ยินเพลงรักกันเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่สมหวังก็อกหัก รายละเอียดในบทเพลงนั้นก็ว่ากันไป รองลงมาคงเป็นบทเพลงที่เกี่ยวกับชีวิต สังคม ซึ่งถือว่าเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของศิลปินเช่นกันที่จะต้องสะท้อนสังคมออกมา และต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพลงรักฟังง่ายมันช่วยสร้างความสุขให้ผู้ฟังได้ดี แต่เพลงเพื่อเสรีภาพก็เป็นหน้าที่เช่นกัน แม้ว่าบางครั้งศิลปินนั้นอาจจะต้องแวะ ๆ ไปแต่งเพลงเพื่อชีวิตตัวเองบ้างเพื่อปากท้อง เช่นเพลงประกอบโฆษณาชวนเชื่อ อวยนั่นอวยนี่ แหม ศิลปินก็กินข้าวอะเนอะ เอาน่า เข้าใจ
แต่วันนี้ไม่ได้อยากจะพูดเรื่องจริงจังเท่าไหร่ เอาเรื่องสบาย ๆ ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรเยอะแยะบ้าง เอาเป็นบทเพลงแห่งความตายก็แล้วกัน น่าจะเบาสมอง เอาจริง ๆ แล้วบทเพลงที่เขียนเกี่ยวกับความตายนั้นคงไม่ใช่เพลงที่จะเปิดตามวิทยุหรือใครจะเอามาฟังเล่นนี่ไม่ได้มีเยอะเท่าไหร่หรอก เพราะมันเซนซิทีฟยิ่งกว่าคำหยาบซะอีก ในช่วงหนึ่งที่ประเทศไทยนั้นกำลังฮิตกับเพลง “แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ” ที่ขับร้องโดยคุณอ๊อฟ ปองศักดิ์ เป็นกรณีตัวอย่างได้ดีเลย ตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยเพลงนี้ออกมา โห ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยทำนองที่โคตรจะเศร้า ดนตรีก็โคตรจะส่ง แถมยังเป็นเนื้อหาที่กระแทกใจทุกคนไม่ว่าใครก็ตาม แถมยี่ห้ออ๊อฟปองศักดิ์ที่อยู่ในระดับมหาดารา ก็ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่จัดอยู่ในหมวด “อมตะ” จนทุกวันนี้คนก็ยังร้องเพลงนี้ได้อยู่ ปัญหาคือเพลงนี้มันดันมีเนื้อเพลงแบบนี้ครับ “ไม่มีอีกแล้ว กับเธอ ไม่มีเหลือสักอย่าง อยากตาย” กับ “เสียใจแค่ไหน ถ้าอยากรู้ บอกเธอได้คำเดียว อยากตาย…” โอ้โห เป็นคำว่าตายที่มีน้ำหนักและเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเพลงไทยสากลเลย และมันเป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่คลื่นวิทยุต้องเซ็นเซอร์คำว่า “อยากตาย” ทิ้งไปเลย คือดังก็ดังแหละ คนก็อยากฟังแหละ แต่คำว่าอยากตายนี่เอาออกไปก่อน เดี๋ยวมีคนตายจริง ๆ
ซึ่งคนที่ตายเพราะเพลงได้นั้นมันก็มีจริง ๆ โลกใบนี้มีเพลงหนึ่งที่ชื่อว่า “Szomorú Vasárnap” หรือรู้จักกันในชื่อ “Gloomy Sunday” ประพันธ์โดย “Rezső Seress” และเขียนเนื้อร้องโดย “Laszlo Javor” ซึ่งเป็นนักกวี ตามประวัติศาสตร์เล่าว่าสองคนนี้ดันมาอกหักกันพอดี โดยในรายของ Seress นั้นถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าเลย ส่วน Javor นั้นจริง ๆ แล้วต้องการบรรยายถึงความสูญเสียจากสงครามโลก แต่ดันอกหักเหมือนกัน เลยแปลงเนื้อเพลงให้สื่อถึงการอกหักได้เหมือนกัน ว่ากันว่าเพลงนี้มันเศร้าจนถึงกับมีรายงานอย่างเป็นทางการถึง 19 ครั้งว่ามีคนที่ฆ่าตัวตายโดยที่เพลงนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจจะมีเยอะกว่านั้นเพราะนั่นคือช่วงหลังสงครามโลกที่ใครก็ตามต่างเจ็บปวดจากการสูญเสียทั้งสิ้น
ว่ากันว่าคนที่ตายไปนั้นจะยังอยู่ในใจของผู้ที่รักเสมอ ซึ่งก็จริง ว่าแล้วก็ขออัญเชิญบทเพลงอมตะอีกเพลงที่ชื่อว่า “รักเธอทั้งหมดของหัวใจ” โดยวงพอส และเขียนเนื้อเพลงโดยคุณโจ้ วงพอสเช่นเดียวกัน นอกจากเพลงนี้จะเป็นหนึ่งในความท้าทายชายไทยที่กำลังฝึกฝนจะเป็นนักร้องแล้วดันคิดว่า “เออ กูก็เสียงสูงเหมือนกันนี่หว่า” แล้ว มันยังเป็นเพลงที่กลั่นออกจากความใจสลายอย่างแท้จริงของผู้แต่ง ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ ๆ อาจจะไม่ทราบว่าเพลงนี้นั้นคุณโจ้ได้เขียนถึงน้องชายตัวเองที่เสียชีวิตไป (ขอไม่ระบุสาเหตุ) เอาล่ะ ใครเพิ่งมารู้แนะนำให้ไปเปิดฟังใหม่ เพิ่มความใจสลายไปอีกเพราะประโยคสุดท้ายของบทเพลงนั้นร้องว่า “และสักวัน จะไปหา…” ซึ่งสุดท้ายแล้วคุณโจ้เองก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจริง ๆ และอีกเพลงอมตะระดับโลกอย่าง “Tears in Heaven” โดยศิลปินระดับบรมครูอย่าง “Eric Clapton” ซึ่งแต่งเพลงนี้เพื่ออุทิศให้ลูกชายของตนเองที่เสียชีวิตไป
แต่ในบางครั้ง การเขียนเพลงเพื่ออุทิศให้คนที่ตายไปแล้ว อาจจะสร้างความผิดหวังได้ในภายหลัง ใครจะไปรู้ และใครจะรู้ว่าเพลง “...ก่อน” ที่ทุกคนเข้าใจว่าต้นฉบับนั้นเป็นของวง “โมเดิร์นด็อก” นั้น เป็นหนึ่งในเรื่องเข้าใจผิดที่สุดเรื่องหนึ่งของวงการเพลงไทยได้เลย เพราะแรกเริ่มนั้นมันไม่ใช่ของโมเดิร์นด็อกเสียด้วยซ้ำ ต้นฉบับเป็นของคุณพรายหรือ “ปฐมพร ปฐมพร” ต่างหาก เขียนไม่ผิดหรอกครับ เขามีชื่อและนามสกุลเหมือนกันจริง ๆ และจริง ๆ แล้วคุณพรายเองก็ดังพอตัวเลยนะครับในยุคของเขา แต่ก็ดังทั้งในแง่ดีและในแง่ไม่ดี โดยเอกลักษณ์ของคุณพรายในการแสดงสดนั่นคือ “สุด” มีลูกบ้าในการแสดงล้นเหลือ มีเนื้อเพลงที่คมคายถึงที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามมาพร้อมเสียงวิจารณ์ที่ “สุด” เช่นกัน เช่น ร้องเพี้ยน ดนตรีฟังไม่เข้าใจ ว่าแล้วก็หมดไฟจนกระทั่งประกาศอำลาวงการเพลงไป
การอำลาวงการเพลงไปนั้นทำให้หนึ่งในแฟนคลับคนหนึ่งนั้นเลือกที่จะจบชีวิตของตนเอง… แม้ว่าอาจจะเลือกจบชีวิตด้วยสาเหตุอื่นด้วย แต่เรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยเช่นกัน ต้องเข้าใจก่อนครับว่าแฟนคลับของคุณพรายหรือที่เขาเรียกตัวเองว่า “กลุ่มเพื่อนพราย” นั้นเหนียวแน่นมาก ๆ และทุกวันนี้ก็ยังอยู่ น้องสาวของผู้ตายนั้นได้ส่งจดหมายที่เศร้ามาก ๆ มาให้คุณพราย เมื่อเขาอ่านแล้วจึงแต่งเพลง “...ก่อน” ออกมาด้วยความรู้สึกที่ว่า ถ้าฉันรู้ว่ายังมีคนที่รักฉันอยู่ก่อนที่ฉันจะหมดไฟไป อย่างไรก็ดี หนึ่งในเหตุผลที่เขายกเพลงนี้ให้คนอื่นร้องง่าย ๆ นั้น เชื่อกันว่าคุณพรายได้ไปพบว่าผู้ที่เสียชีวิตนั้นได้ใช้ชีวิตในแบบที่ทำให้เขานั้นผิดหวัง เขาจึงยกเพลงนี้ให้คนอื่นเอาไปร้องแทน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีเวอร์ชันที่คุณพรายได้ร้องเองออกมาทีหลังก็ตาม ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่เป็นแบบของผู้แต่งอย่างแท้จริง เพลงนี้เลยมีประวัติที่แปลก ๆ หลายอย่าง ทั้งเรื่องของที่มา และเวอร์ชันต้นฉบับดันมาทีหลังเวอร์ชันของโมเดิร์นด็อก เป็นเพลงที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้าแต่มีมูลค่ามหาศาล และเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้เยอะที่สุดเพลงหนึงของวงการเพลงไทย
แต่ถ้าจะพูดถึงเพลงแห่งความตายที่แท้จริงล่ะก็ ยังไงก็ไม่พ้นบท “Requiem” อย่างแน่นอน ซึ่งมันคือบทสวดงานศพของศาสนาคริสต์น่ะแหละ เหมือนสวดกุสลา ต่างกันตรงที่บทประพันธ์ “Requiem” นั้นจะเป็นการนำบทสวดมาประพันธ์เป็นบทเพลง ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นผลงานของใครคนไหน ใคร ๆ ก็แต่ง Requiem ได้ เวอร์ชันที่น่าเล่าที่สุดคงจะเป็นของ “W.A. Mozart” หรือโมสาร์ทนั่นเอง เพราะมีเรื่องเล่าว่าเขารับจ้างให้ประพันธ์บทนี้จากชายนิรนามในช่วงท้ายสุดของชีวิต และก็เสียชีวิตไปทั้ง ๆ ที่ยังประพันธ์ไม่เสร็จ สุดท้ายลูกศิษย์ของโมสาร์ท (F.X. Süssmayr) ได้ประพันธ์ต่อจนจบ และบทประพันธ์นี้ก็ได้กลายเป็นบทสวดศพของโมสาร์ทเสียเอง บั้นปลายชีวิตของโมสาร์ทนั้นจนมากจนไม่มีเงินค่าทำศพเสียด้วยซ้ำ มีเรื่องเล่าว่าหลุมศพของโมสาร์ทนั้นถูกฝังแบบคนอนาถา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะมิตรสหายของโมสาร์ทนั้นช่วยกันออกเงินค่างานศพให้ แต่หลุมศพนั้นถูกเคลื่อนย้ายเพื่อปรับขนาดของสุสาน จนทำให้ไม่รู้ว่าหลุมไหนเป็นของโมสาร์ทต่างหาก อย่างไรก็ดี Requiem ของโมสาร์ทก็เป็นบทประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง เป็นหนึ่งในผลงานที่บอกว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่ดนตรีเป็นแบบโรแมนติคก่อนที่บีโธเฟนนั้นจะกลายเป็นผู้นำของดนตรีโรแมนติคในภายหลัง
ความตายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเศร้าไปเสียทุกเรื่อง โอเคถ้ามีคนตายมันย่อมมีคนที่เสียใจ แต่พิธีกรรมเพื่อความตายในหลาย ๆ ครั้งก็ไม่ใช่ความเศร้า ในหลายท้องที่นั้นงานศพคืองานสังสรรค์อย่างหนึ่ง แม้แต่ชุมชนบางแห่งในประเทศไทยเอง งานศพเป็นโอกาสที่จะได้พบปะสังสรรค์ระหว่างคนในเครือญาติหรือผู้คนในหมู่บ้าน แน่นอนว่าความตายนั้นจะเกิดขึ้นกับคนทุกคน ไม่ช้าก็เร็ว อาจจะเกิดขึ้นกับคนที่คุณรัก หรือคนที่คุณไม่ได้รัก แต่ถ้ามันต้องตาย อย่างน้อย ๆ การตายในเวลาอันเหมาะสมก็คงจะดี และคนที่อยู่ก็ต้องสู้กับโลกใบนี้กันต่อไป ขอให้ฟังเพลงเสพดนตรีกันอย่างมีความสุข และสำรวมตอนสวดกุสลากันด้วยล่ะ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย