14 พ.ค. 2021 เวลา 03:00 • หนังสือ
| Read&Share | หนังสือ Atomic habits "เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น"
-James Clear- เคล็ดไม่ลับกับการสร้างนิสัยที่ดีให้ตัวเอง
"การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนนิสัยที่เล็ก ๆ"
“ความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่เป็นผลมาจากนิสัยที่ทำเป็นกิจวัตร” และผลลัพธิ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นมาตรวัดนิสัยในตัวเรา
ตัวอย่างเช่น เมื่อคนนิสัยจนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ทำให้เปลี่ยนสถานะเป็นเศรษฐีได้ในชั่วข้ามคืน แต่เมื่อผ่านไปไม่นานพวกเขาก็ต้องกลับมาจนเหมือนเดิมเพราะว่า “นิสัย” การใช้เงินของพวกเขานั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เมื่อได้เงินก้อนโตมาก็บริหารการเงินไม่เป็นจนทำให้ต้องเสียเงินในที่สุด ในทางกลับกันคนที่มีนิสัยเศรษฐีถึงแม้จะไม่มีเงินมาก่อนก็สามารถฟูมฟักรายได้จนมั่งคั่งได้ เพราะพวกเขามี “นิสัย” ของเศรษฐีติดตัว จึงสามารถบริหารการเงินของตนเองจนร่ำรวยได้
นิสัยไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราทุกคนสามารถเปลี่ยนหรือสร้างนิสัยใหม่ได้เสมอ การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีนิสัยอย่างไร และนิสัยก็จะเป็นตัวกำหนดตัวตนของเราในที่สุด
1
"อยากสร้างนิสัยใหม่ ๆ จะต้องโฟกัสไปที่กระบวนการ"
การเติบโตของต้นไผ่นั้นแตกต่างจากต้นไม้ทั่วไป คือมันจะใช้เวลาเติบโตอยู่ใต้ดินนานถึง 5 ปี ก่อนจะโผล่ออกมาจากดิน จากนั้นต้นไผ่จะเติบโตอย่างรวดเร็วจนสูงเต็มที่โดยใช้เวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์ เท่านั้น
3
การเปลี่ยนแปลงตัวเองก็เช่นกัน ซึ่งต้องใช้พลังกายและพลังใจมากในช่วงแรก และบางทีต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเห็นผลลัพธิ์ที่เป็นรูปธรรม ทำให้หลายคนนั้นถอดใจและล้มเลิกความพยายามสร้างนิสัยที่ดีให้ตัวเอง
แต่ทว่าการสร้างนิสัยก็คล้าย ๆ กับการเติบโตของต้นไผ่นั่นแหล่ะ คือช่วงแรกมักจะใช้เวลานานและยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแบบว่า “นี่เราเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ”
สำนวนที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” อาจจะไม่จริงเสมอไปถ้าเราพยายามผิดวิธี การสร้างนิสัยก็เช่นกัน ถ้าหากเรามี “กระบวนการ” สร้างนิสัยที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เกิดนิสัยนั้นได้ยาก สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่ “กระบวนการ” ไม่ใช่เป้าหมาย ถ้าหากเราอยากมีนิสัยที่ต้องการเราก็ต้องโฟกัสที่กระบวนการการสร้างนิสัยนั้นแทนที่จะคาดหวังให้เกิดผลลัพธิ์เพียงอย่างเดียว
ดังนั้น จงให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย แล้ววันหนึ่งต้นไผ่ของคุณจะเจริญงอกงามออกมา
"ปัญหา ! ของการยึดติดกับเป้าหมาย"
คนเราถ้าหากไร้ซึ่งเป้าหมายในแต่ละวันก็คงจะไม่รู้ว่าชีวิตต้องไปทางไหนต่อดี แต่การมีเป้าหมายก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ถ้าหากเรายึดติดกับเป้าหมายนั้นมากจนเกินไป
การยึดติดกับเป้าหมายมากจนเกินไปอาจพบปัญหาได้ เพราะว่า...
1. ผู้ชนะกับผู้แพ้ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ผู้ชนะนั้นจะมีกระบวนการที่ดีกว่า
การแข่งขันกีฬา ทุกทีมมีเป้าหมายเดียวกันคือชัยชนะ ทีมที่ตั้งเป้าหมายชัดเจนกว่าทีมอื่น ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ชนะ แต่ทีมที่มี “กระบวนการ” ที่เหนือกว่าต่างหากที่มีโอกาสจะคว้าชัยชนะไป หากคุณไม่ดูแลกระบวนการให้ดี คุณอาจจะไปถึงเป้าหมายในฐานะผู้แพ้ก็ได้
1
2. การบรรลุเป้าหมายเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ
หากคุณรู้สึกเบื่อ ๆ แล้วเห็นว่าห้องนอนคุณรกมากจึงใช้แรงฮึดลุกขึ้นมาเก็บกวาดห้องให้เป็นระเบียบสวยงาม บางทีคุณอาจคิดว่าคุณกลายเป็นคนรักความสะอาดแล้ว แต่คุณคิดผิด ถ้าคุณเป็นคนรักความสะอาดจริงห้องของคุณคงไม่รกตั้งแต่แรก การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ และการบรรลุเป้าหมายก็ไม่ได้ทำให้คุณเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ถ้ากระบวนการยังไม่เปลี่ยนแปลง
2
3. เป้าหมายอาจจำกัดความสุขของคุณ
หากคุณคิดว่า “เมื่อฉันไปถึงเป้าหมายแล้วฉันจะมีความสุข” ก็เหมือนคุณผลักความสุขให้ไกลออกไปจากตัวเอง และไม่สามารถการันตีได้ว่าคุณจะบรรลุตามเป้าหมายได้หรือไม่ คุณอาจจะมีความสุขหรือผิดหวังก็ได้ แต่นั่นไม่สำคัญถ้าหากคุณโฟกัสความสุขไปที่เส้นทางของคุณแทน คุณไม่ต้องรอไปจนถึงเป้าหมาย คุณก็มีความสุขได้ แถมยังมีหลายรสชาติให้เลือกอีกด้วย
2
4. เป้าหมายอาจขัดแย้งกับความก้าวหน้าในระยะยาว
การยึดเป้าหมายเป็นสำคัญมากเกินไปอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาโยโย่ “Yo-Yo Effect” ได้ นั่นคือเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วอาจทำให้ละเลยสิ่งที่เคยทำมาระหว่างทางเพราะมัวแต่พึงพอใจกับผลลัพธิ์ระยะสั้นที่ได้ เช่น เมื่อคุณลดน้ำหนักได้ตามต้องการแล้วคุณก็หยุดออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก นั่นเพราะว่าคุณไม่ได้โฟกัสไปที่กระบวนการ แต่ไปโฟกัสที่เป้าหมายมากเกินไป
1
ถ้าหากคุณพบความยุ่งยากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณหรอก แต่อยู่ที่กระบวนการของคุณต่างหาก ดังนั้น จงโฟกัสไปที่กระบวนการให้มาก
"กฎข้อที่ 1 ทำให้ชัดเจน"
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดเป็นนิสัยนั้นสามารถทำได้โดยใช้ “กฎ 4 ข้อ” คือ 1. ทำให้ชัดเจน 2. ทำให้น่าดึงดูดใจ 3. ทำให้เป็นเรื่องง่าย และ 4. ทำให้น่าพึงพอใจ ฟังดูไม่ยากเลยใช่ไหมทุกคน ต่อไปเรามาดูว่าแต่ละกฎเขาอธิบายไว้ว่าอย่างไรบ้าง เริ่มต้นด้วยกฎข้อแรก คือ “ทำให้ชัดเจน”
ก่อนที่เราจะสร้างนิสัยใหม่ เราต้องทราบก่อนว่านิสัยเดิมของเรานั้นอันไหนคือนิสัยที่ดีและอันไหนคือนิสัยที่ไม่ดี แล้วเขียนออกมาให้ชัดเจนก่อน เช่น การนอนตื่นเช้าคือนิสัยที่ดี แต่การไม่ออกกำลังกายเป็นนิสัยที่ไม่ดี ดังนั้นฉันจะเริ่มสร้างนิสัยการออกกำลังกาย เป็นต้น เมื่อเราทราบว่าพฤติกรรมใดควรเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็มาเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงกันเลย
การเริ่มต้นนั้นยากเสมอซึ่งเราอาจจะใช้แรงใจในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงแรก แต่ก็อาจจะหมดไฟไปก่อนที่จะเกิดผลได้ ถ้าหากว่าเราไม่ได้กำหนดกระบวนการไว้อย่าง “ชัดเจน” ซึ่งปัจจัยกระตุ้นพื้นฐานคือ เวลาและสถานที่ ถ้าเราอยากเปลี่ยนพฤติกรรมใด ๆ ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดเวลาและสถานที่ในการจะเริ่มทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้น ๆ ให้ชัดเจน
1
เช่น ฉันจะวิ่งในเวลา 17.00-18.00 น. ทุก ๆ วัน ที่สนามกีฬาหมู่บ้าน เป็นต้น จากการวางกระบวนการที่ชัดเจนแล้ว เราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเริ่มวิ่งเมื่อไหร่และที่ไหน เหลือแค่ลงมือทำตามกระบวนการที่วางไว้ให้ได้ (อาจจะกำหนดเป็นระยะทางก็ได้ แต่ต้องกำหนดเวลาเริ่มด้วย) วิธีนี้ใช้ได้กับทุก ๆ พฤติกรรมที่ต้องการสร้างใหม่
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอีกอย่างคือ “การต่อยอดนิสัย” โดยการนำนิสัยที่ต้องการสร้างใหม่ไปทำหลังจากที่เกิดนิสัยเดิม เช่น เมื่อคุณเป็นคนชอบดื่มกาแฟตอนเช้าและอยากสร้างนิสัยรักการอ่านอาจวางกระบวนการไว้ดังนี้ หลังจากฉันดื่มกาแฟแก้วแรกเสร็จ ฉันจะเริ่มอ่านหนังสือต่อทันที
"กฎข้อที่ 1 ทำให้ชัดเจน" (ต่อ)
การจะเริ่มต้นทำพฤติกรรมใหม่ ๆ นั้น ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดเวลาและสถานที่ที่จะทำให้ชัดเจน แต่เพียงแค่นั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการสร้างนิสัยให้เกิดขึ้น ถ้าหาก “สภาพแวดล้อม” ที่เราอยู่นั้นไม่เหมาะเอาเสียเลย
หากเราอยากอ่านหนังสือแต่เอาหนังสือเก็บไว้ในตู้อย่างมิดชิด ต้องเสียเวลาลุกไปหยิบมาอ่าน แต่มีมือถือวางไว้บนโต๊ะซึ่งหยิบง่ายกว่าเยอะ บ่อยครั้งเราจึงเลือกที่จะหยิบมือถือมาเล่นแทนการอ่านหนังสือ เพราะว่าคนเรานั้นชอบทำอะไรที่มันง่าย ๆ สะดวกสบายมากกว่า แม้การลุกเดินไปซัก 5 วินาทีก็อาจทำให้เราล้มเลิกพฤติกรรมนั้นได้โดยไม่รู้ตัว
หากเราเอาหนังสือมาไว้ใกล้ ๆ ให้ตามองเห็นได้ตลอด เราก็จะมีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือมากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ผลถ้าบนโต๊ะเรามีอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่า
ลองคิดดูว่าเราจะสามารถนั่งอ่านหนังสือได้นานแค่ไหนเมื่อมีมือถือวางอยู่ข้าง ๆ และมีข้อความแจ้งเตือนดังขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ต้องใช้ความอดทนอย่างมากหากเราจะยังนั่งอ่านหนังสือต่อไปทั้ง ๆ แบบนั้น คงจะดีกว่าถ้าเราปิดการแจ้งเตือนหรือเก็บมือถือไว้ให้ไกลตา จะได้ไม่มีอะไรมากวนใจเราในการอ่านหนังสือ
การจัดสภาพแวดล้อมนั้นสำคัญมากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพราะคนเรามักจะถูกกระตุ้นจากสิ่งที่เห็นอยู่เสมอโดยที่ไม่รู้ตัว
ดังนั้นเริ่มต้นการสร้างนิสัยดี ๆ ได้ง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เราทำพฤติกรรมนั้นได้ง่ายขึ้น และควรกำจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นสิ่งรบกวนออกไป
"กฎข้อที่ 2 ทำให้น่าดึงดูดใจ"
เมื่อคิดถึงการทำพฤติกรรมใด ๆ แล้วทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ดี ก็จะมีแนวโน้มที่เราจะทำพฤติกรรมนั้น ถึงแม้ว่าเมื่อเราทำมันแล้วจะไม่ได้รู้สึกดีอย่างที่คิดก็ตาม นั่นเพราะสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมไม่ใช่รางวัลที่ได้จากการทำพฤติกรรมนั้น แต่เป็น “ความคาดหวังว่าจะได้รางวัล” ต่างหากที่กระตุ้นให้เราอยากทำสิ่งต่าง ๆ
เช่น เราไปดูหนังเพราะคาดหวังว่าหนังจะสนุก เป็นต้น และถ้าสิ่งที่ทำเป็นไปตามความคาดหวังของเราก็ยิ่งทำให้เราอยากทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าการคาดหวังสิ่งใดสูงเกินไปก็อาจจะทำให้เราผิดหวังได้ แต่การไม่คาดหวังสิ่งใดเลยนั้นยากที่จะทำให้เราลงมือทำ
สมองของเราจะหลั่งสาร “โดปามีน” ออกมาเพื่อให้เรามีแรงขับในการทำพฤติกรรมต่าง ๆ เมื่อโดปามีนหลั่งมากเราก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้น ๆ มากตามไปด้วย และโดปามีนนั้นจะสั่งออกมาในขณะที่เรา “คาดหวังว่าจะได้รับรางวัล” มากกว่าในขณะที่เราได้รับรางวัลจริง ๆ เสียอีก
ความคาดหวังสำคัญมากในการเริ่มต้นสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ เพียงแต่เมื่อเราทำจนเป็นนิสัยแล้วความคาดหวังของเราก็จะเปลี่ยนไป
ดังนั้น หากเราจะเริ่มต้นทำพฤติกรรมบางอย่าง เราต้องคาดหวังรางวัลที่ได้รับจากพฤติกรรมนั้น ๆ หรือ ทำให้พฤติกรรมนั้น “น่าดึงดูดใจ” ให้เราลงมือทำเป็นประจำ ถ้าหากพฤติกรรมนั้นยากที่จะทำให้น่าดึงดูดใจอาจลองใช้ #เทคนิคการรวมสิ่งล่อใจ
#เทคนิค ให้จับคู่พฤติกรรมที่เราชอบทำกับพฤติกรรมที่เราต้องทำ คือ หลังจากฉันทำ..(สิ่งที่ทำประจำ)..ฉันจะทำ..(สิ่งที่ต้องทำ)..จากนั้นฉันจะทำ..(สิ่งที่อยากทำ).. เช่น หลังจากฉันดื่มกาแฟ ฉันจะอ่านหนังสือ แล้วจากนั้นฉันจะเล่นเกม เป็นต้น เทคนิคนี้จะทำให้เราสามารถควบคุมการกระทำของเราได้อย่างต่อเนื่อง
2
ลองเอาไปใช้กันดูนะ
"กฎข้อที่ 3 ทำให้เป็นเรื่องง่าย"
หากให้เลือกระหว่างเล่นเกม 2 ชั่วโมง กับวิ่ง 2 ชั่วโมง คุณจะเลือกทำอะไร ถ้ามองถึงประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวเราควรเลือกการวิ่งใช่ไหมหล่ะ แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ง่ายเลยที่เลือกแบบนั้นหากเรายังไม่วิ่งจนเป็นนิสัย อีกทั้งยังเห็นชัด ๆ ว่า การวิ่งใช้พลังงานมากกว่าการเล่นเกมเยอะเลย
1
ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีกลไกในการรักษาพลังงานเพื่อความอยู่รอด โดยสมองของเรามักจะชอบทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานน้อยและได้รับรางวัลทันที ในทางกลับกันก็จะต่อต้านการทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากแต่ไม่ได้รับรางวัลทันที จึงไม่แปลกที่เรารู้สึกอยากเล่นเกมมากกว่าการออกไปวิ่ง
ถ้าหากเราอยากสร้างพฤติกรรมที่ดีเราก็ต้อง #ทำให้มันเป็นเรื่องง่าย โดยการ “ลดขั้นตอน” ในการทำพฤติกรรมนั้น เช่น หากเราต้องการไปวิ่ง ให้เราเตรียมชุดวิ่งไว้ข้างเตียงและเตรียมรองเท้าไว้หน้าประตู เพื่อจะทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาและพลังงานไปกับการหาชุดและเตรียมรองเท้า เป็นต้น
ในทางกลับกัน เราก็สามารถลดแนวโน้มการทำพฤติกรรมที่ไม่ต้องการได้โดยการ “เพิ่มขึ้นตอน” ให้กับพฤติกรรมนั้น เช่น หากไม่ต้องการเล่นเกมมากเกินไปให้เราลบเกมนั้นทิ้ง หากอยากเล่นก็ต้องโหลดมาใหม่ซึ่งจะเสียเวลาและพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น
1
#คนเรามักจะมีแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ง่ายดายก่อนเสมอ ดังนั้น จงทำให้พฤติกรรมดี ๆ ทำง่ายขึ้น และทำให้พฤติกรรมที่ไม่ต้องการทำยากขึ้น แล้วเราจะได้มีนิสัยที่ดี ๆ ซักที
"กฎข้อที่ 3 ทำให้เป็นเรื่องง่าย" (ต่อ)
กฎข้อที่ 3 ในการสร้างนิสัยบอกว่า “ทำให้เป็นเรื่องง่าย” โดยการลดขั้นตอนในการที่จะเริ่มทำพฤติกรรมนั้น ๆ ลง แต่ถ้าหากสมองเรายังคงรู้สึกต่อต้านการทำพฤติกรรมดี ๆ เหล่านั้นอยู่หล่ะ จะทำอย่างไรดี ?
2
เมื่อเรามีหนังสือวางอยู่ตรงหน้าแล้วเหลือเพียงแค่หยิบมันขึ้นมาอ่านเท่านั้น ฟังดูไม่น่าจะมีปัญหาใช่ไหม แต่แท้จริงแล้วปัญหาคือเราจะต้องอ่านมันนานแค่ไหน จนจบบทเลยหรือเปล่า ? การจินตนาการถึงระยะเวลาที่เราจะต้องทำพฤติกรรมที่ไม่อยากทำนั้นทำให้เราไม่เริ่มทำมันสักที ซึ่งเป็นต้นเหตุของการผัดวันประกันพรุ่งและดินพอกหางหมู !
นอกจากการทำให้พฤติกรรมที่ดีเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายแล้ว ยังมีอีกเทคนิคคือ #การใช้กฎ2นาที โดยบอกตัวเองว่า “เอาหล่ะ ฉันจะลงมือทำสิ่งนี้แค่ 2 นาทีเท่านั้น” ถ้าเราบอกตัวเองว่าจะอ่านหนังสือแค่ 2 นาที เท่านี้ก็คงไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ทำ เพราะมันใช้เวลาน้อยมาก (อดทนแค่ 2 นาทีเอง) จากนั้นการเริ่มต้นของเราก็จะบรรลุผลสักที #การลงมือทำเพียงเล็กน้อยยังดีกว่าไม่ลงมือทำเลย แต่เชื่อเถอะว่าเราจะอ่านนานกว่านั้น
ถ้าพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้แค่ 2 นาที เช่น การออกไปวิ่งแค่ 2 นาที แบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่ไปวิ่งหรอก แทนที่จะบอกว่าเราจะวิ่ง 2 นาที ให้ลองเปลี่ยนเป็น “ฉันจะลุกไปเปลี่ยนชุดวิ่ง” (เพราะการเปลี่ยนชุดใช้เวลาไม่นาน) จากนั้นเมื่อเราเปลี่ยนชุดแล้วเราจะจำใจออกไปวิ่งเอง
การสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ สิ่งสำคัญอยู่ที่ #การเริ่มต้น ดังนั้นทำยังไงก็ได้ให้เราได้เริ่มต้นทำเสียทีถึงแม้มันจะไม่ได้มากมายหรือไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่มันย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลยเสมอ และเมื่อเราเริ่มได้แล้วเราจะรู้เองว่าต่อไปต้องทำอย่างไร
"กฎข้อที่ 4 ทำให้น่าพึงพอใจ"
กฎข้อ 1-3 (ทำให้ชัดเจน ทำให้น่าดึงดูดใจ และทำให้เป็นเรื่องง่าย) เป็นการเพิ่มแนวโน้มให้เราเริ่มทำพฤติกรรมใหม่ ๆ แต่กฎข้อที่ 4 จะเป็นการเพิ่มแนวโน้มให้เราทำพฤติกรรมนั้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็น “กฎที่สำคัญที่สุดของการสร้างนิสัย” นั่นคือ การทำให้พฤติกรรมนั้น “น่าพึงพอใจ”
คนเรามีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมเดิมซ้ำ ๆ ถ้าทำแล้วได้รับความพึงพอใจ และพฤติกรรมใดที่ได้รับความพึงพอใจในทันทีจะถูกให้ความสำคัญก่อนพฤติกรรมที่ได้รับรางวัลในอนาคต เราจึงชอบกินของหวานที่ให้ความรื่นรมในทันทีมากกว่าการออกกำลังกายที่ต้องรอนานเป็นปีกว่าจะเห็นผล
ในทางกลับกัน พฤติกรรมใด ๆ ที่ทำแล้วได้บทลงโทษทันทีจะถูกหลีกเลี่ยงในการทำซ้ำ เช่น เมื่อพ่อแม่เห็นลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้วลงโทษทันที ลูกก็จะไม่ทำพฤติกรรมนั้นอีก
ดังนั้นการที่เราจะทำพฤติกรรมใด ๆ ได้อย่างต่อเนื่องเราต้องได้รับความพึงพอใจทันทีจากการทำพฤติกรรมนั้น ถึงแม้จะแค่เล็กน้อยก็ตาม โดยอาจจะใช้เทคนิคการให้รางวัลตัวเองหลังจากทำพฤติกรรมนั้น ๆ ก็ได้ เช่น หลังจากอ่านหนังสือจบฉันจะให้เวลาตัวเองดูซีรี่ย์ 1 ตอนทันที และควรจะทำโทษตัวเองทันทีเมื่อทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ถ้าฉันเผลอกินของหวานฉันจะบริจาคเงิน 100 บาทให้องค์กรสุขภาพทันที
อย่าลืมว่าถ้าใช้การให้รางวัลตัวเองต้องคำนึงถึงประเภทของรางวัลด้วย โดยไม่ให้ขัดกับจุดประสงค์ของการสร้างพฤติกรรมของเรา เช่น ถ้าต้องการลดน้ำหนักก็อย่าให้รางวัลตัวเองเป็นการกินของอ้วน ๆ หลังจากออกกำลังกาย
"กฎข้อที่ 4 ทำให้น่าพึงพอใจ" (ต่อ)
นิสัยคือการทำพฤติกรรมบางอย่างโดยอัตโนมัติและต่อเนื่อง และการที่เราจะบ่มเพาะพฤติกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาให้เป็นนิสัย เราต้องทำพฤติกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยอย่าฝ่าฝืนกฎเหล็กของการสร้างนิสัย นั่นคือ “อย่าหยุดหรือเลิกทำพฤติกรรมนั้นกลางคันโดยไม่จำเป็น”
1
แล้วเราจะทำอย่างไรให้สามารถรักษาการทำพฤติกรรมดี ๆ นั้นให้คงอยู่ตลอด ?
การที่เราจะทำสิ่งใดได้อย่างต่อเนื่องเราจำเป็นต้องเห็นพัฒนาการจากสิ่งที่เราทำ ในที่นี้อาจใช้เทคนิค “การติดตามผลของนิสัย” ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ในการติดตามผลว่าเราทำนิสัยนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เช่น การกากบาทในช่องปฏิทิน หรือในช่อง to do list เพื่อเป็นข้อมูลสถิติการกระทำของเรา ซึ่งการติดตามผลของนิสัยมีประโยชน์ดังนี้
1.) ช่วยให้เราเห็นผลลัพธิ์ชัดเจน : เราจะมีหลักฐานชัดเจนว่าเราได้ทำ หรือไม่ได้ทำ พฤติกรรมนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันจะช่วยกระตุ้นให้เราทำได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น
2.) ช่วยกระตุ้นให้เราอยากทำต่อไป : การบันทึกพฤติกรรมที่เราทำลงไปจะช่วยกระตุ้นให้เราทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ เมื่อเราเห็นว่าเราทำได้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทำต่อ
3.) ช่วยทำให้รู้สึกพึงพอใจ : การขีดฆ่าสิ่งที่ทำได้แล้วออกจากรายการที่เราต้องทำไปทีละอย่างจะทำให้เราได้รับความพึงพอใจจากการเห็นความก้าวหน้าของกระบวนการ ซึ่งช่วยทำให้เราทำสิ่งนั้นได้อย่างต่อเนื่อง
บางครั้งมันอาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เสมอ เมื่อเราลืมทำหรือตั้งใจผัดวันประกันพรุ่ง และความไม่ต่อเนื่องนี่เองที่เป็นต้นเหตุของจุดจบการสร้างนิสัย ถ้าหากการกระทำของเราสะดุดขึ้นมาต้องรีบดึงเอาตัวเองกลับมาให้เร็วที่สุด โดยบอกกับตัวเองว่า “อย่าหยุดทำเป็นครั้งที่สอง” บางคนอาจจะมีเหตุจำเป็นที่ต้องหยุดการสร้างนิสัย แต่เมื่อใดที่เราตั้งสติได้ให้กลับไปทำอย่างต่อเนื่องทันที
คนเราไม่สามารถทำอะไรได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบตลอด คนเราผิดพลาดได้เสมอ แต่เมื่อผิดพลาดแล้วต้องเรียนรู้และลุกขึ้นให้เร็ว
"วิธีเปลี่ยนจากคนนิสัยดี ไปเป็นคนที่นิสัยดีเลิศ"
“การเป็นแชมป์นั้นยาก แต่การรักษาแชมป์นั้นยากกว่า” เช่นกัน การสร้างนิสัยนั้นยาก แต่การรักษานิสัยให้อยู่กับเราไปตลอดนั้นยากกว่า
แล้วถ้าเรามีนิสัยที่ดีอยู่แล้วเราจะรักษานิสัยนั้นและพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกได้อย่างไรนะ ลองมาดูวิธีทั้ง 4 ข้อต่อไปนี้ ที่จะช่วยเปลี่ยนนิสัยที่ดีของเราให้ดีขึ้นไปอีก
"เลือกสนามที่เหมาะกับตัวเอง"
เคล็ดลับในการเพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จ คือ การเลือกสนามแข่งขันที่เหมาะกับตัวเอง คนเรามักมีบุคลิกหรือความสามารถบางอย่างที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ
ถ้าเราทราบจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเองแล้วเลือกพัฒนาตนเองได้ตรงจุดเราก็จะมีโอกาสก้าวหน้าได้เร็วขึ้น
"ทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถอยู่เสมอ"
คนเราถ้าทำในสิ่งที่ธรรมดา ๆ ไม่ได้ใช้ความสามารถอะไรมากนักก็ยากที่จะทำสิ่งนั้นได้อย่างสนุกสนานและมีความสุขและอาาจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในที่สุด
ดังนั้นเราต้องหาทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถคนเราบ้าง เพราะคนเราจะเกิดแรงกระตุ้นสูงสุดเมื่อได้ลองทำสิ่งที่ต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่
"อย่ายอมแพ้ให้กับความเบื่อหน่าย"
อุปสรรคของความสำเร็จไม่ใช่ความล้มเหลวแต่เป็น "ความเบื่อหน่าย" ต่างหาก ถึงแม้เราจะได้ทำในสิ่งที่เรารักและชอบ แต่เมื่อทำไปนาน ๆ เราก็สามารถเบื่อได้เช่นกัน และความเบื่อนั้นจะไปขัดขวางไม่ให้เราพัฒนา
ดังนั้นเราต้องอย่าหยุดทำสิ่งที่ต้องทำแม้จะเบื่อก็ตาม เพราะคนที่ประสบความสำเร็จนั้นพวกเขายังคงทำสิ่งที่ต้องทำต่อไปแม้จะเบื่อ แต่คนที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นจะหยุดทำสิ่งที่ต้องทำเมื่อรู้สึกเบื่อ
"อย่ายึดติดกับความสามารถของตนเอง"
การยึดติดกับตัวตนทำให้เราก้าวหน้ายากขึ้น เมื่อเรารู้สึกว่าเราเก่งแล้วเราจะหยุดพัฒนาและไม่รับฟังความเห็นของคนอื่น
หากเราติดการกระทำใด ๆ เป็นนิสัยแล้ว เรามักจะไม่สังเกตเห็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น และนั่นอาจนำไปสู่ปัญหาที่แท้จริงได้
หนังสือ: Atomic Habits
ผู้เขียน: James Clear
ผู้แปล: ประพาฬรัตน์ ยงมานิตชัย
สำนักพิมพ์: เชนจ์พลัส
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา ถ้าหากมีข้อแนะนำหรืออยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็สามารถคอมเมนต์มาได้เลย :)
สามารถติดตามเราเพิ่มเติมได้จาก
Facebook Page: TK Read & Share
โฆษณา