13 พ.ค. 2021 เวลา 15:30 • ดนตรี เพลง
[รีวิวอัลบั้ม] Fearless (Taylor’s Version) - Taylor Swift >>> อัดใหม่ ไม่ขอคืน ตอนที่ 1
3
[รีวิวอัลบั้ม] Fearless (Taylor’s Version) - Taylor Swift
-ต่อให้ไม่มีข่าวคราว Gossip เกี่ยวกับชีวิตรักส่วนตัว เส้นทางของนักร้องสาววัย 31 ปี Taylor Swift ยังคงหวือหวาและน่าติดตามไม่ลดน้อยถอยลงเลย สงคราม gossip สงบลง แต่สงครามระหว่างเธอกับค่ายเก่า Big Machine Records และลูกค้ารายใหญ่ Scooter Braun ซึ่งเป็นคู่ปรับตลอดกาลของเธอที่ซื้อเพลงต่อจากค่ายเจ้าปัญหา ยังคงเป็นหนังม้วนยาวที่มีแนวโน้มไม่จูบปากจบกันง่ายๆ ในเมื่อไม่เผาผีเช่นใด ก็อย่าหวังจะได้เผาผีเช่นนั้น ในเมื่อเพลงทั้ง 6 อัลบั้มก่อน Lover ในปี 2019 กลับถูกขายไปยังศัตรูคู่ปรับที่สามารถเอาเพลงของเธอไปแกล้งใช้ทำให้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับตัวศิลปินเองที่เพลงของเธอนั้นตกไปอยู่ในมือของคนที่เธอไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ในขณะเดียวกันเมื่อย้อนไปในสมัยที่เธอเข้าวงการใหม่ๆ ด้วยความที่เธอยังเป็นสาววัยรุ่นผู้ที่อยากจะทำให้ฝันเป็นจริงแต่โดยเร็ว กลับไม่ได้คิดหน้าคิดหลังเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขของสัญญาว่า ลิขสิทธิ์เพลงของเธอนั้นจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเธอ 100% แต่อยู่ที่ค่ายทั้งหมด นั่นแปลว่า ค่าย Big Machine Records จะเอาเพลงของเธอไปทำอะไรต่อก็ได้ แต่เจ้าของค่าย Scott Borchetta กลับไปขายต่อให้กับศัตรูของเธอโดยไม่บอกกล่าว จนเธอต้องเพิ่มนายบอร์เชตตาเข้าไปในบัญชีหนังหมาอีกหนึ่งคน
1
-แน่นอนว่าความผิดพลาดส่วนนึงมาจากตัวเธอในอดีตที่ยังไม่รอบคอบพอก่อนที่จะจรดปากกาเซ็นข้อตกลง นั่นก็ทำให้เธอมีข้อครหาว่าเป็นดราม่าควีนที่เรียกคะแนนสงสารในแบบที่เรื่องราวทั้งหมดนี้ เธอเองก็มีส่วนผิดด้วย แล้วจะตีโพยตีพายอะไรอีก ถือเป็นบทเรียนใหญ่ให้กับตัวเธอเองและศิลปินรุ่นใหม่อีกหลายคนที่กำลังจะไต่บันไดดาวต้องตกลงเงื่อนไขสัญญากันอย่างถี่ถ้วนมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้ตัวศิลปินเองที่สร้างเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับทางค่ายต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบและไม่ได้อะไรเลย การต่อกรกับศัตรูคู่ปรับและเจ้านายเก่าที่ไม่ซื่อตรงเป็นเรื่องที่ประสาทเสียเปล่า การที่ซื้อเพลงของเธอกลับคืนมาดูเหมือนจะยากลำบาก ทั้งๆที่เธอเป็นถึงขั้นซุปตาร์ระดับโลกและเป็นเศรษฐีนี เธอเลยยอมกัดฟันด้วยการ re-record ทั้ง 6 อัลบั้ม คราวนี้การห้อยท้ายด้วย Taylor’s Version เธอไม่ต้องกังวลแล้วว่า จะมีคนเอาเพลงของเธอไปทำโน่นทำนี่หรือไม่ เพราะเธอสามารถถือครองสิทธิ์ได้ 100% รายได้ทั้งหมดก็เข้ากระเป๋าของเธอแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ฟังดูทำงานซ้ำเหนื่อยกว่าเดิม
1
ปกอัลบั้ม Fearless เวอร์ชั่นดั้งเดิม
-การเอาคืนในลักษณะนี้ก็แอบสาแก่ใจ Swifties อยู่ไม่น้อย อีกมุมนึงเวอร์ชั่นอัดใหม่นี้เป็นการลดมูลค่าเพลงเก่าที่อยู่ในมือของ Scooter ได้ทางนึงเช่นกัน ด้วยวิทยาการเทคโนโลยีในการอัดเสียงที่ก้าวหน้าขึ้น บวกกับประสบการณ์ที่เธอสั่งสมมา เริ่มมองออกว่าควรจะโมดิฟายจุดไหนที่ขาดหายไปในเพลงเก่าของเธอ ไปๆมาๆอาจจะดีกว่าเวอร์ชั่นดั้งเดิมซะด้วยซ้ำ การก้าวสู่เลข 3 กลับมีเรื่องท้าทายในแง่ของการพยายามอัดใหม่ในครั้งนี้เหมือนกัน ต้องมาไตร่ตรองว่าจะต้องทำยังไงให้ใกล้เคียงกับบทเพลงในเยาว์วัยให้ได้มากที่สุด อย่าลืมว่านี่คือผู้ใหญ่วัย 31 ปีที่กลับไปร้องเพลงของเด็กสาววัย 18 ปี การพยายามลดอายุเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเพลงในอดีตให้ได้มากที่สุดไม่ใช่เรื่องง่าย ในโอกาสที่เธอไม่สามารถออกทัวร์ด้วยสภาวะแบบนี้ได้ การลงมืออัดใหม่ ณ ช่วงนี้จึงเป็นการดีที่สุดเพื่อไม่ให้ตัวเองแกไปมากกว่านี้เกินกว่าที่จะมาร้องเพลงวัยรุ่นแล้ว กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเวอร์ชั่นอัดใหม่ทั้ง 6 ชุดนี้จะออกมาเป็นเช่นไร เมื่อเพลงวัยรุ่นสุดโด่งดังถูกเอามาร้องใหม่โดยผู้ใหญ่คนเดียวกัน
1
-การตัดสินใจเลือก Fearless อัลบั้มชุดที่ 2 เป็นหมากตัวแรกของแผนการ ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่หยิบเอามาอัดใหม่ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะนี่คือผลงานสุดคลาสสิคที่ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก นำมาซึ่งความสำเร็จมากมาย ทั้งเพลงฮิตติดชาร์ทบิลบอร์ด Hot 100 หลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น Love Story, You Belong With Me, Fearless ที่ถูกเอาไปเปิดทุกทั่วสารทิศ นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญระดับ groundbreaking ตามมามากมาย มีทั้งคนรุ่นใหม่หันมาสนใจแนวเพลงคันทรี่มากขึ้น ชักจูงให้เด็กสาวไปร่ำเรียนกีตาร์เพื่อเจริญรอยตามบ้างก็ดี รวมไปถึงการคว้ารางวัลใหญ่สุดของ Grammy Award สาขาอัลบั้มแห่งปีด้วยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ Billie Eillish จะทำลายสถิตินี้ได้ในปี 2020 การที่เธอประสบความสำเร็จก่อนอายุ 20 ปี เป็นความมหัศจรรย์อย่างนึงในวงการเพลงที่ทั้งโลกต่างตื่นเต้น อัลบั้มนี้ไม่ได้หวือหวาแค่เพลงฮิตที่กล่าวข้างต้น อัลบั้ม Fearless เฉิดฉายด้วยคาแรคเตอร์สาวช่างฝันวัย 18 ปีที่ชัดเจนเด่นชัดที่สุด อีกอย่างที่เคยพูดไปหลายครั้งตอนที่เขียนรีวิวอัลบั้มของเธอ บทเพลงของเธอไม่ใช่แนวเพลงคันทรี่แบบอนุรักษ์นิยมซะทีเดียว สไตล์เพลงคันทรี่ของเธอมีเซนส์คป็อปสูงมาก บางเพลงแทบจะเป็น teen pop เลยก็ได้ นี่คือเหตุผลหลักว่าทำไมเธอได้รับความนิยมในวงกว้างมากขนาดนี้ สามารถพูดได้ว่า Fearless เป็นผลงานอัลบั้มสุดคลาสสิคด้วยเหตุผลเช่นนี้
1
-ผมขอไม่รีวิวเปรียบเทียบแบบ Track by Track ว่า เวอร์ชั่นดั้งเดิมกับเวอร์ชั่นอัดใหม่ แตกต่างกันยังไง ถ้าเขียนแบบนั้นท่าทางจะยาว ไม่น่าจะพูดถึงได้ครบถ้วนทุกเพลง จะเขียนให้ได้มากที่สุด เอาเป็นว่าเล่าความรู้สึกมวลรวม ไม่เน้นรายละเอียดเนื้อหาในแต่ละเพลง แต่จะเสริมแค่ vault track ที่ตกค้างจาก Fearless session น่าจะถนัดที่สุด จริงๆแล้วความต่างจากเวอร์ชั่นดั้งเดิมที่ผมพอรับรู้ได้คร่าวๆ ขอวิเคราะห์ดังนี้
1
1. เสียงร้องเปลี่ยนตามวัย อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ เวอร์ชั่นดั้งเดิมจะเจื้อยแจ้วสมวัยแตกเนื้อสาว ส่วนเวอร์ชั่นอัดใหม่คือสาววัย 30 ยังแจ๋วที่ร้องเพลงด้วยอารมณ์ที่หนักแน่นกว่าเดิม ไม่พยายามจะแอ๊บแบ๊วลดอายุให้ดูประดักประเดิดจนเกินไป เหมือนได้เห็นผู้ใหญ่ที่ดันมาย้อนรอยขุดไดอารี่เก่าในอดีตมารื้อฟื้นความทรงจำด้วยความรู้สึกที่แช่มชื่น ผมรู้สึกว่าการ adjust เสียงร้องให้เข้ากับบริบทเพลงวัยรุ่น ดูเข้าที่เข้าทาง แนบเนียนไม่เป็นการฝืนสังขารจนเกินไป เห็นตัวอย่างได้จากเพลง Love Story เพลงยอดฮิตที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักสาวช่างฝันรายนี้ ถือเป็นเพลงเด็กแต่คนร้องไม่เด็กแล้ว กลับทำออกมาได้ cheer up ลองสังเกตท่อน pre-hook ที่เปลี่ยนเทคนิคการร้องนิดหน่อยก็ช่วยให้เพลงดูมีพลังฮึดขึ้นมาทันที ในขณะที่เพลงแถมในอดีตกาลอย่าง Today Was A Fairytale มีลักษณะความเป็นเพลงเด็กสาวเช่นกัน เวอร์ชั่นอัดใหม่กลับช่างแม่งเหอะความเด็ก ร้องด้วยโทนเสียงที่เข้มกว่า ด้วยความที่อารมณ์เพลงมีความช่างฝันสูงกว่าเพลงอื่นปกติ ฟังเวอร์ชั่นนี้อาจจะรู้สึกแปลกในบางทีก็เป็นได้ พยายามเท่าที่สุดแล้วจริงๆ
1
- เสียงร้องที่ต่างตามวัยกลับมีดีมีเสียไปตามบริบทเพลงจริงๆ เพลงไหนที่เธออาจจะถ่ายทอดอารมณ์ได้ไม่ถึงพอ กลับทำได้หนำใจแล้วในช่วงปัจจุบัน เห็นได้ชัดที่สุดในเพลง Tell Me Why ที่เนื้อหามาแนวตัดพ้อ มาพร้อมกับภาคดนตรีเครื่องสายสุดฉวัดเฉวียน ถ้าเทียบอายุช่วงนั้น นับว่าเป็นเพลงที่เล่นท่ายากพอสมควร พอเอามาร้องด้วยวัยนี้กลับเป็นอะไรที่สาแก่ใจ straight forward มากกว่าจนสัมผัสได้ You’re Not Sorry ก็เช่นกัน มันเป็นเพลงบัลลาดเกินวัยสำหรับเด็กสาวอายุ 18 จนต้องไต่บันไดเค้นเลยทีเดียว พอเอามาร้องตอนนี้ก็แข็งกร้าวขึ้นเป็นพิเศษสอดคล้องกับบริบทพอดีด้วย มีเพลงที่ขับร้องร่วมกับศิลปินรุ่นพี่ Colbie Caillat ในเพลง Breathe ทำออกมาได้ไม่เขอะเขินแล้ว ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์จริงๆ
1
2. ภาคดนตรีที่อัพเกรดมากขึ้น รู้สึกได้ถึงความกระมิดกระเมี้ยน ความมีน้ำมีนวล เติม layer บางอย่างที่คิดว่าขาดหายไปจากเวอร์ชั่นก่อน เป็นมิติที่ก้องกว่าเดิม เพลงเด่นๆอย่าง Fearless หรือแม้กระทั่ง You Belong With Me ที่มีท่อนโซโล่กีตาร์ที่โดดเด่นที่สุด อัดใหม่ออกมาเข้มข้นกว่าเดิม แทบจะเป็นอีกเวอร์ชั่นนึงไม่เพียงแต่ฉายแววสดใสแตกเนื้อสาวเหมือนก่อน เพิ่มเติมด้วยจิตวิญญาณผู้ใหญ่ที่แข็งแรงไม่ได้ละทิ้งความเยาว์วัยซะทีเดียว เพลงรองอย่าง Forever and Always ที่โลกสวยอยู่แล้ว lift up ความสนุกขึ้นไปอีก แต่ piano version ก็จะออกหม่น เอื่อยหน่อยๆ ถือว่าเก็บทุกเม็ดจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่เพลงแถมที่เป็นเวอร์ชั่นเปลี่ยนดนตรี The Way I Loved You เป็นเพลงโรแมนติกอยู่แล้ว เพิ่มเติมคือแข็งแรงกว่าเดิม White Horse หนึ่งเพลงเศร้าของเทย์เลอร์ที่ผมชื่นชอบ เข้าถึงอารมณ์เศร้า ซาวน์ดเปียโนและเครื่องสายมาเต็ม แผดเสียงได้ขนลุกกว่าเดิม
1
3.มุมมองเพลงที่เปลี่ยนไป เป็นจุดที่น่าสนใจว่า เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ฟังจะมองเพลงเดิมในอดีตเปลี่ยนไปหรือไม่ ? ยอมรับเลยว่าเคสของเทย์เลอร์ช่างตลกร้ายปนวิเศษจริงเชียว มีความแอบเหนื่อยลากที่ต้องอัดเพลงใหม่ แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสที่ตัวศิลปินกลับมา revise เพลงเก่าในรอบหลายปีด้วยเหตุจำเป็น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปจากอดีต ไม่รู้เหมือนกันว่า เทย์เทย์จะรู้สึกกับเพลงเหล่านั้นเหมือนเดิมหรือไม่ อย่างเพลง Change เพลงปิดอัลบั้ม standard version ที่เธอแต่งถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เธอได้เป็นศิลปินเต็มตัวจนชนะรางวัล Horizon Award เมื่อปี 2007 ซึ่งเพลงดังกล่าวเธอแต่งให้กับทีมงานและผู้บริหารค่ายเก่า Big Machine Records ที่ตอนนั้นยังเป็นค่ายเล็กที่มีทีมงานแค่โหลเดียวเท่านั้น การที่เธอสามารถชนะรางวัลนึงได้ เป็นความสำเร็จขั้นต้นที่เธออยากจะใส่มวลรวมแห่งชัยชนะ และอยากจะขอบคุณค่ายเก่าใส่เข้าไปในเพลงดังกล่าวด้วย
1
-อย่างที่ทราบกันดี ณ ปัจจุบัน เธอเกลียดนาย Scott เข้าไส้ จะร้องเพลงนี้ด้วยความรู้สึกแบบไหนกันแน่ เมื่อพื้นเพของเพลงดันมาจากค่ายเพลงแจ้งเกิดที่ตอนนี้กลายเป็น point of no return เสียแล้ว แต่ดูเหมือนว่าในเวอร์ชั่นใหม่ เธอกลับทำได้อย่าง professional แบบที่ก้าวข้ามความระหองระแหงใจไปได้แล้ว เพราะความที่เธอไปได้ไกลรึเปล่า เธอถึงร้องเพลงนี้ด้วยความมั่นใจยิ่งกว่าเดิม ท่อนโซโล่ก็พีคกว่าเดิมด้วย
1
-นอกจากความสำเร็จของอัลบั้มนี้ที่ท่วมท้นจนฟีเวอร์ไปทั่วโลก ถ้าลองมองข้ามเรื่องมุมมองโลกสวย เพ้อฝันแฟนตาซีไป ทักษะการแต่งเพลงของเธอในตอนนั้นจัดได้ว่าเก่งเกินตัวไม่น้อย ดูอย่างเพลง Fifteen ที่เธอบรรยายถึงวัยแตกเนื้อสาวได้เป็นภาพ ถือเป็นการขุดไดอารี่ของจริง เพลงที่เธอแต่งถึงความสัมพันธ์กับแม่ The Best Day ก็ทำได้เล่าออกมาด้วยความเรียบง่ายมากมายด้วยร้อยกลอน เพลงแถมในช่วงนั้นที่อยากพูดถึงคือ Come In With The Rain มันคือเพลงเว้าวอนที่พรรณนารักข้างเดียวด้วยสำบัดสำนวนที่แพรวพราว ลงล็อคพอดีในท่วงทำนองบัลลาด ตัวอย่างข้างต้นที่ผ่านมาก็พอพิสูจน์ถึงความขลังของผลงานชุดที่ 2 ได้อย่างไม่แปลกใจ ทำไมถึงดังพลุแตก? เธอมีคาแรคเตอร์และความสามารถเฉพาะของเธอเองจริงๆ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
1
-ได้เวลาพูดถึง vault track กันบ้าง แทร็คที่ตกค้างจาก Fearless session ที่ไม่ได้เป็น final cut หรือปล่อยที่ไหนมาก่อน โดยรวม 6 แทร็คให้ฟีลเทย์เลอร์ยุคปัจจุบันกับ throwback สไตล์ดั้งเดิมอย่างละครึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนักเพราะได้โปรดิวซ์เซอร์ชุดเดียวกับยุคปัจจุบันอย่าง Jack Antonoff และ Aaron Dessner เพลงที่ throwback the old Taylor แหล่มชัดที่สุดคงหนีไม่พ้น Mr. Perfectly Fine เพลงเนื้อหาตัดพ้อที่มาพร้อมกับสไตล์คอรัสแผดเสียงที่คุ้นหู คำประชดประชันที่สุมไปด้วยอารมณ์สาวน้อยที่ดันพ่ายแพ้อย่างยับเยินตอนที่เค้าบอกเลิก ชั้นแทบทุรนทุราย แต่ทำไมมึงสบายดีจัง ราวกับไม่เกิดอะไรขึ้นเลยรึไง ?
1
-That's When เพลงคันทรี่ดูเอ็ทร่วมกับนักร้องรุ่นพี่ขวัญใจแม่ยก Keith Urban เป็นความดั้งเดิมที่เบสิคที่สุด ผิดกับ You All Over Me ที่ฟีทกับศิลปินคันทรี่รุ่นเดียวกัน Maren Morris ที่เรียบนิ่งสมกับวัยวุฒิเช่นเดียวกับ We Were Happy ที่ให้อารมณ์ nostalgia ลุ่มลึกในแบบที่รู้เลยว่าพี่ Aaron อยู่เบื้องหลัง เพลงรองสุดท้าย Don’t You เป็นป็อปที่มีบีทร่วมสมัยมากที่สุด ดูอินดี้กว่าใครเค้า ปิดท้ายด้วย Bye Bye Baby ที่ชื่อเพลงเหมาะเหม็งกับการอยู่ในลำดับสุดท้าย และการเล่นคำคล้องจองที่ทำให้ท่อนฮุกติดหูโดยปริยาย ถึงสไตล์เพลงจะแอบอิงสไตล์เก่าๆดั้งเดิม จนดูไม่มีอะไรก็ตาม นี่คือเซนส์ป็อปที่เธอมีมาตั้งแต่ต้น
1
-นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินเกมส์ อัดใหม่ ไม่ง้อแล้วที่ Swifties ต้องจับตาดูกันยาวๆว่า เวอร์ชั่นอัดใหม่ที่กำลังจะตามมา สามารถฝังกลบเวอร์ชั่นดั้งเดิมให้โดนลดมูลค่าลงหรือไม่ ? อย่างที่บอกไป การงัด Fearless ขึ้นมา ถือเป็นตัวเลือกที่ดี เหมาะแก่เวลาโดยที่ไม่สายเกินไป ร้องด้วยความรู้สึกมั่นใจ รู้จักพลิกแพลงมากขึ้น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า Swifities ที่โตมากับผลงานของเทย์เลอร์แทบทุกอัลบั้มจะรู้สึกดีขึ้นกว่าเก่า จนเปรียบเทียบได้เป็นตุเป็นตะหรือไม่ ?
1
-สำหรับผมแล้ว ผมชอบเวอร์ชั่นอัดใหม่มากกว่า ด้วยเหตุผลที่มากประสบการณ์ ความช่ำชองที่เพิ่มขึ้น ได้ทีมหลังบ้านที่ดีด้วย อีกอย่างการที่เธอเริ่มเข้าสู่ทางสายลึกมากขึ้นตั้งแต่ folklore กลับทำให้เธอมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ยิ่งเป็นช่วง vault track บางแทร็คเหมือนเซ็ตภาพจำ เทย์เทย์ยุคปีก่อนเลย บางทีเธออาจจะรันแผนการอัดใหม่ไปพร้อมๆกับต่อจิ๊กซอว์ในยุคเปลี่ยนผ่านทีละนิด เพื่อไม่สูญเสียตัวตนปัจจุบันก็เป็นได้ เป็นสาวเทย์ก้าวข้ามความ innocent โดยสมบูรณ์ ต้องมาดูกันครับว่าเธอจะสามารถแก้ไขอะไรในอดีตต่อจากนี้อีก 5 ชุดด้วยกัน เป็นความมหัศจรรย์อย่างนึงที่คนอย่างเธอดันมีบารมีมากพอที่จะนั่งไทม์แมชชีนไปรื้อฟื้นวันวานได้
1
ต่อให้ทำงานซ้ำ ก็ยังมีคนสงสัยใคร่รู้
1
Top Tracks : Fearless, Fifteen, Love Story, White Horse, You Belong With Me, Tell Me Why, You’re Not Sorry, Forever & Always, Change, Come In With The Rain, Mr.Perfectly Fine, We Were Happy, Don’t You, Bye Bye Baby
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา