14 พ.ค. 2021 เวลา 01:08 • บันเทิง
สินสอดกับสังคมไทยในปัจจุบัน…ยังสำคัญอยู่ไหม???
ว่ากันด้วยเรื่อง “ประเพณีการให้สินสอด” ในสังคมไทยนั้น มีมาตั้งแต่โบราณก่อนที่พวกเราหลายๆ คนจะเกิดเสียอีก วัตถุประสงค์ในการให้สินสอดก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและบริบทของสังคม
สมัยก่อน…บริบทของสังคมเป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายชายทำงาน ส่วนฝ่ายหญิงก็อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ดังนั้น ประเพณีการให้สินสอด จึงอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำมั่นสัญญาเรื่องการแต่งงาน เป็นการให้เกียรติฝ่ายหญิง หรือเป็นค่าน้ำนม ค่าเลี้ยงดูของครอบครัวฝ่ายหญิง ตลอดจนเป็นหลักประกันในการดูแลฝ่ายหญิง เนื่องจากสังคมไทยสมัยก่อน ไม่ได้เปิดกว้างมากนักสำหรับผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว
พอมาถึงปัจจุบัน…บริบทของสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงและผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน ต่างฝ่ายต่างมีความสามารถในการทำงานหาเลี้ยงตนเองได้เช่นเดียวกัน มุมมองเกี่ยวกับประเพณีการให้สินสอดที่มีมาตั้งแต่โบราณ จึงยังคงมีฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่เริ่มไม่เห็นด้วย ซึ่งหากเปิดประเด็นให้ถกเถียงกัน ต่างฝ่ายก็คงมีเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตนตามประสบการณ์ที่แต่ละคนได้พบเจอมาอย่างแน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ Social Media ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลก ยิ่งตอกย้ำให้เกิดการเปรียบเทียบประเด็นการให้สินสอดในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะบางประเทศไม่ต้องให้สินสอด บางประเทศฝ่ายชายฝ่ายหญิงออกค่าสินสอดกันคนละครึ่ง บางประเทศฝ่ายหญิงต้องให้เงินสินสอดเพื่อไปสู่ขอฝ่ายชายด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี ประเพณีการให้สินสอดในสังคมไทยในปัจจุบัน ยังคงมีความคาบเกี่ยวระหว่างแนวคิดของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ บางครอบครัวยังคงมองว่าประเพณีการให้สินสอดเป็นประเพณีที่มีความงดงามและมีความสำคัญเสมอ ในทางกลับกันบางครอบครัวอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสินสอด แต่มุ่งเน้นไปที่ความพร้อมในการสร้างครอบครัวของคู่รักฝ่ายชายหญิงมากกว่า
ด้วยบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป บางครอบครัวที่ยังคงให้ความสำคัญต่อประเพณีการให้สินสอดนั้น ควรตระหนักถึงวัตถุประสงค์และความเหมาะสมของจำนวนเงินสินสอด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องความพร้อมในการสร้างครอบครัวของคู่รักฝ่ายชายหญิง เช่น การกู้หนี้ยืมสินมาเป็นเงินสินสอดที่ค่อนข้างเกินฐานะ หรือเพื่อหน้าตาทางสังคม นี่แค่เริ่มต้นจะสร้างครอบครัว…ก็มีปัญหาแล้ว
สรุปว่า…แนวคิดเรื่องควรมีสินสอด หรือ ไม่ควรมีสินสอด จึงไม่มีข้อสรุป แล้วก็ไม่มีใครผิดถูก ตัวบทกฎหมายของไทยเองก็ไม่ได้บังคับให้ต้องจ่ายเงินค่าสินสอด แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ หลายครอบครัวยังคงยินดีที่จะรักษาประเพณีการให้สินสอดไว้ ซึ่งก็คงเป็นไปตามข้อตกลงและความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว ส่วนอีกหลายครอบครัวก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีนี้แล้ว
สุดท้ายนี้…คาดว่าทุกคนน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า การเลือกคู่รักที่มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน หรือการเจรจาต่อรองเพื่อปรับแนวคิดให้เข้ากันในเรื่องประเพณีการให้สินสอดสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
โฆษณา