15 พ.ค. 2021 เวลา 03:01 • ปรัชญา
มหาภารตะ วาระที่ 5
กฤษณะ กุนซือเทพเจ้า 4
บวกเถิดอรชุน!!!
ท่านจงใช้ Critical Thinking
.
หลังจากหลายเดือนผ่านมาที่พ่อห่างหายจากการเล่าให้ลูกฟังผ่านช่องทางแห่งนี้ เนื่องจากภาระจำเป็นของบทบาทหน้าที่การเป็นบุคลากรทางการศึกษา หนึ่งนั้นคือความรับผิดชอบต่อผู้เรียน สองคือผลของการรับผิดชอบดังกล่าว ซึ่งแปรเปลี่ยนมาเป็นรายได้เพื่อจุนเจือปากท้องและครอบครัว แต่เมื่อเวลามาบรรจบกับความพร้อม พ่อจึงอยากขอเล่าต่อจากเรื่องที่เป็นจุดเริ่มต้นของเพจนี้อีกครั้ง
-
อันที่จริงพ่อจบจากที่เล่าค้างไว้ในวาระที่แล้วว่าด้วย การเจรจาสงบศึกสร้างความปรองดอง วันที่หนึ่ง อันล้มเหลว แต่จะให้เล่าต่อ วันที่สอง ก็ดูจะไม่มีเนื้อหาที่ต้องขยายความมากเท่าเรื่องที่พ่อตัดสินใจนำมาเสนอในครั้งนี้ ดังนั้นพ่อจะขออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างคร่าว ก่อนจะเข้าสู่ฉากสำคัญอันเป็นวาระโดดเด่นชวนให้พ่อหยิบยกคาแรกเตอร์พระกฤษณะ มาเป็นตัวเอกในการเล่ามหากาพย์มหาภารตะให้ลูกฟัง ฉากที่ว่านี้คือ เรื่องราวก่อนเริ่มต้นสงครามการสู้รบที่สะเทือนทั้งผืนดิน ผืนฟ้า หรือแม้แต่ใต้โลก
โดยทั่วไปคนไทยเราจะรู้จักเหตุการณ์นี้ในชื่อที่เรียกนว่า “รบเถิดอรชุน” ทีนี้เมื่อพ่อเอามาเล่าจึงขอปรับให้เข้ากับยุคสมัยเสียหน่อยจึงกลายเป็น “บวกเถิดอรชุน” หวังให้ได้อารมณ์ร่วมสมัย ถึงใจวัยรุ่นมากกว่า ไม่แน่ใจว่าถึงรุ่นลูก การ “บวก” จะยังเป็นศัพท์วัยรุ่นไหม หรือยังใช้อยู่หรือเปล่า แต่ในวันที่พ่อเขียนอยู่นี้ หากได้ยินพระกฤษณะชวนอรชุนสู้ด้วยการ “เฮ่ย บวกเถอะอรชุน” คงจะเร้าใจไม่ใช่เล่น.
หลังจากจบกระบวนการโน้มน้าวเหล่าผู้อาวุโสในสภาแห่งกรุงหัสตินาปุระ รวมทั้งราชาธฤตราษฎร์ให้เห็นด้วยกับการสงบศึก แต่ไม่อาจเปลี่ยนใจเจ้าชายทุรโยธน์ผู้อหังการได้ พระกฤษณะจึงใช้วิธีเข้าหาผู้เป็นมารดาให้ช่วยเกลี้ยกล่อม ถึงอย่างนั้นพระนางคานธารีก็ทำได้เพียงแต่ร้องขออย่างเศร้าโศก และไม่มีผลใดใด ตัวทุรโยธน์เองเห็นสถานการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาก็พิจารณาได้ว่าหากปล่อยให้พระกฤษณะกลับไปทั้งอย่างนี้ คงอันตรายกับเราเป็นแน่แท้ ไฉนเลยเราจะปล่อยมันไว้ จึงหารือกับสหายกรรณะและพรรคพวกว่าจะจับตัวกฤษณะเป็นประกัน เพื่อช่วยให้งานใหญ่เบาลง ความนี้ล่วงรู้ไปถึงหูพระกฤษณะ และเพื่อไม่ให้เรื่องยืดยาว กฤษณะจึงแสดงอิทธิฤทธิ์ปรากฏกายเข้าสู่วิศวรูปหรือกลับเป็นองค์เทพพระวิษณุเจ้า
ส่งผลให้คนทั้งหมดในราชสำนัก ก้มกายกราบกรานแสดงความนอบน้อมอย่างถึงที่สุด เพราะทราบแล้วว่าบุคคลตรงหน้าคือพระนารายณ์อวตารหาใช่มนุษย์ปุถุชน แผนการของทุรโยธน์จึงมีอันพับเก็บไปด้วยความหวาดกลัวต่อกฤษณะร่างจริง ถึงตรงนี้พ่อชวนสงสัยว่า ในเมื่อทราบแล้วว่าอีกฝั่งมีถึงเทพเจ้าเข้าร่วมด้วย เหตุใดจึงยังคิดสู้รบกับเขาอยู่อีก หรือเป็นเพราะเชื่อมั่นใน สัจวาจา เกียรติศักดิ์ศรี คุณธรรมที่่ชนชั้นกษัตริย์ต้องยึดถือ ว่ากฤษณะจะไม่ใช้อำนาจแห่งวิษณุเทพร่วมต่อสู้.
••
เหตุการณ์ผ่านไปเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับการตัดสินใจทำสงครามของฝั่งเการพ เพียงแค่ไม่คิดจะใช้วิธีการจับองค์กฤษณะเป็นตัวประกันแล้วเท่านั้น พระกฤษณะเองก็เดินเกมต่อเนื่องด้วยการเข้าเฝ้าพระนางกุนตีผู้เป็นมารดาของฝั่งพี่น้องปาณฑพ ด้วยล่วงรู้ว่ากรรณะสหายสนิทและกำลังสำคัญระดับ Ultimate ของทุรโยธน์ที่แท้คือบุตรองค์โตของนางกุนตี ซึ่งเกิดจากการมีสัมพันธ์ลับกับสูรยเทพ หรือพระอาทิตย์นั่นเอง!! (เรื่องราวของกรรณะพ่อจะหาโอกาสเล่าในโอกาสถัดไป) แน่นอนว่าแม้กรรณะจะได้รับรู้ถึงความจริงที่ตนเองก็เป็นถึงพี่ชายของเหล่าภราดาทั้ง 5 แต่ไม่รู้ว่าด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจที่แม่ทอดทิ้งตั้งแต่ยังเด็ก หรือสำนึกบุญคุณของราชวงศ์เการพที่เลี้ยงดูมา จึงไม่อาจเปลี่ยนใจอันทรนงและโอหัง ให้ล้มเลิกความตั้งใจประหัตประหารพี่น้องสายเลือดเดียวกันเองในที่สุด
แม้ว่าตอนท้ายกรรณะจะกล่าวสัจสัญญาว่า จะมีเพียงผู้เดียวที่เขาคิดจะเอาชีวิตคือ อรชุน สาเหตุคงเป็นเพราะฝีมือที่สูสีขับเคี่ยวกันมาแต่ยังเยาว์ เมื่อกฤษณะคิดได้แล้วว่าสิ้นไร้หนทางใดใดที่จะหยุดวาระแห่งสงครามครั้งนี้ได้ จึงได้ได้แต่กล่าวอำลากับเหล่าญาติมิตรและผู้อาวุโสแห่งกุรุวงศ์ และเดินทางกลับสู่กรุงวิราฏพร้อมญาติผู้ติดตาม คือ สาตฺยกี กับสารถีประจำตัว
•••
การรายงานความล้มเหลวในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ คงไม่เกินความคาดหมายของเหล่าผู้ที่เฝ้ารออยู่ แต่พระกฤษณะก็ใช้โอกาสแห่งการเตรียมตัวเข้าสู่สงครามนี้ ยืนยันถึงหลักการระดับปรัชญาว่าด้วยการเอาชนะศัตรูอันมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ การเจรจารอมชอม, การให้อามิสของขวัญเพื่อเปลี่ยนใจ, การยุให้ศัตรูแตกสามัคคีกันเอง และสุดท้ายการให้โทษทัณฑ์หรือต่อสู้ห้ำหั่น กฤษณะทิ้งท้ายอย่างเคร่งขรึมว่า บัดนี้ผ่านพ้นการกระทำทั้งหมดจนเหลือแค่ทางเลือกเดียวแล้ว นั่นคือการทำสงครามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ยุธิษฐิระผู้นำแห่งฝั่งปาณฑพ พร้อมด้วยพันธมิตรจึงจัดเตรียมไพร่พลกองทัพ และเคลื่อนขบวนเข้าสู่ทุ่งกรุเกษตรในเวลาต่อมา
ก่อนเริ่มต้นสงคราม ทั้งสองฝ่ายตกลงเงื่อนไขของการรบครั้งนี้ ด้วยข้อตกลงระดับชนชั้นวรรณะกษัตริย์เท่านั้นที่จะพึงประกอบการได้ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ไม่จองเวรซึ่งกันและกันหลังสงครามสิ้นสุดแล้ว
สอง ไม่มีการทำร้ายทหารที่วางอาวุธ ทหารที่ยอมหันหน้ามาสู้ ทหารที่ติดพันการรบกับคนอื่น ทหารที่ถูกให้ออกจากสมรภูมิ
สาม จับคู่สู้กันเฉพาะทหารประเภทเดียวกัน คือ ทหารม้ากับทหารม้า ทหารบนหลังช้างกับทหารบนหลังช้าง ทหารบนรถกับทหารบนรถ ทหารราบกับทหารราบ
สี่ ไม่มีการทำร้ายทหารที่ไม่ถืออาวุธ ไม่สวมเกราะ และทหารที่เผลอตัว
ห้า สู้กันเฉพาะเวลากลางวัน และบนสนามรบเท่านั้น
หก ไม่มีการทำร้ายทหารที่ไม่ใช่นักรบ ได้แก่ สารถี ทหารเลี้ยงม้า-ช้าง ทหารสวัสดิการยุทโธปกรณ์ และกองดุริยางค์
หกประการนี้หากพิจารณาให้ดี ลูกจะเห็นว่าคงไม่มีการสู้รบใดที่จะยุติธรรมขนาดนี้ได้อีกแล้ว ถือว่าเป็นสงครามที่สูงส่งสูงสุดในบรรดามหาสงครามแห่งชมพูทวีปอย่างแท้จริง
••••
ณ ทุ่งราบกุรุเกษตร ขณะที่กองกำลังทั้งสองฝ่ายตั้งกระบวนทัพรอเวลาเริ่มต้นแห่งสงครามอยู่นั้น บริเวณด้านหน้ากองทัพทั้ง 7 อักเษาหิณีของฝั่งปาณฑพ นักรบหนุ่มผู้เป็นความหวังของผองชน อรชุน ขณะยืนทอดสายตามองออกไปเห็นบรรดาเหล่านักรบ สัตว์พาหนะคู่กาย อันเครื่องมืออาวุธประกอบสงครามทั้งหลายแหล่ ในฉับพลันทันใดเกิดสภาวะหดหู่ หมองเศร้า หมดอาลัยตายอยาก depression อย่างปัจจุบันทันด่วน ด้วยความคิดฟุ้งซ่านที่ต้องมาอยู่ในสถานการณ์แห่งการรบราฆ่าฟันกันเองของเหล่าญาติมิตร ทั้งที่เคยสนิทชิดเชื้อกันมานมนาน หมดกำลังกายกำลังใจที่จะหยิบธนูคาณฑีวะคู่ใจขึ้นแผลงศรอีกต่อไป พระกฤษณะผู้อาสาเป็นสารถีเห็นดังนั้น ก็รับทราบถึงสภาพทางอารมณ์ความรู้สึกอันประกอบด้วยวิจิกิจฉาของญาติผู้น้อง
เวลานั้นกฤษณะจึงหันหลังกลับมาจากด้านหน้าราชรถ และแสดงสภาวะแห่งเทพอีกครั้ง ด้วยการปรากฏพระวรกายในรูปของพระวิษณุเจ้า การกระทำนี้มีขึ้นเพื่อหมายมุ่งโน้มน้าว พร้อมทั้งปลุกเร้าพละกำลังแห่งจิตใจให้พร้อมสู้อีกครั้ง “มาเถิดอรชุน จงหยิบธนูของท่าน แล้วออกไปบวก!! กับเหล่าศัตรู”
•••••
สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะนั้นคือความพยายามในการประทานอนุศาสน์เฉพาะให้แก่อรชุน แม้ดูเหมือนเป็นช่วงเวลาเพียงครู่เดียว แต่คำสอนจากพระกฤษณะในรูปกายเทพวิษณุ เปรียบดั่งบทเพลงกวีที่ถักทอเรียงร้อยผ่านท่วงทำนองแห่งปรัชญาอันลึกล้ำ และกลายเป็นคัมภีร์เล่มสำคัญที่มีชื่อว่า “ภควัทคีตา” ให้ชนฮินดู และไม่ฮินดูรุ่นหลังได้ศึกษาในหลากหลายแง่มุม โด่งดังถึงขนาดที่วงคาราบาวนำเอามาแต่งเป็นเพลงชื่อเดียวกัน เนื้อหาภายในคือการชี้นำด้วยเหตุผลนานับประการโดยพระกฤษณะ เพื่อให้อรชุนกลับเข้าสู่สนามรบทั้งกายและใจ คุณค่าของคำสอนนี้อยู่ในระดับโลกุตระของศาสนาฮินดู แม้จะมีคีตาอื่นอีกมาก แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนักโดยเฉพาะในไทย
อันที่จริงแล้วเราจะไม่มีโอกาสสัมผัสบทแห่งการหว่านล้อมจากพระเจ้านี้ได้เลย หากอังกฤษไม่ได้ปกครองอินเดียอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ในเวลานั้นเอง Charles Wilkins ชาวอังกฤษที่ทำงานอยู่ในอินเดียได้พบคัมภีร์เล่มนี้และได้แปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่เป็นครั้งแรก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของบทกวีที่ส่งอิทธิพลในทุกระดับทุกชนชั้นทุกแวดวง แม้แต่ทางการเมือง “ภควัทคีตา” ก็ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการชี้นำทางให้เหล่าผู้นำการเคลื่อนไหวปลดแอกอินเดียให้เป็นอิสระจากอังกฤษ แน่นอนว่าบุคคลผู้นั้น คือ มหาตมะคานธี
••••••
หากจะสำรวจ “ภควัทคีตา” ให้ถ่องแท้ในวาระนี้เลย คงยากเกินกว่าภูมิปัญญาอันจำกัดของพ่อ แล้วถ้าลูกเกิดสนใจมันขึ้นมาจริง ๆ เชื่อว่าลูกจะหาช่องทางเข้าถึงองค์ความรู้ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ถอดทิ้งไว้ได้ไม่ยากเย็นนัก ดังนั้นพ่อจึงชวนมาทำความเข้าใจเนื้อหาของคำสอนแห่งพระเจ้านี้ ผ่านกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณหรือการคิดเชิงวิพากษ์ที่มาจากคำว่า Critical Thinking สำหรับความหมายโดยตรงของคำนี้คงต้องขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ และขอให้ทำความเข้าใจโดยอ้อมไปพร้อมกับบทสนทนาระหว่างอรชุนและพระกฤษณะที่พ่อนำมาเล่านี้
การพูดคุยเริ่มต้นด้วยเหตุผลของ อรชุน ความสลดหดหู่เกิดขึ้น จากการต้องฆ่าฟันกับญาติพี่น้องของตัวเอง ฝั่งกฤษณะจึงชวนตั้งประเด็นด้วยหลักการแห่ง “หน้าที่” ศักดิ์ศรีแห่งการรบและความรับผิดชอบของชนชั้นแห่งนักรบ ในกระเปาะแรกของบทจึงเป็นการเน้นย้ำว่า “หากไม่สามารถเลือกทางใดได้ สิ่งที่ควรยึดมั่นไว้ให้ดีคือ หลักการ”
••••••
จากมุมของ อรชุน แค่เพียงการยึดมั่นในหลักการและหน้าที่แห่งวรรณะนักรบ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจปลิดชีพผู้คนที่รู้จักมักคุ้นกันได้อยู่ดี กฤษณะจึงเริ่มพาไปสู่เหตุผลที่ยากขึ้น โดยชวนให้ญาติผู้น้องคิดตามว่า “อรชุนเอ๋ย แท้จริงแล้วเราต่างเป็นเพียงผงธุลีที่มาประกอบกัน สิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นเป็นแต่เพียงมายาภาพ ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา หากท่านฆ่าหรือถูกฆ่า ร่างกายนั้นไซร้ อาตมันที่คงอยู่ก็เพียงเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานที่ใหม่ ไฉนเลยจะมีผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่าได้ล่ะ” แม้ยกคำสอนระดับที่ลึกจนมองชีวิตเป็นเพียงอินทรียวัตถุ แต่สำหรับอรชุนแล้วยังคงไม่เพียงพอให้ get คอนเซ็ปต์นี้ได้ ก็คนเหล่านั้นเราทั้งรักทั้งผูกพันอยู่ก่อน ให้ฆ่าแกงกันโดยมองเป็นแค่ชีววัตถุจะทำได้อย่างไร
กฤษณะจึงไม่รีรอที่จะขยายความว่า ในเนื้อแท้แล้ว อาตมัน ไม่มีบวก ไม่มีลบ ไม่มีรัก ไม่มีเกลียด “อรชุนเอ๋ย ท่านเพียงแต่กระทำตามหน้าที่ของท่าน หน้าที่แห่งนักรบ หน้าที่แห่งผู้ที่เกิดมาเสียแล้วในชนชั้นกษัตริย์ หน้าที่ของการปราบอริราชศัตรูเพื่อผดุงความยุติธรรม รักษาความสงบของบ้านเมืองให้ผองชนมีความสงบสุข”
••••••••
พระกฤษณะ เพิ่มเติมต่อไปถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม โดยละวางซึ่งความรู้สึกพึงพอใจ หลงระเริงไปกับชัยชนะและความสำเร็จ อีกทั้งก็ไม่ต้องเศร้าเสียใจในความล้มเหลว หรือความพ่ายแพ้ อารมณ์ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นมายาภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา เสริมความเข้าใจในเรื่องนี้ด้วยหลักวิธีของโยคะ คือ ปฏิบัติตนไปตามหน้าที่อันชอบธรรม และละวางอารมณ์ทุกสิ่ง เหลือไว้เพียงการกระทำตามสมมติแห่งสังคม แม้อรชุนอาจจะคงคล้อยตามได้บ้าง แต่เชื่อเถิดว่าไม่มีทางที่จะยินยอมพร้อมใจอย่างไร้ข้อกังขา เพราะอย่าลืมว่าทั้งหมดที่กฤษณะกล่าว มันคือการบอกให้คนไปฆ่าคน แล้วบอกว่ามันมีความเหมาะสมอย่างไร
ไม่ว่ามองจากมุมไหน ก็คงเข้าใจได้ยาก แม้จะดูเหมือนสิ้นไร้หนทาง แต่กฤษณะไม่ได้หวาดหวั่น พลันอธิบายพร้อมแนะวิถีทางเข้าถึงด้วยสติปัญญา การไตร่ตรอง ใคร่ครวญถึงภาระหน้าที่ของบุคคลอันพึงมีต่อพระเป็นเจ้า ผู้ทรงอำนาจอยู่เหนือสัตว์ทั้งปวง ดังนั้น ความภักดี คือ คำตอบ จงเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ จนถึงวาระแห่งไม้ตายสุดท้าย เพื่อให้อรชุนรู้ซึ้งถึงพระเจ้า การรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจะเป็นการง่ายที่สุด ณ เวลานั้น กฤษณะจึงเข้าสู่สภาวะแห่งวิศวรูป ดลบันดาลทุกเทพเจ้าบนชั้นฟ้ามหาสมุทร แสดงพลังอำนาจระดับเหนือทุกชีวิต กลืนกินทุกสรรพสิ่ง กว้างใหญ่ไพศาลเทียบอวกาศ ประสบการณ์นี้มีเพียง อรชุนเท่านั้นที่ได้สัมผัส และแล้วในที่สุด…..หมดสิ้นสงสัยใดใด “ไปกันเถิด กฤษณะ ฉันพร้อมจะบวกกับพวกเการพแล้ว”.
•••••••••
หากคิดย้อนกลับไป ลูกคงสงสัยว่าจะอธิบายให้ยืดยาวทำไม ก็ใช้ไม้ตายสุดท้ายไปตั้งแต่แรกก็สิ้นเรื่อง ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจหลายแง่มุม มุมหนึ่งคือเหตุการณ์นี้เป็นการสนทนาระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า คำสอนที่กฤษณะร่ายยาวมาตั้งแต่ต้นเป็นการเรียงจากน้อยไปหามาก ง่ายไปหายาก จะเห็นว่าเริ่มจากคำอธิบายเรื่องหน้าที่ หลักการที่ต้องยึดถือในสถานะบทบาททางสังคม แต่ทั้งหมดนั้นกลับกลายเป็นเพียงสิ่งสมมติ ไม่มี “ใคร” อยู่แล้วตั้งแต่ต้น นั่นเป็นการอธิบายความจริง จากนั้นจึงเข้าสู่ ภาคปฏิบัติ คือ ต้องกระทำมันด้วยความว่าง ละวาง ซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกทั้งบวกและลบ ท้ายที่สุดจึงให้ใช้การใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยการบำเพ็ญเพียร
ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนให้ใครก็ได้แม้ไม่ใช่อรชุน แต่หากไม้ตายถูกใช้ก่อนเลย แล้วจะมีคำสอนอะไรให้ร่ำเรียน อีกทั้งพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่ปรากฏกายให้เราเห็น เพราะก็บอกอยู่ว่าประสบการณ์นี้สำหรับ อรชุน แต่เพียงผู้เดียว ถึงจุดนี้ลูกคงพอจะนึกออกว่า “ภควัทคีตา” เป็นคัมภีร์ทางศาสนา และมันคือคำสอนที่มีไว้สำหรับเป็นวัตรปฏิบัติให้แก่ผู้นับถือ เป้าหมายนั้นหรือ คือ ความเชื่อ ความศรัทธา ความภักดีสูงสุดที่มอบให้แด่องค์เทพเหนือหัวแห่งสากลจักรวาล หากความเพียรภาวนาถึงพร้อม ท่านอาจเข้าถึงสิ่งสูงสุดนั้นในสักวัน นั่นคือมุมหนึ่ง
••••••••••
อีกมุมหนึ่ง บทคีตานี้ทำหน้าที่เปิดเผยแง่มุมของหลักการแห่งการใช้ชีวิต ที่บุคคลสามารถเลือกใช้สอยได้อย่างใกล้เคียงคำว่าครบถ้วนสมบูรณ์ อย่างที่ตั้งประเด็นไว้ตอนต้น หากอรชุนไม่งุนงงสงสัยต่อบทบาทของตนเองในสมรภูมิรบ กฤษณะย่อมไม่ต้องสาธยายเหตุผลอย่างถี่ถ้วนทุกแง่มุมเท่าที่จะนึกออก พ่อจึงขอเทียบเคียงกระบวนการสนทนานี้เป็น Critical Thinking ถึงแม้จะขาดการวิพากษ์จากฝั่งอรชุนไปบ้าง เป็นก็เพียงแต่คำทักท้วง แต่การแสดงทุกทิศทางแห่งการวางจิตใจบนหน้าที่ทางสังคม ด้วยเหตุด้วยผลอันพิศดารพันลึกของพระกฤษณะ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการนำพิจารณาอย่างแยบคาย อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Critical Thinking ด้วยหรือไม่
หากลูกคล้อยตามถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว ลองทบทวนดูว่าประเด็นที่ กฤษณะ สาธยายแก่อรชุน เรื่องบทบาทหน้าที่ทางสังคมของคนเรา มันจะเป็นไปได้หรือที่จะไม่มีวันใดเลยที่เราจะเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น มันจริงหรือไม่ที่สถานะหน้าที่ของมนุษย์ธรรมดาไม่ได้ยึดติดกับมายาภาพที่ทุกคนต่างสมมติขึ้น
แม้หน้าที่ ‘พ่อ’ นี้ก็ถูกสังคมสมมติสร้างระเบียบแบบแผนกำหนดเอาไว้มิใช่หรือ? แต่บนโลกอันห่างไกล ‘โลกุตระ’ นี้ จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะ ‘ไม่’ อยู่บนความสมมติเลย ท้ายที่สุดสำหรับอรชุนแล้ว ผู้สมมติและชวนให้ยืนหยัดใน “หลักการและเหตุผล” ของการยอมรับสมมตินั้น คือ พระกฤษณะ ประเด็นที่พ่ออยากชวนให้ขบคิดสำหรับปุถุชนอย่างเรา อาจจะวนเวียนอยู่กับคำถามว่า สมมติอะไร? ใครสมมติ? และใครที่เข้าใจในสมมติ?
-
ติดตามตอนต่อไป
แหล่งอ้างอิง :
‘คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : Re-Thinking ภควัทคีตา’. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2562 ,วันพฤหัสที่ 12 กันยายน พ.ศ.2562 , https://www.matichonweekly.com/column/article_228071
“ศรีมัททะภควัทคีตา หรือ เพลงแห่งชีวิต ของ กฤษณะไทฺวปายนวฺยาส” แปลโดย ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ถอดภาคสันสกฤตจากอักษรเทวนาครี โดย จำนงค์ ทองประเสริฐ. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2515.
“มหาภารตยุทธ์” ฉบับ ร.อ. หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย). สามารถอ่านได้จาก https://vajirayana.org
“มหาภารตยุทธ” ฉบับ กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย แปลและเรียบเรียง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์, 2561.
ภาพลายเส้นคัดจาก :
"Krishna Reveals Virat Roop To Arjuna in Bhagavad Gita" by Sunil Kumar. https://in.pinterest.com/
#jingjingkhue #จริงจริงคืออยากเล่าให้ลูกฟัง #เอเชียศึกษามาเล่า #เอเชียศึกษามาเล่าจริงจริง #มหาภารตะ #ภควัทคีตา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา