14 พ.ค. 2021 เวลา 23:48 • ท่องเที่ยว
วัดทุ่งศรีเมือง … อุบลราชธานี (1)
วัดทุ่งศรีเมือง .. ป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองอุบลฯ ได้รับยกย่องว่ามีหอไตรที่สวยที่สุดในภาคอีสาน จัดเป็นหนึ่งในของดีประจำจังหวัด ดังมีคำกล่าวว่า “พระบาทวัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง” นอกจากหอไตร ยังมีหอพระบาทหรือโบสถ์ซึ่งสร้างยุคสมัยเดียวกัน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม
วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่เลขที่ 95 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ทางทิศตะวันออกของ ทุ่งศรีเมือง … มีเนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวาสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2356 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
เจ้าคุณพระอริยาวงศาจารย์ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) แห่งวัดป่าแก้วมณีวัน (คือวัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อยในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีโดยกำเนิด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี (หรือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)
ท่านมีอัธยาศัยน้อมไปทางวิปัสสนากรรมมัฎฐาน แต่เดิมท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ... ต่อมาได้มา เจริญสมณธรรม อยู่ที่ป่าหว้าชายดงอู่ผึ้ง เพราะเป็นที่สงบสงัด จึงได้จัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและยกขึ้นเป็นวัดทุ่งศรีเมืองในที่สุด
ต่อมาท่านได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้น ณ บริเวณที่เจริญสมณธรรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะจำลองพระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศมาให้พุทธบริษัทที่อุบลราชธานีได้กราบไหว้ จึงให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ ดำเนินการก่อสร้าง
หอพระพุทธบาท หรือโบสถ์ มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 13 เมตร หลังคาทรงไทยศิลปะเวียงจันทน์ สาหร่ายรวงผึ่งเป็นแบบลาว หน้าบันเครื่องลำยองเป็นรัตนโกสินทร์ เส้นฐานเป็นโค้งท้องสำเภาเหมือนอยุธยา ราวบันไดเป็นรูปจระเข้กับนาค
ต่อมาได้พูนดินบริเวณลานหอพระพุทธบาทเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในฤดูฝน โดยได้สร้างเป็นเขื่อนกำแพงแก้วหอพระพุทธบาท เป็นสองชั้นรอบๆพระพุทธบาท กำแพงมีขนาด กว้าง 23 เมตร ยาว 32 เมตร ภายในพูนดินให้สูงเหมือนเป็นฐานรองรับหอพระพุทธบาท
โดยได้ขุดเอาดินมาจากสระด้านทิศเหนือ ซึ่งมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 24 เมตร ลึก 3 เมตร (สระนี้ ต่อมาภายหลังได้สร้างหอไตรไว้กลางน้ำ จึงได้ ชื่อว่า สระหอไตร)
เมื่อขุดหอไตรแล้ว ปรากฎว่า ดินที่จะนำมาพูนหอพระบาทยังไม่พอ ก็ได้ขุดสระอีก 1 สระทางด้านทิศตะวันตกของวัด สระนี้เรียกว่าสระหนองหมากแซว เพราะมีต้นหมากแซวใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ข้างสระขุดลึกประมาณ 3 เมตรกว้างและยาวพอๆ กับสระหอไตร
ปลายสมัยหลวงปู่พระครูวิโรจน์รัตนโนบล เป็นเจ้าอาวาสได้ปูกระเบื้องซีเมนต์ที่ลานหอพระบาท และได้สร้างกำแพงแก้ว ล้อมรอบที่ซุ้มประตูด้านทิศเหนือ, ใต้และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศตะวันออก ได้สร้างภายหลัง และได้สร้างให้มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะเป็นทางเข้าและอยู่หน้าหอพระบาท
หอพระพุทธบาทเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะลาว มีพระนามว่า “หลวงพ่อศรีเมือง” หรือ “พระเจ้าใหญ่องค์เงิน” เป็นพระเนื้อเงินแท้ อัญเชิญมาจากฝั่งเวียงจันทน์ ขนาดหน้าตัก 2.39 เมตร
พระเจ้าใหญ่องค์เงิน ... พุทธลักษณะงดงาม ชาวบ้านเลื่อมใส และเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก
รอยพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่หน้าพระประธาน
หอพระบาทมีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะอีสานและรัตนโกสินทร์ ทั้งหลังคาจั่วลดสองชั้น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย และซุ้มประตูหน้าต่าง ส่วนหน้าบันประดับด้วยลวดสาหร่ายรวงผึ้งแบบศิลปะอีสาน รูปทรงอาคารช่วงล่างทั้งฐานเอวขัน
ราวบันไดรูปนาคขี่จระเข้ และเฉลียงด้านหน้า มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิม หรือ โบสถ์อีสานทั่วไป
ภายในหอพระบาททั้ง 4 ด้านมีจิตรกรรมฝาผนังสีสันสดใสงดงาม จิตรกรเลือกใช้สีขาว น้ำเงิน แดง เขียวน้ำตาล และเหลืองในการวาดภาพ ส่วนพื้นภาพใช้สีครามตัดกีบสีน้ำตาลแดง ทำให้ภาพสดใสและมีพลัง
.. การลำดับภาพเริ่มจากฝาผนังทางด้านทิศตะวันตกวนมาทางทิศเหนือ โดยเรียงจากซ้ายไปขวา เขียนเป็นเรื่องต่างๆ ดังนี้
ภาพพุทธประวัติ ที่ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธานเขียนเป็นตอนมารผจญ และตอนนาคปรก
ผนังด้านซ้ายเป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตทั้งสี่ และเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช)
ส่วนผนังด้านหน้าเป็นตอนปรินิพพาน ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ และภาพพระสาวกมาชุมนุมกัน
ภาพปาจินต์กุมารชาดกอยู่ที่บ้านแผละ
หน้าต่างบานที่ 1 เขียนตอนท้าวปาจินต์และนางอรพิมพ์ข้ามลำน้ำ
ภาพมหาเวสสันดรชาดกอยู่ที่ผนังด้านขวาของพระประธาน เขียนตอนนครกัณฑ์ กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์นวประเวศ ทานกัณฑ์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี
ภาพไตรภูมิ อยู่ด้ายซ้ายพระประธาน เขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวน์ดึง และภาพต้นนารีผล
นอกจากนี้จิตรกรยังได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นไว้ตามกรอบหน้าต่างของทุกผนัง เช่นภาพสาวชาววังเล่นดนตรี ภาพเด็กๆเล่นน้ำ มีคนเหวี่ยงแหหาปลา ภาพจีนต้มเหล้าและจีนขายหมู ภาพหมอลำกลอนลำเกี่ยวกันระหว่างหญิงชาย การแต่งกายและทรงผมของชาวอีสาน รวมถึงการเข้ามาค้าขายของคนต่างชาติ เป็นต้น
วัดทุ่งศรีเมือง มีเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียง คือ หลวงปู่รอด เป็นพระที่มีฝีมือเชิงช่างมากในสมัยนั้น โดยเป็นผู้คุมงานปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของไทยและลาว คนทั่วไปมักเรียกท่านว่า “หลวงปู่ดีโลด” เพราะท่านชอบพูดว่า “ดีดี” เป็นประจำ ส่วนคำว่า “โลด” เป็นคำพื้นเมืองแปลว่า “เลย” รวมกันแล้วหมายถึง “ดีเลย” นั่นเอง ช่วงที่ท่านมีชีวิต ชาวเมืองอุบลเลื่อมใสท่านมาก
ขอบคุณ : นิตยสาร คนชอบเที่ยว ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 และ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา