16 พ.ค. 2021 เวลา 08:58 • สุขภาพ
วัคซีนโควิดสำหรับประชาชน ฉีดดีไหม ???
1
หลังจากที่รัฐบาลได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มด่านหน้าไปเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงช่วงที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวต่างๆได้มีโอกาสลงชื่อเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน เพราะกลัวผลข้างเคียง!!!!
ผลการสำรวจผ่านระบบหมอพร้อมพบว่าบางพื้นที่กลุ่มเสี่ยงแจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนเพียง 6% ขณะที่กรุงเทพมหานครมีผู้ลงชื่อขอรับวัคซีนเพียง 41% เท่านั้น
หลายๆคนที่กำลังกังวลเรื่องผลข้างเคียง อยากให้ดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจ......
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจ
ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรของคณะฯ จำนวน 12,797 ราย โดยร้อยละ 76.9 ไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ
มีรายงานภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที ร้อยละ 2.7 ประกอบด้วย อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด (1.38% ) อาการชาตามร่างกาย (0.36%) อาการปวดศีรษะ (0.31%) ปวดกล้ามเนื้อ (0.16%) ผื่นตามร่างกาย (0.14%) และอื่นๆ (0.35%) โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการชั่วคราว และสามารถหายเป็นปกติได้ในที่สุด
สำหรับภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่พบ 30 นาที หลังได้รับวัคซีนพบได้ร้อยละ 23.1 ได้แก่ อาการปวดกล้ามเนื้อ (4.84 %) คลื่นไส้ (4.16%) ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด (3.97%) ปวดศีรษะ (3.36%) อ่อนเพลีย (2.83%) มีไข้ (1.57%) และอื่นๆ (2.37%)
สำหรับอาการชาตามร่างกายหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยพบร้อยละ 0.46 เมื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษในรายที่มีอาการมาก ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ โดยส่วนใหญ่ (72.6 %) สามารถหายได้เองภายในเวลา 30 นาที หลังมีอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์"ทุกราย" สามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ
มาดูที่ประสิทธิภาพของวัคซีนกันบ้าง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของ วัคซีนโควิด-19 ทั้งสองชนิด คือ "แอสตร้าเซนเนก้า" และ "ซิโนแวก" ที่ฉีดในคนไทย ระบุว่า "ทั้งวัคซีนของซิโนแวก และวัคซีนของแอสตราซิเนกา สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกราย สามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวกสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้"
หากลองเปรียบเทียบกับกรณีที่การติดเชื้อโดยธรรมชาติ ในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อและไม่ได้ฉีดวัคซีน
- กลุ่มผู้เคยมีการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ตรวจพบแอนติบอดี 92.40% มีปริมาณเฉลี่ย 60.9 unit/ml
- วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า หลังฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 97.26% และมีปริมาณเฉลี่ย 47.5 unit/ml (ยังไม่มีผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่สอง เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาฉีดเข็มที่สอง)
- วัคซีนของซิโนแวก หลังฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 65.96% และมีปริมาณเฉลี่ย 1.9 unit/ml หลังฉีดเข็มที่สอง 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 99.49% และมีปริมาณเฉลี่ย 85.9 unit/ml
หันมาดูที่ข้อมูลการฉีดวัคซีนซิโนแวคในประเทศอินโดนีเซียกันบ้าง
ประเทศอินโดนีเซียติดตามอาการเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 128,290 คนในกรุงจาการ์ตาที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และพบว่าวัคซีนนี้นี้ประสิทธิภาพสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้สูงถึง 98% และ สามารถป้องกันการไม่ให้อาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้มากถึง96%
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การฉีดวีคซีนป้องกันโควิด ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกัน ยังมีผลข้างเคียงไม่มากและไม่รุนแรงอีกด้วย
จึงอยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านมาฉีดวัคซีนกันเยอะๆ เราจะได้ลงจำนวนผู้ป่วยจากเชื้อโควิด ลดผู้ป่วยที่มีอาการหนักและจะได้ไม่มีใครสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รักไปจากเจ้าโรคระบาดโควิด-19 ไปมากกว่านี้
โฆษณา