16 พ.ค. 2021 เวลา 00:46 • การศึกษา
#วิธีการตอบข้อสอบกฎหมายปกครอง
" ชนใดประพฤติธรรม ในธรรมที่พระพุทธเจ้ากล่าวดีแล้ว ชนเหล่านั้นจักข้ามแดนมฤตยูที่ข้ามได้ยาก" (พุทธภาษิต)
#มีหลักอยู่ว่า
1. ต้องอธิบายก่อนว่าหน่วยงานราชการตามโจทย์เป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง
2. อธิบายการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองนั้น ว่าเป็นการกระทำทางปกครองประเภทใด เช่น เป็นการออกคำสั่ง หรือกฎ เป็นสัญญา เป็นการกระทำละเมิด หรือเป็นการละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
3. เมื่ออธิบายข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้นครบแล้ว จากนั้นต้องพิจารณาต่อไปว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือไม่
4. ผู้ฟ้องได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดครบทุกขั้นตอนแล้วหรือไม่ เช่นหากกฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องต้องไปอุทธรณ์คำสั่งก่อน จึงมีสิทธิจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
5. ต่อมาต้องพิจารณาว่าการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น เป็นเรื่องที่ศาลปกครองสามารถออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องได้หรือไม่ กล่าวคือ มีบางเรื่องที่ศาลปกครองไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจแทนฝ่ายปกครองได้
และ
6. ผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นี่เป็นเพียงหลักการวินิจฉัยข้อสอบเบื้องต้นเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงื่อนไขการฟ้องคดีประเภทอื่น
#ตัวอย่างการตอบข้อสอบ "#ความรับผิดทางละเมิด"
เทศบาลตำบลคลองยาว ได้ทำการซ่อมแซมถนนในเขตเทศบาล แต่ไม่ได้ทำเครื่องหมายเตือนในเขตที่ทำการซ่อมแซม เป็นเหตุให้นายแดงขับรถยนต์โดยลืมเปิดไฟหน้ารถชนกองวัสดุก่อสร้างที่ทำการซ่อมแซมนั้น ได้รับบาดเจ็บสาหัสเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 1 แสนบาท นายแดงจึงได้มีหนังสือแจ้งให้เทศบาลฯ รับผิดในค่ารักษาพยาบาลแก่ตน ซึ่งเทศบาลฯ ได้มีหนังสือแจ้งแก่นายแดงโดยปฏิเสธในความรับผิดชอบนี้ และให้เหตุผลว่าเกิดจากความประมาทของนายแดงเอง เพราะหากนายแดงได้เปิดไฟหน้ารถ ก็คงทำให้เห็นกองวัสดุก่อสร้าง และจำไม่เกิดอุบัติเหตุนี้ แต่นายแดงเห็นว่าแม้ตนจะประมาทอยู่บ้าง แต่เทศบาลฯ มีหน้าที่ในการที่จะต้องทำเครื่องหมายเตือนในกรณีนี้แต่ได้ละเลย ไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ดังนั้นจึงประสงค์จะฟ้องเทศบาลฯเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้เทศบาลฯ รับผิดโดยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 1 แสนบาทที่ตนได้จ่ายไป ดังนี้ ให้ท่านวินิฉัยว่า ศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับฟ้องคดีของนายแดงไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
คำตอบ
เทศบาลตำบลคลองยาว เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
มาตรา 50 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้
(2) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ
นายแดงผู้ฟ้องได้มีหนังสือแจ้งให้เทศบาลฯ รับผิดในค่ารักษาพยาบาลแก่ตน ซึ่งต่อมาเทศบาลฯ ได้มีหนังสือแจ้งแก่นายแดงโดยปฏิเสธในความรับผิดชอบนี้ ซึ่งถือได้ว่านายแดงได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์แล้ว
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
มาตรา 9 ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรอมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
มาตรา 72 ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับ อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(3) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ โดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่นๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
วินิจฉัย
เทศบาลฯ มีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ ตามมาตรา 50(2) แห่ง พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ.2496
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับฟ้องคดีของนายแดงที่ฟ้องเทศบาลตำบลคลองยาวให้รับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการละเลยไม่ทำเครื่องหมายเตือนในเขตที่ทำการซ่อมแซมถนนอันเป็นเหตุให้ตนได้รับบาดเจ็บสาหัสไว้พิจารณาได้หรือไม่ เห็นว่า
คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองที่ศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาตามมาตรา 9 วรรคแรก (3) นั้น ต้องเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดโดยใช้อำนาจหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติเท่านั้น หากเป็นการละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้ว ย่อมไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครอง ศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณา
กรณีนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่เทศบาลฯผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ทำเครื่องหมายหรือให้สัญญาณเตือนในบริเวณที่มีการปรับปรุงซ่อมแซมถนน จนเป็นเหตุให้นายแดงได้รับบาดเจ็บสาหัส มิใช่เป็นการละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและมิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวช้าเกินสมควร เป็นเพียงการละเลยต่อหน้าที่ทั่วๆไปตามปกติของเทศบาลฯ ซึ่งไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีในภาวการณ์เท่านั้น กรณีจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครอง ตามนัยมาตรา 9 วรรคแรก (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เทศบาลชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ตามมาตรา 72(3) ดังนั้นศาลปกครองชอบที่จะไม่รับคำฟ้องของนายแดงไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 604/2545)
สรุป ศาลปกครองชอบที่จะไม่รับคำฟ้องของนายแดงไว้พิจารณา เพราะมิใช่การกระทำละเมิดทางปกครอง ตามนัยมาตรา 9 วรรคแรก (3) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
หมายเหตุ ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นว่า เทศบาลฯทำท่อระบายน้ำหรือทางระบายน้ำ โดยไม่ได้จัดทำตะแกรงหรือฝาปิดวางบนบ่อรองรับเพื่อป้องกันไม่ให้คนหรือสิ่งของตกลงไปในท่อระบายน้ำ ไม่ได้จัดทำที่ปิดกั้น ไม่ได้จัดให้มีสัญญาณ ไม่ได้จัดให้มีแสงไฟให้สว่างเพียงพอในบริเวณดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีตกลงไปในบ่อได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือความเสียหายต่างๆ กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองหรือการบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว จึงเป็นคดีละเมิดทางปกครอง ตามนัยมาตรา 9 วรรคแรก (3) ที่ศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2551 คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 10/2548) จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาถึงความแตกต่างดังกล่าวไว้ด้วยครับ
ผู้เรียบเรียง เศรษฐวัฒน์ โชควรกุล.2564.
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.เศรษฐวัฒน์ โชควรกุล ขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้รับจากการเผยแพร่บทความวิชาการทุกบทความอันเป็นวิทยาทานและธรรมทานให้แด่ดวงจิตคุณพ่อศักดา โชควรกุล (บิดาผู้ล่วงลับของผู้เรียบเรียง)
โฆษณา