Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Rishi’s Secrets
•
ติดตาม
16 พ.ค. 2021 เวลา 10:03 • ประวัติศาสตร์
ขงเบ้งเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ จริงหรือ❓❓❓
สุมาเต็กโช หรือ ซือหม่า เต๋อเชา อาจารย์ แว่นน้ำ (คันฉ่อง ส่องวารี) ผู้ทรงอาโปกสิณบอกเล่าปี่ว่า จูเกอะเหลียง ข่งหมิง หรือ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง นั้นตนเห็นว่าน่าจะเสมอเหมือน เก่งสง ขวันต๋ง และ งักเย (ส่วนชีซี แนะนำขงเบ้งให้เล่าปี่ว่าเปรียบประหนึ่งกับนักรบเทวดาเตียวเหลียง ผู้พยายามสังหารจิ๋นซี และเป็นกุนซือขุนศึก ของฮั่นโกโจ หรือฮั่นเกาจู่ หรือหลิวปัง) ทั้งหมดล้วนแต่เป็น กุนซือ และแม่ทัพผู้สร้างแผ่นดินจีนผู้สร้างราชวงศ์และอาณาจักรโบราณอันเก่าแก่ หากได้มาช่วยงานร่วมกันกับ บังทอง แล้วไซร้ หรือได้คนใดคนหนึ่งมา ก็จะสามารถสถาปนา ราชวงศ์ ฮั่น ใหม่ให้สำเร็จได้
ว่าแล้วสุมาเต๊กโชก็เดินจากเล่าปี่ไปพร้อมกับรำพึงกับตัวเองว่า ฤๅคราวนี้ ฮกหลง จะได้นายเป็นแม่นมั่น แต่ว่าน่าเสียดายที่รูปลักษณ์ของเล่าปี่ เป็นคนอาภัพนัก แล้วก็ทอดถอนใจเดินออกจากหน้าประวัติศาสตร์ สามก๊ก ไป
เราลองมาวิเคราะห์ ดูว่า ใครเป็นใคร มีวิทยายุทธอย่างไรในแผ่นดิน ตงง้วน นี้กัน
เก่งสง (~ 1136 l- 1043 ก.ค.ศ. อายุประมาณ 93 ปี) มหาวีรบุรุษคนแรกของจีนในจินตนาการของสุมาเต็กโช มีชีวิตในช่วงกษัตริย์ โจวเหวินหวัง (1112-1046 ก.ค.ศ.) และโจวอู่หวัง หรือจิวบู๊อ๋อง (r. 1046 -1043 ก.ค.ศ.) ผู้ล้มราชวงศ์ ซั่ง สถาปนาราชวงศ์ โจว (1045-256 ก.ค.ศ.) ซึ่งจิวบู๊อ๋องเป็นปฐมกษัตริย์ ดำรงราชวงศ์นานถึง 789 ปี และมีชีวิตก่อน เกิดก่อนขงเบ้งเกิดถึง 1317 ปี! (ขงเบ้ง เกิด ค.ศ. 181 ตาย ค.ศ. 234 อายุ 53)
เก่งสง หรือ เจียง จื่อหยา (ภาพจาก https://th.m.wikipedia.org/wiki/เจียง_จื่อหยา)
เก่งสง มีหลายชื่อ ได้แก่ เจียงจื่อหยา หรือ เกียงจูแหย หรือ เจียงไท่กง หรือ หลู่หวัง (Lu Wang) เป็นผู้ช่วยพระเจ้าจิวบู๊อ๋องสถาปนาราชวงศ์ โจวให้ครองแผ่นดินจีนสืบต่อจากราชวงศ์ ซั่ง (1600 -1046 ก.ค.ศ.) ซึ่งสืบต่อจากราชวงศ์เซี่ยอีกที (2100-1600 ก.ค.ศ.) นับว่าเป็น สุดยอดจอมยุทธ ผู้ประพันธ์ตำราพิชัยสงครามเล่มแรกของโลกก่อน ซุนหวู่ (544-496 ก.ค.ศ.) และซุนปิน (382-316 ก.ค.ศ.) ถือเป็นยอดมนุษย์ จอมเฒ่าเจ้าเล่ห์เพทุบายสารพัดพิษคนแรกก็ว่าได้ นั่งใช้คันเบ็ดตกปลาในแม่น้ำเว่ยสุ่ยรอให้กษัตริย์จิวบู๊อ๋องมาติดเบ็ดเป็นเวลาหลายปี แถมหลอกให้จิวบู๊อ๋องลากรถให้ตนนั่งเป็นระยะทางที่เดินไป 808 ก้าว ซึ่งได้กล่าวกับจิวบู๊อ๋องว่าตนจะทำนุบำรุงราชวงศ์โจวให้ดำรงอยู่ได้นานถึง 808 ปีทีเดียว
1
การที่สุมาเต๊กโชสรรเสริญ ขงเบ้งถึงขนาดเทียบกับเก่งสง จึงนับว่าน่าจักต้องมีการคาดหวังว่าถ้าขงเบ้งเป็นเก่งสง:
1. ขงเบ้งจะนำจีนไปสู่การรวมประเทศ และ ตั้งราชวงศ์ใหม่ เหมือน เก่งสง ซึ่งแนะนำให้ จิวบู๊อ๋อง ตั้งราชวงศ์ โจว แต่น่าเสียดายที่ขงเบ้งกลับไพล่ไปใช้ยุทธศาสตร์ หลงจง แยกประเทศออกเป็นสามก๊ก แทนที่จะเป็นหนึ่งประเทศเดียว สร้างได้แต่เพียงก๊ก ไม่ได้สร้าง จักรวรรดิ
2.คาดว่าขงเบ้งยอดซุปเปอร์ฮีโร่จะปราบ โจโฉ และสุมาอี้ สำเร็จ ยึดภาคเหนือ และภาคกลาง แต่กลับ ใช้ยุทธศาสตร์ ยึดเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว ไว้เฉย ๆ ตามแผน หลงจง ไม่มียุทธศาสตร์ลูกติดตาม หรือผูกมิตรทิศไกลไล่ตีทิศใกล้ หรือใช้วาทะการทูต เอาซุนกวนเป็นพวกแต่อย่างใด กลับตั้งกองทัพคุมเชิงกันซุนกวนไว้จนเสียแม่ทัพสำคัญเช่นกวนอูและเตียวหุยไปจนหมด แถมถอยไปตั้งหลักเมืองหลวงไกลและทุรกันดารถึงเสฉวน จะมาช่วยก็ไม่ทัน หลบอยู่แต่ใน comfort zone ไม่มีเกมรุก
3.แทนที่ขงเบ้งจะทำการรบเด็ดขาดหลังยุทธการที่เซ็กเพ็ก เพราะโจโฉแพ้ทัพเรือยับเยินแต่กลับปล่อยให้เสือเข้าป่า ให้กวนอูไถ่หนี้ไว้ชีวิตโจโฉจนกลายเป็นปริศนาที่ค้างคาใจคนที่อ่านสามก๊กสงสัยในความคิดขงเบ้งยิ่งนัก ว่าเป็นอัจฉริยะจริงหรือ และในที่สุด ก็ไม่สามารถฆ่าโจโฉได้อีก แต่กลับเสียกวนอูและเตียวหุย แทน และสุดท้าย...
4.ขงเบ้งมักชนะคนที่โง่กว่า เช่น เบ้งเฮ็ก แต่คนที่ฉลาดเท่ากัน เช่น สุมาอี้ กลับไม่สามารถรบชนะได้เลยแถมเพลี่ยงพล้ำเสียที ต้องใช้ยุทธการเมืองเปล่า หลอกสุมาอี้ อีกทั้งยุทธศาสตร์ที่ใช้ไม่สามารถนำไปสู่การยึดพื้นที่ที่ราบภาคกลางได้เป็นเพียงการรบตามชายแดน ต้องถอยทัพกลับหลายหน ไม่มีสมรภูมิแพ้ชนะเด็ดขาด ไม่เหมือนยุทธการที่เซ็กเพ็กที่โจโฉกะตีซุนกวนให้ตายคาสมรภูมิที่มีชัยภูมิเผด็จศึก
ดังนั้นที่จะเปรียบเหมือนเก่งสงได้นั้นในความคิดริชชีขงเบ้งน่าจะยังห่างชั้นหลายขุม ทีนี้มาดู ก่วนจ้งบ้าง:
ต่างจากเก่งสงซึ่งเป็นปรมาจารย์รวมประเทศและนักยุทธวิธี ก่วนจ้ง เป็นนักบริหารบ้านเมืองแห่งยุค มีชีวิตอยู่ในสมัย เลียดก๊ก (หลาย ๆ ก๊ก) ในยุคราชวงศ์ โจวตะวันออก เกิดในรัฐฉี 730 ก.ค.ศ. และต่อมาได้เป็นรัฐนายกแคว้น ฉี และผู้สร้างระบอบศักดินาให้รัฐรณรัฐทั้งปวงโดยเริ่มที่แคว้น ฉี เป็นปฐมอย่างเป็นปึกแผ่น เป็นรัฐแรก ในยุคจ้านกั๋ว หรือจ้านกว๋อ (รณรัฐ) ที่เป็นผู้นำ เจ็ด มหาอาณาจักร ยิ่งกว่าสามก๊ก เจ้าของอมตะตำนานว่าสามารถรวมอาณาจักรจีนได้โดยไม่ต้องทำสงคราม
ก่วนจ้งหรือขวันต๋ง อยู่ร่วมสมัย ฉีซี่กง( 685 ปี ก.ค.ศ.) (กง หมายถึง เจ้าผู้ครองนครรัฐ หรือ Duke ยศต่ำกว่าตำแหน่ง ป้า และ อ๋อง) ตำแหน่ง โหว กง ป้า และ อ๋อง จะแต่งตั้งโดย ฮ่องเต้ พระเจ้าโจวผิงหวาง แห่งโจวตะวันออก ซึ่งครองราชย์มาเป็นปีที่ 35 หรือประมาณ 925 ปี หรือเกือบพันปี ก่อนที่ขงเบ้งจะเกิด ถือเป็นบรรพชน รุ่นดึกดำบรรพ์คนที่สองรองลงมาจากเกียงจูแหย หรือเก่งสง
เมื่อก่วนจ้ง (เกิด 730 ก.ค.ศ.) อายุได้ 8 ปี (722 ก.ค.ศ.) จีนเพิ่งกำลังเริ่มจะเขียนประวัติศาสตร์ ชื่อ “ชุนชิว” พอดี (ยุคใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง หรือ ยุคก่อนสมัยขงจื๊อ) ก่วนจ้งเป็นบรรพชนโบราณมาก เกิดก่อนขงจื๊อเกิด (ขงจื๊อเกิด 551-479 ก.ค.ศ.) ถึง 180 ปี เป็นยุคที่มีนครรัฐน้อยใหญ่ ผลัดเปลี่ยนใบ เสมือนฤดูใบไม้ผลิ และใบไม้ร่วงขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีน ท้าทายอำนาจราชวงศ์ โจวตะวันออก (722-481 ก.ค.ศ.) ซึ่งมีเวลายาวนานถึง 242 ปี ( กรุงเทพ อายุ 239 ปี )
ก่วนจ้ง หรือ ขวันต๋ง เป็นนักบริหารประเทศระดับโลกที่ล้ำยุคและเกินยุคตัวเองถึง 3065 ปี มีคำร่ำลือว่า ถ้าไม่มีก่วนจ้ง ประเทศจีนอาจจะเป็นประเทศชาวเขาชาวป่าชาวดอย ไม่สามารถตั้งประเทศได้ เพราะไม่เหมือนกับ ซางหยาง ((390-338 ก.ค.ศ.) บิดาแห่งการปฏิรูปและต้นตำรับเจ้าคัมภีร์นิติรัฐของจีนในยุคต่อมาที่พลิกแผ่นดินให้รัฐฉินปฏิรูป (เปี้ยนฝ่า แปลว่า เปลี่ยนกฎหมาย) ปกครองด้วยกฎหมายใหม่ด้วยการลงโทษตามกฎหมายอย่างรุนแรง ประหาร 9 ชั่วโคตร (สุดท้ายตัวเองโดนเอง) และปฏิรูปโดยการเลิกทาส ให้สิทธิที่ทำกินแก่ราษฎร ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ยึดทรัพย์ที่ดินขุนนางมาปฏิรูปให้ประชาชนได้มีที่ดินทำกิน ทำให้รัฐฉินเข้มแข็งขึ้นเป็นอย่างมากในยุคต่อมา)
ก่วนจ้ง ได้เริ่มวางระบอบการเงินการคลังงบประมาณ ระบบที่ดินศักดินา การค้า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และการเกษตร รวมทั้งระบบผูกขาดทรัพย์สินของแผ่นดิน เช่น ทองคำ ให้แก่ รัฐฉี และ ใช้วิเทโศบายทางการทูตเอาน้ำเย็นเข้าลูบแทนวิธีการที่รุนแรง เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองในแคว้นต่าง ๆ โดยไม่ต้องออกรบ
นโยบายรัฐประศาสนศาสตร์ ของก่วนจ้งเมื่อ 3000 กว่าปีที่แล้ว ก้าวหน้าล้ำยุคกว่าไทยหรือประเทศใด ๆ ในปัจจุบันกาล เขาควบคุมการใช้งบประมาณไม่ใช้จ่ายเกินดุล บริหารการเงินการคลังให้ได้ดุล ควบคุมราคาสินค้า สนับสนุนการผลิตทางการเกษตร และผูกขาดเก็บรายได้เข้ารัฐ การทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จัดเก็บภาษีเข้าเป้า รัฐต้องมีผลิตภาพการผลิตสินค้าและผลิตผลทางการเกษตร
ก่วนจ้งบอกว่าผู้ปกครองต้องให้ ก่อนรับ สร้างความร่มเย็น สร้างสังคมปลอดภัย ให้ชีวิตที่ดี๊ดี ที่ผาสุกแก่ประชาชน ความผาสุกคือรากฐานประเทศที่มั่นคง ประชาชนที่มั่งคั่ง ทำอย่างไรจะทำให้เกิดความผาสุกเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
เมื่อชีวิตมีความสุข ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องแรก การลงโทษตามกฎหมายเป็นเรื่องรอง (ไม่เหมือนกับซางหยาง ที่ลงโทษรุนแรง!) การที่จะบอกให้ประชาชนที่ทุกข์ยาก ยากจน ให้เป็นคนดี นั้น อย่าหาทำ เพราะข้าวสารยังไม่มีกรอกหม้อ ย่อมต้องปล้นเขากิน ให้ประชาชนร่มเย็นก่อนจึงสอนให้เขาเป็นคนดี เขาสอนในหนังสือกวนจื่อว่า ประชาชนชิงชังความลำบาก เกลียดชังความยากจน หวาดหวั่นภัยพิบัติ และไม่ชอบการพลัดพราก สาปแช่งการฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังนั้น ผู้ปกครองต้องระวัง “หนูผี และสุนัขดุ” ในสถานที่ราชการ ที่ผู้ปกครองต้องระวังไม่ให้สุนัขดุออกมาไล่กัดชาวบ้าน และระวังไม่ให้หนูผีเข้ามาในบ้านทำความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมือง เข้ากัดกินสิ่งของทุกอย่างจนสิ้นชาติในที่สุด
ก่วนจ้งอยู่แคว้นฉี มีเพื่อนรักชื่อ เปาซู่หยา แต่มีนายที่เป็นศัตรูกัน คือ คุณชายเสี่ยวป๋าย (ซึ่งเป็นนายของ เปาซู่หยา) ซึ่งต่อมาคือ ฉีเหิงกง ส่วนก่วนจ้งไปรับใช้คุณชายจิว ซึ่งต่อมาถูกจับประหารชีวิต ก่วนจ้งเองถูกคุมขังและมีความผิดฐานพยายามฆ่าฉีเหิงกงได้รับบาดเจ็บ แต่ฉีเหิงกงให้อภัยแถมตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทว่าก่วนจ้งไม่ใช่คนดีศรีอยุธยาเดินตรงเป็นไม้บรรทัดตงฉินแบบขงเบ้ง แต่เป็นมนุษย์อัจฉริยะที่พริ้วพอสมควร เมื่อก่วนจ้งใกล้ตาย ฉีเหิงกง ได้ถามว่าจะให้ใครสืบตำแหน่งแทน ในใจคิดว่าคงไม่หนีเปาซู่หยา แต่ก่วนจ้งกลับเปล่งอมตะวาจาว่า “เปาซู่หยาเป็นคนดีเกินไป ไม่เหมาะกับตำแหน่งบริหารสูงสุด”
แต่ขงเบ้งแม้นคงได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์กวนจื่อของ ก่วนจ้ง บ้าง แต่ในช่วงที่มีชีวิตอยู่อันสั้นก็ไม่สามารถทำให้ แคว้นจ๊ก ก๊ก หรือแคว้นสู่ และจักรพรรดิเล่าเสี้ยนผู้อ่อนแอเป็นมหาอำนาจได้เทียบเท่า ก่วนจ้ง นอกจากนี้ ในตำราพิชัยสงครามของขงเบ้ง การบริหารที่ขงเบ้งได้รจนาไว้ในคัมภีร์ของตนเป็นการบริหารองค์กรหรือการบริหารราชการ ซึ่งแบ่งตามกลุ่มดาวนักษัตร 28 ดวง เป็นดาวขุนนาง ดาวไถฝู่ เป็นอุปราช ( เวลาดวงตกต้องต่ออายุดูดาวไถฝู่) ดาวเหนือเป็นประมุข ส่วนอาณาประชาราษฎร์คือดาวบนท้องฟ้า เป็นการปกครองแบบรัฐราชการ รวมศูนย์ Top down ไม่ใช่ Bottom up แบบก่วนจ้ง ขงเบ้งเป็น ก๊ก builder ไม่ใช่ Empire Builder เหมือน ก่วนจ้ง ไม่มีนโยบายรัฐประศาสนศาสตร์ และการบริหารประเทศ ในทำนอง เศรษฐศาสตร์มหภาค ( Macro-economics ) เช่นที่ ก่วนจ้งได้ทำเป็นตัวอย่างไว้ และไม่มีคุณลักษณะการบริหารบ้านเมืองที่ดี มีธรรมาภิบาลเหมือนก่วนจ้ง ดูแล้วก็ยังห่าง ก่วนจ้ง อีกหลายขุม
ส่วนงักเย หรือ เล่ออี้ นั้นเล่า เกิดในแคว้นจงซานซึ่งถูกแคว้นจ้าวทำลายจนสิ้นชาติ ต้องหนีไปแคว้นเอี้ยนในปี 296 ก.ค.ศ. เป็นแม่ทัพใหญ่ของรัฐเอี้ยนที่มุทะลุดุดัน เมื่อฉีหันมาตีแคว้นซ่ง และทำลายแคว้นซ่งจนสิ้นชาติ ในปี 286 ก.ค.ศ. รณรัฐทั้งหก ในปี 284 ก.ค.ศ. จึงรวมกำลังตีฉี ในตอนแรกเพื่อเป็นการสั่งสอน แต่เจ้าแคว้นเอี้ยนไม่ยอมถอยทัพกลับ ออกคำสั่งให้เล่ออี้ ซึ่งเป็นแม่ทัพฝ่ายบู๊รบเก่งตะลุยตีต่อ ดังนั้นจึงต่างกันอย่างลิบลับกับขงเบ้งซึ่งเป็นนักยุทธวิธีผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร จอมวางแผนและคาดการณ์ล่วงหน้าโดยดำเนินเล่ห์เพทุบายอย่างลึกล้ำและระมัดระวัง เป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าเป็นฝ่ายบุก ถึงขนาดเคยเปิดเมืองให้สุมาอี้เข้าตีก็มีมาแล้ว ถนัดในการอ่านภูมิประเทศ ใช้สภาพภูมิศาสตร์ที่ศัตรูเสียเปรียบล่อให้มาเข้ากับดักและใช้ไฟเผา แบบเดียวกันกับ ซุนปิน ที่ล่อผังจวนไปติดกับและสังหารด้วยพลธนู ดังนั้นการรบเกือบทุกครั้งนับตั้งแต่ครั้งแรกของขงเบ้งที่ทุ่งพกบ๋องจะต้องผ่านการวางแผนกลั่นกรอง การดูชัยภูมิและทำเลที่ตั้ง 360 องศา รวมทั้งการวางกองกำลังว่าศัตรูจะหนีไปทางไหนก็ให้ดัก หรือเผาทำลาย หรือล่อกองทัพของศัตรู เช่น การรบกับแฮหัวตุ้นที่ทุ่งพกบ๋อง และการรบกับลุดตัดกุด จึงไม่น่าเทียบกันได้กับ งักเย ซึ่งเป็นแม่ทัพแคว้นเอี้ยนที่เข้ารบแบบตะลุยตะลุมบอนกับมหาอำนาจอย่างแคว้นฉี แถมตีตะลุย แคว้นฉี แบบข้ามาคนเดียวสไตล์ ซุปเปอร์ฮีโร่ แพ้ยับไป 70 หัวเมือง เหลือที่เท่าแมวดิ้นตาย 2 หัวเมือง และในที่สุดเข้าทำลายเมืองหลวงของแคว้นฉี คือ หลินจือ ฉีหมิ่นหวาง ตายในที่รบขณะหลบหนี ทำเอาแคว้นมหาอำนาจอย่างรัฐฉีซึ่งรุ่งเรืองที่สุดในสมัย ก่วนจ้ง เกือบสิ้นชาติ และไม่ฟื้นกลับมาอีก ซึ่งขงเบ้งกับเกียงอุยไม่สามารถทำได้เช่นนั้น ถึงแม้จะพยายามปล่อยข่าวว่าสุมาอี้เป็นกบฏ และบุกตีวุ่ยก๊กรวมทั้งเป็นพันธมิตรกับง่อก๊กของซุนกวนก็ตาม แต่ในที่สุดก็ตายกลางสนามรบที่อู่จ้างหยวน เพราะสุมาอี้ใช้การรบแบบถ่วงเวลาเนื่องจากดูดาวเป็นเหมือนกันรู้ว่าขงเบ้งอยู่ได้ไม่นาน
ดังนั้น ริชชี จึงขอน้อมรับความผิดหวัง ของท่านผู้อ่านสามก๊ก ที่ยังไม่สามารถเปรียบเทียบ จูเกอะเหลียง ข่งหมิง ให้เท่า กับสามวีรบุรุษที่สุมาเต๊กโชได้อ้างถึงได้ ด้วยความคิดและประสพการณ์อันน้อยนิดดั่งได้รจนาไว้ข้างต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ขงเบ้งของเราจะด้อยไปกว่า สาม ซุปเปอร์ฮีโร่นี้ แต่อย่างใด อันที่จริง ถ้าเอาตัวขงเบ้งเองมาเปรียบกับสามบรรพชนนี้แบบที่สุมาเต๊กโชกล่าวคงไม่ยุติธรรมนัก เพราะต้องยอมรับว่าขงเบ้งมีความโดดเด่นที่เป็นตัวของตัวเองหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ และถ้าขงเบ้งมีโอกาสเท่า ๆ กับทั้งสามท่าน ปอนด์ต่อปอนด์ 1) ถ้าขงเบ้งอายุยืนถึง 93 ปีเท่าเกียงจูแหย 2)ถ้าสามารถทำให้เล่าปี่ยอมทำตามที่ขงเบ้งแนะตั้งแต่ต้น เหมือนก่วนจ้งทำกับฉีเหิงกง เพื่อจะได้ไม่ต้องหลบไปไกลถึงเสฉวน 3) ถ้าขงเบ้งมีเวลาปลอดสงครามสามารถบริหารบ้านเมืองประหนึ่งเทพเทวดาเหมือนก่วนจ้ง และ 4) มีเวลาเผด็จศึกบุกตะลุยรัฐ วุ่ยก๊กของโจโฉ เหมือนกับที่งักเยบุกตะลุยตีแคว้นฉี...ริชชี เชื่อว่า สามก๊ก FC คงเห็นด้วยกับริชชีว่า บางทีขงเบ้งจะเป็นอภิมหาอเวนเจอร์ (บุ๋น) และซุปเปอร์ฮีโร่ (บู๊) พร้อมกันไป และอาจสามารถรวมประเทศจีนเป็นหนึ่ง รวมทั้งแม้กระทั่งตัวเองก็อาจสามารถสวมมงกุฎฮ่องเต้รวมประเทศได้เป็นครั้งที่สามหลังราชวงศ์ ฉิน และราชวงศ์ฮั่น โดยจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินและเขียนประวัติศาสตร์จีนใหม่อย่างที่เราไม่เคยเรียนมาก่อนอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://oknation.nationtv.tv/blog/LittleConqueror/2008/06/11/entry-1
2 บันทึก
3
2
2
2
3
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย