Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง
•
ติดตาม
16 พ.ค. 2021 เวลา 13:24 • การศึกษา
Float กับปัญหาทางกฎหมายในงานก่อสร้าง
ปกติในงานก่อสร้าง งานแต่ละกิจกรรมจะถูกคำนวณว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เริ่มต้นเมื่อไหร่ และสิ้นสุดเมื่อไหร่ จากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง และกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมก็จะสัมพันธ์กัน กล่าวคือหากอีกกิจกรรมหนึ่งยังไม่เสร็จสิ้นหรือยังไม่เริ่มต้น อีกกิจกรรมหนึ่งก็จะไม่สามารถทำได้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ผู้รับจ้างได้คำนวณไว้แล้วว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ มีเวลาเผื่อเหลือเผื่อขาดอย่างไร
Float (เวลา) อาจพิจารณาได้อีก 2 คำที่พบเห็นกันบ่อครั้ง คือ
เวลาพอเพียง (Total Float) คือเวลาท่ีช้าท่ีสุดของแต่ละกิจกรรมซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลต่อเวลาเสร็จของโครงการ และเป็นเวลาเพียงพอของแต่ละกิจกรรมนั้น ๆ
เวลาลอยตัว (Free Float) คือเวลาที่กิจกรรมสามารถล่าช้าออกไปจากวันเริ่มต้นเร็วที่สุดหรือวันที่แล้วเสร็จเร็วที่สุด โดยไม่ทำให้วันเริ่มต้นเร็วที่สุดหรือวันที่แล้วเสร็จเร็วที่สุดของกิจกรรมถัดไปเกิดความล้าช้า
ใน scl delay and disruption protocol
Float เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับเวลา ซึ่งในทางงานก่อสร้างแล้ว โดยปกติกิจกรรมที่มี float น้อย มักจะพิจารณาได้ว่าเป็นงานที่อยู่บนสายวิกฤต (critical path of works)
ในต่างประเทศสิ่งที่ถกเถียงกันคือความเป็นเจ้าของ (ownership) float และมีผลต่อการกำหนดข้อสัญญามาตรฐานและการตีความสัญญาอย่างมาก และ float นี้นำมาซึ่งข้อพิพาทในการขยายเวลาก่อสร้าง
ตามปกติแล้วหากไปถามผู้รับจ้างว่าใครคือเจ้าของ float ผู้รับจ้างก็เห็นตนเป็นเจ้าของ float เพราะผู้รับจ้างเป็นผู้คำนวณและทำการก่อสร้างย่อมต้องคำนวณ float เพื่อความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ซึ่งหากมองในแง่นี้การที่เกิดความล่าช้าที่มาจากผู้ว่าจ้างขึ้น แม้งานทั้งโครงการจะไม่กระทบเวลาแล้วเสร็จ แต่กระทบต่อกิจกรรมของผู้รับจ้างซึ่งไม่เป็นไปตามแผนงาน ผู้รับจ้างก็มีสิทธิของขยายเวลาได้ แต่ในอีกความเห็นหนึ่งในมุมมองของผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างจะยังไม่มีสิทธิในการขยายระยะเวลาจนกว่าจะกระทบกำหนดเวลาแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งในมุมมองนี้ float เป็นของโครงการนั้นๆ ไม่ได้เป็นของผู้รับจ้าง
ปัญหาข้อนี้ต้องกำหนดให้ชัดเจนในสัญญา ซึ่งในสัญญามาตรฐานของต่างประเทศ มักไม่ค่อยพูดถึง float อย่างชัดเจน แต่จะไปอยู่ในส่วนที่กำหนดเรื่องการขยายเวลา โดยหากข้อสัญญาเรื่องขยายระยะเวลาจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อความล่าช้าของผู้ว่าจ้างทำให้เวลาแล้วเสร็จตามสัญญาต้องขยายออกไป นั่นหมายความว่า total float ต้องใช้จนหมดก่อนที่จะเกิดการขยายเวลา
แต่หากข้อสัญญากำหนดสามารถขยายเวลาได้ เมื่อความล่าช้าของผู้ว่าจ้างทำให้กำหนดเวลาแล้วเสร็จของผู้รับจ้างที่ได้วางแผนไว้ต้องล่าช้าออกไป จึงเห็นได้ว่า total float จะไม่ได้เป็นประโยชน์กับผู้ว่าจ้างเลย
อย่างไรก็ตามบางข้อสัญญาไม่ได้ระบุถึงผลกระทบต่อกำหนดเวลาแล้วตามสัญญาหรือกำหนดแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการตีความค่อนข้างมาก
ปัญหาต่อมาอีกประการหนึ่งคือ ในสัญญาบางครั้งความล่าช้าของผู้ว่าจ้างส่งผลกระทบต่อวันแล้วเสร็จของงาน ถ้าเหตุความล่าช้าของผู้ว่าจ้างเกิดขึ้นก่อนและทำให้ total float หมดไป จากนั้นผู้รับจ้างทำให้เกิดความล่าช้า และจะต้องเสียค่าปรับ ค่าเสียหาย ในกรณีนี้จะเห็นว่าหากผู้ว่าจ้างไม่ทำให้เกิดความล่าช้าก่อน ความล่าช้าของผู้รับจ้างก็จะไม่ใช่งานสายวิกฤต (critical) ซึ่งก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับผู้รับจ้าง และก็เป็นที่ถกเถียงกันเสมอ
ในประเทศไทยเองในทางกฎหมายแทบไม่มีการพูดถึงเรื่อง float และมักจะเป็นดุลพินิจของผู้ว่าจ้างที่ให้ขยายเวลา หรือแม้กระทั่งไปจนการตัดสินคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือศาล ก็จะพิจารณาการขยายเวลาโดยไม่ได้วิเคราะห์ไปถึงเรื่อง float มากนัก
นอกจากนั้นในสัญญาจ้างก่อสร้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องจากทำของที่ใช้กับสัญญาจ้างทำของทุกอย่าง รวมถึงงานก่อสร้าง ก็กล่าวถึงวันที่แล้วเสร็จตามสัญญา ขณะเดียวกันสัญญาของภาครัฐ ก็กำหนดให้การขยายเวลาจากกำหนดเวลาแห่งสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า float นั้นไม่ได้เป็นของผู้รับจ้างแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากเกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นแล้ว ปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาขยายเวลาก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งหากประเทศไทยมีแนวทางปฏิบัติที่ดีแล้วก็หวังว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะลดน้อยลงไป หรืออย่างน้อยก็ลดความน่าเคลือบแคลงสงสัยในการพิจารณาเกี่ยวกับการขยายเวลาได้อีกมากทีเดียว
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย