Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ม
มูซา วันแอเลาะ
•
ติดตาม
19 พ.ค. 2021 เวลา 00:19 • การศึกษา
มูซา ฮานาฟี หรือ ครูมูซอ คือหนึ่งในบรมโต๊ะครูแห่งอยุธยา ที่ทรงคุณค่ากับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาไทย
ที่จังหวัดอยุธยามีลำคลองหนึ่ง ชื่อ คลองตะเคียน
คลองนี้ ชื่อเป็นทางการครั้งสมัยอยุธยา คือ คลองขุนละครไชย
แต่ชาวบ้านไม่เรียก ด้วยอาจเรียกไปเรียกมา ลิ้นพันกัน หรือ ออกเป็นทางการไป ผิดวิสัยคำพูดชาวบ้าน ที่ชอบเรียกอะไรให้ง่ายเข้าไว้
ชาวบ้านเรียก คลองตะเคียน ด้วยมีต้นตะเคียนใหญ่อยู่ปากคลอง อีกทั้งอาจจะเรียกง่ายกว่า คล่องปากกว่า
สมัยนั้น คลองนี้ ถือเป็นจุดผ่านของคนหลากอาชีพ เช่น คนค้าคนขาย คนเดินทาง คนหลบภัย ผู้มีความรู้ และคนค้าซุง
เพราะคนค้าซุงจะเลี่ยงไม่ให้ซุงไปผ่าน ป้อมเพชร หน้าวิหารหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง หรือ สถานที่แควน้ำป่าสัก มาบรรจบพบแม่น้ำเจ้าพระยา
เพราะตรงนั้น
น้ำหมุนวนเป็นเกลียวไหม
คลื่นขึ้นไหลดูดซุงลง
กระแทกซุงจนเสียทรง
ซุงแตกหลงให้อับปาง
และบ่อยครั้งกระแสน้ำเชี่ยวจะกระชากให้ แพซุงแตก แยกเชือกสุด โซ่หย่อนหลุด และ ซุงผุดหาย
คลองตะเคียน เป็นที่อาศัยของพี่น้องมุสลิมมาช้านาน นานเท่าไร บอกยาก
แต่ถ้าให้บอกง่าย คือ นานครั้งสมัยอยุธยาเป็นราชธานี เพราะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และ หยดหมึก
ครูมูซอ นิวาสถานดั้งเดิม เป็นคน คลอง 15 จังหวัด นครนายก จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย อัลอัซฮัร ประเทศ อียิปต์
ปี พ.ศ. 2472 ท่านเดินทางกลับเมืองไทย
ยุคนั้น จริงแล้ว ชุมชนคลองตะเคียนมีผู้รู้มากมาย
โดยเฉพาะผู้อาศัยย่านมัสยิดกุฎีช่อฟ้า และ บ้านหาดทราย ที่มีโต๊ะครูดัง โต๊ะกีอิบรอฮีม รัมมะไม หรือ ครูเฮม ซาฟาวี
ผู้รู้จากคลองตะเคียนมักถูกเชิญให้ไปเป็นอิหม่าม ตามมัสยิดต่าง ๆ
เช่น มีบันทึกในประวัติอำเภอบางเกร็ด ว่า มัสยิดท่าอิฐ จังหวัด นนทบุรี ตอนที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 ยังเชิญผู้รู้จากคลองตะเคียนไปเป็นอิหม่าม
คำว่า ไปอยู่ในสถานที่ ที่ผู้คนเห็นคุณค่า
เช่น มุอาซ อินนุ ญะบัล ซอฮาบะฮ์ เดินทางไป ประเทศ เยเมน เพราะ ท่านนบี มุฮัมมัด และ ชาวเยเมน เห็นคุณค่าในตัวท่าน มุอาซ ว่า มีความรู้กว้างขวางใน เรื่อง ฮาลาล และ ฮารอม
หรือ อับดุลเราะห์มาน อัล ซุเดซ ได้ถูกเชิญให้เป็นอิหม่ามที่ มัสญิด อัล ฮารอม มักกะฮ์ ท่านจึงเดินทางออกจาก แคว้นกอซีม ไปมักกะฮ์ เพราะ บรรดาอุลามาอ์ซาอุดิอารเบีย ยุคนั้น เห็นคุณค่าในตัวท่าน
คำว่า ไปอยู่ในสถานที่ ที่คนเห็นคุณค่า ช่างเหมาะสม สำหรับชีวิตครูมูซอในช่วงนี้
คนดีมีความรู้ ย่อมรักและชื่นชมคนดีมีความรู้ และย่อมมองเห็นอัญมณีในตัวของผู้มีความรู้
ชาวคลองตะเคียน ที่มากด้วยผู้รู้ และ ผู้ทรงคุณธรรม ในเวลานั้น เห็นชอบว่า ควรเชื้อเชิญครูมูซอ มาสอนหนังสือและเป็นโต๊ะครูหลัก
ครูมูซอ ตอบรับคำเชื้อเชิญ อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่การไปอยู่ในสถานที่ ที่ผู้คนเห็นคุณค่า ย่อมมากด้วยเกียรติยศ
เมื่อคำเชิญ และ การตอบรับ เป็นไปตามตักดีร หรือการกำหนดของอัลลอฮ์
ท่านจึงเก็บหนังสือเข้าห่อผ้า เก็บผ้าโสร่ง เก็บเสื้อกุร่งมาเลย์ เข้ากระเป๋า ลาแล้วลาบ้านเก่า ดินแดนที่เคยเกิดมา
ย้ายที่อยู่จาก คลอง 15 ย่างจรลีและพากันแจวเรือข้ามคุ้งน้ำ ผ่านคลองรังสิตประยูรศักดิ์ งัดไม้พาย ตั้งลำเรือ และ ตัดลูกคลื่นแม่น้ำเจ้าพระยา จนบรรลุถึงฝั่งคลองตะเคียน
เริ่มต้นปักหลักสอนที่บ้าน โต๊ะกีหมุด บุญรอด
สอนได้ 1 ปี ท่านได้แต่งงานกับเจ้าสาว จากสายสกุล เลาะวิถี ตระกูลมีเกียรติ ที่ได้รับการยอมรับว่า สายสกุลนี้เคร่งครัดในศาสนา
ด้วยความมุ่งมั่น เป็นโต๊ะครูที่รู้จริง สอนจริง ท่านไม่ค่อยชอบเดินทางไปใหน ลูกศิษย์มาเรียนจึงได้รับความรู้เต็มอัตรา และเต็มมาตรา
ย้อนให้นึกถึงเรื่องราวของ อิหม่ามมาลิกี ที่สอนหนังสือที่ นครมาดีนะห์ และไม่เดินทางไปใหน ลูกศิษย์จึงได้ความรู้เต็มที่ และเต็มอิ่ม
ภาพของการสอน ฉากของลูกศิษย์มาเล่าเรียน ยังงดงาม และ วิจิตร จวบจนกระทั่งถึง สงครามมหาเอเชียบูรพา การเรียนและการสอน ต้องหยุดชะงักในบันดล
ไปให้ถึง คลองตะเคียน เถอะ ไม่ต้องกลัวอด คำพูดนี้ บรรพบุรุษรุ่นเก่าตามลำน้ำคลองลากค้อน บางบัวทอง มักพูดให้ลูกหลานฟัง
ช่วงสงคราม ผู้คนหลั่งไหลหนีสงครามเลือด ไปอยู่ คลองตะเคียน ทั้งคหบดี นักธุรกิจ นักคิด นักการศึกษา รวมถึง ปุถุชนธรรมดา
จริงอย่างที่บรรพบุรุษ บางบัวทอง พูดไว้ ทุกคนได้รับการต้อนรับจากชุมชนคลองตะเคียน และไม่มีใครอด ไม่มีใครหิว
หลังสงคราม ท้องฟ้าเปิดใส พื้นดินเกิดพืช ต้นไม้เกิดผล อาทิตย์เกิดแสง สันติภาพเลิศวิไล ความสุขผ่องอำไพ
หลากบุรุษผู้มาคลองตะเคียนช่วงสงคราม ปรากฏกายขึ้น
การปรากฏร่างของเหล่าบุรุษ เปิดตัวในฐานะกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง เช่น โต๊ะกี ซัน วงศ์การีม โต๊ะกี ประวิทย์ ศรีสง่า โต๊ะกี มานิตย์ เกียรติธารัย
เหล่าบุรุษ ไม่ใช่ปุถุชนธรรมดา พวกเขามีความรู้ เป็นนักการศึกษา และเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ที่สำคัญ พวกเขารักศาสนาเหมือนชาวคลองตะเคียนที่รักศาสนา
สมัยนั้น เขื่อนเจ้าพระยาที่ ชัยนาท ยังไม่ได้ถูกสร้าง ทุกปี ฤดูน้ำท่วม เมื่อหลากมาคราใด น้ำจะไหลแรง และเชี่ยวกราด
คนคลองตะเคียนอาจคุ้นเคย และ ชินตา เห็นน้ำท่วมทุกปีตั้งแต่เด็ก เห็นกระแสน้ำเมื่อยามย่ำค่ำ มองผ่านแล้ว อาจจะไม่คิดไม่นึก
แดดล้ม ลมตก ยามเย็น ยามค่ำอาจจะเพลิดเพลินกับ การพายเรือช้า ๆ เนิบ ๆ พายเรือให้กระทบน้ำอย่างแผ่วเบาที่สุด และกินข้าวในเรือ หรือ คนคลองตะเคียน เรียกว่า พายเรือกินลอ
แต่เหล่าบุรุษผู้มีสายตากว้างไกล ไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาคิด และนึก
พวกเขาเห็นว่า คลองตะเคียน มีโต๊ะครูระดับพรีเมี่ยม คือ ครูมูซอ มีผู้รู้มากมาย และชาวบ้านชาวช่องก็มีผู้ทรงคุณธรรมไม่ใช่น้อย
ยามน้ำหลาก วารีและสายน้ำ ไม่รอคอยใคร ดังนั้น การเรียนรู้ และการศึกษา ก็จะไม่รอคอยเรา
เหล่าบุรุษจึงปรึกษาหารือกับครูมูซอ และผู้หลักผู้ใหญ่
เช่น โต๊ะกี หมัดใบ สมบูรณ์ โต๊ะกี ยูซุฟ เซ็นเสถียร โต๊ะกี ผู้ใหญ่ชม สมจิตรประเสริฐ รวมถึงพี่น้องชาวคลองตะเคียน ว่า การศึกษาหยุดไม่ได้ การเรียนรู้ต้องต่อเนื่อง และทุกท่านต่างเห็นพ้อง
วันนั้น ที่ คลองตะเคียน ไม่ว่า จะอยู่เวิ้งไหนของชุมชน
เช่น คลองปทาคูจาม บ้านดิน บ้านหาดทราย หน้าวัดโคก หน้ามัสยิดกุฎีช่อฟ้า สะพานยาว อู่ต่อเรือ คลองเทศ จะเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่งสูงชะลูดเฉียดฟ้า
ต้นไม้นั้น คือ ต้นตาล ต้นตาลที่ใครก็รู้ว่า ให้น้ำตาลสดไว้ดื่มกิน
ต้นตาลยืนสง่า สูงโย่ง ยิ้มแย้ม และตั้งมั่นอยู่ ก็ด้วยรากต้นไม้ที่แข็งแกร่ง
แต่ อนิจจา ต้นตาลมีแค่รากฐานที่แข็งแกร่ง
แต่ไม่มีพลังพอที่จะเดินก้าวไปข้างหน้า ไม่มีเรี่ยวแรงพอ แม้จะเดินช้า ๆ สักหนึ่งก้าว หรือ แค่ครึ่งก้าว
ครูมูซอ เหล่าบุรุษ และชาวคลองตะเคียน จึงเห็นว่า การศึกษาที่ดี ต้องมีรากฐานที่แข็งแกร่ง และมีพลังพอที่จะเดินต่อไปข้างหน้าได้
ต้นตาลแค่สูงเพราะรากแกร่ง แต่ไม่มีพลังกำลังเดินไปใหน
เปรียบได้ดั่ง ตอไม้แสนดี มีใจงดงาม ให้คนได้ดื่มน้ำจากตอ เป็นตอที่ยังมีลมหายใจรื่นรมย์ แต่หาได้ ปราถนาความก้าวหน้าไม่
วันนั้น หลังสงครามใหม่ ๆ มุสลิมไทยขาดทั้งผู้รู้ทางศาสนา และ ผู้รู้ทางโลก แล้วจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น
ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า ต้องจัดระบบการศึกษาใหม่ ที่สร้างทั้งผู้รู้ทางศาสนาและผู้รู้ทางโลก ในคนเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ต้องมีรากฐานแข็งแกร่ง ต้องมีพลัง และมีกำลังเดินไปข้างหน้าได้ด้วย
ระบบการศึกษา ทั้งทางโลก และ ทางธรรม จึงได้ก่อกำเนิดขึ้น และนั้นก็คือ ปฐมบทของโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยา
ส่วนชาวบ้านทั่วไป ยังคงสะดวกที่จะเรียก โรงเรียนครูมูซอ ตามชื่อโต๊ะครูหลัก
และจากวันที่ก่อตั้งโรงเรียน จวบถึงวันที่ท่านเสียชีวิต ท่านทุ่มเทให้กับงานสอนตลอด
ด้วยจริยวัตรที่งดงาม มารยาทอ่อนโยน ความละเอียดในการสอน การเขียนด้วยลายมือ เหมือนตัวพิมพ์
และการจดบันทึกตำราของท่าน ที่สะอาด น่ามอง เป็นจุดเด่นที่ลูกศิษย์มักเลียนแบบ และ จดจำไปใช้
วันนี้ อัลมัรฮูม โต๊ะกีอาจารย์ มูซา ฮานาฟี ได้สร้างลูกศิษย์มากมาย
และลูกศิษย์ของท่าน ยังได้สร้างเหล่าลูกศิษย์ ให้มากอีกหลายเท่าตัว ทั้งทั่วฟ้าเมืองไทย และ ฟ้าเมืองนอก
ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในสถานบันการศึกษาเกี่ยวกับอิสลามทั่วโลก จะเจอะเจอลูกศิษย์ของลูกศิษย์ท่าน เกือบทุกที่
ท่านกลับไปสู่อุ้งพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ ราว 50 ปีที่ผ่านมา
ต้นตาลที่ยืนตะหง่านด้วย รากฐานที่แข็งแกร่ง โดยไม่ยอมเดินไปไหน ยังยืนยิ้มแฉ่งอยู่กับที่
ต้นตาลยืนยิ้ม โปรยความหวานด้วยน้ำตาลสด ยังไม่ขยับไปใหน เหมือนเมื่อครั้งหลังมหาสงครามเอเซียบูรพา บางต้นก็ตาย และ ลาจากโลกอย่างนิรันดร
ส่วน ระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง และมีพลังเดินได้ ของครูมูซอ และเหล่าบุรุษ และ พี่น้องชาวคลองตะเคียน ได้สร้างไว้ ยังเดินไม่หยุด ไม่พัก และ ไม่อยู่นิ่ง
และคงเดินต่อไป อย่างไม่มีวันเหน็ดเหนื่อย เดินต่อไปอย่างไม่มีวันเมื่อยล้า และคงต้องเดินต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่อัลลอฮฺจะทรงพิพากษาให้โลกนี้ดับสลาย และ ดับสูญ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย