19 พ.ค. 2021 เวลา 02:25 • การศึกษา
เอาบุญมาฝากค่ะ
(ขอบคุณภาพประกอบ: ละครมนต์รักหนองผักกะแยง ช่อง 3)
“เอาบุญมาฝากด้วยนะยาย” ชมพู่ร้องบอกยายที่กำลังจะไปวัด ภาพประกอบละครเรื่องมนต์รักหนองผักกะแยง บทประพันธ์/ บทโทรทัศน์ โดย ช.เรเชล ออกอากาศวันศุกร์-วันอาทิตย์ เวลา 20.20 น. ทางช่อง 3 ออนแอร์ตอนแรก 14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
1
เริ่มเรื่องมาก็สนุกแล้วค่ะ เป็นละครแนวคอมมาดี ที่ให้ทั้งความบันเทิง รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ บรรยากาศอีสานบ้านๆ เหมือนย้อนไปในยุค 90 ทีเดียว พร้อมด้วยเพลงประกอบกว่า 11 เพลง รับรองได้ทั้งความสนุกสนาน สาระความรู้เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรอินทรีย์ ดูแล้วคิดฮอดอีสานบ้านเฮาแท้เด้จ้า บอกเลยว่าเหมาะกับช่วงโควิด 19 อยู่บ้านลดเชื้อเพื่อชาติหลายๆ จ้า
“เอาบุญมาฝากค่ะ/ครับ เอาบุญมาฝากนะคะ/นะครับ” ปกติของฝาก เรามักจะเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน อาจมาในรูปสิ่งของ เช่น ขนม ผลไม้ เสื้อผ้า อะไรแบบนั้น ส่วนตัวผู้รับแค่ได้ยินก็รู้สึกดี ตื่นเต้นแล้ว แต่เอาบุญมาฝากมันมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ก็จะรู้สึกงงๆ ตะขิดตะขวงใจเล็กน้อย
ปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงหรือใช้คำนี้มากขึ้น นั่นอาจเป็นเพราะการได้ศึกษา และเรียนรู้หลักการทำบุญในทางพระพุทธศาสนามากขึ้นหรือเปล่า? หรืออาจมีใช้มานานแล้วแต่ใช้เฉพาะกลุ่มของพุทธศาสนิกชน คำว่า “เอาบุญมาฝาก” มีที่มาที่ไปอย่างไร ลองมาติดตามบทความนี้กันจ้า
ใกล้ถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนบางท่านตั้งใจสั่งสมบุญกุศล เพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้กับตนเอง และครอบครัว เช่น ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล ปฏิบัติธรรมชำระใจให้ใสสะอาด
ดังนั้น เอื้อยทินจึงขอนำวิธีการสร้างบุญบารมีในทางพระพุทธศาสนา นั่นคือ บุญกิริยาวัตถุ มาอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้ง แม้เนื้อหาจะเป็นเรื่องเดิมๆ ศึกษาได้ทั่วไปจากตำรับตำรา และมีนักวิชาการหรือนักเขียนอธิบายไว้มากมายแล้วก็ตาม แม้กระทั่งบางท่านทั้งศึกษา และลงมือปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นปกติ
บทความนี้จะขยายความบุญกิริยาวัตถุ 3 ที่ลงใน Blockdit เรื่องแรกของเอื้อยทินอีกต่อหนึ่ง โดยขยายความไปถึงบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มมาหรือขยายความมาจากอรรถกถา
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกท่านได้ทบทวนความรู้ความเข้าใจ และฝึกทำบุญง่ายๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกระทั่งเป็นนิสัยรักการสร้างบารมี เป็นการออกแบบชีวิตของเราให้สมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติ และบริวารสมบัติในภพชาตินี้ และทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน
บุญกิริยาวัตถุ หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำบุญ เรื่องที่จัดเป็นการทำความดี หลักการทำความดี ทางทำความดี เป็นบันไดขั้นแรกของการสร้างบารมี ในบุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ ประกอบด้วย
1. ทานมัย คือ ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
2. สีลมัย คือ ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย
3. ภาวนามัย คือ ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา
1) ทานมัย บุญที่เกิดจากการให้ทาน แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ
1.1 การให้วัตถุสิ่งของเป็นทานเรียกว่าให้วัตถุ หมายถึง สิ่งของสำหรับให้ สำหรับเสียสละให้ผู้อื่น ได้แก่ สิ่งของที่ถวายพระ สิ่งของที่ควรนำไปให้เพื่อตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่าไทยทาน
ไทยธรรม มี 10 อย่าง ในทานสูตร ได้แก่ อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ มาลัยและดอกไม้ของหอม (ธูปเทียน) เครื่องลูบไล้ (สบู่ เป็นต้น) ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีป (ไฟหรือไฟฟ้า) การให้ทานวัตถุ 10 อย่างนี้ มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีโทษ ไม่มีพิษภัยแก่ผู้รับ การเลือกของที่จะให้บัณฑิตสรรเสริญด้วยจิตใจที่ดีงาม
1.2 การให้วิชาความรู้เป็นทานหรือให้วิทยาทาน เช่น การให้ความรู้ในการประกอบสัมมาอาชีวะ เพื่อการเลี้ยงชีพชอบ เพื่อที่จะไม่พลาดพลั้งไปทำอาชีพที่ทุจริต ไม่ไปทำอาชีพที่ผิดศีลผิดธรรม เพราะบางอาชีพถูกกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม ผิดกฎแห่งกรรม อันนี้ก็ต้องระวัง และมีความรอบคอบกันให้มากๆ
1.3 การให้อภัยเป็นทานหรือให้อภัยทาน การเสียสละ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะถูกคนว่าร้าย ใส่ร้าย (บูลลี่) แต่เราก็รู้ว่า ตัวเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็ให้อภัยเขา เพราะเขายังไม่รู้ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อาจต้องรอจังหวะเวลาที่จะอธิบายความจริงให้เขาเข้าใจ ก็ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นไว้ก่อน การให้อภัยนี้เป็นการให้กับคนอื่น แต่คนที่ได้เป็นคนแรกคือตัวเรา นั่นคือ ให้ความสบายใจกับตัวของเราเอง
1.4 การให้ธรรมเป็นทานหรือให้ธรรมทาน ธรรมทาน เรียกได้ว่า ชนะการให้ทั้งปวง
การให้ธรรมทาน คือ การเล่าธรรมะที่ได้จากการศึกษาพระไตรปิฎก จากการอ่านหนังสือธรรมะ แล้วนำมาถ่ายทอดให้ความรู้ต่อกัน การให้ธรรมทานได้ชื่อว่า เลิศที่สุด เพราะการให้ธรรมทาน จะทำให้เพื่อนมนุษย์ได้ดำเนินชีวิตถูกต้องตามหลักกฎแห่งกรรม คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง แม้ว่า ระยะเวลาในการส่งผลของกรรมจะมีระยะสั้น หรือยาวแตกต่างกัน เพราะทุกการกระทำล้วนส่งผลทั้งสิ้น ที่ไม่ส่งผลเป็นไม่มี
2) สีลมัย คือ ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย
บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล หมายถึง การทำบุญด้วยการรักษาศีล คือ ประพฤติตนให้ดีอยู่ในธรรมทั้งกาย วาจา และจิตใจ
ศีล แปลว่า ปรกติ คือ การปฏิบัติที่รู้จักควบคุมกาย วาจา และใจของตนไว้ให้บริสุทธิ์หรือมีความสงบ ศีล เป็นเครื่องควบคุมโทสะหรือความโกรธ เมื่อรักษาศีลได้ ย่อมได้บุญกุศล และคงไว้ซึ่งบุญเก่า กล่าวคือ เป็นการขจัด และลดกิเลส คือ ความโกรธมิให้เกิดขึ้นได้ พร้อมกับก่อเกิดบุญใหม่ คือ จิตใจมีความตั้งมั่น และมีความสงบ ไม่เกิดโทสะทั้งปวง และพร้อมที่จะรักษาศีลให้มั่นคงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต
รักษาศีลหรือสีลมัย คำว่า ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนา ที่กำหนดการปฏิบัติทางกาย และวาจา เช่น ศีล 5 ศีล 8 หรืออาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีล เป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะเดียวกันเป็นการลด ละ เลิกความชั่ว มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิให้ตกต่ำลง
เช่น ไม่ไปเป็นชู้เป็นกิ๊กกับใครที่ทำงาน ไม่ทำให้ครอบครัวเขาแตกแยก เป็นแม่ค้าไม่โกหกหลอกขายของไม่ดีให้ลูกค้า เป็นพ่อบ้านไม่กินเหล้าเมายา ทำให้ลูกเมียมีความสุข เพื่อนบ้านก็สุข เพราะไม่ต้องทนฟังเสียงรบกวน จากการทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาศีล และเป็นหนึ่งในการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น สุขุมด้วย
3) ภาวนามัย
เจริญภาวนาหรือภาวนามัย เป็นการทำบุญอีกรูปแบบ ที่มุ่งพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา แต่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ดังนั้น อาจจะทำง่ายๆ ด้วยวิธีการสวดมนต์เป็นคาถาสั้นๆ บูชาพระที่เราเคารพบูชาก่อนนอนทุกคืน
เช่น คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร คาถาหลวงปู่ทวด เป็นต้น การสวดมนต์เป็นประจำ อย่างน้อยก็เป็นการน้อมนำจิตใจของเรา ไปสู่สิ่งที่เป็นมงคลในชีวิต เป็นการเตือนสติให้เรายึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติชอบ ตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ และผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ
บุญกิริยาวัตถุ ในอดีตถูกบัญญัติไว้เพียง 3 ประการ แต่ภายหลังได้บัญญัติเพิ่มใหม่ให้เป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ ในอรรถกถา ฑีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร และอภิธัมมัตถสังคหะ เพื่อมุ่งให้เกิดความละเอียด มีความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น
รูปภาพ: บุญกิริยาวัตถุ 10 https://surasakm27.wixsite.com/mysite/blank-3
ทิฏธุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรง ถูกต้อง และถูกทางตามธรรม ไม่เห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงโดยแก้ไขปรับเปลี่ยนความเห็นตั้งแต่เห็นผิดไปเป็นเห็นถูก และพัฒนาตนให้เห็นถูกยิ่งๆ ขึ้นไปในหลักการทำบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นยังไม่ตรง
เช่น ยังไม่รู้เรื่องผลของกรรม จำเป็นต้องได้กัลยาณมิตรที่ดีได้ฟังธรรม แล้วมนสิการ (พิจารณา) โดยแยบคาย ความเห็นนั้นจึงจะถูกปรับให้ตรงตามความเป็นจริงเป็นลำดับ 1 ทำให้ปฏิบัติถูกทาง เพราะการพัฒนาตนต้องเริ่มที่ความเห็นก่อน เมื่อความเห็นตรง คำพูด และการกระทำก็จะตรงตามไปด้วย
ข้อนี้แม้จะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญยิ่ง เพราะไม่ว่าจะทำบุญใดทั้ง 9 ข้อที่กล่าวมา หากมิได้ตั้งอยู่ในทำนองครองธรรม การทำบุญนั้นก็ไม่บริสุทธิ์ และให้ผลได้ไม่เต็มที่
ทิฏฐุชุกรรม เป็นประธานแห่งบุญกิริยาวัตถุทุกข้อทำหน้าที่ดั่งผู้ถือหางเสือเรือที่คอยคัดท้ายให้แล่นตรงทางเสมอ "ทิฏฐุชุกรรม" เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะจะต้องนำไปใช้ประกอบกับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ
เช่น หากบำเพ็ญทานมัยซึ่งเป็นบุญกิริยาวัตถุข้อแรก ก็ต้องมีความเข้าใจถูกว่า ทานมีผลมาก โดยเฉพาะการให้ทานแด่เนื้อนาบุญ หรือการบำเพ็ญภาวนามัย หากสวดมนต์ก็มิใช่สวดเพียงเพราะคล่องปากเท่านั้น แต่ต้องสวดด้วยใจที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยจริงๆ อย่างนี้จึงจะมีผลบุญมาก
เมื่อเราทำความเห็นให้ตรง ถูกต้อง และถูกธรรม เกี่ยวกับ 10 วิธีทำบุญในพระพุทธศาสนาแล้ว เราก็ต้องศึกษา และลงมือปฏิบัติ เพื่อพัฒนาตนเองให้ตรงต่อหนทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน ขอยกตัวอย่างที่เอื้อยทินทำเป็นประจำ (My Routines) ดังนี้ค่ะ
หมวดทาน ทำบุญตักบาตร ปล่อยสัตว์ปล่อยปลา หยอดกระปุกสะสมเงินไว้ทำบุญกฐินประจำปี ซึ่งร่วมกับเพื่อนๆ หรือโอนเงินทำบุญสร้างวัดสร้างห้องน้ำ ถวายภัตตาหาร น้ำปานะ เป็นต้น ก่อนนอนแผ่เมตตาอุทิศบุญให้กับคุณพ่อ และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
เวลาเพื่อนเอาบุญมาฝากไม่ว่าจะเป็นบุญถวายภัตตาหาร บุญปล่อยสัตว์ปล่อยปลา หรือบุญอะไรก็ตาม ก็จะร่วมอนุโมทนาบุญกับเขาด้วย ดังนั้น คำว่า “เอาบุญมาฝาก” จึงจัดอยู่ในปัตตานุโมทนามัย (ยินดีในความดีของผู้อื่น) นั่นเอง
หมวดศีล วันธรรมดารักษาศีล 5 เป็นปกติ ส่วนวันพระตั้งใจอาราธนา และรักษาศีล 8 ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของที่ทำงาน ประพฤติอ่อนน้อมทั้งกาย วาจา ใจ รับฟัง และให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่ตลอดถึงเพื่อนร่วมงาน
เมื่อได้รับมอบหมายงานก็ลงมือทำอย่างเต็มที่ พยายามเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของงานหรือทีมงาน เพื่อสร้างความสำเร็จ และภาคภูมิใจร่วมกัน ในที่ทำงานก็ช่วยรักษาความสะอาด และจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
หมวดภาวนา นั่งสมาธิเวลา 9.00-10.45 น. และก่อนนอนอย่างน้อย 15 นาที เป็นประจำทุกวัน ระหว่างวันเมื่อเกิดความล้าจากการทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็จะพักสายตาด้วยการหลับตานั่งสมาธิ 1-5 นาที ระหว่างการทำงานก็จะฟังธรรมะหรือสาระความรู้ดีๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งจากใน YouTube Facebook Zoom เท่าที่สะดวก แม้ไม่มีเวลาหากพบเจอบทความหรือธรรมะดีๆ ก็จะเก็บไว้ฟังย้อนหลัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคล็ดลับความสำเร็จ เทคนิคต่างๆ ในการพัฒนาตนเอง ตลอดถึงแนวทางที่จะนำมาต่อยอดการเขียนบทความ เอื้อยทินก็จะชอบมากค่ะ และแบ่งเวลามาเขียนบทความ ให้ธรรมทานกับเพื่อนๆ ใน Blockdit รวมถึงแชร์บทความดีๆ ของนักเขียนท่านอื่นในสื่อโซเชียลต่างๆ ด้วยเห็นถึงอานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะเกิดกับตนเอง และผู้อื่น
จากนั้นในช่วงเย็นหรือค่ำ แดดร่มลมตก อากาศดีๆ ก่อนกลับบ้านก็จะเดินเวียนประทักษิณ บูชาเจดีย์ ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้สั่งสมในทุกๆ วัน เพื่อให้ใจชุ่มอยู่ในบุญตลอดเวลา และเพื่อความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
ถ้าจะให้เห็นรายละเอียดชัดๆ ลึกลงไปอีก อาจต้องทำตารางบันทึกประจำวันลงในแต่ละหมวด ในแต่ละวันทำบุญอะไรบ้าง ทำกับใคร ทำอย่างไร และผลที่ได้เป็นอย่างไร สังเกตผลที่เกิดกับใจของเรา
เช่น ให้แล้วใจร้อนรุ่มหรือให้แล้วสุขใจจังเลย นั่งสมาธิแล้วใจสงบหรือฟุ้งซ่าน ขอให้ฝึกสังเกต และตรวจสอบใจของเราดูนะคะ เผื่อจะได้นำไปปรับให้เหมาะกับจริตหรือความชอบ ความใช่ของเราเอง และหากมีบุญอะไรที่ทำได้ง่ายหรือทำเป็นประจำก็สามารถนำมาแบ่งปันได้นะคะ
เพื่อนๆ ลองเอาไปประยุกต์ใช้นะคะ หวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อนๆ ชาว Blockdit ทุกท่านเข้าใจหลักบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ เพิ่มมากขึ้น ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ
บทความต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร อย่าลืมมาติดตามนะคะ
เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง
อ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม หน้า 89
บุญกิริยาวัตถุ 10 www.kalyanamitra.org กัลยาณมิตร kalyanamitra : ธรรมะออนไลน์
บุญกิริยาวัตถุ 10 https://surasakm27.wixsite.com/mysite/blank-3
โฆษณา