19 พ.ค. 2021 เวลา 08:01 • สิ่งแวดล้อม
#สมเสร็จ กับสถานภาพความหลากชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย
สมเสร็จ Malayan Tapir (𝘛𝘢𝘱𝘪𝘳𝘶𝘴 𝘪𝘯𝘥𝘪𝘤𝘶𝘴): พบการกระจายในพื้นที่กลุ่มป่าอนุรักษ์ 7 กลุ่มป่า ในภาคตะวันตกและภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 38 แห่ง กลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สมเสร็จ ได้แก่ กลุ่มป่าฮาลา-บาลา กลุ่มป่าคลองแสง และกลุ่มป่าเขาหลวง โดยปัจจัยแวดล้อมที่มีความสำคัญต่อการเลือกใช้ประโยชน์พื้นที่ของสมเสร็จ ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ รูปแบบกิจกรรมของมนุษย์และชุมชน
มีรายงานบางฉบับที่พบรอยตีนของสมเสร็จในเทือกเขาพนมดงรัก (วิชัย 2519, ชาลี 2521) อย่างไรก็ตามจากการสำรวจในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ที่ครอบคลุมเทือกเขาพนมดงรัก ยังไม่มีรายงานการพบร่องรอยของสมเสร็จในพื้นที่เหล่านี้
ความชุกชุมของสมเสร็จในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย: จากการสำรวจร่องรอยของสมเสร็จตามเส้นสำรวจที่เป็นเส้นทางเดินป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้ง 18 กลุ่มป่า สามารถแบ่งกลุ่มของพื้นทีป่าอนุรักษ์ตามระดับความชุกชุมของสมเสร็จได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
■ พื้นที่ป่าที่มีความชุกชุมในระดับสูง พบเห็นได้ง่ายมาก เช่น อุทยานแห่งชาติศรีพังงา อุทยานแห่งชาติเขาหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลลองแสง
■ พื้นที่ป่าที่มีความชุกชุมในระดับปานกลาง พบเห็นได้ง่าย เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากระทูน
■ พื้นที่ป่าที่มีความชุกชุมในระดับต่ำ พบเห็นไม่บ่อย เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาสก
■ พื้นที่ป่าที่มีความชุกชุมระดับต่ำมาก พบเห็นได้ยาก เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี
สมเสร็จจะมีการเลือกใช้พื้นที่ป่าใหญ่ที่ห่างไกลชุมชน และมีความอุดมสมบูรณ์สูง หากแหล่งน้ำหลักมีกิจกรรมที่ใช้ประโยชน์ของมนุษย์มากๆ สมเสร็จก็จะมีพฤติกรรมไม่เข้าใกล้แหล่งน้ำนั้นๆ แต่จะเลี่ยงไปเลือกใช้แหล่งน้ำอื่นๆ ในพื้นที่ที่มีอยู่ทดแทน
พื้นที่ที่เหมาะสมมากต่อการใช้ประโยชน์ของสมเสร็จ ส่วนใหญ่เป็นป่าใหญ่หรือใจกลางของป่าอนุรักษ์ สภาพที่เป็นป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง อันเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500-1500 เมตร มีระดับความลาดชันต่ำ ระหว่าง 0° -30° อยู่ห่างจากลำน้ำไม่เกิน 3 กิโลเมตร และห่างจากหมู่บ้านและชุมชนมากกว่า 15 กิโลเมตร
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division
#สมเสร็จ #กรมอุทยาน #prdnp #DNP #สายด่วน1362
โฆษณา