19 พ.ค. 2021 เวลา 12:08 • สุขภาพ
💊”จะไปฉีดวัคซีนดีไหม ฉีดตัวไหนดี?”💊
นี่คือคำถามยอดฮิตประจำสัปดาห์ ที่ผ่านมาในห้องตรวจของแพทย์หลายๆท่าน คิดว่าต้องมีคนถามแน่ๆ ตอบอย่างไรดีคะ?
ภาพจาก https://www.freepik.com/premium-vector/family-coronavirus-covid-vaccination
มาดูกันว่าที่ห้องตรวจเด็กมีคำถามคำตอบอย่างไร
“ผมควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไหมครับ?”
คุณพ่อคุณแม่วัยหนุ่มสาวที่พาลูก 2 คน อายุ 10 เดือน กับ 3 ปี มาฉีดวัคซีน เอ่ยปรึกษาเมื่อคุยกันเรื่องสุขภาพของลูกจบแล้ว
เวลาเราพาเด็กๆมาฉีดวัคซีน ไม่มีคำถามว่าควรฉีดไหม ประโยชน์มีแน่นอน แต่ไม่มีเด็กคนไหนอยากจะมาฉีดหรอกค่ะ พ่อแม่นี่แหละที่เป็นคนเคี่ยวเข็ญหลอกล่อพามาจนได้
พอเด็กโตเข้าวัยรุ่นจะพามาฉีดวัคซีนที ก็จะยากขึ้นมาหน่อย ต้องอธิบายหลักการและเหตุผล
1
คราวนี้ฉีดวัคซีนตัวใหม่เอี่ยม เป็นครั้งแรกในโลกนี้ให้กับผู้ใหญ่นี่….ยากที่สุดล่ะค่ะ จะเคี่ยวเข็ญก็ไม่ได้ หลักวิชาการต้องมา ไหนจะความกลัวอีก ด้วยความที่ไม่เคยถูกฉีดวัคซีนมานาน😊
“ฉีดก็ดีกว่าไม่ฉีดนะคะ …ฉีดให้มีภูมิต้านทานไว้60-70เปอร์เซ็นต์ ก็ยังดีกว่า ไม่ฉีดแล้วภูมิต้านทานเป็น 0 ค่ะ ที่คุณพ่อพาลูกมาฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่ นั่นก็ป้องกันได้60-80%% เท่านั้นนะคะ แต่เราก็ยังฉีดให้ลูก เพราะ อย่างน้อยถึงจะเป็นก็อาการไม่เยอะ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล วัคซีนโควิดก็ใช้หลักคิดเดียวกันนี่ล่ะค่ะ “
“ก็กำลังตัดสินใจอยู่ครับ ว่าจะฉีดของรัฐบาลหรือจะรอวัคซีนที่เอกชนจะสั่งเข้ามาดี?”
โอ! อย่างนี้ต้องท้าวความกันยาวละ
“ที่คิดจะรอเพราะไม่ค่อยมั่นใจในวัคซีน 2 ชนิดที่เราจะใช้?”
“นั่นก็ส่วนหนึ่งครับ ได้ยินข่าวผลข้างเคียงแล้วไม่ค่อยสบายใจ”
“งั้นหมอขอบอกอย่างหนึ่งก่อนเลยนะคะ ไม่ว่าวัคซีนตัวไหนๆก็ตาม ล้วนมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ทุกตัวค่ะ สมัยก่อนวัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยักที่ฉีดให้เด็กๆนั่นทำให้มีไข้สูงจนชักได้เลยนะคะ ต้องสั่งยาลดไข้กินคู่ไปด้วยทุกครั้ง วัคซีนสมัยนี้ไม่ค่อยมีไข้เท่าไรล่ะค่ะ
เรื่อง อาการไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เกิดได้กับการฉีดวัคซีนทุกชนิด เพียงแต่ว่าพบได้น้อยมากๆค่ะ
“เอ้า! ยกตัวอย่างก็ได้ วัคซีนไฟเซอร์โมเดิร์นนามีโอกาสเกิดแพ้รุนแรงความดันตกหายใจไม่ออกที่เรียกว่า anaphylaxis 2.5 -11.1 ต่อ 1 ล้าน (อ้างอิง 1,2)
วัคซีนที่ใช้ในไทย2 ชนิด ถึงตอนนี้ฉีดไป 2.3 ล้านโด๊สพบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 14 ราย เท่ากับ 6 ต่อ1 ล้านโด๊ส จะเห็นว่าโอกาสพบอาการรุนแรงจากการฉีดวัคซีนทุกชนิดก็มีได้ไม่ต่างกัน”
หลังฉีดวัคซีนโควิด ไปแล้วในไทย ไม่พบผลข้างเคียงถึง 89 % และผลข้างเคียงที่พบก็ไม่รุนแรง เช่นไข้ ปวดหัว ปวดตำแหน่งที่ฉีด (อ้างอิง 3)
“ถ้าอย่างนั้น เรื่องประสิทธิภาพล่ะครับ?”
1
“ก็ต้องถามว่า ในตอนนี้เราต้องการอะไรจากการฉีดวัคซีนโควิด? …ป้องกันการป่วยหนักถึงกับเข้าโรงพยาบาลใช่ไหมคะ? ถ้าอย่างนั้นวัคซีนทุกตัวไม่ว่าจะเป็นของ ไซโนแวค แอสตราเซเนก้า ที่มีอยู่แล้วหรือ ไฟเซอร์ โมเดิร์นนา ที่ยังไม่มีมา ต่างก็ป้องกันป่วยหนัก ป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ทุกตัวเลยค่ะ…ไม่แตกต่างกันอีกล่ะค่ะ”
“ที่ต่างกัน คือ มีวัคซีนตัวไหนในขณะนี้ และตัวไหนจะได้ฉีดเร็วที่สุด “
“ถ้าอย่างนั้น ผมก็คิดว่า น่าจะตัดสินใจไปฉีดล่ะครับ เพราะ มีลูกเล็กๆ 2คน แล้วยังแม่ที่อายุมากอีกคน”
“ยิ่งผู้สูงวัย มีโอกาสฉีดได้ก่อนตั้งแต่เดือนมิถุนา ก็รีบทำนัดหมายและพาไปฉีดเถอะค่ะ”
“อีกคำถามหนึ่งนะครับ ถ้าผมฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้ครบ 2 ครั้งแล้ว พอปลายปีมีวัคซีนชนิดใหม่มา จะไปฉีดได้ไหมครับ?”
“ ได้สิคะ แต่ขอให้ห่างไปอย่างน้อยสัก 6 เดือนเมื่อภูมิเริ่มลดลงก่อน คิดเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็กต่ำกว่า 8ปีก็ได้ค่ะ ในครั้งแรกสุดที่ฉีดเราจะฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน แล้วพอปีหน้ามีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เปลี่ยนสายพันธุ์ของปีนั้นมาแล้ว ก็ฉีดกระตุ้นได้ทุกปีปีละ 1 เข็ม หรือห่างจากการฉีดครั้งที่แล้วอย่างน้อย 6 เดือน”
“ทีนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีจากหลายบริษัท ใช่ไหมคะในการฉีดปีต่อๆมาไม่จำเป็นต้องเป็นของบริษัทเดิมก็ได้ ร่างกายเราไม่รู้หรอกค่ะว่าปีที่แล้วฉีดยี่ห้ออะไร ฉีดเข้าไปก็สร้างภูมิได้เหมือนกัน”
“❤️ผมพอจะเข้าใจล่ะครับ ถ้าเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละชนิด ด้านผลข้างเคียงที่รุนแรงมีโอกาสพบได้ไม่ต่างกัน และประสิทธิภาพป้องกันการป่วยรุนแรงก็ไม่ต่างกัน ที่ต่างกันตอนนี้ คือช่วงจังหวะเวลาที่เราจะได้วัคซีน ถ้าตัวไหนได้ฉีดเร็วที่สุดก็ไปฉีดไว้ก่อน”❤️
1
“ถูกต้องค่ะ! แต่ถ้ายังไม่ถูกใจ ก็ไปฉีดซ้ำอีกทีเมื่อวัคซีนที่ถูกใจมาแล้วก็ได้ค่ะ “
บทความโดย พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
อ้างอิง
สรุปรายงานจาก MMWR (Motality and Morbidity Weekly Report )ของ CDC อเมริกาเมื่อ 15 Jan 2021
Anaphylaxis เป็นปฏิกริยาการแพ้อย่างรุนแรงที่อาจอันตรายถึงชีวิต แต่จะเกิดได้น้อยมากหลังการฉีดวัคซีน
ในระหว่างวันที่ 14-23 Dec 2020 มีการติดตามรายงานโดย Vaccine Adverse Event Reporting System พบว่ามี 21 รายที่มีอาการแพ้รุนแรงชนิด anaphylaxis หลังการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech COVID 19 เข็มแรกจำนวน 1,893,360 (11.1 cases per million doses); 71% ของเคสพบภายใน 15 นาทีหลังฉีดวัคซีน
ข้อมูลจากรายงานนี้นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร?
สถานที่ฉีดวัคซีน COVID 19 ควรทำตามคำแนะนำของ CDC คือ มีการคัดกรองผู้ที่มีข้อห้ามฉีด และข้อควรระวัง และ ต้องมียาที่จะจัดการกับภาวะ anaphylaxis ได้ และให้สังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน หากเกิดอาการแพ้รุนแรงต้องรักษาอย่างทันท่วงทีด้วย การฉีดยา epinephrine
3.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา