20 พ.ค. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
‘ค่าใช้จ่าย’ กับ ‘การลงทุน’ ต่างกันอย่างไร?
สำหรับผม ความจำเป็นต้องซื้อหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านเสมอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มข้อมูลในหัว ก็มีปัญหาของมัน เพราะหนังสือภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ที่ส่งมาจำหน่ายในบ้านเรามีราคาสูง เล่มที่ราคาต่ำที่สุดหนึ่งเล่มสามารถซื้อหนังสือภาษาไทยได้ถึงสองสามเล่ม
3
หลายครั้งเมื่อดูราคาปกแล้ว ก็ต้องคิดใหม่ ชั่งน้ำหนักว่าความรู้ที่อาจจะได้นั้นคุ้มกับเงินที่จะต้องควักออกไปหรือไม่
สำหรับคนที่เงินในกระเป๋าจำกัด การตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างไม่ง่ายเหมือนคนคาบช้อนเงินช้อนทอง
1
บางคนอยากเรียนทำอาหาร แต่เมื่อเห็นค่าเรียนคอร์สละสองพันสามพัน ก็ต้องคิดใหม่ ลงท้ายก็อาจไม่เรียน
การซื้อคอมพิวเตอร์, เครื่องพิมพ์, เครื่องถ่ายเอกสาร, การเรียนพิเศษ, การเรียนภาษา, การเรียนต่อต่างประเทศ, การเข้าคอร์สอบรมพิเศษต่าง ๆ ฯลฯ เหล่านี้ก็มักอยู่ในกรอบการคิดแบบ “มันคุ้มหรือเปล่า?” เพราะเงินทองไม่ได้หาง่าย ๆ เหมือนพวกคอร์รัปชั่น ทุจริตเชิงนโยบายทีละหลายพันล้านบาท แต่หากใช้เงินเป็นตัวตั้งในทุกเรื่อง เราอาจจำกัดโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิต เพราะไม่ใช่การควักเงินทุกครั้งหมายถึง ‘การเสีย’
หลักคิดที่ง่ายที่สุดก็คือ แยกแยะให้ออกว่าการควักเงินนั้นเป็น ‘ค่าใช้จ่าย’ หรือ ‘การลงทุน’
1
หลายคนมักไม่แยกแยะอย่างนี้ ทำให้ประหยัดในเรื่องที่ไม่ควรประหยัด และไม่ประหยัดในเรื่องที่ควรประหยัด
2
ค่าใช้จ่ายกับการลงทุนฟังดูคล้ายกัน ทำให้กระเป๋าเงินเบาเหมือนกัน แต่มันต่างกัน
ค่าใช้จ่าย (expense) คือการควักเงินออกไปแล้ว ไม่มี ‘กำไร’ กลับคืนมา เช่น ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาสนองตัณหาตัวเอง, กินอาหารเย็นในภัตตาคารหรู, ซื้อขนม, ซื้อนิยายมาอ่านเพื่อความบันเทิง, ซื้อหนังสือภาพดารามาดูเพื่อสนองความพึงใจ, ค่าหมอ, ค่าจัดฟัน ฯลฯ เหล่านี้เป็นเงินที่เราจ่ายไปเพื่อดำรงชีวิต อาจได้ความสุข ความสบายใจมาด้วย แต่ในตอนจบ ไม่มีกำไร
2
ส่วนการลงทุน (investment) คือการควักเงินออกไปแล้ว มี ‘กำไร’ กลับคืนมา อาจเร็วหรือช้า แต่มันจะกลับคืนมา เช่น ซื้อหนังสือแฟชั่นฝรั่งเล่มละสามพันบาทมาเป็นไอเดียการออกแบบเสื้อผ้าไปขาย ได้เงินสามแสน เป็นต้น
1
บางครั้งเรื่องเดียวกันก็อาจเข้าข่ายได้ทั้งค่าใช้จ่ายและการลงทุน เช่น ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาสนองตัณหาตัวเอง ขณะเดียวกันก็สวมไปถ่ายแบบ ได้เงินค่าจ้าง, ซื้อนิยายมาอ่านเพื่อความบันเทิงแต่ก็สามารถใช้เป็นบทเรียนเพื่อเขียนหนังสือไปขายได้ด้วย, จัดฟันให้สวยเพื่อรักษาสุขภาพฟัน ขณะเดียวกันก็ไปถ่ายแบบ เป็นต้น
2
กำไรในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทองเสมอไป
1
มองแบบนี้ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เสียเวลาคิดน้อยลง
1
องค์กรไม่น้อยไม่ยอมเสียเงินเพิ่มความรู้และไอเดียแก่พนักงาน เพราะมองว่ามันเป็นค่าใช้จ่าย แต่หากมองกว้างกว่านั้น ก็อาจสามารถแปลงค่าใช้จ่ายเป็นการลงทุน
ผลตอบแทนบางอย่างมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นการศึกษานอกเวลา หรือการเรียนที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับอาชีพของเรา การศึกษาจากตำราแพง ๆ หากสามารถใช้มันได้ตลอดชีวิต หรือมีประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิต หรือทำให้ฉลาดขึ้น ก็ถือว่าเป็นการลงทุน ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย
1
บ่อยครั้งกว่าการลงทุนจะได้ผลกลับคืนมานั้นต้องใช้เวลายาวนานมาก เช่นการอ่านหนังสือบางเล่ม ผ่านไปแล้วแล้วยี่สิบปีจึงมีประโยชน์ หลังจาก ‘เคี้ยวเอื้อง’ ละเอียดแล้ว
3
การเดินทางท่องเที่ยว อาจเป็นการพักผ่อนหย่อนใจชั่วคราว แต่ก็อาจสะสมเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เข้าใจโลกและงานดีขึ้น หรืออาจจะนำไปเขียนหนังสือขายได้
1
การเรียนภาษาต่างประเทศอาจทำให้ได้ช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ ในประเทศใหม่ ๆ! ฯลฯ
นักแสดงชาวออสเตรเลีย ฮิว แจ็กแมน เคยเล่าว่า “พ่อของผมเป็นนักอุดมคติตัวจริง เขาสนใจแต่เรื่องการเรียนรู้ ถ้าผมขอรองเท้าไนกีสักคู่ คำตอบคือ ‘ไม่’ แต่ถ้าผมขอแซกโซโฟนสักตัว ผมจะได้มันในวันรุ่งขึ้นเลย แต่ผมก็ต้องเทกคอร์สเรียนการเป่า อะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาหรือการเรียนรู้ พ่อผมจะไม่ประหยัดเลย”
4
ในวัยเด็ก ครอบครัวผมมีเงินไม่มากนัก แต่พ่อของผมก็ไม่เคยประหยัดในเรื่องการเรียนพิเศษภาษาจีนและอังกฤษของลูก ๆ เลย แม้ต้องทำงานหนักขึ้นก็ตาม (แต่แน่นอน แซกโซโฟนราคาสูงเกินไป!)
ในเรื่องเลี้ยงลูก พ่อแม่ที่ฉลาดจึงควรรู้จักแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘ค่าใช้จ่าย’ กับ ‘การลงทุน’
.
ในการใช้ชีวิต หลายเรื่องก็อาจใช้หลักแยกแยะ ‘ค่าใช้จ่าย’ หรือ ‘การลงทุน’ เช่น การคบเพื่อน แม้ไม่ต้องเสียเงิน แต่หากคบเพื่อนแย่ มันอาจก่อให้เกิด ‘ค่าใช้จ่าย’ ในอนาคต
3
การหาแฟนสวยแต่ทำงานไม่เป็น ก็เข้าข่าย ‘ค่าใช้จ่าย’ ตรงกันข้าม หากคู่ครองสามารถช่วยการงานการบ้านการเรือนด้วย ก็เข้าข่าย ‘การลงทุน’
2
อืม! ฟังดูแข็งกระด้างชอบกล! แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า หลัก ‘ค่าใช้จ่าย’ หรือ ‘การลงทุน’ สอนเราให้มองชีวิตแบบกำไร-ขาดทุน มันเป็นเพียงเครื่องมือช่วยวิเคราะห์เรื่องราวและเหตุการณ์ เพื่อทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
2
ท้ายที่สุดแล้ว การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ไม่ว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่นการซื้อสินค้าหนึ่งชิ้น ไปจนถึงการเลือกคู่ครอง ก็อาจใช้ความพอใจมาตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล หรือต้องประหยัดเสมอไป
1
บ่อยครั้งผมเลือกซื้อสินค้าที่หน้าตา ทั้งที่บางครั้งมีราคาสูงกว่า และไม่ค่อยมีประโยชน์
ผมรู้จักผู้ชายคนหนึ่งที่บอกว่า เขายอมแต่งงานกับผู้หญิงสวยแต่โง่ดีกว่าแต่งงานกับผู้หญิงไม่สวยแต่เก่ง เขาใช้ ‘ความพอใจ’ เป็นมาตรในการดำเนินชีวิต “ก็พอใจอะ!”
2
จะใช้หลัก ‘ค่าใช้จ่าย-การลงทุน’ หรือ ‘ความพอใจ’ ในการดำเนินชีวิต ก็แล้วแต่ทางเลือกของแต่ละคน เราคงไม่อาจใช้หลักใดหลักหนึ่งในทุก ๆ กรณี
2
แต่ขอเตือนไว้ก่อน ในเรื่องการเลือกคู่ครอง อย่าลืมคำโบราณที่ว่า หาเมียหรือสามีผิด คิดจนตัวตาย!
4
.
จากหนังสือ #ท้องฟ้าไม่ปิดทุกวัน / https://bit.ly/3en45dZ
โฆษณา