20 พ.ค. 2021 เวลา 04:17 • การศึกษา
ทำไม??? ไม่ค่อยมีใครรู้จักภาษาเจ๊ะเห
ทำไม??? ไม่ค่อยมีใครรู้จักภาษาเจ๊ะเห
เพื่อนๆ หลายๆ เพิ่งจะรู้จักภาษาเจ๊ะเหจากการได้รับชมคลิปเจ๊ะเหหวานเจี๊ยบ ในช่องตาปีนิ จึงมีคำถามกลับมาว่า ทำไมภาษาเจ๊ะเหจึงเป็นภาษาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักอย่างแพร่หลาย วันนี้ตูนจะมาวิเคราะห์ให้ฟังกันค่ะ
ไป๋หมี แปลว่า ไปไหม  // ไป๋เร แปลว่า ไปเที่ยว
ข้อที่ 1 เป็นเพราะว่ามีผู้ใช้ภาษาเจ๊ะเหในจำนวนที่น้อยมากๆ ถึงมากที่สุด ต่างจากภาษาเหนือ ภาษาอีสาน หรือภาษาถิ่นใต้จังหวัดอื่น ที่มีความแมสมากกว่า เพราะมีประชากรที่พูดภาษานี้เยอะมาก ผู้ที่ใช้ภาษาเจ๊ะเหส่วนใหญ่อยู่ที่นราธิวาส และบางอำเภอของปัตตานี รวมไปถึงบางส่วนในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งประชากรในจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ พูดภาษามลายูหรือภาษายาวี เหลืออีกแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เป็นชาวพุทธ และในจำนวนชาวพุทธทั้งหมด ก็ไม่ได้พูดภาษาเจ๊ะเหทั้งหมด แต่ใช้ภาษาบางกอก หรือภาษากรุงเทพ เมื่อมีจำนวนผู้ใช้ภาษานี้น้อยมากๆ จึงไม่แปลกเลย ที่คนทั่วไปในภาคอื่นๆ จะไม่รู้จักค่ะ แม้แต่คนภาคใต้ด้วยกันเอง บางคนก็ยังคิดว่าคนบ้านเราพูดใต้เหมือนเค้าเลยค่ะ พอรู้ว่าพูดภาษาจ๊ะเห เลยงงกันไปตามๆ กัน
ข้อที่ 2 คนที่พูดภาษาเจ๊ะเหบ้านเรา เมื่อเดินทางไปเรียนหรือไปทำงานที่กรุงเทพ จะไม่ค่อยเจอคนที่พูดภาษาเดียวกัน จึงไม่ค่อยได้ใช้ภาษานี้ในการสื่อสารสักเท่าไหร่ และรู้สึกอายถ้าต้องพูดออกไปเพราะกลัวว่าคนอื่นจะขำ และมองว่าสำเนียงตลกๆ เหน่อๆ เนิบๆ ช้าๆ ก็เลย...ไม่พูดซะดีกว่า
ข้อที่ 3 คนที่พูดภาษาเจ๊ะเห จะไม่มีสำเนียงที่เป็นทองแดง หรือห้วนๆ เหมือนกับภาษาถิ่นใต้ในจังหวัดอื่นๆ พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่พูดเจ๊ะเห เมื่อพูดภาษากลาง จะชัดมาก ไม่มีความทองแดง เพราะฉะนั้น คนทั่วไปจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเราพูดภาษาเจ๊ะเห และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภูมิลำเนามาจากภาคใต้ ซึ่งตูนมีประสบการณ์เรื่องนี้มาตลอดค่ะ เวลาเจอคนที่เพิ่งรู้จัก เค้าจะคิดว่าเราเป็นคนภาคกลาง พอบอกว่าเป็นคนใต้ เค้าก็บอกว่า จริงหรอ ทำไมสำเนียงไม่ทองแดงเลย เราก็ต้องอธิบายว่าบ้านเราพูดภาษาเจ๊ะเห นะ
สะพานคอยร้อยปี อีกหนึ่งแลนด์มาร์คของชาวเจ๊ะเห ตากใบ นราธิวาส
ข้อที่ 4 คนที่พูดภาษาเจ๊ะเห เมื่อไปแต่งงานหรือย้ายถิ่นฐานสร้างครอบครัวกับคนต่างถิ่น ก็จะไม่ค่อยได้ใช้ภาษานี้ เพราะคนอื่นจะฟังไม่เข้าใจ พอมีลูก ก็ไม่ได้พูดภาษานี้กับลูก แต่ถ้าเป็นคนบ้านเราที่แต่งงานกับคนบ้านเรา ก็จะสอนให้ลูกพูดภาษาเจ๊ะเห เอาเข้าจริงๆ ทุกวันนี้ เด็กๆ รุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยพูดภาษาเจ๊ะเหค่ะ เพราะพ่อแม่มักจะพูดภาษากลางกับลูกก่อน เนื่องจากเป็นภาษาหลัก ตูนถือว่าตัวเองโชคดี ที่คุณพ่อคุณแม่ คุณยาย และญาติพี่น้อง พูดภาษาเจ๊ะเห สื่อสารด้วยภาษาเจ๊ะเหกับเรามาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ตูนสามารถพูดภาษาเจ๊ะเหได้ แม้ว่าการที่ตูนขึ้นมาเรียนและทำงานอยู่ที่กรุงเทพ อาจจะไม่ค่อยได้ใช้ภาษานี้คุยกับใคร แต่เมื่อใดก็ตามที่ตูนโทรศัพท์คุยกับแม่ ก็ยังใช้ภาษาเจ๊ะเหอยู่ค่ะ
ข้อที่ 5 คนส่วนใหญ่รู้จักภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ จากการฟังเพลงภาษาถิ่น ที่มีความแมสหรือเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในขณะที่นักร้องซึ่งร้องเพลงภาษาเจ๊ะเหมีเพียงวงเดียว นั่นก็คือวงคนบ้านเรา จึงมีคนจำนวนไม่มากที่จะรู้จักภาษาเจ๊ะเห ทั้งที่วงคนบ้านเราได้ผลิตผลงานเพลงภาษาเจ๊ะเหมาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้นตูนก็ถือโอกาสนี้ฝากเพื่อนๆ ติดตามช่องเจ๊ะเหมิวสิค ของวงคนบ้านเรา เพื่อติดตามฟังเพลงพราะๆ ในภาษาเจ๊ะเหกันนะคะ https://www.youtube.com/user/chaychonnabot
วงคนบ้านเรา สรรค์สร้างบทเพลงอนุรักษ์สืบสานภาษาเจ๊ะเห
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่า ทำไมภาษาเจ๊ะเหจึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ทั้งที่ภาษาเจ๊ะเหได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จากกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2556 และก็เป็นเหตุผลว่าทำไมตูนจึงลุกขึ้นมาตั้งหน้าตั้งตาทำคลิปเพื่อสืบสานอนุรักษ์และเผยแพร่สำเนียงภาษาเจ๊ะเห ให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกัน ตูนรู้สึกดีใจที่อย่างน้อย fc ผู้ที่ได้มาชมคลิปของตูน ผู้ที่ได้มาติดตามอ่านใน BD ได้รู้ว่ามีภาษาเจ๊ะเหอยู่ในประเทศไทย ขอบคุณมากๆ ค่ะ
รับชมคลิปเต็มๆ ในยูทูบ ได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://www.youtube.com/watch?v=TKfcnCv5Iwk&t=60s
โฆษณา