20 พ.ค. 2021 เวลา 04:59 • ปรัชญา
EP115 : วันนี้ใคร่ครวญ “ ธ ร ร ม ที่ ค ว ร ใ ห้ เ จ ริ ญ ขึ้ น “
“ ธ ร ร ม “ คืออะไร
คำว่า”ธรรม” มีความหมายกว้างมาก ในความหมายหนึ่งเป็นสัทธรรม เป็นธรรมชาติ เป็นหลักความจริงในระบบสังขตธาตุ หรือระบบเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปไม่มีความเที่ยงแท้ ธรรมดี ธรรมไม่ดี ก็มีหมด ในเรื่องของธรรมเพื่อการปฏิบัติพระพุทธเจ้าสอนบทธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ดังนี้
“ ท สุ ต ต ร สู ต ร “ คืออะไร
ครั้งหนึ่งในพุทธกาล พระตถาคตและพระภิกษุ ๕๐๐ รูปประทับอยู่ที่สระโปสถขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจัมปา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนธรรมอันยิ่งสิบ เพื่อเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัด ให้เราหลุดพ้นจากทุกข์เป็นอมตะนิพพานได้ สัทธรรมในทสุตตรสูตรมีสิบหมวด รวมทั้งสิ้น 550 ธรรม
“ ธ ร ร ม สิ บ ป ร ะ เ ภ ท “
ได้แก่
1 ธรรมที่มีอุปการะมาก
2 ธรรมที่ควรให้เจริญขึ้น
3 ธรรมที่ควรกำหนดรู้
4 ธรรมที่ควรละ
5 ธรรมที่เป็นไปในทางเสื่อม
6 ธรรมที่เป็นไปในทางวิเศษ
7 ธรรมที่แทงตลอดได้ยาก
8 ธรรมที่ควรให้บังเกิดขึ้น
9 ธรรมที่ควรรู้เป็นอย่างยิ่ง
10 ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง
วันนี้ใคร่ครวญ “ ธ ร ร ม ที่ ค ว ร ใ ห้ เ จ ริ ญ ขึ้ น “
“ ก า ย ค ต า ส ติ “๑
พระตถาคตสอนว่าสิ่งที่ควรทำเป็นนิจ เป็นนิสัยมากขึ้นเรื่อยๆคือการมีสติอยู่กับความจริงในปัจจุบัน การตั้งสติอยู่กับกาย ใช้กายเป็นเสาหลักเช่น สติอยู่กับลมหายใจที่เข้าออก รักษาจิตไม่ส่งออกไปตาม ตาหูจมูกลิ้นกายใจ
“ ส ม ถ ะ แ ล ะ วิ ปั ส ส น า “ ๒
กล่าวโดยละเอียด ทางพ้นทุกข์คือ มรรคแปด ย่อเหลือสามคือ ศิล สมาธิ ปัญญา ย่อเหลือสองคือ สมถะ วิปัสสนา ย่อเพียงหนึ่งคือ อานาปานสติ หรือ กายคตาสติ
“ ส ม า ธิ “ ๓
- สมาธิที่มีวิตกมีวิจาร, คือสมาธิที่มีการครุ่นคิด และนำมาใคร่ครวญ
- สมาธิที่ไม่มีวิตกแต่มีวิจาร, คือสมาธิที่ไม่มีการครุ่นคิด แต่มีการใคร่ครวญ
- สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร คือสมาธิที่ไม่มีการครุ่นคิด และไม่มีการนำมาใคร่ครวญ
(วิตกคือ ความตริตรึก ครุ่นคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง วิจารคือการนำความคิดมาใคร่ครวญ)
“ ส ติ ปั ฏ ฐ า น ๔ “
- ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกาย,เวทนา,จิต,ธรรม เนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสียได้ (การเห็นกายในกายเช่น เห็นลมหายใจ, เห็นเวทนาในเวทนาเช่น เห็นความรู้สึกเป็นสุข เห็นจิตในจิต เห็นจิตสังขาร จิตปรุงแต่ง เห็นธรรม เช่นการเกิดดับของธรรมธาตุเหล่านั้น
“ สั ม ม า ส ม า ธิ “ ๕
- อันประกอบด้วยองค์ ๕ ได้แก่ปีติแผ่ไป ๑ สุขแผ่ไป ๑ การกำหนดใจผู้อื่นแผ่ไป ๑แสงสว่างแผ่ไป ๑ นิมิตเป็นเครื่องพิจารณา ๑”
“ อ นุ ส ส ติ ฐ า น ะ ๖ “
- ได้แก่ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ๑ ระลึกถึงคุณพระธรรม ๑ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ๑ ระลึกถึงศีล ๑ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค ๑ ระลึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา ๑ ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ควรให้เจริญ ฯ
“ โ พ ช ฌ ง ค์ ๗ “
- คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัม โพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
“ อ ริ ย ม ร ร ค มี อ ง ค์ แ ป ด “ ๘
- คือ ความเห็นชอบ (คือเห็นอริยสัจ๔)
- ความดำริชอบ (คิดกุศล คือไม่เป็นกามฉันทะ ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน)
- เจรจาชอบ (ไม่พูดหยาบ โกหก สอดเสียด)
- การงานชอบ (ไม่กระทำทางกาย ฆ่า ลักขโมย ผิดกาม )
- เลี้ยงชีพชอบ (เลี้ยงชีพสุจริต ไม่โกง,หลอกลวง,ประจบสอพลอ,บังคับขู่เข็ญ)
- พยายามชอบ (มีความเพียรที่จะมีสติ)
- ระลึกชอบ (มีสติ)
- ตั้งใจชอบ (มีสมาธิ)
“ ค ว า ม เ พี ย ร เ พื่ อ ค ว า ม บ ริ สุ ท ธิ์ “ ๙
- คือ ความหมดจดแห่งศีล ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจดแห่งจิต ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจดแห่งทิฐิ ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้น ความสงสัย ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจด แห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจดแห่งญาณทัสนะ ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจดแห่งปัญญา ชื่อว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
- ความหมดจดแห่งวิมุตติ ชื่อว่า เป็นองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์
“ แ ด น แ ห่ ง ก สิ ณ ๑ ๐ “
- คือ ผู้หนึ่งย่อมจำปฐวีกสิณได้ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างเบื้องขวาง ตามลำดับหาประมาณมิได้ (จิตเพ่งดิน)
- ผู้หนึ่งย่อมจำอาโปกสิณได้ ... (จิตเพ่งน้ำ)
- ผู้หนึ่งย่อมจำเตโชกสิณได้ ... (จิตเพ่งอยู่กับไฟ)
- ผู้หนึ่งย่อมจำวาโยกสิณได้ ... (จิตเพ่งอยู่กับลม)
- ผู้หนึ่งย่อมจำนีลกสิณได้... (จิตเพ่งใบไม้เขียว)
- ผู้หนึ่งย่อมจำปีตกสิณได้ ... (จิตเพ่งสีเหลือง)
- ผู้หนึ่งย่อมจำโลหิตกสิณได้ ... (จิตเพ่งสีแดง)
- ผู้หนึ่งย่อมจำโอทาตกสิณได้ ... (จิตเพ่งสีขาว)
- ผู้หนึ่งย่อมจำอากาสกสิณได้… (จิตเพ่งอากาศ )
- ผู้หนึ่งย่อมจำวิญญาณกสิณได้ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างเบื้องขวาง ตามลำดับหาประมาณมิได้ (จิตเพ่งการรู้แจ้ง)
โฆษณา