20 พ.ค. 2021 เวลา 06:36 • หนังสือ
หลายๆ คนคงมีความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาไทยว่าอยากให้เป็นเหมือนกับการศึกษาในฟินแลนด์บ้างจัง อาจเพราะได้เห็นข้อดีต่างๆ ผ่านสื่อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลดเวลาเรียนลง แทบไม่ให้การบ้านเลย อัตราเงินเดือนครูที่สูง และอื่นๆ
วันนี้ผมจะมาเล่าโดยหยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจบางส่วนจากหนังสือที่มีชื่อว่า "สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์" หรือ "Teach Like Finland" ผ่านมุมมองของคุณทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ (Timothy D. Walker) คุณครูชาวอเมริกันที่ได้ย้ายไปสอนในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์
ปกหน้าหนังสือ สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ Teach Like Finland
หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือนเป็นบันทึกที่คุณทิโมธีเขียนไว้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างตอนที่เขาได้สอนที่โรงเรียนในอเมริกาและการสอนที่โรงเรียนในฟินแลนด์ เรียบเรียงเป็นภาษาพูดทำให้อ่านง่าย เพลิดเพลิน เป็นเหมือนบันทึกประสบการณ์ช่วงเวลาการเป็นครูตั้งแต่ช่วงเริ่มไปถึงช่วงที่เขาปรับตัวได้ในหลายๆ อย่างแล้ว
เรื่องราวถูกแบ่งเป็นบทและหัวข้อย่อยที่จะเล่าถึงพัฒนาการและสิ่งที่เขาสังเกตได้ เพื่อนำมาแบ่งปันเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับอาชีพอื่นนอกเหนือจากวิชาชีพครูได้ด้วย เช่น สุขภาวะ การมีความสุขได้ในการทำงาน การเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดในการทำงาน การร่วมงานกับคนอื่น การสร้างความเบิกบานใจ ฯลฯ
ในด้านบทบาทการเป็นครูมืออาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เขามักจะทำงานเรียกได้ว่าล่วงเวลา เอางานกลับไปทำต่อที่บ้าน คิดเตรียมการเรื่องต่างๆ ในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุด ไม่ค่อยหาเวลาเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับเพื่อนครูที่ร่วมงานด้วยกัน ในช่วงแรกเขารู้สึกประหลาดใจมากถึงรูปแบบการทำงานของครูที่โรงเรียนแห่งนี้ในฟินแลนด์ (คำว่า "ประหลาดใจ" จะปรากฎอยู่เรื่อยๆ ในหลากบริบทภายในหนังสือเล่มนี้) เขาต้องรู้จักหาเวลาพูดคุยเล่นกับเพื่อนร่วมงานบ้าง สัก 2-3 นาทีก็ยังดี ช่วงวันหยุดก็ใช้เวลาในการพักให้เต็มที่บ้าง อย่าเอางานมาสุมมากเกินไปจน burn out (ภาวะหมดไฟ)
ในการดูแลเด็กนักเรียนชั้นประถม 6 ของเขาก็มีเรื่องให้เขาต้องเกิดการปรับตัวมากมาย เรื่องที่ตราตรึงผมมากที่สุดดูจะเป็นเรื่องการมีเวลาพัก 15 นาทีในทุกชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนได้พัก และครูเองก็ได้พักด้วยเช่นกัน มันทำให้เด็กๆ มีแรงใจในการกลับมาเรียนกันต่อ ช่วงแรกคุณทิโมธีเองก็ไม่เห็นด้วยนัก แต่เมื่อลองนำไปปฏิบัติก็พบว่ามันเกิดผลดีหลายอย่างขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาได้เอาเวลาไปมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนครู เล่นกับเด็กๆ จิบกาแฟ
ต้องบอกเลยว่าความรับผิดชอบในตัวเด็กที่ฟินแลนด์นี้แตกต่างจากที่เราคนไทยหลายคน รวมถึงคุณทิโมธีเองเคยรู้จักเป็นอย่างมาก เด็กส่วนมากเดินทางกลับบ้านเองตั้งแต่ประถมหรืออาจจะตั้งแต่อนุบาล ระยะทางที่เป็นหน่วยกิโลเมตรนั้นไม่ใช่ใกล้ๆ เลย บางคนต้องใช้รถไฟหรือรถประจำทางในการเดินทาง เด็กเหล่านี้สามารถดูแลตัวเองได้ดีมาก ทำให้การเป็นครูที่ฟินแลนด์ของคุณทิโมธีนั้นต้องฝึกการไว้ใจในตัวเด็กๆ กล้าที่จะมอบหมายให้พวกเขาจัดการงานที่ได้รับมอบหมายกันเองได้
ช่วงแรกเขาเกิดอคติมากมายกับพฤติกรรมที่ตอนนั้นเขามองว่าประหลาด แต่เขาก็ได้เปิดใจและลองรับฟังความคิดเห็นทั้งจากเพื่อนครู ผอ. ครูพี่เลี้ยง และนักเรียนของเขาเอง ซึ่งถ้าคุณได้อ่านเองก็จะมีความรู้สึก "เอ๊ะ" และสนใจว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นบ้างก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าการกระทำเหล่านั้นก็มีที่มาที่ไปและเกิดผลลัพธ์ออกมาในแบบที่เราก็ "อ๋อ" ได้เหมือนกัน จนบางครั้งก็รู้สึกว่า "มันน่าจะยากนะถ้าจะเอามาปรับใช้ เพราะชินกับแบบที่เป็นอยู่ไปแล้วนี่สิ"
ทั้งนี้ เนื้อหาภายในเล่มและตัวผมเองไม่ได้บอกว่าวิธีการสอนที่ฟินแลนด์เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด บางอย่างอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกันไปตามบริบทของประเทศนั้นๆ และในบางเรื่อง คุณทิโมธีเองก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับการทำงานสไตล์ฟินแลนด์ จึงต้องปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตของเขาเอง
ผู้เขียน ทิโมธี ดี. วอล์กเกอร์ (Timothy D. Walker)
ผู้แปล คุณ ทิพย์นภา หวนสุริยา
สำนักพิมพ์ Bookscape
ปกหลังหนังสือ สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ Teach Like Finland
โฆษณา