Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง
•
ติดตาม
20 พ.ค. 2021 เวลา 07:47 • การศึกษา
พัฒนาการของข้อสัญญาเกี่ยวกับแบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน 📝📌📖
แบบสัญญาจ้างก่อสร้างภาครัฐอันที่จริงแล้วมีประวัติมายาวนานมาก ถ้าเริ่มตั้งแต่สมัยแรก ๆ ก็ปี 2498 ในสมัยที่เป็นระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ้าง พ.ศ.2498 แล้วก็มีการแก้ไขไล่เรียงมาเรื่อยจนเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ใช้กันยาวนานกว่า 20 ปี ก็มีตัวอย่างหรือแบบสัญญาก่อสร้างให้ภาครัฐได้ใช้ จนกระทั่งในปัจจุบันเป็นพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และมีประกาศคณะกรรมการนโยบายกำหนดแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง (ประวัติการเกิดขึ้นของกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนี้หากแอดมินมีเวลาจะได้มาเล่าให้ฟังต่อไป)
กลับมาที่เรื่องที่จะบอกเล่าในวันนี้คือ สัญญาตั้งแต่อดีต (ในอดีตใช้คำว่าหนังสือสัญญาจ้าง) จนถึงปัจจุบันมีลักษณะการส่งมอบโครงการที่เหมือนกันทั้งหมด คือรูปแบบ ออกแบบ-ประมูล-ก่อสร้าง (Design-Bid-Build (DBB)) ซึ่งในกฎหมายหรือในสัญญาเองก็ระบุว่าผู้ว่าจ้างต้องมีแบบก่อสร้างเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะได้ผู้รับจ้างก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตามแบบที่มีนั้นก็เป็นไปได้อยู่เสมอว่าจะเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรืออุปสรรคใด ๆ ขึ้นได้ ข้อสัญญาในแบบสัญญาทุกฉบับจึงได้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ดังนี้
ในหนังสือสัญญาจ้าง ปี 2498 ข้อสัญญากำหนดว่า
“ข้อ 7. ก่อนหรือระหว่างทําการอยู่ ถ้าปรากฏว่ารูปแบบหรือรายการละเอียดต่อท้ายสัญญานี้คลาดเคลื่อนผิดไปอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะปฏิบัติตามคําวินิจฉัยของกรรมการตรวจการจ้างหรือผู้แทน และถ้าคําวินิจฉัยนี้ถูกต้องกับรายการอันใดอันหนึ่งที่ปรากฏในรูปแบบแล้ว ผู้รับจ้างต้องถือว่าเป็นอันเด็ดขาด ถ้าอันหนึ่งอันใดมิได้ระบุไว้ในรายการละเอียด แต่เป็นการจําเป็นต้องทําเพื่อให้งานแล้วเสร็จบริบูรณ์ถูกต้องตามรูปแบบผู้รับจ้างสัญญาว่าจะจัดทําการนั้น ๆ ให้โดยไม่คิดเอาเงินเพิ่มเติมอีกแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
ต่อมา ช่วงปี 2535 ข้อสัญญากำหนดว่า
“ข้อ 14. แบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน
ผู้รับจ้างจะต้องรับรองว่า ได้ตรวจสอบ และทําความเข้าใจ ในรูปแบบ รูปรายการละเอียด โดยถี่ถ้วนแล้ว หากปรากฏว่าแบบรูปและรายการละเอียดนั้น ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน ไปจากหลักการทาง วิศวกรรมหรือทางเทคนิค ผู้รับจ้างตกลงที่จะปฏิบัติตามคําวินิจฉัยของกรรมการตรวจการจ้าง หรือผู้ ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษา ที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้งเพื่อให้งานแล้วเสร็จบริบูรณ์ โดยจะคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มขึ้นจากผู้ว่าจ้างไม่ได้”
และในปัจจุบัน หลังปี 2560 เป็นต้นมาข้อสัญญากำหนดว่า
“ข้อ 14 แบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน
ผู้รับจ้างรับรองว่าได้ตรวจสอบและทําความเข้าใจในแบบรูปและรายการละเอียดโดยถี่ถ้วนแล้ว หากปรากฏว่าแบบรูปและรายการละเอียดนั้นผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการทางวิศวกรรมหรือทางเทคนิค ผู้รับจ้างตกลงที่จะปฏิบัติตามคําวินิจฉัยของผู้ว่าจ้าง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้ง เพื่อให้งานแล้วเสร็จบริบูรณ์ คําวินิจฉัยดังกล่าว ให้ถือเป็นที่สุด โดยผู้รับจ้างจะคิดค่าจ้าง ค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้นจากผู้ว่าจ้าง หรือขอขยายอายุสัญญาไม่ได้”
จากข้อความของสัญญาตั้งแต่อดีตในปัจจุบันนั้นพอสรุปได้ว่าผู้รับจ้างมีภาระเกี่ยวกับแบบรูปและรายการละเอียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2498 งานที่ผู้รับจ้างจะคิดเอาเพิ่มเติมไม่ได้ก็มีเฉพาะแต่การจำเป็น แต่ในช่วงปี 2535 งานทุกชนิดผู้รับจ้างต้องถือตามคำวินิจฉัยของผู้ว่าจ้างและไม่อาจคิดเอาเงินเพิ่มได้เช่นกัน แต่ภาระของผู้รับจ้างนี้ในปี 2560 ก็ยิ่งกำหนดให้หนักขึ้นไปอีก โดยผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องแม้การขยายระยะเวลา (extension of time)
หลักการของสัญญาจากก่อสร้างในปัจจุบันที่กำหนดว่าไม่อาจเรียกเอาเงินหรือเวลาเพิ่มได้นัค่อนข้างจะไม่สอดคล้องกับสัญญามาตรฐานของต่างประเทศหรือหลักการสากล เนื่องจากลักษณะสัญญาที่เป็น DBB ผู้ว่าจ้างต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงหลัก (Employer Risk)ในแบบที่ผู้ว่าจ้างต้องจัดหามา ผู้ว่าจ้างจึงควรที่จะชดใช้ทั้งเงินและเวลา ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ในสัญญามาตรฐานของต่างประเทศ
ยิ่งกว่านั้นข้อสัญญาที่ผลักภาระไปให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับความเสี่ยง แม้อาจเรียกได้ว่าเป็นความผิดของผู้ว่าจ้างหรือเป็นเหตุการณ์ที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ (เหตุในการขอขยายเวลาตามสัญญาและตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง คือ เหตุสุดวิสัย ความผิดของผู้ว่าจ้างหรือเป็นเหตุการณ์ที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ) ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขัดกันอยู่ในตัวเอง โดยผู้ว่าจ้างคาดหมายให้ผู้รับจ้างต้องรู้ทุกอย่าง และรู้แม้กระทั่งสิ่งที่ผู้ว่าจ้างหรือผู้ออกแบบยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำ (แบบผิดพลาดคลาดเคลื่อน)
คำถามจึงมีต่อไปว่าข้อสัญญาที่ถ่ายโอนความเสี่ยงหรือผลักภาระบางอย่างของคู่สัญญาจำนวนมาเช่นนี้จะเป็นประโยชน์จริง ๆ กับภาครัฐมากแค่ไหน ผู้รับจ้างจะต้องบวกค่าความเสี่ยงเพื่อทำงานและได้ของที่มีมูลค่าสูงกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ หรือหากได้ผู้รับจ้างที่ไม่ได้เผื่อค่าความเสี่ยงนี้ ถ้าหากงานไม่มีอุปสรรคผู้รับจ้างก็โชคดี แต่ถ้ามีอุปสรรคถ้าผู้รับจ้างที่มีทุนก็เรียกว่าขาดทุน แต่ถ้าไม่มีทุน โครงการสุดท้ายแล้วก็อาจจะไม่แล้วเสร็จหรือประสบความล้มเหลวได้ อย่างนี้จะเรียกว่าประโยชน์สาธารณะบรรลุผลได้หรือไม่เป็นเรื่องที่น่าคิดกันต่อไป 🧐🧐
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย