21 พ.ค. 2021 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
สตาร์ตอัป ด้านการศึกษา ใหญ่สุดในโลก คือใคร?
เทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทในทุกด้านของชีวิต ซึ่งรวมถึงเรื่องการศึกษา
ที่ได้รวมกันกลายมาเป็น “EdTech” หรือธุรกิจแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์
เพื่อทำให้การเรียนรู้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน
และในปัจจุบัน บริษัทสตาร์ตอัปด้าน EdTech ที่มูลค่ามากที่สุดในโลก มีมูลค่ากว่า 4.8 แสนล้านบาท
แล้วบริษัทนี้ มีความเป็นมาอย่างไร และมีอะไรเป็นจุดเด่น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าพูดถึงแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์
หลายคนคงคุ้นเคยกับ Coursera, edX และ Udemy จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นแหล่งรวมคอร์สออนไลน์ จากหลากหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำ และหลากหลายแขนงวิชาให้เลือกเรียน เมื่อเรียนจบก็จะได้ใบ Certificate ที่นำไปใช้ประกอบการสมัครงานได้อีกด้วย
อีกรูปแบบที่ได้รับความนิยม ก็คือแพลตฟอร์มสอนภาษา
อย่างเช่น Duolingo ที่จะเน้นการเรียนภาษาในรูปแบบที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนในห้องเรียน
3
จะเห็นได้ว่าจุดเด่นร่วมของแพลตฟอร์มเหล่านี้
ก็คือ การเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะเดิมให้เก่งขึ้น
รวมถึงเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะใหม่ และใช้ต่อยอดในการทำงาน
1
แต่รู้หรือไม่ว่า..
สตาร์ตอัปด้าน EdTech ที่มูลค่ามากที่สุดในโลก 3 อันดับแรกนั้น
ไม่ได้มีจุดเด่นในด้านที่ว่านี้ แต่เป็นแพลตฟอร์ม “กวดวิชา” ออนไลน์
ที่ถูกก่อตั้งขึ้นจากชาวเอเชียทั้งหมด
ปัจจุบัน สตาร์ตอัป EdTech ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
มีชื่อว่า “Yuanfudao” อ่านว่า หยวนฝู่เต่า ที่แปลว่าติวเตอร์
1
Yuanfudao เริ่มก่อตั้ง ในปี 2012 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
โดยคุณ Yong Li, Xin Li และ Shuai Ke
โดย Yuanfudao เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเรียนกวดวิชาทางออนไลน์
ทั้งแบบสอนสด รวมถึงแบบที่ดูย้อนหลังได้
ซึ่งหลักสูตรก็ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยม
โดยมีติวเตอร์ที่ร่วมสอนกว่า 30,000 คน
และสำหรับผู้ปกครอง ก็สามารถเช็กการเรียนของลูกผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
1
ที่สำคัญก็คือ Yuanfudao ได้ทำฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อสอบเก่าไว้มากมาย
และยังมีบริการช่วยตรวจการบ้าน ตรวจโจทย์ที่ฝึกทำ
รวมไปถึงบริการถามตอบแบบออนไลน์
2
และสิ่งที่ Yuanfudao ให้ความสำคัญที่สุด ก็คือการพัฒนา AI
จึงได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยด้าน AI และการทดลองด้านเทคโนโลยี ในปี 2014
ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อย่างเช่น Tsinghua University, Peking University และ Chinese Academy of Sciences
2
โดยมีเป้าหมายเพื่อนำ AI มาใช้ศึกษาว่าเหล่านักเรียนยังมีจุดอ่อนในด้านใดบ้าง
แล้วนำข้อมูลที่ได้ ไปพัฒนาหลักสูตร รวมถึงผลิตภัณฑ์ในด้านอื่น ๆ
เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
จนในปัจจุบัน Yuanfudao มีผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านคนทั่วประเทศจีน
หรือคิดเป็นกว่า 28% เมื่อเทียบกับประชากรจีน 1,440 ล้านคน
1
ซึ่งที่ผ่านมา Yuanfudao ได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 128,000 ล้านบาท
โดยมี Tencent เป็นผู้ลงทุนหลัก และมีมูลค่าบริษัทในปัจจุบันที่ 480,000 ล้านบาท
1
ในขณะเดียวกัน คู่แข่งในจีนที่สำคัญของ Yuanfudao ก็คือ Zuoyebang
ซึ่งก็เป็น EdTech ที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลก และมี Baidu เป็นผู้ลงทุนหลัก
1
แล้วถ้าถามว่าอันดับที่ 2 คือใคร ?
สตาร์ตอัปแห่งนั้นก็คือ Byju’s ซึ่งเป็น EdTech กวดวิชาออนไลน์ที่ใหญ่สุดในประเทศอินเดีย และเคยมีมูลค่ามากที่สุดในโลกมาโดยตลอด ก่อนที่จะโดน Yuanfudao แซงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของ EdTech ในประเทศจีน
ก็ได้ทำให้ทั้ง Yuanfudao และ Zuoyebang กลายมาเป็นคู่แข่ง
คนสำคัญของสถาบันกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง TAL Education
ที่แต่เดิมสอนผ่านทางออฟไลน์และได้เพิ่มช่องออนไลน์ขึ้นในภายหลัง
แต่ยังคงมีรายได้หลักมาจากการสอนที่สถาบันกวดวิชา
และผลกระทบจากโควิด 19 ก็กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ธุรกิจเรียนออนไลน์เติบโตได้เร็วขึ้น
โดยสัดส่วนการเรียนออนไลน์ในจีน เมื่อเทียบกับการเรียนจากทุกช่องทาง
ปรับเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2019 มาเป็น 35% ในปี 2020
และคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนถึง 55% ในปี 2022
หากมองถึงโอกาสในอนาคต ธุรกิจกวดวิชาในจีนคงยังเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง
เพราะด้วยระบบการศึกษาในแถบเอเชีย โดยเฉพาะในจีน
ที่ยังคงให้ความสำคัญกับการสอบและคะแนนสอบ
ซึ่งนอกจากนักเรียน ที่ต้องยอมสมัครเรียนเพื่อแข่งขันกันเองแล้ว
ผู้ปกครองก็ยังคงเต็มใจสนับสนุน แม้ราคาค่าเรียนจะสูงแค่ไหนก็ตาม
และด้วยโอกาสการเติบโตที่น่าสนใจนี้ จึงดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนจาก Venture Capital
ที่ลงทุนใน EdTech มีสัดส่วนเงินลงทุนในจีนมากที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015
โดยในปี 2020 เงินลงทุนจาก Venture Capital ใน EdTech
คิดเป็นสัดส่วนในประเทศจีนกว่า 63%
ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่ 15% และอินเดีย 14%
1
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง Yuanfudao และ Zuoyebang
ต่างก็หนีไม่พ้นกับการถูกรัฐบาลจีนปรับ บริษัทละ 12 ล้านบาท
ด้วยเหตุผลในเรื่องการโฆษณาเกินจริงและชี้นำในทางที่ผิด
และรัฐบาลยังต้องการคุมเข้มมากขึ้น กับธุรกิจการเรียนการสอนนอกโรงเรียน
แต่อย่างไรก็ตาม เงินค่าปรับนี้ คิดเป็นเพียง 0.04% ของมูลค่าแต่ละบริษัท เท่านั้น
ถึงตรงนี้ การเติบโตของสตาร์ตอัปกวดวิชา
ในประเทศจีนก็ถือว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจที่เป็นตัวอย่างให้ประเทศไทย
เพราะจริง ๆ แล้ว ระบบการศึกษาในประเทศไทย
ก็แทบไม่ต่างจากประเทศจีนที่เน้นการกวดวิชา
หรือที่เรียกอีกอย่างว่าเรียนเพื่อไปทำข้อสอบ..
โฆษณา