20 พ.ค. 2021 เวลา 22:03 • ท่องเที่ยว
Mystical MrauK U … มรัคอู อัญมณีแห่งกาลเวลา
หลายครั้ง หลายคราที่แรงบันดาลใจในการก้าวเท้าออกเดินทางของฉันเกิด จากการอยากจะไปเห็นสถานที่ที่เกิดจากจิตวิญญาณ และความศรัทธาที่สูงส่งของผู้คน
ถึงเส้นทางในการเดินทางจะไม่ราบเรียบ แต่คนรักประวัติศาสตร์และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนอย่างฉัน ก็ยังเห็นว่าการเดินทางแบบนี้เปี่ยมเสน่ห์ .. ที่ได้เห็นวิถีชีวิตตลอดเส้นทาง รวมถึงภูมิประเทศที่แตกต่าง ไหลช้าๆผ่านสายตาตลอดเส้นทาง
ฉันเดินทางไปเยือนศิลานครของเขมรที่ปราสาทนครวัดมาแล้วหลายครั้ง … ฉันตื่นตลึงกับความใหญ่โต โอ่อ่า ที่ผู้คนขอมโบราณเห่อเหิมทะเยอทะยานแสดงความจงรักภักดีต่อเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ ด้วยการสร้างปราสาทศิลาให้เป็นทิพย์วิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ (กษัตริย์ขอมโบราณ) อีกทั้งจำนวนของโบราณสถานที่มีมากมาย จนทำให้คิดว่า เขมรน่าจะเป็นดินแดนที่มีศาสนสถานรวมกันมากที่สุดในดินแดนแถบนี้ของโลก …
หากแต่เมื่อฉันได้ก้าวเท้าเดินทางมายังดินแดนอีกแห่งหนึ่ง ที่ซึ่งผู้คนมีศรัทธามุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ในการจะสร้างบุญกุศลด้วยการก่อเจดีย์ขึ้นมากมาย จนแทบจะนับไม่ถ้วน เพื่อพุทธศาสนาที่พวกเขานับถือบูชา … ฉันจึงได้เปลี่ยนแนวคิด และได้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างศรัทธาของผู้คน 2 กลุ่ม
ปราสาทขอมมีขนาดใหญ่โตกว่าเจดีย์ของพม่า หากแต่ถ้านับจำนวน ต้องยกให้ป่าเจดีย์ที่พุกามและมรัคอูแน่นอน
หากจะมองดูด้านแรงจูงใจที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งก่อสร้างที่น่าอัศจรรย์ทางศาสนาทั้งสองแห่ง คือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ในช่วงเวลาที่ต่างกันไม่มากนัก ก็สามารถพูดได้ว่า ทั้งขอมและพม่ามีความทะเยอทะยานไม่แพ้กัน … แต่ด้วยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างมากมาย
ขอมสร้างนครวัด ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็น“ทิพยวิมาน” ของเทพเจ้าในโลกมนุษย์ แต่การสร้างเทวะสถานขนาดใหญ่ด้วยศิลาล้วนๆ ก็เป็นเหตุให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกณฑ์แรงงานข้าทาสจำนวนมหาศาลมาทำงาน กว่าปราสาทแต่ละหลังจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลานานหลายปี จนบางกรณีกษัตริย์ที่ให้สร้างสิ้นพระชนม์ไปก่อนที่ปราสาทจะสร้างเสร็จก็มี
ส่วนการสร้างเจดีย์ในพม่านั้นเกิดจากศรัทธาสามัญและบริสุทธิ์ของชาวพม่าโบราณ … เพื่อเป็นทางข้ามสำหรับไปสู่แม่น้ำแห่งสังสารวัฏ เพื่อผู้คนทั้งมวลจะเร่งข้ามไป กระทั่งบรรลุถึงนิพพาน … จึงไม่จำเป็นต้องกะเกณฑ์แรงงานมาสร้าง (ยกเว้นวัดและเจดีย์น้อยแห่ง) จึงมีขนาดไม่ใหญ่โตเท่ากับมหาปราสาทในเขมร แต่มีจำนวนมากมายอยู่ทั่วไปทุกมุมเมือง
ชาวพม่า ถือว่าเจดีย์คือตัวแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และที่สำคัญกษัตริย์ และชาวพม่าสร้างเจดีย์ด้วยเจตนาให้เสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยของพระองค์ หรือในชั่วชีวิตของตนเอง และต้องการเห็นเจดีย์ที่ตัวเองให้สร้าง
ประวัติศาสตร์ของการสร้างวัด สร้างเจดีย์ สะท้อนถึงรากลึกในเรื่องพุทธธรรม และความเกี่ยวพันทางด้านศิลปะวัฒนธรรมระหว่างพม่า มอญ และอินเดีย …
ชาวพม่าให้ความเคารพโบราณสถานมากมายและเคร่งครัด และหวงแหนไม่ยอมให้ใครมาทำลาย แม้จะเป็นวัดร้างก็ไม่มีใครไปล่วงเกิน ไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดเสียรพระพุทธรูป หรือขโมยวัตถุศักดิ์สิทธิ์ รูปเคารพ … ความรู้สึกของชาวพม่าต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงช่วยให้วัดและเจดีย์มากมายมีชีวิตรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ที่พม่าได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเจดีย์มากที่สุดในโลก ในทุกหัวเมืองทั่วประเทศ … อันเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างหนึ่งว่า คนพม่าอยากให้มีศาสนาอยู่ใกล้ตัว เพื่อจะได้สวดมนต์ทุกเวลาที่ต้องการ และไม่จำเป็นว่าจะต้องสวดมนต์หลายๆคนพร้อมๆกัน เราจะเห็นคนพม่าทั้งคนหนุ่มสาวไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ แวะเวียนกันมาสวดมนต์ที่หน้าเจดีย์ โดยไม่สนใจว่าจะมีใครเดินผ่านไปมาหรือไม่
ผู้สร้างเจดีย์ จะได้รับความเคารพนับถือและได้รับเกียรติ์ในสังคม คำว่า “เจดีย์” และคำว่า “เกียรติยศ” ตรงกับภาษาพม่าคำเดียวกัน คือ “พญา” การจะได้บุญหรือเกียรติยศนั้น จะต้องเป็นการ “สร้างเจดีย์” ไม่ใช่ การซ่อมหรือบูรณะเจดีย์ …
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นเจดีย์มากมายอยู่ในพม่า … แม้แต่หลายๆอาณาจักรจะล่มสลายไปนานแล้ว
ศาสนสถานในพุกาม ที่เรามักจะเรียกรวมๆกันว่า “เจดีย์” หรือ Pagoda ในภาษาอังกฤษนั้น อันที่จริงจำแนกได้ ดังนี้
1.สถูป (Stupa) ในภาษาพม่าเรียกว่า Zedi เป็นเจดีย์ก่ออิฐตัน มีบันไดให้เดินขึ้นชั้นบนได้ แต่เข้าไปข้างในเจดีย์ไม่ได้ ผู้คนสามารถกราบไหว้บูชาอยู่รอบๆเท่านั้น รูปทรงเจดีย์มีทั้งแบบทรงระฆังคว่ำ และทรงกรวย
2.วัด (Temple) ในภาษาพม่าเรียก Zedi Phya เป็นศาสนสถานแบบ “เจดีย์วิหาร” คือ มีสถานะเป็นทั้งเจดีย์สำหรับกราบไหว้บูชา และวิหารสำหรับทำพิธีทางศาสนา คือเป็นวัดด้วย ภายในจึงมีห้องคูหา สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปให้คนเข้าไปกราบไหว้บูชา นั่งสมาธิ หรือทำพิธีกรรมต่างๆ เจดีย์วิหารจึงมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา
(ข้อมูลจาก หนังสือ “ท่องเจดีย์ไพรใน พุกามประเทศ โดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล”)
โบราณสถานและวัดต่างๆในพม่า ถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในจิตวิญญาณของชาวพม่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้าข้าแผ่นดิน หรือประชาชน ทุกคนจึงแสดงความเคารพโดยการถอดรองเท้า
ดังนั้นสิ่งที่ผู้มาเยือนทุกคนควรรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเหมือนๆกัน คือ ต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า (Foot wear) ไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นกลางวัน กลางคืน แดดออก ฝนตกหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตาม ด้วยคนพม่าถือว่าโบราณสถานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องให้ความเคารพนับถืออย่างสูง ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวธรรมดาๆ … ชาวพม่าพยายามให้ผู้มาเยือนรู้สึกว่าตนเป็นนักจาริกแสวงบุญ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาโพสท่าถ่ายรูปกันอย่างเดียว
หากใครลืมถอดถุงเท้ารองเท้า จะได้รับการเตือนทันที คนพม่าไม่ได้เอาใจนักท่องเที่ยวมากมาย แต่พวกเขาจะมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า ที่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนต้องทำตามกฎที่วางไว้ ห้ามลบหลู่หรือล่วงเกินเด็ดขาด จึงไม่เคยมีข่าวที่นักท่องเที่ยวแสดงกิริยาไม่เคารพพระพุทธรูปหรือสถานที่ให้ได้ยิน
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา