21 พ.ค. 2021 เวลา 23:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ลุ้นชะตากรรมเศรษฐกิจไทยใกล้อับปาง! หมดโอกาสซื้อเวลาเร่งสร้างความมั่นใจก่อนสาย!
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ เวลานี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ซึ่งจากการนำเสนอของ “นิตยสาร The Economist” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้นำเสนอบทความที่น่าสนใจในมูลค่าทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2563-2564 ที่สูญเสียไปจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คิดเป็นเงินมากถึง 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งในปี 2563 คำนวณจากการลดลงของจีดีพีโลกในอัตรา 6.6% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในกรณีไม่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โลกควรจะเติบโตได้ 2.5% จึงคิดออกมาเป็นความสูญเสียเท่ากับ 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ (GDP โลกมีมูลค่าประมาณ 86 ล้านล้านดอลลาร์) ส่วนในปี 2564 คาดว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังทำให้ GDPโลกลดลงไปอีก 5.3% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในกรณีปกติ จึงคำนวณความสูญเสียออกมาได้เท่ากับ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์
แค่สองปีเสียหายไป 10.3 ล้านล้านดอลลาร์!!!!
ขณะที่ประเทศไทยมุมมองของ “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” จากเวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ได้แสดงความเห็นต่อความเสียหายเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ว่า ที่เห็นได้ชัด คือความซบเซาของธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมาก มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นมากมาย การเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบรรเทาปัญหาได้เพียงบางส่วน ซึ่งจากการใช้วิธีลองประเมินเศรษฐกิจไทย โดยใช้วิธีการคำนวณที่คล้ายกับของสหรัฐ GDP ไทยในปี 2563 ลดลงจริง 6.1% ในขณะที่เคยคาดกันไว้ก่อนโควิดว่าจะโต 2.8% ส่วน GDP ปี 2564 นี้คงโตจริงประมาณ 1.5% เทียบกับอัตราการเติบโตที่ 3% หากไม่มีปัญหาโควิด สมมติให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากพิษโควิดและขยายตัวได้ในอัตราปีละ 4% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป เทียบกับเศรษฐกิจที่ไม่มีปัญหาโควิดและเติบโตในอัตราปีละ 3% เราก็จะยังเห็น GDP ที่ต่ำกว่ากรณีที่ไม่มีโควิดตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า ความแตกต่างของ GDP ในสองกรณีมีมูลค่าระหว่างปีละ 1.2 - 2.1 ล้านล้านบาท โดยรวมทั้ง 10 ปี ความเสียหายทางเศรษฐกิจในรูปของจีดีพีที่ขาดหายไปคิดเป็นเงินประมาณ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 (16.876 ล้านล้านบาท)
1
เป็นการคาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวมาก!!!
1
และล่าสุดมีการตอกย้ำความน่ากลัวของตัวเลขทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จาก “นายดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บอกถึงตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลง 2.6% หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี ทำให้ทั้งปี สศช.ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% เหลือเพียงขยายตัว 1.5-2.5% หรือเฉลี่ยขยายตัว 2% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆจากการลดลง 6.1% ในปี 2563
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ความไม่แน่นอนจากสายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความล่าช้าในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 5 แสนราย มีรายได้ 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากในประเทศต้นทางบางประเทศยังมีมาตรการไม่ให้เดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น
เช่นเดียวกับ “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GDP ของประเทศไทย จะมีตัวเลขอยู่ที่ติดลบ - 5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล เพราะมันแปลว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ในตอนนี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มนิ่ง และคาดว่าตัวเลข GDP ไม่น่าจะปรับลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งก็หมายความว่าเป็นทิศทางที่ไม่เลวร้ายกว่าเดิมเว้นแต่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นแบบที่เหนือความคาดหมาย
เมื่อวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอันดับแรก และหนักที่สุดก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาเราทำทุกอย่างเพื่อซัพพอร์ตนักท่องเที่ยวจีนมาโดยตลอด เมื่อนักท่องเที่ยวจีนหายไป เราก็ได้รับผลกระทบกันค่อนข้างหนัก และมันก็จะลามไปในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ยิ่งประเทศเราประกาศหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองด้วย ส่งผลกระทบให้ทุกกลุ่มธุรกิจก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
นอกจากนี้การบริโภคภายในประเทศ ถ้าพูดถึงในแง่เศรษฐกิจ ตัวเลข GDP ของกรุงเทพฯ ปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 40% ของประเทศ ซึ่งก็แปลว่าการสั่งหยุดกิจกรรมแค่ภายในกรุงเทพฯ ทั้งงานทั้งคนก็หายไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง ตัวเลขคนทำงานในระบบมีตัวเลขอยู่ที่ 10 กว่าล้านคน และแน่นอนว่าคนทำงานที่อยู่นอกระบบ มีจำนวนที่มากกว่านั้น ถ้าเราปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คนก็ตกงาน ไม่มีกำลังซื้อ แน่นอนว่าการบริโภคมันก็จะหายไป
“การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เหมือนกับการปิดปาก ไม่ให้เราได้กินอาหาร แต่ถ้าปิดนานเกินไป เราอาจจะไม่อยากกินแล้ว อาจจะเกิดความเคยชิน ซึ่งมันก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว”
ดังนั้นจากนี้ไป “รัฐบาลลุงตู่” จะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปอย่างไร !?!
การระดมฉีดวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้!!
แต่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นเดียวกัน!!
จะทำอะไรก็รีบตัดสินใจ!! “เพราะ...เวลาไม่คอยใคร”
โฆษณา