22 พ.ค. 2021 เวลา 15:01 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
15 ค่ำ เดือน 11 : การหาความจริงของหลายจุดมุ่งหมาย
เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนย่อมมีชุดความจริงที่ยึดเป็นของตัวเองในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งชุดความจริงเหล่านี้นี่แหละที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจรวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ตัวเองมีต่อปรากฎการณ์นั้น ๆ
หากนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกว่าตัวเองมีชุดความจริงที่ยึดถือกับสถานการณ์โรคระบาดในเวลานี้ไว้ว่าอย่างไรนั้น เราเองก็จะตัดสินใจและประพฤติไปตามชุดความจริงที่เรายึดถือนั่นเอง เช่น เรายึดถือชุดความจริงที่ว่าไวรัสสามารถแพร่กระจายในอากาศก็จะส่งผลให้เรานั้นหลีกเลี่ยงไม่ไปในที่แออัดผู้คนหรือสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
อ่ะ ทีนี้เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า เนื่องจากเป็นบทความแรกก็ขอเปิดตัวมันด้วยหนังซะเลยเพื่อให้เนื้อหามันดูเบา ๆ หน่อย (แต่เขียนย๊ากยาก) สำหรับหนังที่เกี่ยวกับเรื่องราวของ “ความจริง” นั้น เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของหนังเรื่อง ราโชมอน (1950) ที่มีบุคคลพูดถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการไต่สวนซึ่งจะเห็นว่าโจร เมียของซามูไรที่ถูกฆ่าตาย รวมถึงวิญญาณของซามูไร (ผ่านคนทรงฯ) ก็พูดถึงเหตุการณ์นี้แตกต่างกัน นัยหนึ่งได้ทำให้มาสู่ข้อคิดที่ว่าความจริงแท้คืออะไร เราจะเข้าถึงความจริงแท้ได้อย่างไรซึ่งทุกคนสามารถไปหาดูกันได้
สำหรับหนังของบ้านเราที่ออกมาในแนวนี้และน่าสนใจไม่แพ้กันนั่นก็คือเรื่อง 15 ค่ําเดือน 11 (2002) ซึ่งวลี “เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” ก็มาจากหนังเรื่องนี้นี่แหละ โดยผิวเผินแล้ว15 ค่ําเดือน 11 ได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการสร้างบั้งไฟพญานาคที่มาจาก “ฝีมือมนุษย์”ของพระทางฝั่งลาว โดยหนังก็ชี้ให้เห็นถึงวิธีการต่าง ๆ ในการสร้างบั้งไฟรวมถึงการนำเอาลูกบั้งไฟไปวางไว้ใต้แม่น้ำโขงเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาเป็นลูกไฟลอยขึ้นเหนือน้ำโขงในคืนวันออกพรรษา แต่จุดสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจในสายตาของผู้เขียนก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับมุมมอง “ความจริง”และหนังยังทำให้เราตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า “เอ๊ะ ?” การที่เรารู้ถึงความจริงแท้บางครั้งมันดีหรือไม่ หรือจริง ๆ แล้วการเข้าถึงความจริงแท้ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป ซึ่งหนังได้สะท้อนมุมมองนี้ผ่าน 3 มุมมองด้วยกัน
หลวงพ่อโล่ห์ ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อองค์พญานาค
มุมมองแรกคือมุมมองของ “พระ” ใช่ครับ..พระที่สร้างบั้งไฟพญานาคขึ้นมานั่นแหละ โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญหรือจะกล่าวว่าเป็นอุดมการณ์ของการสร้างบั้งไฟขึ้น ก็เพื่อให้ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของผู้คนไม่เสื่อมคลายลงในยุคสมัยที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้า โดย “หลวงพ่อ” ได้อธิบายสิ่งนี้ต่อพระเอกว่าเรา “เฮ็ดให้เขาได้สมหวัง เฮ็ดให้เขาศรัทธา เฮ็ดให้เขาเห็นในสิ่งที่เฮาเฮ็ด เขาเองสิดีใจปานได้เห็นพระพุทธเจ้าเสียอีก” ดังนั้นการที่หลวงพ่อจำเป็นต้องกระทำการอันเป็นสิ่งที่หลอกลวงนี้จึงถือว่าเป็นการไม่ผิดบาปและทำให้ศรัทธาของผู้คนยังดำเนินต่อไปอย่างแข็งแกร่ง อย่างน้อยที่สุดคือเชื่อว่าเมื่อผู้คนยังศรัทธาในพระศาสนาก็จะละเว้นการทำบาป เนื่องความจริงที่หลวงพ่อได้ยึดถือนั้นคือการเชื่อว่า “พญานาค” มีอยู่จริงและตนเองเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้มารับใช้ต่อภารกิจทางศาสนา ซึ่งน่าสนใจว่าหากมุมมองนี้ถูกหักล้างได้สำเร็จจาก “ความจริง” อีกชุดหนึ่งจะเป็นอย่างไร โดยพระเอกก็ได้ถามคำถามต่อหลวงพ่อด้วยว่า “ถ้าบ่มีบั้งไฟพญานาคนี่ คนเขาสิไหว้พระอยู่บ่หลวงพ่อ แล้วถ้ามีบั้งไฟพญานาคหลาย ๆ เต็มแม่น้ำ คนเขาสิไหว้พระหลายขึ้นอยู่บ่ ?”
หมอนรติ ผู้เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคคือปรากฎการณ์ธรรมชาติ
มุมมองถัดมาเป็นมุมมองของหมอนรติซึ่งเป็นแฟนหนุ่มของพี่สาวพระเอก โดยหมอนรติได้อธิบายการเกิดขึ้นของบั้งไฟพญานาคว่าเป็นการเกิดขึ้นจากธรรมชาติ เนื่องจากจากแรงดึงดูดของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ที่ดูดเอาก๊าซมีเทนใต้แม่น้ำโขงขึ้นมา และการที่บั้งไฟเกิดขึ้นเฉพาะหนองคายนั้นก็เพราะว่าแม่น้ำโขงบริเวณหนองคายมีลักษณะเป็นดินทรายจึงทำให้ก๊าซผุดขึ้นมาได้ ซึ่งหมอนรติยังอธิบายต่อไปด้วยว่าปัจจัยสำคัญของการเกิดบั้งไฟพญานาค แม่น้ำในบริเวณนั้นจะต้องไม่มีการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำ ขุดลอกคูคลองหรือดูดทรายจากก้นแม่น้ำและสำคัญที่สุดน้ำในบริเวณนั้นจะต้องไม่เน่า กล่าวได้ว่าความจริง (ทางวิทยาศาสตร์) ที่หมอนรติได้ยึดถือและอธิบายนั้นได้นำไปสู่การคร่ำครวญของนายทุนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของโรงงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำในบริเวณโรงงานนั้นกลับไม่เกิดบั้งไฟพญานาคขึ้น ด้วยความจริงชุดนี้จึงทำให้นายทุนท้องถิ่นถูกตราหน้าว่าเป็นกาลกินีของอำเภอไปโดยปริยาย
ดร.สุรพล ผู้เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคมาจากฝีมือของมนุษย์
มุมมองสุดท้ายเป็นมุมมองของ ดร.สุรพล ผู้เชื่อว่าการเกิดขึ้นของบั้งไฟพญานาคนั้นเป็นการกระทำจากฝีมือมนุษย์ตาดำ ๆ นี่แหละ และด้วยคำอธิบายดังกล่าวนี้เองจึงทำให้นายทุนท้องถิ่นได้ดั้นด้นมาหา ดร.สุรพล เพื่อสร้างบั้งไฟพญานาคให้กับตนโดยหวังว่าข้อครหาต่อโรงงานของตนนั้นจะจบสิ้นลงไป แต่ท้ายที่สุด ดร.สุรพล ก็ไม่สามารถสร้างบั้งไฟพญานาคขึ้นมาได้ก็ทำให้ความหวังของนายทุนท้องถิ่นดับสิ้นลงไปด้วย ซึ่งคำกล่าวทิ้งท้ายของ ดร.สุรพล นับว่าน่าสนใจอย่างมากว่า “หรือธรรมชาติกำลังจะบอกอะไรเรา”
จากสามชุดความจริงนี้จะเห็นได้ว่าได้มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป หากชุดความจริงหนึ่งถูกหักล้างลงไปแล้วก็น่าคิดต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้หนังจะบอกเราอยู่แล้วว่าบั้งไฟพญานาคเป็นฝีมือของมนุษย์ แต่หากชุดความจริงข้อนี้ได้ไปหักล้างชุดความจริงของหมอนรติได้สำเร็จ ก็น่าคิดว่าสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจะอยู่ในสภาวะอย่างไร ซึ่งในหนังยังได้ชี้ให้เห็นภาพของการที่บั้งไฟพญานาคได้เป็นงานยิ่งใหญ่ประจำจังหวัดและมีหน่วยงานราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการที่เศรษฐกิจในท้องถิ่นก็ได้รับการกระตุ้นจากชุดความจริงเดียวกันกับหลวงพ่อ แม้จะเป็นสิ่งที่หลอกลวงแต่ก็ทำให้ผู้คนยังอยู่ในหลักศาสนา เกิดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาลในท้องถิ่น แต่เราจะอยู่กับกับการหลอกลวงจริง ๆ หรือ ?
ดังนั้นมันจึงวนกลับมาสู่คำถามโลกแตกและน่าปวดหัวว่าเราสามารถเข้าถึงความจริงอันสูงสุดได้ไหม จะเข้าถึงมันอย่างไร และที่สำคัญเรามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร จึงขอให้บทความแรกนี้ได้คืนการตัดสินใจให้กับผู้อ่านละกันนะครับ
รูปภาพจาก: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
โฆษณา