23 พ.ค. 2021 เวลา 02:30 • ประวัติศาสตร์
ในปัจจุบันเราได้รับรู้กันทั่วไปแล้วว่าโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีสาเหตุมาจาก “เชื้อโรค” อันเป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นที่มาอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ โดยเชื้อโรคเหล่านี้สามารถสร้างความเจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิตและที่สำคัญมันยังติดต่อไปยังสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้อีกด้วย
แต่เชื่อหรือไม่ว่าความเชื่อของคนสมัยก่อนนั้นกลับมีความเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บมีสาเหตุมาจากสิ่งนี้...
เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวไทยสมัยก่อนนั้นจะสัมพันธ์กับสิ่งที่ลี้ลับเหนือธรรมชาติ บ้างก็เชื่อว่าเกิดมาจากผีบ้าง ซึ่งความคิดนี้ยังได้ปรากฏมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเกิดการระบาดหนักของอหิวาตกโรค (โรคห่า) ในปี พ.ศ. 2363-2364 และก็ด้วยความเชื่อที่ว่าโรคภัยมาจากสิ่งลี้ลับ สิ่งที่ราชสำนักทำได้ในตอนนั้นก็คือการประกอบ “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” โดยให้พระสวดอาฏานาฎิยสูตร และจัดกระบวนแห่พระพุทธรูปขึ้น
นั่นละครับ...ละก็พินาศของจริง !!! โดยภายหลัง รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงเหตุการณ์นี้ว่า “พระราชพิธีนี้ไม่มีประโยชน์อันใด...คนที่เข้ากระบวนแห่แลหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่มาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก” ซึ่งจากการล้มตายดังกล่าวยังนำมาสู่ข่าวลือด้วยว่าการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้เพราะผีมีกำลังมากกว่า
อย่างไรก็ตามแม้ว่าความคิดเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บในสมัยรัชกาลที่ 4 จะสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี ๆ สาง ๆ แต่ในสมัยเดียวกันนี้เอง ความรู้ทางการแพทย์ของสยามก็ได้ยกระดับขึ้นโดยมองว่าต้นเหตุของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บนั้นแท้จริงแล้วมันมีที่มาจาก “อายพิศม์” !!!!
เชื่อว่าหลาย ๆ คนเริ่มอาจจะอ้าปากค้างพร้อมบ่นพึมพรำแล้วว่าอะไรมันคืออายพิศม์ อายพิศม์มันคืออาร๊ายยย !!! ใจเย็น ๆ ครับ เรามาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน โดยความคิดเรื่องอายพิศม์คือความคิดที่ว่าความเจ็บป่วยของมนุษย์มันมีที่มาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น การที่เราอาศัยอยู่ในที่สกปรกโสโครกนั้นจะส่งผลให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยเนื่องจากความโสโครกนั้นมันทำให้เกิดอายพิศม์ขึ้น ย้ำว่าเพราะอายพิศม์นะไม่ใช่มาจากเชื้อโรค
ความคิดนี้ยังได้รับการอธิบายโดยเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยท่านอธิบายการเกิดขึ้นของไข้ป่าตามทฤษฏีอายพิศม์ว่าเป็นเพราะ “อายนั้นก็พลุ่งออกมาถูกคนที่เข้าไปในเวลานั้นก็มักให้ไข้เจ็บ” นอกจากนี้ท่านยังได้อธิบายเหตุผลถึงการที่เวลาเรานอนตากน้ำค้างในเวลากลางคืนแล้วเกิดป่วยไว้ด้วยว่า “เวลากลางคืนอายต้นไม้นั้นออกมาอย่างหนึ่ง อายสมธาตุที่จะขึ้นไปเลี้ยงชีวิตรต้นไม้ให้เจริญนั้นอย่างหนึ่ง ถ้าสิ้นแสงแดดแล้ว อายก็ออกก็ขึ้น ผู้ที่ไปอยู่ใต้ต้นไม้ในเวลากลางคืนจึ่งมักเปนไข้พิศม์”
กล่าวได้ว่าความคิดเรื่อง “อายพิศม์” เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ความคิดนี้ก็ได้จางหายไปแล้วในสายตาของรัฐบาลสยาม โดยได้มีการตระหนักแล้วว่า “เชื้อโรค” คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคภัยขึ้น จึงได้มีการจัดตั้ง “โรงทดลองความศุขของราษฎรปัปลิกเฮลเลเบอเรเตอรี”ขึ้นในปี พ.ศ. 2444 เพื่อคอยตรวจเชื้อแบคทีเรียและการวินิจฉัยโรค
แม้ทั้งหมดนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยของผู้คนสมัยก่อนที่อาจจะให้ภาพความล้าหลังทางการแพทย์ของสังคมในยุคนั้น แต่สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือความรู้ทางการแพทย์ของเรา “มีการพัฒนา” อยู่ตลอดเวลา และก็จะเห็นได้ว่าเรามีศักยภาพในการรับรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอมา
ในสถานการณ์โรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้อยากให้บุคลากรทางการแพทย์จงอย่าหมดกำลังใจ ขอให้ดูตัวอย่างจากบรรพบุรุษของเราแต่ก่อนที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตนเอง และฝ่าฟันเพื่อจัดการกับโรคร้ายอยู่เสมอมา...สู้ ๆ ครับ
รายการอ้างอิง
ทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. หนังสือแสดงกิจจานุกิจ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2545.
ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
โฆษณา