23 พ.ค. 2021 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
ทำดีมากมาย บั้นปลายทำผิด ชีวิตติดลบ
.
.
.
.
.
.
.
.
"คนที่ไม่เคยทำผิดพลาด คือ คนที่ไม่ทำอะไรเลย"
คนเราทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบเสมอต้นเสมอปลายได้ตลอดเวลา บางครั้งเราก็อาจทำผิดพลาดในบางเรื่อง ซึ่งบางคนก็เป็นแค่จังหวะหนึ่งของชีวิต แต่สำหรับบางคนแล้ว ความผิดพลาดคือจุดเปลี่ยนของชีวิต...
...และความผิดพลาดของบางคน ทำให้อนาคตต้องดิ่งลงเหวไปชั่วชีวิต โดนที่ไม่มีอะไรแม้แต่ความดีหนหลังมาลบล้างไปได้...!
ถึงแม้ว่าเราจะทำผิดพลาด ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีรับมือกับมันได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกวิธีรับมือแบบไหน...
บางคนทำผิดพลาด แต่ก็ยังยอมรับและปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
บางคนทำผิดพลาด แต่ก็กล้ายอมรับผิดตามยถากรรม และเก็บไว้เป็นอุทาหรณ์สอนใจแด่คนรุ่นหลัง
บางคนทำผิดพลาด แต่ก็ละอายใจหนักจนไม่อาจยอมรับอะไรในตัวเองได้ เอาแต่ยึดติดอยู่กับความผิดพลาดไปตลอด
บางคนทำผิดพลาด แต่ก็ชอบโยนบาปให้กับคนอื่น โดยไม่มองความผิดของตัวเอง
ดั่งเช่น 3 บุคคลจาก 3 ก๊กที่จะกล่าวมาในตอนนี้...
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
1.อิกิ๋ม
อิกิ๋มเป็นชาวเมืองเจปัก (จูผิง) มณฑลซานตง แต่เดิมเป็นขุนพลในสังกัดของเปาสิ้น ภายหลังเปาสิ้นเสียชีวิตจากการทำศึกปราบโจรโพกผ้าเหลืองที่เซียงจิ๋ว อิกิ๋มจึงได้เข้าสังกัดกับโจโฉเป็นต้นมา และได้ทำความดีความชอบให้กับโจโฉอยู่หลายครั้ง
ครั้งหนึ่ง โจโฉถูกเตียวสิ้วเผาค่ายจนแตกทัพหนีกระเจิง อิกิ๋มยังคงตั้งมั่นสกัดทัพของเตียวสิ้วที่ไล่ตามโจโฉมา และได้เห็นทหารโจโฉในสังกัดของแฮหัวตุ้นบางส่วนออกเที่ยวปล้นชาวบ้าน อิกิ๋มพยายามห้าแต่ไม่มีใครฟัง จึงสั่งการไล่ฆ่าทหารโจโฉที่ออกปล้นชาวบ้านตายเรียบ ทหารบางคนที่หนีรอดไปได้ก็ไปฟ้องโจโฉว่าอิกิ๋มก่อกบฏ แต่อิกิ๋มก็ไม่ใส่ใจ และพยายามขับไล่ทหารเตียวสิ้วออกไปได้ ก่อนจะไปรายงานชี้แจงโจโฉถึงเรื่องทั้งหมด โจโฉจึงซาบซึ้งในความมีวินัยของอิกิ๋ม จึงแต่งตั้งให้เป็น 'ขุนพลอายุยืน' ส่วนแฮหัวตุ้นก็ขอโทษที่คุมทหารไม่ดี โจโฉก็เลยไม่เอาความ
ต่อมา อิกิ๋มก็ทำผลงานเป็นฟันเฟืองให้กับความสำเร็จของโจโฉมาตลอด ทั้งปราบกบฏที่อยู่โดยรอบ ทั้งร่วมมือกับงักจิ้นเผาค่ายเสบียงที่อัวเจ๋า จนทัพ 7 แสนของอ้วนเสี้ยววอดวายในพริบตา ในศึกผาแดง อิกิ๋มก็รับหน้าที่เป็นแม่ทัพเรือคู่กับมอกายแทนชัวมอกับเตียวอุ๋นที่ถูกประหารไป ในศึกม้าเฉียวและหันซุยยึดด่านตงก๋วน อิกิ๋มก็อยู่สนับสนุนโจโฉแนวหลังมาเรื่อยๆ จนโจโฉเอาชนะม้าเฉียวไปได้
ในปี 219 กวนอูยกทัพบุกโจมตีเมืองซงหยงและอ้วนเสีย (ฟ่านเฉิง) ที่มีโจหยินกับหมันทองอยู่รักษาไว้ อิกิ๋มได้รับหน้าที่ร่วมมือกับบังเต๊กยกทัพไปช่วยโจหยิน ในระยะแรกบังเต๊กใกล้รบชนะกวนอูอยู่รอมร่อ แต่อิกิ๋มเกิดความอิจฉาริษยา กลัวว่าบังเต๊กจะได้รับความดีความชอบไปคนเดียว จึงแกล้งตีกลองให้บังเต๊กถอยทัพหลายครั้ง ความซวยของอิกิ๋มก็มาถึง เมื่อตัวเขาดันไปตั้งค่ายที่ทุ่งจันเค้าในช่วงฤดูฝน ทำให้น้ำในแม่น้ำฮั่นซุยเอ่อล้นเข้าท่วมทัพอิกิ๋มวายวอด สุดท้ายอิกิ๋มจึงเสียท่าและยอมแพ้แก่กวนอู ส่วนบังเต๊กเมื่อถูกจับตัวได้ ก็ยังด่าทอกวนอูไม่เลิกจนถูกประหารชีวิต
โจโฉที่ทราบข่าวอิกิ๋มยอมแพ้แก่กวนอู ก็ถอนหายใจว่า "เสียดายที่ตลอด 30 ปี เขาทำความดีความชอบมามากมาย บัดนี้เขากลับยอมแพ้แก่ศัตรูจนสูญสิ้นชื่อเสียงเกียรติยศที่มีมาทั้งหมด ขุนพลผู้นี้ไม่อาจเทียบกับบังเต๊กได้เลย"
ในปีเดียวกัน ลิบองลอบเข้ายึดเกงจิ๋วจากกวนอูไปได้ ทำให้อิกิ๋มได้ไปอยู่กับง่อก๊ก ซุนกวนนับถือให้เกียรติอิกิ๋มอย่างดี แต่อิกิ๋มก็มักจะโดนดูหมิ่นเหยียดหยามจากขุนนางง่อก๊กอยู่เสมอ กระทั่งโจผีลูกชายโจโฉขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งวุยก๊ก ซุนกวนจึงส่งตัวอิกิ๋มกลับคืนแก่วุยก๊ก โจผีก็ให้อภัยโทษแก่อิกิ๋ม และให้ไปคำนับศพของโจโฉที่สุสาน อิกิ๋มเห็นภาพแกะสลักที่ตัวเองยอมก้มหัวแด่กวนอูแบบสิ้นท่า ก็เกิดความละอายใจอย่างหนัก จนกระทั่งตรอมใจตายในที่สุด
.
.
.
.
.
.
2.ลิเงียม
ลิเงียมเป็นชาวเมืองหนานหยาง มีความรู้ความสามารถตั้งแต่เด็ก เมื่อวัยหนุ่ม ลิเงียมได้เข้ามาเป็นขุนนางในสังกัดของเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋ว เล่าเปียวถูกใจในความสามารถของลิเงียม จึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองจื่อกุ้ย พ่วงตำแหน่งทางการทหารในเกงจิ๋วด้วย ต่อมาเล่าเปียวล้มป่วยหนักเสียชีวิตลง และโจโฉยกทัพใหญ่เข้ายึดครองเกงจิ๋ว ลิเงียมจึงพาครอบครัวหนีไปพึ่งพาอาศัยเล่าเจี้ยงเจ้าเมืองเสฉวน ซึ่งเป็นญาติของเล่าเปียวเจ้านายเก่า
ที่เสฉวน ลิเงียมได้แสดงความสามารถจนเป็นที่ประทับใจของคนเสฉวน และยังได้สนิทสนมกับขุนนางในเสฉวนอย่างเตียวสง อุยก๋วน หวดเจ้งและเบ้งตัดเพิ่มขึ้น เล่าเจี้ยงจึงให้ลิเงียมขึ้นเป็นแม่ทัพ ต่อมาเล่าเจี้ยงมีปัญหากับเล่าปี่ที่เป็นญาติจนทำสงครามกัน และได้ให้ลิเงียมนำทัพไปต้านทัพของเล่าปี่ แต่เพราะหวดเจ้งและเบ้งตัดเพื่อนสนิทเป็นไส้ศึก ทำให้ลิเงียมรบแพ้และยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ เล่าปี่เห็นว่าลิเงียมเป็นเพื่อนของเบ้งตัด และประชาชนเสฉวนต่างรักใคร่ลิเงียมมาก เล่าปี่จึงแต่งตั้งให้ลิเงียมเป็นนายพลในสังกัดของตัวเอง เมื่อเล่าปี่ยึดครองเสฉวนแล้ว จึงให้ลิเงียมไปครองเมืองเจี้ยนเหว่ย และยังได้รับตำแหน่งเป็น 'ซิงยี่เจียงจวิน' (นายพลผู้ครองบารมี)
ในปี 218 ในระหว่างที่เล่าปี่ทำศึกกับโจโฉที่ฮันต๋ง ม้ากิ๋นและโกเซ่งได้นำกองกำลังโจร 10,000 คนก่อกบฏขึ้นที่บริเวณจื่อจง ลิเงียมได้นำทหารเพียง 5,000 คนเข้าปราบปรามม้ากิ๋นและโกเซ่งจนราบคาบ ต่อมากลุ่มโจรนำโดยโกเต็งเข้าปิดล้อมเมืองซินเตาไว้ ลิเงียมก็นำทหารเข้าปราบปรามด้วยตนเองได้สำเร็จอีกครั้ง ความชอบในการปราบความวุ่นวายเหล่านี้ ทำให้ลิเงียมได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็น 'ฝูฮั่นเจียงจวิน' (นายพลพิทักษ์ฮั่น) และมีอำนาจดูแลหัวเมืองในเสฉวนโดยรอบ กระทั่งในปี 222 เล่าปี่แพ้ซุนกวนในศึกอิเหลง โจผีฉวยโอกาสส่งเบ้งตัดมาโจมตีเสฉวน ลิเงียมจึงนำทัพไปสกัดทัพของเบ้งตัด เบ้งตัดเห็นว่าลิเงียมเพื่อนเก่ามีสติปัญญามาก จึงถอยทัพกลับไปแบบมือเปล่า
เรียกได้ว่า คนที่มีความรู้ความสามารถ และทำงานไม่เคยมีข้อบกพร่องอย่างสม่ำเสมอของลิเงียม แม้ว่าจะเคยสังกัดเจ้านายที่เป็นคนตระกูลเล่าถึง 3 คน (เล่าเปียว เล่าเจี้ยง เล่าปี่) แต่เขาก็ยังมีอนาคตที่รุ่งเรื่อง ได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานดีๆ มาตลอดทุกครั้งไม่เคยเปลี่ยน....
ต่อมาเล่าปี่เสียชีวิตลง และฝากฝังงานบ้านเมืองให้ขงเบ้งกับลิเงียมดำเนินการต่อไป จากนั้นลิเงียมก็ได้รับแต่งตั้งให้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหาร มีอำนาจควบคุมดูแลทั้งภายนอกและภายในของเมืองหยงอาน ต้นปีถัดมา ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยา “ตู้เซียงโหว” มีอำนาจควบคุมดูแลกิจการทางทหารและภายในราชสำนัก (เชื่อว่าอำนาจของลิเงียมมีเทียบเท่ากับขงเบ้งเลยทีเดียว) ขณะนั้นเบ้งตัดคิดจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก ลิเงียมจึงทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเบ้งตัดกับขงเบ้งได้อย่างดีเยี่ยม (ถึงแม้ว่าภายหลังขงเบ้งจะเสียเกเต๋งเพราะความอวดดีของลูกศิษย์ และเบ้งตัดถูกสุมาอี้สังหารก็ตาม)
ซึ่งนั่นก็ทำให้ลิเงียมเริ่มหลงระเริงในความสำเร็จเก่าๆ และเริ่มใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานสรรหาผลประโยชน์แก่ตัวเองและครอบครัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน ความเห็นแก่ตัวของลิเงียมดังกล่าว ได้กลายเป็นต้นเหตุนำพาความผิดพลาดร้ายแรงที่เขาจะต้องจดจำไปชั่วชีวิต...!!
ในปี 231 ขงเบ้งทำศึกกับวุยก๊กที่เขากิสาน โดยลิเงียมทำหน้าที่เป็นผู้นำส่งเสบียงแนวหลัง แต่เกิดฝนตกหนักจนไม่อาจส่งเสบียงได้ตามนัด ลิเงียมกลัวว่าอาจจะถูกขงเบ้งลงโทษเพราะส่งเสบียงไม่ทัน จึงส่งจดหมายปลอมหลอกขงเบ้งว่าพระเจ้าเล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้ถอนทัพ พอลิเงียมเห็นว่าขงเบ้งถอยทัพมาจริงๆ ก็กลัวเรื่องแตกว่าตัวเองเพ็ดทูลแอบอ้างฮ่องเต้ จึงส่งจดหมายไปให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนเพื่อโบ้ยความผิดว่าขงเบ้งไม่ยอมยกทัพรุกขึ้นเหนือตามคำสั่ง แต่ขงเบ้งก็ส่งเรื่องวีรกรรมของลิเงียมตั้งแต่ต้นจนจบเข้าคณะกรรมการสอบสวนทันที ลิเงียมจึงเข่าทรุดยอมรับสารภาพความผิดทั้งหมดของตนแบบหมดเปลือกต่อหน้าขงเบ้งทั้งน้ำตา
ซึ่งพระเจ้าเล่าเสี้ยนที่ทราบเรื่องที่ลิเงียมแอบอ้างตนก็พิโรธหนักจะสั่งประหารลิเงียม แต่ขงเบ้งชี้แจงว่าลิเงียมเป็นคนโปรดของพระเจ้าเล่าปี่ มีความดีความชอบมาก่อน และยอมรับสารภาพด้วยความสำนึกผิดแล้ว ควรที่จะให้โอกาสมากกว่าจะตำหนิความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของเขา แต่ผิดก็คือผิด ไม่อาจใช้ผลงานแต่หนหลังมาลบล้างได้ ใครทำผิดอะไรก็ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเองโดยไม่มีทางเลี่ยง พระเจ้าเล่าเสี้ยนจึงสั่งปลดลิเงียมออกจากทุกตำแหน่ง แล้วเนรเทศไปอยู่นอกเมืองทันที ถึงแม้ว่าอนาคตหน้าที่การงานของลิเงียมจะจบสิ้นลงไป แต่เหล่าลูกชายของเขาก็ยังมีหน้าที่การงานในจ๊กก๊กเรื่อยมาจนกระทั่งจ๊กก๊กล่มสลาย ก่อนที่ลิเงียมจะตาย ก็สั่งสอนลูกหลานว่าให้เอาเรื่องความผิดพลาดของตัวเองไว้เป็นบทเรียนตัวอย่างอยู่เสมอ จะได้ไม่ต้องซ้ำรอยจนชีวิตตกต่ำเหมือนผู้เป็นพ่อ ขงเบ้งเองก็สั่งสอนเหล่าลูกๆ ของลิเงียมว่า...
"ชีวิตมีขึ้นมีลง สมบูรณ์พูนสุขอาจอยู่ไม่ตลอด ความตกต่ำจะมาเยือนสักวัน ฉะนั้นเวลามีสุข จงอย่าหลงระเริงลืมตน"....
.
.
.
.
.
.
3.จูกัดเก๊ก
จูกัดเก๊กเป็นบุตรชายของจูกัดกิ๋น ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของง่อก๊ก จึงมีฐานะเป็นหลานอาของขงเบ้งด้วย ในวัยเด็ก ซุนกวนชักชวนจูกัดกิ๋นผู้เป็นพ่อมางานเลี้ยง พร้อมทั้งนำลาตัวหนึ่งที่เขียนคำว่า 'จูกัดกิ๋น' เข้ามา เพื่อล้อเลียนที่จูกัดกิ๋นหน้ายาวเหมือนลา จูกัดเก็กที่นั่งอยู่ข้างๆ พ่อก็เอาพู่กันจุ่มสีมาเขียนคำว่า 'ของ' นำหน้าคำว่า 'จูกัดกิ๋น' กลายเป็นคำว่า 'ลาของจูกัดกิ๋น' ซุนกวนเห็นดังนั้นก็ชื่นชมในสติปัญญาของจูกัดเก๊กด้วยความเอ็นดู และได้มอบลาตัวดังกล่าวให้เป็นของรางวัลด้วย ซึ่งในภายหลัง จูกัดเก๊กที่โตขึ้นเป็นหนุ่มก็ได้มีงานการก้าวหน้าภายใต้สังกัดซุนกวนอย่างรวดเร็วจนเป็นหน้าเป็นตาแก่วงศ์ตระกูล จนบ่มเพาะนิสัยหยิ่งผยองความมั่นใจในตัวเองสูงไม่ยอมใครโดยไม่รู้ตัว....
ไม่มีใครในง่อก๊กที่รู้สึกวิตกกังวลกับอนาคตของจูกัดเก๊กเลยสักนิด เพราะเห็นว่าจูกัดเก๊กเส้นใหญ่ เป็นถึงลูกขุนนางใหญ่ และมีซุนกวนคอยอุปถัมภ์อยู่เบื้องหลัง มีเพียงจูกัดกิ๋นผู้เป็นพ่อรู้สึกกังวลในตัวของลูกชายอย่างมาก และได้กล่าวไว้ว่า...
"หากลูกคนนี้มีนิสัยหยิ่งผยองมากเกินไป สักวันหนึ่งวงศ์ตระกูลก็จะต้องพบกับความวิบัติหายนะอย่างแน่นอน"...
ต่อมาเมื่อพระเจ้าซุนกวนสวรรคตลง พระเจ้าซุนเหลียงโอรสองค์เล็กขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก ขณะนั้นทัพวุยก๊กนำโดยสุมาเจียวบุกโจมตีง่อก๊ก จูกัดเก๊กและขุนพลเฒ่าเตงฮองนำทัพไปป้องกันจนทัพของสุมาเจียวพ่ายแพ้ไป แต่ด้วยความกระหายชัยชนะของจูกัดเก๊กที่มีมากเกินไป ทำให้เขาดันทุรังเข้าตีเมืองซินเสียของวุยก๊กโดยไม่ฟังคำทัดทานให้ถอยทัพ สุดท้ายจูกัดเก๊กก็โดนกลลวงจนถูกเกาทัณฑ์ได้รับบาดเจ็บซมซานกลับง่อก๊กด้วยความอับอาย เพราะไม่เคยทำพลาดอะไรมาก่อนในชีวิต แทนที่เขาจะสำนึกตัวได้ เขากลับโยนความผิดให้แม่ทัพนายกองว่าไม่ตั้งใจสู้ศึก จนแม่ทัพหลายคนถูกประหารโดยที่ไม่มีความผิดใดๆ
หลังจากนั้นมา จูกัดเก๊กก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า เขาเริ่มทำการหยาบช้าต่อราชสกุลซุนอยู่เนื่องๆ ปลดขุนนางคนเก่า แล้วนำญาติพี่น้องเข้าดำรงตำแหน่งแทน เพื่อหวังจะควบคุมอำนาจภายในง่อก๊กแต่เพียงผู้เดียว ทำให้จูกัดเก๊กสร้างศัตรูไปทั่วไม่เว้นแม้กระทั่งพระเจ้าซุนเหลียง สุดท้ายจูกัดเก๊กดันไปเหยียบก้างชิ้นใหญ่อย่างซุนจุ๋นเชื้อพระวงศ์เข้า เลยถูกพระเจ้าซุนเหลียงที่ร่วมมือกับซุนจุ๋น ซุนหลิม และเหล่าขุนนางลวงเข้ามาลอบสังหารกลางงานเลี้ยง ส่วนเหล่าบรรดาลูกเมียและญาติพี่น้องของจูกัดเก๊กก็ถูกประหาร 3 ชั่วโคตรจนสิ้นตระกูลไปอย่างอนาถ....
จากการที่จูกัดเก๊กมีพ่อและเจ้านายอย่างซุนกวนอุปถัมภ์จนประสบความสำเร็จมาตลอด ทำให้เขาไม่เคยลิ้มรสของความพ่ายแพ้เลย เมื่อถึงคราวที่ตัวเองเจอความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต ก็ไม่อาจยอมรับกับความล้มเหลวได้ ประกอบกับเขามีความหยิ่งผยองเห็นแก่ตัวเป็นทุนเดิม จึงมักจะโทษทุกอย่างรอบข้างว่าเป็นสาเหตุของความล้มเหลวโดยที่ไม่ยอมมองตัวเอง กลายเป็นการสร้างศัตรูขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว มิหนำซ้ำยังทำตัวเองเหลวแหลกเละเทะลงเรื่อยๆ สุดท้ายจูกัดเก๊กก็ประสบชะตากรรมอย่างน่าสังเวช คำกล่าวของจูกัดกิ๋นจึงปรากฏเป็นจริงอย่างไม่ผิดเพี้ยน สมดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครรู้จักบุตรได้ดีเท่ากับบิดา" นั่นเอง.....
ภาพขวา : อิกิ๋ม (วุยก๊ก)
ภาพซ้ายบน : ลิเงียม (จ๊กก๊ก)
ภาพซ้ายล่าง : จูกัดเก๊ก (ง่อก๊ก)
โฆษณา