Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Spark
•
ติดตาม
23 พ.ค. 2021 เวลา 10:36 • ประวัติศาสตร์
หลาย ๆ คนคงทราบแล้วว่าประเทศไทยหรือสยามนั้นเคยเกิดข้อพิพาทกันกับประเทศฝรั่งเศส ดังที่รู้จักกันในนาม วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งเป็นผลให้ฝรั่งเศสได้กรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ในระหว่างทำการตกลงในเรื่องสัญญาการแบ่งเขตที่ดินระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็ได้ขอยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันชั่วคราวโดยส่งทหารฝรั่งเศสเข้ายึดครองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436-2447 รวมเวลาที่ฝรั่งเศสได้ปกครองเมืองจันทบุรีทั้งสิ้น 12 ปี
โดยในระหว่างนี้ถือว่าทั้งฝรั่งเศสและชาวเมืองจันทบุรีเองก็ได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกันทั้งสองวัฒนธรรมระหว่างชาวตะวันตกกับชาวพื้นเมือง และด้วยการที่คนต่างที่ต่างถิ่นต้องมาอยู่ด้วยกัน ความไม่เข้าใจกันจึงเกิดเป็นความวุ่นวายขึ้นมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า “จันทรุปราคา”
กล่าวได้ว่าเมื่อกองทหารฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีแล้วก็ได้เริ่มมีการจัดการสร้างที่พักทหาร รวมไปถึงการสร้างตึกบ้านเรือน โบสถ์ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงหลงเหลือสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ให้เห็น เช่น อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล เป็นต้น ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่น่าไปเยี่ยมชมและสัมผัสกับประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรีสักครั้งหนึ่งในชีวิต
สำหรับการปกครองระหว่างสองประเทศบนดินแดนแห่งนี้นั้นก็ถือว่าเป็นการแบ่งการปกครองกันไปโดยไม่ก้าวก่ายกัน ฝรั่งเศสจะปกครองเฉพาะส่วนของกองทหารฝรั่งเศสและคนในบังคับฝรั่งเศสเท่านั้น ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าก็มีชาวเมืองจันทบุรีไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าชาวจีน ชาวญวนที่อาศัยอยู่ที่นั่นได้สมัครใจเข้าขอเป็นคนในบังคับฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน ซึ่งการเข้าเป็นคนในบังคับฝรั่งเศสนี้จะส่งผลให้ได้สิทธิพิเศษอยู่ 2 ประการ คือ
1.เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขายโดยเฉพาะสิทธิการค้าสินค้าประเภทเสบียงให้กับกองทัพฝรั่งเศส
2.สามารถเอาอำนาจฝรั่งเศสมาคุ้มครองผลประโยชน์ทางคดีของตนเองได้เมื่อเกิดข้อพิพาทกับคนในบังคับของสยาม
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ส่งผลให้มีผู้คนเข้าไปขอเข้าอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก
ภาพวาดกองทหารฝรั่งเศสที่ปักหลักอยู่ที่เมืองจันทบุรี
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีอยู่นี้ ครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์จันทรุปราคาขึ้น เวลาราวเที่ยงคืน ซึ่งความเชื่อเดิมของคนไทยที่มีต่อปรากฏการณ์จันทรุปราคาก็คือการเชื่อว่า “ราหูมาอมจันทร์” ด้วยเหตุฉะนี้เอง จึงต้องมีการตีฆ้องเคาะกลองหากยังไม่สะใจก็ยิงปืนขึ้นฟ้ามันซะเลย !!! เพื่อให้เจ้าราหูตกใจและปล่อยพระจันทร์ออกมา
ดังนั้นเมื่อเกิดจันทรุปราคาขึ้น บรรดาประชาชน ชาวบ้าน รวมไปถึงวัดวาอารามก็พากันตื่นเต้น ออกมาโห่ร้อง ตีฆ้องเคาะกลอง บางคนก็เอาปืนยิงขึ้นฟ้า
มาถึงตรงนี้ทุกคนลองนึกสภาพว่าพื้นที่จันทบุรีในขณะนั้น ที่เป็นพื้นที่ที่มีความซ้อนทับระหว่าง 2 อำนาจซึ่งเป็นประเทศที่เพิ่งจะผ่านการทำสงครามรบพุ่งใส่กันมาหมาด ๆ แต่อยู่ ๆ กลางดึกสงัดก็กลับเกิดเสียงไชโยโห่ร้อง เคาะไหกะละมังหม้อรวมไปถึงเสียงปืนที่ดังสนั่นหวั่นไหว มันจะเกิดอะไรขึ้น ?
ใช่ครับ...เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้สร้างความตะหนกตกใจให้กับทหารฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขาไม่รู้ถึงเหตุผลของการกระทำดังกล่าวนี้ ก็ทำให้พาลคิดไปว่ากองทหารไทยเข้ามาระดมตีค่ายเราแน่ ๆ และด้วยเหตุนี้จึงมีการเป่าแตรสัญญาณให้ทหารฝรั่งเศสเข้าประจำการบนสนามเพลาะ ทำหน้าที่เตรียมรบอย่างแข็งขัน แบบคิดว่าเป็นไงเป็นกัน มาเลยข้าพร้อมแล้ว !!!
ภาพจันทรุปราคา
สรุป... คืนวันนั้นทหารฝรั่งเศสถ่างตาประจำสถานีรบยันเช้า ก็ไม่เห็นวี่แววของทหารไทยสักรายเดียว โดย นายโรแบร์ ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศส ที่อยู่ประจำการไม่ได้หลับไม่ได้นอนขณะนั้น เขาก็สังเกตว่าไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น (ลองนึกภาพชาวจันทบุรีตื่นมาตอนเช้าแล้วมาเห็นทหารฝรั่งเศสเตรียมพร้อมรบสิ คงจะแบบคิดในใจว่า “อิหยังวะ ?”) จึงได้ส่งล่ามเข้ามาไต่ถามเหตุการณ์จากผู้ว่าราชการเมือง
เมื่อท่านผู้ว่าทราบถึงความประสงค์ของนายโรแบร์ ท่านเองก็ได้ส่งขุนภาษาสุนทร (โร) ซึ่งเป็นล่ามของท่านให้ไปชี้แจงเหตุการณ์เมื่อคืนต่อผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสว่ามันเป็นประเพณีที่ชาวไทยเขาทำกันมานมนานเวลาเกิดจันทรุปราคา...แค่นั้นเองง
ซึ่งทุกท่านอาจจะคิดว่าเรื่องอาจจะจบเพียงเท่านี้ เปล่าครับยังไม่จบ
เนื่องจากนายโรแบร์เขาไม่เข้าใจ เขาอ้างว่าเข้าไม่รู้ถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้อย่างแน่ชัดได้ (เอาง่าย ๆ ว่าเขาไม่เก็ท) แต่ที่แน่ ๆ ก็คือทหารฝรั่งเศสต้องเสียขวัญอดหลับอดนอนทำการเตรียมป้องกัน และอาจจะด้วยความมึนงง ตื่นตกใจหรือเป็นเพราะหงุดหงิดจากการอดหลับอดนอนก็ไม่ทราบได้ นายโรแบร์ก็สั่งให้เอาตัวขุนภาษาสุนทรไปกักขังไว้ในค่ายทหารฝรั่งเศสเสีย 3 วันจากเหตุการณ์นี้ (ขุนสุนทรภาษาในใจท่านคงคิดว่าอะไรฉันจะซวยได้ขนาดนี้ เขาเคาะกันทั้งเมืองแต่ฉันกลับติดคุกคนเดียว และฉันเป็นแค่ล่ามฉันเกี่ยวอะไร)
สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้มีการบันทึกต่อมาด้วยว่า “เมื่อทางฝ่ายบ้านเมืองได้ทราบเหตุผลเช่นนั้น ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ลงท้ายที่สุดเรื่องก็เป็นอันระงับกันไป”
จบ.
เอาเป็นว่าบทความนี้ผมขออุทิศให้กับ ขุนภาษาสุนทร (โร) ละกันนะครับ
รายการอ้างอิง
หลวงสาครคชเขตร (ประทวน สาคริกานนท์). เหตุสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และ จดหมายเหตุฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี (พ.ศ. 2436-2447). พระนคร : กรมศิลปากร.2483.
ไกรฤกษ์ นานา. สมุดภาพเหตุการณ์ ร.ศ. 112. กรุงเทพฯ : ชมรมคนรักษ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า. 2553.
2 บันทึก
4
3
2
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย