24 พ.ค. 2021 เวลา 03:50 • ท่องเที่ยว
วัดประยูรวงศาวาส วรวิหาร
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร .. เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี เป็นวัดที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 (Award of Excellence) ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
วัดแห่งนี้ .. เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่า และสมุหพระกลาโหม ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ
1
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกให้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2375 และได้รับพระราชทานนามว่า "วัดประยุรวงศาวาส" ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดรั้วเหล็ก" เพราะมีรั้วเหล็กที่ทำเป็นรูปอาวุธคือ หอก ดาบ และขวาน (ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน) เป็นกำแพงวัดและซุ้มประตูเล็กๆ อยู่เป็นตอนๆ จากมุมวิหารคตข้างพระอุโบสถไปจรดกำแพงประตูวัดด้านตะวันออก ล้อมบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) และอีก 2 ด้านด้านตะวันตกยาว และด้านใต้ยาว ล้อมเป็นกำแพงหน้าวัด
มีเรื่องเล่าว่า ... รั้วเหล็กนี้เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาจึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายแลกเอา หนักต่อหนัก คือเหล็กหนักเท่าใด น้ำตาลทรายก็หนักเท่านั้น
ในคราวเดียวกันนั้นยังทูลเกล้าฯ ถวายพรมผืนใหญ่ 1 ผืน กับโคมกิ่งแก้ว 3 โคม ซึ่งไม่โปรด จึงได้ทูลขอ พระราชทานโคมไปประดับในพระอุโบสถวัดนี้
วัดแห่งนี้สร้างอยู่ 8 ปี จึงสำเร็จในปี พ.ศ. 2379 ได้มีการฉลองวัดในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ดังหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ว่า
1
"ครั้นลุถึงศักราช 1198 ปีวอก อัฐศก เป็นปีที่ 13 ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยุรวงศาวาส พระสงฆ์ในวัดได้ปืนเปรียมกระสุน 5 นิ้วชำรุดหูพะเนียงทิ้งอยู่ในวัดบอก1 เอาทำไฟพะเนียงจุด...."
3
ในเรื่องนี้ หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า
"วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 วันนี้มีการฉลองวัดอันงดงามของสมเด็จองค์ใหญ่บิดาของท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีการมหรสพมากมายหลายอย่าง ประชาชนมาประชุมกันมากมาย หลายพัน ทั้งชาวพระนครและสัญจรมาจากที่ต่างๆ ของประเทศ..."
หมอบรัดเลบันทึกไว้ว่าในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารนั้น ได้มีการทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ โดยฝังโคนกระบอกปืนใหญ่ลงในแผ่นดินเมื่อจุดชนวนขึ้น ปืนใหญ่เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายคน หมอบรัดเลอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 250 เมตร
เจ้าพระยาพระคลังดิศให้คนตามตัวหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บพระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเล จำต้องตัดแขนของพระรูปนั้น การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นานนัก นับได้ว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นที่วัดประยุรวงศาวาสในวันฉลองวัดนั่นเอง
1
ภายหลังจากการระเบิดครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นปืนใหญ่ 3 กระบอกไว้ในบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต อนุสาวรีย์ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อความจารึกที่อนุสาวรีย์เป็นดังนี้
"อนุสาวรีย์นี้ได้สร้างขึ้นเมื่อปีวอก อัฐศก ศักราช 1198 (พ.ศ. 2379) ให้เป็นที่ระฦกแห่งปืนใหญ่ระเบิดให้เป็นที่เสียชีวิตหลายในเวลามีงานมหกรรมการฉลองพระอารามนี้..."
ต่อมา พ.ศ. 2425 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้ให้ซ่อม พระวิหาร เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา ปิดทองประดับกระจกใหม่ ซ่อมศาลาและพระอุโบสถใหม่ ซึ่งในปีถัดมาพระองค์ได้เสด็จมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดประยุรวงศานี้
ในปี พ.ศ. 2428 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ซ่อมกำแพงแก้วและซุ้มสีมา สร้างศาลาใหญ่ 1 หลัง พร้อมกับบูรณะส่วนที่ทรุดโทรมไป นอกจากนี้ได้สร้างโรงเรียนหนังสือไทยที่ข้างพระเจดีย์ใหญ่ ชื่อว่า “โรงเรียนไทยประยุรวงศ์” และ “โรงเรียนพระปริยัตติธรรม” อุทิศแด่ท่านลูกอินผู้มารดาและสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ผู้บิดา ให้ชื่อนามศาลาว่า "พรินปริยัติธรรมศาลา" (และยังเป็นหอสมุดประชาชนแห่งแรกอีกด้วย) ได้ประพันธ์เป็นบทโคลงจารึกในแผ่นศิลา 2 ข้างประตู ในครั้งนี้จมื่นทิพรักษา (พิณเทพเฉลิม บุนนาค) ได้สมทบเงินออกค่าศิลาปูพื้นด้วย
พ.ศ. 2436 ได้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งใช้เป็นกุฏิหรือโรงเรียน จารึกนามว่า "ท้าวราชกิจวรภัตร ร.ศ. 112" อยู่ริมคลองด้านหลังวัด (ท้าวราชกิจวรภัตรศรีสวัสดิ์สมาหาร (แพ บุนนาค) เป็นพี่สาวของพระยาอภัยสงคราม (นกยูง บุนนาค)
ต่อมาได้มีการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้น และปฏิสังขรณ์โดยเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) พระยาอุทัยธรรมมนตรี (จีน บุนนาค) เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เจ้าจอมเลียมและเจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ 5 และอีกหลายท่าน
ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ
พระอุโบสถ ... เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันเป็นลายดอกพุดตาน ด้านหน้าและด้านหลังมีประตูเข้าออกด้านละ 2 ประตู หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ
พระประธานในพระอุโบสถหล่อในปี 2371 อันเป็นปีที่เริ่มสร้างพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.99 เมตร สูง 1.625 เมตร ประกอบด้วยพระพุทธลักษณะอันงดงาม พระพุทธรูปองค์นี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ให้ช่างชาวไทยเป็นผู้หล่อ ได้ว่าจ้างช่างลงรักปิดทองมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกล่าวกันว่ามีฝีมือและกรรมวิธีการปิดทองดีเยี่ยม มาปิดทองพระพุทธรูป และถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่นำช่างฝีมือปิดทองเป็นชาวต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามพระประธานในพระอุโบสถ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติประวัติแก่วัดว่า "พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา " แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาประเสริฐสุดโดยธรรม
วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์
พระวิหารหลวงพ่อพระพุทธนาคเป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย .. พระวิหาร นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย มีพระนามว่า “พระพุทธนาค” เป็นพระพุทธรูปโบราณอายุราว 700 ปี ที่ได้รับอัญเชิญจากจังหวัดสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ ณ. พระวิหารวัดประยุรวงศาวาส เมื่อ พ.ศ. 2374 เป็นพระพุทธรูปที่คู่กับ “พระศรีศากยมุนี” พระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม
พุทธศาสนิกชนชาวจีนได้ขนานนาม พระพุทธนาค นี้ว่า " ลักน้อย " แปลว่า กลีบบัว 7 ชั้น เปรียบพระพุทธองค์คือ ซำปอกง (หลวงพ่อโต) ของชาวจีน
ใน พ.ศ. 2550 พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส รูปปัจจุบัน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับจากประเทศศรีลังกา พม่า และที่ค้นพบในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส มาประดิษฐานในพระวิหาร
พระบรมธาตุมหาเจดีย์
พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาองค์ใหญ่องค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ 54 คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก 18 องค์ เรียงรายพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นผู้เริ่มสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้ขึ้น แต่หลังสร้างวัดแล้ว พระเจดีย์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ผู้สร้างก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน เมื่อ พ.ศ. 2398 ต่อมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ได้สร้างพระเจดีย์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระมหาเจดีย์ได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง .. ครั้งล่าสุด พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารรูปปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2549 และได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระเจดีย์ใหญ่ เมื่อวันที่ 5 และ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
1
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระมหากรุณาโปรดเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนองค์พระเจดีย์ใหญ่ในโอกาสสมโภช 180 ปีวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551
อุทยานเขามอ (เขาเต่า)
เขามอ เป็นภูเขาจำลองขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด มีศาลาราย 8 หน้า ตั้งอยู่ริมสระน้ำเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีบันไดขึ้นสู่ยอดเขา บนยอดเขาเป็นที่ตั้งพระสถูปหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองสำหรับบรรจุพระพุทธรูปสำคัญไว้ภายใน
1
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สร้างภูเขาจำลองนี้ขึ้นโดยได้แนวคิดเกี่ยวกับเค้าโครงของภูเขาจำลองมาจาก "หยดเทียนขี้ผึ้ง " ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
1
หยดเทียนขี้ผึ้งนี้เกิดจากน้ำตาเทียนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดขณะเมื่อประทับอยู่ในห้องลงพระบังคนหนัก น้ำตาเทียนหยดทับถมกันเป็นเวลาหลายปีจนก่อรูปเหมือนภูเขา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ จึงนำเค้าโครงของหยดเทียนขี้ผึ้งนี้มาเป็นแบบสำหรับสร้างภูเขาจำลอง
สระน้ำที่ล้อมรอบภูเขาจำลองเต็มไปด้วยเต่า และตะพาบน้ำ ที่มีผู้นำมาปล่อยไว้แต่นานมาแล้ว ประชาชนนิยมพาบุตรหลานมาเที่ยวเล่นบริเวณภูเขาจำลองเพื่อให้อาหารแก่เต่าและตะพาบน้ำ ภูเขาจำลองเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อว่า "ภูเขาเต่า" เนื้อที่ทั้งหมด บริเวณภูเขาจำลองมีความยาว 48 เมตร กว้าง 42 เมตร
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนภูเขาจำลองไว้ ในฐานะเป็น ถาวรวัตถุสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522
ศาลาสุวพักตร์วิไลยพรรณ (ศาลาฝรั่ง) : ตั้งอยู่ภายในบริเวณเขามอ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก เปิดโล่ง ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยา สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2428 โดยเจ้า พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2470 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลพร พระเจ้าลูกเธอ ใน รัชกาลที่ 5 ได้ทรงบูรณธปฏิสังขรณ์ และให้จารึกตราสัญลักษณ์ และอักษรพระนามย่อ ที่หน้าบันของศาลา
พระมณฑปทรงโกธิก : ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโบสถ์ของคริสต์ศาสนา เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ซึ่งหุ้มรูปหล่อสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ .. แต่เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ ชาวบ้านจึงเรีกว่า “หลวงพ่อแขก”
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา