Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Spark
•
ติดตาม
24 พ.ค. 2021 เวลา 12:21 • ประวัติศาสตร์
ประเทศไทยได้ถือว่า “ช้าง” เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง โดยมีเรื่องราวที่สัมพันธ์กับการสงครามครั้งโบราณมาอย่างมากมาย สำหรับช้างที่มีความพิเศษเป็นอย่างยิ่งนั้นก็คือ “ช้างเผือก” ซึ่งถือเป็นของคู่บารมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหนก็ต้องไขว่ขว้ามาครองให้จงได้เพื่อแสดงบารมีให้เป็นที่ปรากฎประจักษ์ชัด
สำหรับช้างเผือกที่เราจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือช้างเผือกที่ชื่อว่าพระเศวตคชเดชน์ดิลก อันเป็นช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 7 โดยเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นเรามาเริ่มกันเลย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 กล่าวได้ว่าด้วยการประสูติเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของรัชกาลที่ 5 ทั้งพระองค์เองรวมถึงทางฝ่ายพระราชวงศ์ก็ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าการณ์ข้างหน้าพระองค์จะได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
และด้วยการที่พระองค์ทรงเป็นน้องเล็กสุดจึงทำให้พระองค์นั้นได้รับการดูแลด้วยสายตาที่เป็นเด็กอยู่เสมอ โดยมีครั้งหนึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงเกรงว่าสมเด็จพระชนนีจะตามใจพระอนุชาองค์นี้มากจนเกินไป จึงได้กราบทูลต่อสมเด็จพระชนนีว่าอย่างเพิ่งให้ทรงสมรสจนว่าจะทำงานเป็นล่ำเป็นสัน
เจ้าฟ้าประชาธิปกกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระชนนี
การที่ไม่มีใครคาดคิดว่าพระองค์จะมีโอกาสได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินนี้เอง ก็ทำให้พระองค์นั้นมีคนเข้าหาน้อยนิด แม้แต่พวกที่ชอบประจบสอพลอก็ไม่ได้คิดที่จะเข้าฝากเนื้อฝากตัวแต่อย่างใด และจะเห็นได้ว่าวิชาที่พระองค์ทรงเลือกศึกษานั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปกครอง โดยพระองค์ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนทหารปืนใหญ่ที่ Woolwich และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็ทรงเข้าประจำกองพันทหารม้าปืนใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษ อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น และพระองค์ก็ทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะออกรบแต่ก็ถูกคัดค้านจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษ
ในการมีพระทัยที่จะออกรบนั้น แม้จะทำให้เราได้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความกล้าหาญและสำนึกในหน้าที่ของทหารเพียงไหน แต่ในทางกลับกันสิ่งนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นด้วยเช่นกันว่าพระองค์เองไม่ได้มีการตระหนักถึงภาระในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินในอนาคต จึงทำให้พระองค์ไม่ได้ทรงห่วงในเรื่องนี้และทรงตัดสินพระทัยที่จะเข้าสู่สงครามอย่างหมดห่วง
2
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ก็กลับพลิกผันเมื่อพระเชษฐาของพระองค์ได้ทยอยสิ้นพระชนม์ลง จนในที่สุดเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาทรงประชวรด้วยโรคไตและสิ้นพระชนม์ ก็เป็นที่เด่นชัดแล้วว่าพระองค์จะต้องเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งรัชทายาทต่อไปและพระองค์เองก็เริ่มที่จะตระหนักถึงภาระอันใหญ่หลวงนี้ จึงได้เริ่มที่จะเสด็จเข้าไปประทับในที่ประชุมเสนาบดีสภาในตำแหน่งพระยุพราช
1
จนในที่สุดคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รัชกาลที่ 6 ก็ได้เสด็จสวรรคต และในวันรุ่งขึ้นพระองค์ก็เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรี
1
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กล่าวได้ว่าเมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ต้องเผชิญกับปัญหามากมายทั้งในด้านเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอย่างสุดขีด รายจ่ายภายในราชสำนักที่พุ่งสูงขึ้นอันติดค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยในช่วงนั้นราชสำนักมีหนี้อยู่ราว 4-5 ล้านบาท โดยเฉพาะแค่ค่าไฟฟ้าส่วนพระองค์เดือนหนึ่งก็ 200,000 บาทแล้ว ยังไม่รวมบ้านข้าราชการบางคนที่ใช้เปล่าไม่เสียค่าไฟ
ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ความคิดที่จะตัดทอนรายจ่ายและสะสางบัญชีในราชสำนักขึ้นจึงทำให้พระองค์ได้รับความขุ่นเคืองจากเจ้านายบางพระองค์รวมไปถึงข้าราชการบางคนอีกด้วย
1
นอกจากนี้บรรดาเจ้านายที่รายล้อมพระองค์ส่วนหนึ่งนั้นก็ไร้ความสามารถ โดย ม.จ. พูนพิสมัย ดิศกุล ได้อธิบายว่า
“เจ้านายในรัชกาลที่ 7 เป็นนักเรียนนอกด้วยกันโดยมาก ที่ไม่ใช่นักเรียนนอกก็เป็นพวกที่ไม่มี education เลย ความรู้ในเรื่องเมืองไทย จึงไม่มีพอที่จะมีสูงยิ่งกว่าคนสามัญ ทั้งทางยศศักดิ์ก็เป็นเพียง cousins และหลานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...ส่วนเจ้าที่ดี ๆ ก็มีแต่จะหมดไปตามอายุ”
1
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้การที่จะทรงตัดสินพระทัยในการสิ่งใดก็กลายเป็นสิ่งที่ยากลำบากตั้งแต่เริ่มต้น และในช่วงของการดำเนินไปในรัชสมัยที่ยากลำบากนี้เอง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็ได้ก่อตัวขึ้นและกำลังจะพัดขึ้นฝั่งของประเทศสยาม ความรุนแรงของมันจะเปลี่ยนชะตาชีวิตของพระองค์และผู้คนในประเทศนี้ไปตลอดกาล
1
พระเศวตคชเดชน์ดิลก
ความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือกของไทยนั้นจะมีความเชื่อที่ว่าเป็นของคู่พระบารมีของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อเกิดมีช้างเผือกเกิดขึ้นในสมัยใดหรือแผ่นดินใด ก็จะถือว่าเป็นศรีแก่ประมุขและประเทศนั้น
โดยช้างเผือกจะต้องมีลักษณะสำคัญอยู่ 7 ประการ คือ 1.ตาขาว 2.เพดานปากขาว 3.เล็บขาว 4.ขนขาว 5.พื้นหนังขาวหรือสีอ่อนๆ ออกแดงคล้ายหม้อใหม่ 6.ขนหางขาว 7.อัณฑโกสขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ หากช้างตัวใดมีลักษณะตรงแค่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ครบตามลักษณะนี้จะถูกเรียกว่า “ช้างสีประหลาด”และกษัตริย์พระองค์ใดทรงมีช้างเผือกมาก ก็มักจะมีการถวายพระนามแก่กษัตริย์องค์นั้นว่า “พระเจ้าช้างเผือก”
สำหรับกษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาก่อนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นได้มีช้างเผือกและช้างสีประหลาดด้วยกันดังนี้
1.รัชกาลที่ 1 ทรงได้ช้างเผือก 2 เชือก ช้างสีประหลาด 8 เชือก
2.รัชกาลที่ 2 ทรงได้ช้างเผือกติด ๆ กันถึง 3 เชือก และช้างสีประหลาด 3 เชือก การที่ทรงได้ช้างเผือกติดต่อในเวลาไร่เรี่ยกันนี้จึงทำให้ราษฎรต่างเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าช้างเผือก
3.รัชกาลที่ 3 ทรงมีแค่ช้างสีประหลาดถึง 30 เชือก โดยมีเรื่องเล่ากันว่าพระองค์ทรงเสียพระทัยอยู่บ่อยครั้ง และคอยตรัสถามผู้ทรงบัญชาการกรมคชบาลในขณะนั้นอยู่เสมอเวลาได้ช้างมาว่า “เผือกหรือไม่เผือก ?” และก็ได้รับคำตอบมาทุกครั้งว่าไม่เผือก
4.รัชกาลที่ 4 ทรงได้ช้างเผือก 5 เชือก และช้างสีประหลาด 10 เชือก
5.รัชกาลที่ 5 ทรงได้ช้างเผือก 13 เชือก และช้างสีประหลาด 6 เชือก
1
6.รัชกาลที่ 6 ทรงได้ช้างเผือก 1 เชือก และช้างสีประหลาด 1 เชือก
สำหรับในสมัยรัชกาลที่ 7 เวลานั้นหลายคนก็คิดกันไว้แล้วว่าพระองค์อาจจะไม่โอกาสที่จะได้ครอบครองช้างเผือก เนื่องจากประเทศสยามในเวลานั้นได้มีการสร้างทางรถไฟทั้งทางภาคใต้และภาคเหนือ อีกทั้งบนทางบกก็มีรถยนต์ใช้กันแล้ว ด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ก็เลยคิดกันว่าช้างคงเดินข้ามชายแดนไปเสียส่วนใหญ่แล้ว
อย่างไรก็ตามก็เกิดความประหลาดใจขึ้นแก่ผู้คนไม่น้อย เมื่อช้างเลี้ยงของบริษัทค้าไม้ในภาคเหนืออย่างบอมเบย์เบอม่าได้ตกลูกออกมาเป็นช้างเผือก จึงได้มีการทูลเกล้าถวายช้างเผือกนี้ต่อรัชกาลที่ 7 โดยพระองค์ได้โปรดให้ทรงเลี้ยงไว้ที่เชียงใหม่ก่อนเนื่องจากเกรงว่าจะชอกช้ำจากการเดินทาง และพระองค์ก็เสด็จไปทอดพระเนตรช้างเผือกนี้ด้วยพระองค์เอง
พระเศวตคชเดชน์ดิลก กับรัชกาลที่ 7
วันที่พระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรช้างเผือกนี้ รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเครื่องแบบทหารบกเหมือนกันกับสมุหราชองครักษ์ (ตามภาพข้างบน) และยืนอยู่คู่กันนอกคอกช้าง พอผู้เลี้ยงช้างเปิดคอกให้ช้างเดินออกมา ก็เป็นที่แปลกใจต่อผู้พบเห็นว่าช้างนั้นได้ตรงไปหารัชกาลที่ 7 และยกงวงขึ้นแตะหัว ซึ่งทุกคนที่อยู่ในที่นั้นต่างแปลกใจว่าช้างรู้ได้อย่างไรว่ารัชกาลที่ 7 เป็นคนไหน โดยรัชกาลที่ 7 ก็ได้พระราชทานนามให้ช้างเชือกนี้ว่า “พระเศวตคชเดชน์ดิลก” นับเป็นช้างคู่พระบารมีเพียงหนึ่งเดียว
1
การแจกประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ถึงแม้ว่าจะมีช้างเผือกกำเนิดขึ้นมาบนแผ่นดินของพระองค์อันถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่สิ่งนี้ก็ไม่อาจจะนำพาให้พระองค์พาประเทศรอดพ้นไปจากวิกฤติและความอัตคัดฝืดเคืองได้ ดังจะเห็นได้จากฎีการ้องทุกข์ของราษฎรที่หลั่งไหลมาสู่พระองค์เป็นจำนวนมาก ซึ่งพระองค์เองก็ได้ตระหนักแล้วว่าพระบรมเดชานุภาพของพระองค์คงจะช่วยคุ้มกันไม่ได้แล้ว พระองค์จึงได้ทรงออกประกาศให้ราษฎรรับรู้กันว่า
“...บุคคลที่รับความลำบากในเวลานี้ไม่เฉพาะแต่ราษฎรที่ถวายฎีกาเท่านั้น ถึงที่เป็นคฤหบดีแลพ่อค้าตลอดจนข้าราชการและเจ้านายก็ได้รับความลำบากด้วยกันทั้งนั้น เพราะมูลเหตุแห่งความอัตคัตฝืดเคืองครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตต์ อันพึงจะป้องกันได้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ...” (ประกาศเรื่องความอัตคัตฝืดเคือง วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2475)
ความตกต่ำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ ในที่สุดกลุ่มบรรดาข้าราชการและพลเรือนก็ได้รวมกำลังตั้งขึ้นเป็น “คณะราษฎร” และทำการเข้ายึดพระราชอำนาจจากรัชกาลที่ 7 ในเวลาย่ำรุ่ง ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับเป็นการอวสานของระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเป็นทางการของไทย
คณะราษฎรฝ่ายทหารบก
อย่างไรก็ตามกล่าวกันว่าในคืนวันที่ 23 มิถุนายน อันเป็นคืนที่คณะราษฎรกำลังก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พระเศวตคชเดชน์ดิลกกลับไม่ยอมหลับยอมนอน และส่งเสียงร้องครวญครางอย่างนั้นอยู่ทั้งคืน จนคนที่เลี้ยงช้างเชือกนี้มาตั้งแต่เกิดก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเพราะอะไร พอรุ่งเช้าก็มีเสียงเอะอะโวยวายขึ้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กระทำกันในสถานที่ใกล้ ๆ โรงเรียงช้างนั่นเอง
1
หลังจากที่ประเทศไทยได้ทำการเปลี่ยนแปลงการครองได้เพียงเกือบ 2 ปี รัชกาลที่ 7 ก็ได้เสด็จออกนอกประเทศ ซึ่งทำให้การเดินทางครั้งนี้เป็นการจากกันระหว่างพระองค์กับพระเศวตคชเดชน์ดิลกอย่างถาวร เพราะหลังจากนั้นรัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงสละราชสมบัติและใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษตลอดพระชนม์ชีพ
ระหว่างที่รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่อังกฤษนั้น ในปี พ.ศ. 2480 ก็พบว่าพระองค์ทรงประชวรด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) และพระอาการก็ได้หนักขึ้นเรื่อยมา จนในที่สุดในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระองค์ก็เสด็จสวรรคตอย่างฉับพลันด้วยพระหทัยวาย โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี คู่ชีวิตของพระองค์ได้ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน และประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ
การอัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 กลับสู่ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2492
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ไร่เรี่ยกันกับที่รัชกาลที่ 7 ใกล้จะเสด็จสวรรคตนั้น ทางกรุงเทพฯ เองก็เกิดเหตุกับพระเศวตคชเดชน์ดิลกด้วยเช่นกัน เนื่องจากงวงของพระเศวตคชเดชน์ดิลกได้ขึ้นไปติดอยู่บนงาแล้วเอาลงไม่ได้ ซึ่งต้องกล่าวก่อนว่าพระเศวตคชเดชน์ดิลกนั้นเมื่อโตขึ้นมากลับมีงาที่งอกแบบแปลก ๆ คือมีงาที่ไขว้กัน เมื่องวงได้ขึ้นไปติดบนงาแล้วก็ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดเป็นอย่างมากและร้องครวญครางอยู่หลายวัน
เมื่อไม่มีทางแก้ไขได้ผู้ดูแลก็ได้จึงจำเป็นต้องเลื่อยงาคู่นั้นออกจึงทำให้ ความสูญเสียของพระเศวตคชเดชน์ดิลกนอกจากจะต้องเสียงาของตนแล้วกลับยังต้องเสียเจ้านายของตนไปพร้อม ๆ กัน โดยพระเศวตคชเดชน์ดิลกได้กลายเป็นช้างที่ทุพพลภาพและอยู่มาได้ต่อมาไม่กี่ปีก็ล้มลงเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2486 อันเป็นการปิดฉากเรื่องราวของช้างคู่พระบารมีเพียงหนึ่งเดียวของรัชกาลที่ 7 ไปโดยปริยาย
1
รายการอ้างอิง
พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. กรุงเทพฯ : มติชน. 2543.
1
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน. 2553.
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
https://th.wikipedia.org/wiki/พระเศวตคชเดชน์ดิลก
https://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475
4 บันทึก
8
1
2
4
8
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย