25 พ.ค. 2021 เวลา 01:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เตาเผาศพปลอดมลพิษ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับการจัดการ "ร่างไร้วิญญาณ" ของใครหลาย ๆ คนที่ทอดทิ้งไว้ ณ เบื้องหลัง เนื่องด้วยการหันมาสนใจ ตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม
1
บ้านหลังสุดท้ายแห่ง "ชีวิต"
นับตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบการก่อสร้างเมรุฯ ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน จวบจนถึงบัดนี้เราได้มีโอกาสก่อสร้างเมรุฯ เสร็จไปแล้ว ๓ หลัง ซึ่งยังไม่นับรวมถึงการทำหน้าที่ "สัปเหร่อ" ถึงหลายครั้ง แต่กว่าจะได้มาซื้อเมรุฯ แต่ละหลังนั้น เราก็ไปเที่ยวมุดเมรุฯ โน้น ปีนเมรุฯ นี้มาหลายที่ทีเดียว
ทางเข้าด้านล่างเมรุฯ สำหรับสัปเหร่อเข้าไปจัดการเผาร่างไร้วิญญาณ
เพราะกว่าที่เราจะตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เตาเผาศพปลอดมลพิษ" นั้น เราก็ต้องไป "แอบ" ดูเตาของที่โน้นบ้าง ที่นี่บ้าง ไปแอบดูแบบที่ไม่บอกให้คนขายเขารู้ เพราะถ้าเขารู้ก่อนเราจะไปดู เขาก็จะเตรียม "ผักชี" ไว้มากทีเดียว
1
เตาเผาศพปลอดมลพิษ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับการจัดการ "ร่างไร้วิญญาณ" ของใครหลาย ๆ คนที่ทอดทิ้งไว้ ณ เบื้องหลัง เนื่องด้วยการหันมาสนใจ ตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมรวมถึงการที่มนุษย์เริ่มรอมชอมชีวิตเพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ จึงเริ่มหันมาสนใจปรับเปลี่ยนเตาเผาศพระบบเดิมที่มีควันขโมงให้กลายมาเป็นการเผาศพที่เชื่อมโยงการ "รักษ์" ธรรมชาติ
นับแต่เดิมเริ่มต้นที่มีการกำจัดควันพิษด้วยระบบไอน้ำ คือ เมื่อควันที่เกิดมีจากปฏิกิริยาที่ไฟหรือความร้อนเข้าไปเผาไหม้ร่างกาย เสื้อผ้า หรือไม้ที่ทำโลงศพเกิดขึ้นมานั้น ผู้ผลิตเตาก็จะบังคับควันดำ ๆ ที่เกิดขึ้นให้ไหลมาตามท่อหรือปล่องให้ผ่านช่องที่มีการฉีดไอน้ำหรือละอองน้ำเพื่อดักมลพิษคือกลิ่นและควันนั้น จึงไม่ทำให้กลิ่นเหม็นและควันดำลอยขึ้นไปในอากาศ
ระบบนี้ใช้งานได้ดีในแง่ของมลพิษทางอากาศ แต่มลพิษทางน้ำนั้น "แย่" น่าดู
เพราะน้ำที่ใช้ฉีดดักควันและกลิ่นเหม็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเผาศพนั้นจะถูกปล่อยลงใต้ดิน ซึ่งจะซึมผ่านลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งนั่นจะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้รับผลกระทบ รวมถึงกลิ่นผล "สาบสาง" ที่เกิดขึ้นจากน้ำที่ชื้นแฉะนั้นหากช่วงใดที่มีฝนตกและน้ำท่วมขัง
ดังนั้น วิธีแก้ของระบบเผาศพปลอดมลพิษในปัจจุบันก็คือใช้ระบบ "ไฟเผาไฟ"
เตาเผาศพปลอดมลพิษแบบสองห้องเผา ด้านล่างเผาศพ ด้านบนเผาควัน (มลพิษ)
เตาเผาศพรุ่นใหม่จะมีห้องเผา 2 ห้อง (2 chamber) ซึ่งห้องล่างใช้เผาศพและห้องบนใช้เผาควันหรือมลพิษ
หลักการ "ไฟเผาไฟ" นี้ก็คล้าย ๆ กับหลักการของการใช้น้ำ ก็คือ เมื่อเกิดควันหรือมลพิษจากการไฟศพหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ติดตัวศพเข้าไปในห้องเผาโดยเฉพาะยางและไม้ เมื่อควันลอยสูงขึ้น ก็จะผ่านเข้าไปสู่ห้องเผาควันซึ่งนั้นที่นั้นจะมีหัวเผา (buner) อีกตัวหนึ่งใช้พ่นไฟเพื่อทำลายควันดำ ๆ หรือกลิ่นเหม็น ๆ ที่ออกมานั้นอีกทีหนึ่ง ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ควันที่ถูกเผาซ้ำอีกทีนั้นจะต้องถูกกักเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 1 วินาที
ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับของกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานตรวจมลพิษของเอกชน เพราะค่ามลพิษที่ออกมานั้นต่ำกว่ามาตรฐานและเป็นที่ยอมรับได้ทางวิชาการ
ระบบไฟเผาไฟนี้สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงได้ 3 ชนิด คือ 1. น้ำมันดีเซล 2. แก๊ส และ 3. ชนิดขดลวดไฟฟ้า
1
ระบบน้ำมันดีเซลถือว่ามีใช้อยู่มากที่สุดในประเทศไทย ณ เวลานี้ และตามประสบการณ์ของผมเอง ถือว่าเป็นระบบที่ "มาตรฐาน" ที่สุดในปัจจุบัน
ที่ว่ามาตรฐานที่สุดก็คือ ประสิทธิผล (Effectiveness) ในการเผาศพนั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพ (Efficiency) ของเตาเผาศพมากกว่าประสิทธิภาพของผู้เผาศพหรือที่เรียกว่า "สัปเหร่อ"
การเผาศพปลอดมลพิษด้วยระบบน้ำมัน ถือว่าเป็นการเผาศพที่ง่ายกว่าระบบแก๊สมาก ผู้ใช้ หรือผู้ดูแล สามารถเรียนรู้ระบบและใช้งานได้ง่าย คืออาจจะเรียกว่าสามารถเผาได้แบบ "อัตโนมัติ"
เพราะเนื่องจากเตาเผาศพทั้ง 2 ที่ผมตัดสินใจซื้อนั้นเป็นระบบแก๊สทั้งคู่ ซึ่งค่อนข้างวุ่นวายน่าดู นับตั้งแต่การติดตั้ง การเตรียมอุปกรณ์ เทคนิควิธีการเผา ซึ่งจะต้องอาศัยความยืดหยุ่น หรือเรียกว่าประสบการณ์ของสัปเหร่อมากกว่าใช้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจากตัวเตา
สมมติฐานเดิมที่ว่าแก๊สนั้นเผาได้สะอาดกว่านั้น หลังจากที่พิสูจน์ทราบด้วยการวิจัยจากหน้างาน (R2R : Research to routine) ก็พบว่า จะสะอาดหรือไม่สะอาดขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เผาเกินครึ่ง
ควันที่ออกมาจากปล่องเมรุฯ
สมมติฐานที่ว่าแก๊สนั้นไฟแรงกว่า ดีกว่า ซึ่งน่าจะเผาได้เร็วกว่า หลังจากที่พิสูจน์ทราบจากการทำ R2R เกือบปีที่ผ่านมานั้นก็ปรากฎว่าช้ากว่าระบบน้ำมันประมาณ 10%
สมมติฐานที่ว่าแกศนั้นประหยัดกว่า เพราะเชื้อเพลิงถูกกว่า หลังจากที่พิสูจน์ทราบจาก R2R (อีกแล้ว) ก็ปรากฎชัดว่า ถ้าหากน้ำมันดีเซล 1 ลิตรราคาต่ำกว่า 30 บาท ต้นทุนการเผาก็ "พอ ๆ กัน"
แต่ต้นทุนในการดำเนินงานของการติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงนั้น มีราคาค่าดำเนินการ (เฉพาะตัวเตาเผาศพ) สูงกว่าระบบน้ำมันประมาณ 30% คือเรียกง่าย ๆ ว่าราคาแพงกว่า ซึ่งนั่นน่าจะเป็นการตอบสมมติฐานทั้ง 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นว่า "น่าจะดีกว่า" (ซึ่งผลสรุปรายงานการวิจัยในแต่ละสมมติฐานจะขอนำเสนอโดยละเอียดในบันทึกถัดไป...)
เมรุฯ ปลอดมลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม...
โฆษณา