27 พ.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
รู้จัก ชนัญญารักษ์ อดีต CEO แม็คกรุ๊ป ที่ทำให้ ดร.นิเวศน์ เชื่อมั่นจนยอมลงทุน
2
เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ มีข่าวคุณชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์
ประกาศลาออกจากตำแหน่ง CEO บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเรื่องนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้น MC ลดลงไปกว่า 10% ทันที
1
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เธอจะเข้ามารับตำแหน่งนี้
ก็มีข่าวที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investing)
เข้าลงทุนในหุ้นของแม็คกรุ๊ป จำนวน 10 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.25%
เนื่องจากเล็งเห็นว่าบริษัทมีพื้นฐานดี ประกอบกับการที่คุณชนัญญารักษ์จะเข้ามาบริหารงาน
ก็น่าจะทำให้แม็คกรุ๊ป มีแนวโน้มเติบโตไปได้อีก
2
แล้วคุณชนัญญารักษ์ เป็นใคร ?
มีหลักแนวคิดในการบริหารงานอย่างไร ?
และทำไมถึงสามารถสร้างผลกระทบได้มากขนาดนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
1
สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจ อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของ คุณชนัญญารักษ์
แต่จริง ๆ แล้วเธอได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซีอีโอมือทอง” ผู้พลิกฟื้นมาแล้วหลายต่อหลายธุรกิจ
2
โดยคุณชนัญญารักษ์เรียนจบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ เอกบัญชี จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขา Management Information System
หรือการบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ ที่มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
1
หลังจากเรียนจบ เธอก็ทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และได้ถูกซื้อตัวมาอยู่ที่ Oracle ประเทศไทย
บริษัทที่ให้บริการด้านระบบซอฟต์แวร์วางแผนข้อมูลและทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร
หรือที่เรียกกันว่า ERP (Enterprise Resource Planning)
2
คุณชนัญญารักษ์ ทำงานกับ Oracle นานกว่า 10 ปี จนก้าวสู่ระดับผู้บริหาร
ซึ่งผลงานของเธอก็คือ การนำบริษัทบุกตลาดระบบบัญชีและการตลาด
พาให้ Oracle ก้าวสู่เบอร์ 1 ของประเทศไทย
1
และเรื่องนี้ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ “แจ้งเกิด” ให้กับคุณชนัญญารักษ์ เลยก็ว่าได้
1
หลังจากนั้น เธอก็ถูกซื้อตัวอีกครั้ง ให้ไปทำงานที่ Motorola ประเทศไทย
ซึ่งถ้าใครจำได้ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ มือถือรุ่นฝาพับบาง ๆ ของแบรนด์ Motorola กำลังเป็นที่นิยมเลยทีเดียว
1
และด้วยความสามารถของคุณชนัญญารักษ์ ก็ทำให้ Motorola ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 4 อยู่
กลายเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถืออันดับ 2 ของประเทศไทยได้
2
ต่อมาคุณชนัญญารักษ์ ก็ได้ย้ายไปทำงานกับ DHL อีกกว่า 10 ปี
โดยตำแหน่งสูงสุดของเธอคือ กรรมการผู้จัดการ DHL Express International ประเทศไทย
แต่การรับงานครั้งนี้ ก็ถือเป็นความท้าทายไม่ใช่น้อย
เพราะด้วยความที่ DHL เป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์มาโดยตลอด ทำให้บริษัทไม่คิดจะปรับตัวอะไรมากนัก
ดังนั้นพอมาเจอกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 บริษัทจึงได้รับผลกระทบไปไม่น้อย
ซึ่งตอนนั้นเอง ก็เป็นช่วงที่คุณชนัญญารักษ์ เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ
1
โดยเธอต้องเผชิญสถานการณ์บริษัทที่เริ่มเติบโตช้าลง และความสัมพันธ์กับลูกค้าไม่ค่อยจะดี
1
ที่สำคัญ นอกจากแรงกดดันจากภายนอกแล้ว ภายในบริษัทเองก็ไม่ใช่ว่าจะดีไปกว่ากัน
เพราะความสัมพันธ์กับพนักงาน ซึ่งวัดจาก Employee Opinion Survey
ก็ออกมาในระดับต่ำอยู่แค่ประมาณ 60 คะแนน
แต่หลังจากที่คุณชนัญญารักษ์ เข้ามาบริหาร ผลประกอบการของบริษัทก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
มากไปกว่านั้น Employee Opinion Survey ก็สูงถึง 99 คะแนน
รวมทั้งยังได้รับรางวัลเกี่ยวกับพนักงาน รวมไปถึงรางวัลด้านอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
1
ซึ่งแม้ว่าคุณชนัญญารักษ์ จะเริ่มเข้าใกล้สู่วัยเกษียณแล้ว แต่เธอก็ยังคงวิ่งเข้าหาความท้าทายครั้งใหม่
โดยช่วงปลายปี 2562 เธอได้ตกปากรับคำชวนของเพื่อน
ในการเข้ารับตำแหน่ง CEO ของแม็คกรุ๊ป ธุรกิจกลุ่มแฟชั่น ที่โดดเด่นในเรื่องของกางเกงยีน
2
จริง ๆ แล้วตอนที่ตกปากรับคำ คุณชนัญญารักษ์เอง ก็มีความลังเลอยู่เล็กน้อย
เพราะเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรม ที่เธอไม่มีความคุ้นเคย
แต่ด้วยความที่ว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงาน เธอก็ไม่ค่อยจะทำงานตรงสายอยู่แล้ว
สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับแม็คกรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนั้นของแม็คกรุ๊ป ก็ดูเหมือนจะสะดุดเล็กน้อย
โดยราคาหุ้นของบริษัทตกลงไปถึงจุดต่ำสุดที่ 6.20 บาท
แต่เมื่อดูในส่วนของสภาพการเงินกลับพบว่า มีสภาพคล่องดี
ที่สำคัญยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะติดเรื่องการก้าวเข้าสู่ตลาดออนไลน์เล็กน้อย
1
ซึ่งภายใต้การบริหารของคุณชนัญญารักษ์ ก็ดูจะสร้างผลลัพธ์และความมั่นใจให้กับนักลงทุนไปไม่น้อย
จนทำให้ราคาหุ้นกลับไปสูงสุดถึง 12.40 บาท เพิ่มขึ้นมา 100% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเริ่มสงสัยกันแล้ว
ว่าคุณชนัญญารักษ์มีวิธีการบริหารจัดการองค์กรอย่างไร ?
1
เธอเล่าว่าด้วยความที่หลังจากเรียนจบ คุณชนัญญารักษ์ก็มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับ CEO
ทำให้มุมมองการทำงานเป็นแบบผู้บริหารมาโดยตลอด
1
โดยสิ่งที่คุณชนัญญารักษ์ เริ่มทำเป็นอย่างแรก หลังจากเข้าสู่องค์กรใหม่ก็คือ “การรับฟัง”
2
เพราะมองว่า เธอไม่ได้รู้จักอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก่อน
ดังนั้นไม่ว่าเราจะเก่งมาจากที่ไหน ก็ต้องมาฟังผู้ที่มีประสบการณ์
เพื่อที่จะได้รู้ว่าบริษัทมีจุดแข็งอะไร หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับ มาคิดต่อยอดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ
1
อย่างไรก็ตาม หน้าที่หลักของ CEO ก็คือการทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปตามแผนที่วางไว้ให้ได้
เพราะจริง ๆ กลยุทธ์ที่ร่างกันขึ้นมา มันมักจะไม่ผิดอยู่แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่การนำไปปฏิบัติต่างหาก
4
และการที่จะทำให้สำเร็จตามแผน ก็คงจะอาศัยเพียงตัวคนเดียวไม่ได้
ดังนั้นสิ่งที่คุณชนัญญารักษ์ทำ ก็คือ การปรับทีมภายในองค์กร
โดยหนึ่งในวิธีที่คุณชนัญญารักษ์ นำมาใช้ก็คือ การบริหารแบบทีมฟุตบอล
เนื่องจากเธอเคยมีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ตอนระหว่างช่วงพักของการแข่งขัน
ที่โค้ชจะมี การปรับเปลี่ยนแผนการและตัวผู้เล่น
เธอได้ถามโค้ชว่ารู้ได้อย่างไร ว่าปรับแล้วจะดีหรือไม่
ซึ่งคำตอบที่คุณชนัญญารักษ์ ได้รับมาก็คือ ไม่รู้
แต่เขาทำได้แค่เพียงเปิดรับทุกโอกาสเท่าที่จะทำได้
และถ้าไม่สำเร็จก็แค่ปรับเปลี่ยนผู้เล่นคนอื่นลงไป
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ สมาชิกทุกคนจะต้องเล่นให้ “เข้าขา” กันก่อน
และผู้นำก็ต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจน ทีมจึงจะยอมเดินตาม และเดินไปในทิศทางเดียวกัน
2
โดยหลังจากฟังปัญหาจากภายนอกแล้ว ก็ต้องเข้ามาดูว่าภายในมีปัญหาอะไรบ้าง
พนักงานติดขัดอะไร หรือมีส่วนไหนที่ทำแล้วไม่สะดวก ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ
1
และเมื่อพนักงานทำงานอย่างมีความสุขแล้ว เดี๋ยวมันจะสะท้อนออกมาทางผลประกอบการเอง
2
ซึ่งเรื่องนี้คุณชนัญญารักษ์ ก็เคยแนะนำเอาไว้ว่า
ให้ลองนำทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ มาใช้ในการบริหารคน
2
เริ่มจากให้ความต้องการขั้นพื้นฐาน อย่างมอบเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี
รวมถึงจัดให้มีการเลี้ยงสังสรรค์ปาร์ตี แต่ทำให้มีความแตกต่าง สร้างความตื่นเต้นให้กับพนักงาน
1
ต่อมาก็ทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem)
โดยจัดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถแสดงออก หรือโชว์ผลงานได้
1
สุดท้ายคือการให้ Self Actualization หรือการบรรลุเป้าหมายในชีวิต
ด้วยการผลักดันให้พนักงานทำเรื่องที่ถนัดจริง ๆ และพัฒนาจุดแข็งของพวกเขา
1
และเมื่อตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานได้แล้ว
การจะทำให้พวกเขาเดินไปพร้อมกับองค์กรก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
1
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งแนวคิดจากคุณชนัญญารักษ์
Old Mindset + Technology = Old and Expensive Organization
5
ซึ่งเรื่องนี้จริง ๆ แล้วก็คล้ายกับคุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ หรือคุณนก
CEO คนปัจจุบันของ Sea ประเทศไทย ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 4,000 ชีวิต
โดยคุณนกกล่าวว่า ไม่ว่าบริษัทจะหาเทคโนโลยีล้ำยุคแค่ไหนมาใช้
แต่ถ้าไม่มี “คน” ที่เหมาะสม สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นเพียงอุปกรณ์ที่วางอยู่เฉย ๆ
1
ดังนั้นสุดท้ายแล้ว หนึ่งในหัวใจของการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
อาจจะต้องเริ่มจากภายใน อย่างการบริหารคน ก็เป็นได้..
1
โฆษณา