25 พ.ค. 2021 เวลา 14:59 • ประวัติศาสตร์
• แปลก-เผ่า-สฤษดิ์ |
ศึกสามเส้าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ย้อนกลับไปในปี 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยอีกครั้ง ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 6 เมษายน 2491 โดยฝีมือของกลุ่มนายทหารที่นิยมในตัวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
การรัฐประหารได้ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจในทางการเมืองอีกครั้งหนี่ง ภายหลังจากที่สูญเสียอำนาจไปให้กับนักการเมืองสายเสรีประชาธิปไตยของนายปรีดี พนมยงค์ ในปี 2487 หลังจากนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพวกจะกุมอำนาจทางการเมืองในไทยตั้งแต่ปี 2491 จนถึง 2500
แม้จะดูเหมือนว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีความเข็มแข็งและเป็นหนึ่งเดียว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจในปี 2494) แต่ในความเป็นจริงแล้วภายในรัฐบาลก็ได้เกิดความแตกแยกและแย่งชิงอำนาจกันเอง
ซึ่งกลุ่มอิทธิพลที่อยู่ภายในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นี้ ก็มีอยู่หลากหลายกลุ่มด้วยกัน แต่มีอยู่เพียงแค่ 2 กลุ่มเท่านั้นที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด
โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของทหารบกมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ
ส่วนกลุ่มที่สองก็คือกลุ่มซอยราชครู ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของตำรวจ ที่มีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้นำ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (ซ้าย) และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ผู้นำกลุ่มซอยราชครู (ขวา)
กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพลสฤษดิ์กับกลุ่มซอยราชครูของพลตำรวจเอกเผ่า ได้แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงอำนาจทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงด้านสังคม โดยที่มีจอมพล ป. ในฐานะ "พี่ใหญ่" ของทั้งสองค่อยประนีประนอมและถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน
ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า "ยุคการเมืองสามเส้า" อันเกิดจากการถ่วงดุลและแย่งชิงอำนาจระหว่างจอมพล ป. , จอมพลสฤษดิ์ และพลตำรวจเอกเผ่า
นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวก็นับเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยจึงให้การสนับสนุนรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างเต็มที่เพื่อต่อต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ตาม "ทฤษฎีโดมิโน่"
2
ดังนั้นรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีความสัมพันธ์ "ที่ดีเยี่ยม" กับสหรัฐอเมริกา และไทยเองก็ได้ตกอยู่ภายใต้ "เงาของพญาอินทรี" อย่างปฏิเสธไม่ได้
2
จอมพล ป. พิบูลสงคราม จับมือกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในพิธีเปิดถนนมิตรภาพในปี 2500
สหรัฐอเมริกานอกจากจะสนับสนุนรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว สหรัฐอเมริกาก็นับเป็นตัวละครสำคัญในการต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างกลุ่มสี่เสาเทเวศร์กับกลุ่มซอยราชครู
กล่าวคือสหรัฐอเมริกามีความต้องการที่จะเข้ามาลงทุนและทำการค้ากับไทย แต่ทว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น กลับเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบ "ชาตินิยม" (ซึ่งดำรงมาตั้งแต่ปฏิวัติสยาม 2475) อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นเฉพาะภายในประเทศและยุ่งเกี่ยวกับต่างชาติน้อยมาก
1
เมื่อเป็นเช่นนี้สหรัฐอเมริกาจึงเริ่มมีท่าทางที่จะ "เปลี่ยนข้าง" จากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มการเมืองใหม่ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถสร้างผลประโยชน์อย่างมหาศาลในประเทศไทยได้
1
กลุ่มการเมืองที่สหรัฐอเมริกาจับตามองอยู่นี้ก็หนีไม่พ้นกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพลสฤษดิ์ และกลุ่มซอยราชครูของพลตำรวจเอกเผ่า สหรัฐอเมริกาจึงจับตามองอย่างเงียบ ๆ ว่าใครจะเป็นฝ่ายมีชัยในการต่อสู้ครั้งนี้
สำหรับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์นั้นมีฐานอำนาจสำคัญก็คือทหารบก และมีแหล่งเงินทุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์กุมอำนาจไว้อยู่ ในขณะที่กลุ่มซอยราชครูที่แม้ว่าจะมีฐานอำนาจเป็นตำรวจ แต่ซอยราชครูกลับมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมายอย่างการค้าฝิ่นเถื่อน
8
ดังนั้นทั้ง 2 กลุ่มจึงต่างพากันเปิดโปงซึ่งกันและกันโดยการใช้หนังสือพิมพ์ของฝ่ายตนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ โดยกลุ่มซอยราชครูก็ได้แฉการทุจริตภายในกองฉลากฯ ของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ในขณะที่ฝ่ายกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก็แฉธุรกิจผิดกฎหมายของกลุ่มซอยราชครู
3
ผลสุดท้ายศึกการเมืองสามเส้าที่ดำรงมาเกือบ 10 ปี ก็ได้สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ จากการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. โดยฝีมือของจอมพลสฤษดิ์ในวันที่ 16 กันยายน 2500
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์เป็นฝ่ายมีชัย ก็มาจากการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่มองว่าจอมพลสฤษดิ์มีนโยบายและแนวคิด "ที่ตรงใจ" กับสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงผลพวงจากการ "เลือกตั้งสกปรกปี 2500" ที่จอมพล ป. เป็นฝ่ายชนะท่ามกลางเสียงต่อต้านจากประชาชน
1
และที่สำคัญก็คือการสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษนิยมและกลุ่ม "นิยมเจ้า" ที่ไม่พอใจรัฐบาลจอมพล ป. เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และต้องการที่จะกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
การรัฐประหารในปี 2500 ทำให้จอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่าผู้นำกลุ่มซอยราชครูต้องลี้ภัยและไปเสียชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ส่วนการเมืองไทยก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจกลุ่มการเมืองของจอมพลสฤษดิ์และพวก (อาทิ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร) เป็นระยะเวลานานเกือบ 2 ทศวรรษ
1
สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส
*** Reference
- หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500 อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1
#HistofunDeluxe
โฆษณา