29 พ.ค. 2021 เวลา 18:28 • ธุรกิจ
ทำไมธุรกิจชานมไข่มุกถึงเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด?
ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่า ร้านชานมไข่มุกได้กระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง ทั้งร้านชานมไข่มุกท้องถิ่น และร้านชานมไข่มุกแบบเฟรนส์ชาย แต่ทุกร้านก็ไม่ได้มีเมนูเหมือนกันทุกอย่าง มีความแตกต่ากันในเรื่อง รสชาติ จุดเด่นของไข่มุก หรือเมนูเด่นประจำร้านที่ช่วยดึงดูดลูกค้าให้หลั่งไหลเข้ามา
แน่นอนว่าเหตุผลที่ร้านชานมไข่มุกเกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากความต้องการของลูกค้าที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ร้านที่วางแผนการตลาดและชูจุดเด่นของตนเองให้ผู้บริโภครับรู้ได้ ยังคงมียอดขายได้เรื่อยๆ
แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ที่ทำให้เกิดคู่แข่งของร้านชาไข่มุกตลอดเวลา คือ อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) ของชานมไข่มุกค่อนข้างต่ำ ซึ่งการที่อุปสรรคที่ต่ำเหล่านี้ทำให้คู่แข่งใหม่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด (Market Shear)ได้ง่าย หรืออย่างน้อยก็ทำให้ยอดขายของร้านลดลงชั่วขณะหนึ่ง
จากแนวคิดการวิเคราะห์แรงกระทบที่มีผลต่อตลาด (Five Force Model) โดย Michael E. Porter ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิด อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) ได้แก่
1. การประหยัดโดยขนาด (Economy of Scale)
2. การสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation)
3. ความต้องการเงินทุน (Capital Requirements)
4. ต้นทุนการเปลี่ยนของผู้ขาย (Switching Costs)
5. การเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่าย (Access to Distribution Channels)
6. ข้อเสียเปรียบทางต้นทุนที่ไม่ขึ้นอยู่กับขนาด (Cost Disadvantages Independent of Scale)
7. นโยบายของรัฐมีอิทธิพลต่อการประกอบการแข่งขันของธุรกิจ (Government Policy)
เริ่มจากการประหยัดโดยขนาด (Economy of scale) หากพูดง่ายๆ คือเมื่อเราผลิดสินค้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง การเปิดร้านชานมไข่มุกจะต้องกำหนดส่วนผสมในสัดส่วนที่คงที่เสมอเพื่อให้ได้รสชาติเดิม นอกจากวัตถุดิบยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการดำเนินงานเป็นหลัก ดังนั้นหากต้องผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในแต่ละวันก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนไปด้วย ทำให้ร้านชานมไข่มุกมีการประหยัดโดยขนาดค่อนข้างน้อย
การสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation) สำหรับร้านชานมไข่มุกการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของลูกค้าจะจำเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้คู่แข่งที่เข้ามาใหม่ดึงลูกค้าไปได้ง่ายๆ รวมถึงสูตรการทำชานมไข่มุก แต่ถึงแม้ว่าร้านชานมไข่มุกจะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ได้ แต่ลูกค้าก็ยังคงสามารถเปลี่ยนใจไปซื้อชานมไข่มุกร้านใหม่ได้ง่ายๆ เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้ เป็นเครื่องดื่มที่สร้างความพึงพอใจ ลูกค้าสามารถทดลองรสชาติใหม่ๆได้ตลอดเวลา
ความต้องการเงินทุน (Capital Requirements) หรือก็คือจำนวนเงินทุนแรกเริ่มที่ใช้ในการเปิดร้านชานมไข่มุก จะสังเกตได้ว่าร้านชานมไข่มุกส่วนใหญ่จะเป็นร้านเล็ก หรือซุ้มเล็กๆตั้งอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะสำหรับนั่งทาน เมื่อเทียบกับการทำร้านอาหารที่นอกจากเครื่องครัวก็จะต้องมีพื้นที่สำหรับนั่งทาน จะเห็นได้ว่าความแตกต่างทางด้านค่าเช่าพื้นที่ต่างกันมาก เนื่องจากความต้องการเงินทุนที่น้อยกว่าของร้านชานมไข่มุกทำให้ ใครๆที่มีเงินทุนระดับหนึ่งจึงสามารถเปิดร้านได้ง่ายกว่าธุรกิจอื่นๆ
ต้นทุนการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าใหม่ๆ (Switching Costs) หรือก็คือหากผู้บริโภคเปลี่ยนใจไปซื้อร้านชามนมไข่มุกร้านใหม่ ผู้ซื้อจะเสียโอกาสอะไรไปบ้าง จากการสังเกตวิธียอดฮิตที่ร้านชานมไข่มุกส่วนมากใช้กันคือบัตรสะสมแต้มในการดึงลูกค้า หากลูกค้าตัดสินใจไปซื้อร้านอื่นก็จะไม่สามารถแลกแต้มเป็นแก้วฟรีได้ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มที่สร้างความพึงพอใจ ที่ลูกค้าพร้อมจะเปลี่ยนไปทดลองสินค้าใหม่ๆได้เสมอ บวกกับราคาของชานมไข่มุกถูกมากสำหรับผู้ที่กินเป็นประจำ จนไม่จำเป็นต้องซื้อ 10 แก้ว เพื่อให้ได้ฟรี 1 แก้ว สรุปแล้วร้านชานมไข่มุกมีต้นทุนการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าใหม่ๆ ค่อนข้างต่ำ ทำให้ดึงลูกค้าได้ยาก
การเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่าย (Access to Distribution Channels) แน่นอนว่าช่องทางการขายชานมไข่มุก จะเป็นแบบขายปลีก เราจะเห็นได้ว่าแทบทุกพื้นที่จะไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องมีร้านชานมไข่มุกเพียงร้านเดียว หรือพูดง่ายๆว่าส่วนใหญ่ไม่มีการผูกขาดการขายชานมไข่มุกให้มีเพียงร้านเดียว ดังนั้นการเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายจึงค่อนข้างเข้าง่ายสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่
ข้อเสียเปรียบทางต้นทุนที่ไม่ขึ้นอยู่กับขนาด (Cost Disadvantages Independent of Scale) หรือข้อเสียเปรียบอื่นๆ เช่นประสบการณ์หรือสูตรการชงที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ไม่สามารถถ่ายทอดได้ง่าย ในที่กรณีของชานมไข่มุก หากใช้ระยะเวลาเรียนรู้ซักพัก โดยปรัสูตรจากในอินเตอร์ก็สามารถสร้างสูตรเฉพาะของทางร้านได้ง่าย ทำให้ข้อเสียเปรียบของคู่แข่งขันรายใหม่ที่จะเข้ามาไม่สูงนัก
นโยบายของรัฐมีอิทธิพลต่อการประกอบการแข่งขันของธุรกิจ (Government Policy) แน่นอนว่าธุรกิจชานมไข่มุก ไม่ได้มีข้อจำกัดในการเปิดร้าน เนื่องจากใ้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน และไม่ส่งผลต่อสังคม
สรุปแล้วก็คือ ธุรกิจชานมไข่มุกเกิดขึ้นมากมายเป็นเพราะ ไม่จำเป็นต้องผลิตในปริมาณมากเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูก ถึงแม้จะมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์อยู่บ้างแต่ก็จำเป็นต้องคิดค้นสินค้าใหม่เพื่อดึงดูดลูดค้าอยู่เสมอ อีกทั้งสามารถลงทุนได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงมาก ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์สูงมาก่อนก็สามารถเรียนรู้ได้ บวกกับเป็นธุรกิจที่ดึงดูดลูกค้าได้ง่าย ถ้าหากคุณภาพของชานมไข่มุกสูงกว่า และส่วนใหญ่ไม่มีการผูกขายพื้นที่การขาย และสุดท้ายไม่มีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย และภาครัฐ
เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้เกิดผู้แข่งขันรายใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยส่วนตัวเคยนับร้านชานมไข่มุกเรียงกันในระยะ 300 เมตร ได้ทั้งหมด 6 ร้าน ซึ่งถือว่ามากอยู่พอสมควร ทำให้ต้องขบคิดต่อไปว่าหากการแข่งขันเข้มข้นขึ้น จะต้องมีผู้แพ้ออกไปจากตลาดแน่นอน แล้วปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้ผู้แข่งขันสามารถรักษาตำแหน่งผู้ชนะไว้ได้?
แหล่งอ้างอิง
แนวคิดและทฤษฎี Michael E. Porter Competitive Strategy เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์แรงกระทบที่มีผลต่อการตลาด (Five Force Model): https://iok2u.com/index.php/article/11-marketing/301-five-force-model
โฆษณา