25 พ.ค. 2021 เวลา 20:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วัฏจักรเศรษฐกิจกับราคาหุ้นและอัตราดอกเบี้ย
วัฎจักรเศรษฐกิจแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ช่วงวัฏจักร เฉลี่ยครบรอบวัฏจักรประมาณ 5-10 ปี แต่ละช่วงมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ การขยายตัวของตลาด และอื่นๆ ดังนี้ค่ะ
ลักษณะ ผลกระทบ และการสังเกตุแต่ละช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจ
1) ระยะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว (Early Recovery)
เป็นภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด เป็นช่วงที่ธุรกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆเริ่มปรับตัวดีขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการเริ่มขยับสูงขึ้น ราคาสินค้าจึงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบการมีมุมมองในสถานการณ์การลงทุนในมุมมองที่ดีขึ้น ส่งผลให้เริ่มมีการเพิ่มการผลิตและการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต้นทุนทางการเงินต่ำ เพื่อกระตุ้นการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
สามารถสังเกตระยะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้จากค่า GDP Growth ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น
2) ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว (Full Recovery) หรือ ระยะเฟื่องฟูรุ่งเรือง (Peak)
เป็นภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจช่วงฟื้นตัว และก้าวสู่ช่วงขยายตัว เป็นช่วงที่ถึงจุดสูงสุดของวัฏจักร ระบบเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการผลิต การบริโภค และการจ้างงาน ประชาชนจึงมีรายได้สูงขึ้น ความสามารถในการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการมีกำไรและมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเป็นอย่างมาก ธุรกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สามารถสังเกตระยะเศรษฐกิจระยะเฟื่องฟูรุ่งเรืองได้จากค่า GDP Growth ที่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า หลังจากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น
3) ระยะเศรษฐกิจเริ่มถดถอย (Early Recession)
เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว หลังจากเศรษฐกิจมีความเฟื่องฟูรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ มีการขยายการลงทุนอย่างเต็มที่ และมีการผลิตอย่างเต็มที่ ทรัพยากรการผลิตจึงเริ่มมีการขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ หรือแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจต่างๆเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในการลงทุน ผลประกอบการธุรกิจเริ่มตกต่ำลง การผลิตและการจ้างงานจึงลดลง ประชาชนจึงมีรายได้ลดลง ความสามารถในการซื้อขายลดลง
สามารถสังเกตระยะเศรษฐกิจเริ่มถดถอยได้จากค่า GDP Growth ที่มีการปรับตัวลดลงติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส หาก GDP Growth ปรับตัวลดลง แต่ไม่ถึงกับติดลบ ก็จะเป็นแค่ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจเท่านั้น อัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้อยู่ในระดับที่สูง อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ
4) ระยะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มที่ (Full Recession) หรือ ระยะตกต่ำ (Depression)
เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหดตัวอย่างเต็มตัว เป็นช่วงที่ธุรกรรมทางเศรษฐกิจแตะระดับต่ำที่สุด ผู้ประกอบการไม่มีความมั่นใจในผลตอบแทนที่จะได้รับว่าคุ้มกับความเสี่ยงในการลงทุนหรือไม่ ผู้ประกอบการจึงลดการผลิตและการจ้างงาน ประชาชนรายได้ลดลงความสามารถในการซื้อสินค้าบริการที่มีความสิ้นเปลืองต่ำ
สามารถสังเกตเศรษฐกิจระยะตกต่ำได้จากค่า GDP Growth ที่มีการหดตัวจนทำจุดต่ำสุด อัตราการว่างงานถึงจุดสูงสุด อัตราเงินเฟ้อค่อยๆปรับตัวลดลง อัตราดอกเบี้ยค่อยๆปรับตัวลดลง จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย
โฆษณา