26 พ.ค. 2021 เวลา 04:38 • ท่องเที่ยว
ชุมชนบ้านกุฎีจีน วิถีชีวิตที่เปี่ยมเอกลักษณ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ในวันฟ้าใส อากาศสบายๆ ก่อนโควิดระลอกสามจะระบาด เรามีโอกาสได้นั่งเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยา... ถึงอากาศจะค่อนข้างร้อน แต่การโดยสารเรืองที่มีลมพัดมาปะทะร่างกายในยามที่เรือแล่นก็เป็นความรู้สึกดีๆเสมอ
ทิวทัศน์ที่สวยงามหลายแห่งผ่านเข้ามาในสายตา .. ผ่านบ้านเรือนและชุมชนริมน้ำ เป็นการผ่อนคลายที่น่ารื่นรมย์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้เรามีจุดหมายปลายทางในการไปเยือนชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมาตั้งแต่กว่า 200 ปีที่แล้ว ในสมัยกรุงธนบุรี
เรือเทียบท่า ... เราเดินตามทางเดินคอนกรีตริมน้ำ มุ่งหน้าไปยังสถานที่สอง-สามแห่ง ตามมาชมกันนะคะ
โบสถ์ซางตาครูส
โบสถ์ซางตาครู้ส หรือ วัดกุฎีจีน (อังกฤษ: Santa Cruz Church) ... เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่มีอาคารแบบสถาปัตยกรรมเรอเนซองส์และนีโอคลาสสิกที่สวยงามแห่งหนึ่ง ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ซางตาครูส เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ... เป็นศาสนสถานที่สำคัญที่อยู่คู่กับชุมชนกุฎีจีนเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบริเวณที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม
ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานที่ดินให้แก่ชาวโปรตุเกสซึ่งร่วมทำการศึกต่อต้านพม่าจนได้รับชัยชนะ เพื่อให้เป็นศาสนสถานของชาวโปรตุเกสที่อพยพมาจากอยุธยาตั้งแต่เมื่อปี เมื่อ พ.ศ. 2312 จึงถือว่าเป็นวัดคริสต์ที่มีความเก่าแก่มาก
นักบวชชาวโปรตุเกสจึงได้เริ่มก่อสร้างอาคารวัดหลังแรกที่สร้างด้วยไม้ทั้งหมดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2313 ... ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชนในปี พ.ศ. 2376 ทำให้อาคารวัดพังเสียหายทั้งหมด จึงต้องก่อสร้างใหม่ด้วยอิฐถือปูน และได้ก่อสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งคืออาคารวัดหลังที่เห็นในปัจจุบัน
อาคารของโบสถ์แห่งนี้เป็นอาคารหลังที่สาม ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารวัดหลังเดิมที่คับแคบและชำรุดทรุดโทรมมาก โดยมีคุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดา ครู้ส เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2459 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2539 โดยมีคุณพ่อศวง ศุระศรางค์ เป็นผู้ริเริ่มเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป ปัจจุบันวัดหลังนี้มีอายุรวมแล้ว 104 ปี
โครงสร้างอาคารของวัดซางตาครู้สเป็นแบบโบราณ คือใช้ผนังอาคารทั้งสองด้านรับน้ำหนักของหลังคา และใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดาน
อาคารวัดซางตาครู้สเป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกเช่นเดียวกับอาสนวิหารอัสสัมชัญ มีจุดเด่นที่ยอดโดมแบบอิตาลีซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับโดมแห่งมหาวิหารฟลอเรนซ์หรือโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม
ภายในเป็นอาคารชั้นเดียว มีจุดเด่นอีกประการคือ การใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดานแบบโค้ง มีกระจกสีประดับ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา
นอกจากอาคารวัดที่สำคัญแล้ว ยังมีศาลาซางตาครู้สซึ่งสร้างเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกันคือประมาณปี พ.ศ. 2453 เป็นศาลาทรงวิกตอเรีย ขนมปังขิง มีจตุรมุข 4 ด้าน แต่ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องเครนที่มาก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำ ตักมาถูกตัวศาลาจนเสียหายหนัก
ชุมชนบ้านกุฎีจีน
ชุมชนกุฎีจีน หรือ “กะดีจีน” เป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงก่อตั้งกรุงธนบุรี แม้จะเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้วที่ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสได้ตั้งรกรากกันมา แต่เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนได้ถูกส่งต่อผ่านลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งในแง่ของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างชาวพุทธ ชาวคริสต์ และชาวอิสลาม รวมไปถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาวไทย และพ่อค้าชาวจีนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน
ชุมชนบ้านกุฎีจีน .. เป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถึงแม้จะเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ทว่าในความเป็นจริง ชุมชนแห่งนี้คือที่อยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและศาสนา ด้วยเหตุที่มีทั้งชาวไทย ชาวจีน มุสลิม รวมถึงชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ..
แม้ว่าชุมชนแห่งนี้จะแตกต่างกันด้วยศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม .. แต่ภายใต้ความแตกต่างนั้นกลับเป็นการหล่อหลอม ผสมผสานวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกลักษณ์ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเต็มไปด้วยความเอื้ออารี ความสามัคคี และความเป็นหนึ่งเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความเป็น “พหุสังคม” ที่เป็นเอกลักษณ์ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
คำว่า ‘กุฎี’ .. เชื่อว่ามีที่มาจากคำว่า ‘กะดี’ ซึ่งหมายถึงโรงที่ประชุมทำพิธีฝ่ายศาสนาอิสลาม หรือศาสนสถานของชาวมุสลิม โดยสันนิษฐานว่าคำนี้น่าจะมีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเดินทางมาสู่ราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี กาลเวลาผ่านไป จาก ‘กะดี’ ก็แปรเปลี่ยนเป็น ‘กระดีย์’ และ ‘กะฎี’ กระทั่งกลายเป็น ‘กุฎี’ ในที่สุด เมื่อรูปเปลี่ยน ความหมายของคำก็แปรเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยมีความหมายถึงที่อยู่ของนักบวชหรือพระภิกษุ ซึ่งทำให้คำว่า ‘กุฎี’ ที่ปรากฏอยู่ในเมืองธนบุรี มีความหมายถึงศาสนสถานในทุกศาสนา
"ชุมชนกุฎีจีน" ... เป็นพื้นที่ที่มีตรอกซอกซอยมากมายให้ได้เดินสำรวจ พร้อมลวดลายภาพวาดกราฟฟิตี้บนผนังที่มีให้เห็นอยู่ตลอดทาง นอกจากนี้ระหว่างทางเราจะได้เห็นบ้านไม้เก่าสุดคลาสสิกอีกด้วย ความเก่าแก่ และดั้งเดิมของชุมชน เราสามารถรู้สึกได้ในทุกย่างก้าวที่เดินผ่าน
ขนมฝรั่งกุฎีจีน .. ว่ากันว่า เป็นขนมอีกชนิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากขนมโปรตุเกสอื่นๆ อย่าง ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ที่เรารู้จักกันดี ส่วนที่แตกต่างกันก็คือ ขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้เป็นขนมอบ มีส่วนผสมหลักๆ 3 อย่างคือ แป้งสาลี ไข่เป็ด และน้ำตาลทรายค่ะ แต่จะมีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือมี ลูกพลับอบแห้ง ลูกเกด หรือฟักเชื่อม มาแปะลงบนหน้าขนม
... ร้านดังของที่นี่ก็คือ ร้านธนูสิงห์ ซึ่งเป็นร้านขนมที่ยังคงอนุรักษ์กรรมวิถีและอุปกรณ์ตามแบบโบราณ และสืบทอดความอร่อยในการทำขนมฝรั่งกุฎีจีนกันมาถึง 5 รุ่นแล้ว
พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
"พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน" พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมความเป็นมาอันเก่าแก่ของชุมชนชาวสยาม-โปรตุเกส ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียนม ประเพณี ภาษา ศาสนา รวมถึงต้นกำเนิดของชาวชุมชนกุฎีจีน
เจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เป็นคนในชุมชนมาตั้งแต่ดั้งเดิมและโดยกำเนิด มีความรักและภาคภูมิใจความเป็นตัวตนของชุมชนมาก จึงสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมาด้วยทุนส่วนตัว และเปิดให้เข้าชมฟรีในวันอังคาร - วันอาทิตย์
บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ .. ตกแต่งและทาสีตามแบบดั้งเดิมของบ้านในชุมชนสมัยแรก มีมุมสบายๆในบรรยากาศเหมือนนั่งอยู่ในสวนหลังบ้าน
ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ ... ได้รับการดัดแปลงให้เป็นมุมกาแฟและเครื่องดื่มที่เปิดให้ผู้มาเยือนได้นั่งพัก จิบเครื่องดื่มที่ชอบให้ความเย็นของเครื่องดื่มไล่และบรรเทาความร้อนอบอ้าวจากการเดินในชุมชน รวมถึงมีพื้นที่ของร้านขายของที่ระลึก อันเป็นการหารายได้มาจุนเจือพิพิธภัณฑ์อีกทางหนึ่ง
บรรยากาศและกลิ่นอายของบ้านดั้งเดิมของชุมชน ... เมื่อผ่านเข้าไปจะรู้สึกได้โดยง่ายผ่านสิ่งของต่างๆรุ่นโบราณเมื่อคุณยายยังสาว ที่วางตกแต่งตามมุมต่างๆของของบ้านหลังนี้
ด้านในของชั้นล่าง ... เป็นโซนให้บริการอาหาร
ส่วนที่ชอบเป็นพิเศษ คือ ที่นั่งรับประทานในสวนที่มีบ่อปลาเล็กๆ และต้นไม้ที่ออกดอกสีม่วงสวย ห้อยเป็นระย้าลงมา
มองเห็นรูปพระแม่มารีอยู่ในอีกมุมหนึ่งของสระน้ำ สร้างความร่มเย็นในจิตใจของผู้ได้มอง
ชั้นที่สองของบ้าน ... เป็นโซนของพิพิธภัณฑ์ที่แสดงประวัติศาสตร์ เรื่องราวของชุมชนชาวสยาม-โปรตุเกส ... รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของชาวโปรจุเกสที่ได้เข้ามาอาศัยตั้งแต่ครั้งอดีต
บริเวณทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ .. จัดแสดงข้อมูลและประวัติของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาทำการค้าขาย ร่วมรบ และตั้งรกรากในสยามตั้งแต่ครั้งอดีต จนถึงปัจจุบัน
พื้นที่ส่วนของการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในสยามในอดีต รวมถึงโมเดลจำลองของเรือสินค้าที่เข้ามาค้าขายกับสยามในสมัยโบราณ
บริเวณชั้นสามของพิพิธภัณฑ์ ... จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ในอดีตของชุมชนชาวกุฎีจีน และชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งรกรากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงต้นของการตั้งถิ่นฐานของชุมชน
บรรยากาศที่ชั้นสาม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน
รูปภาพของชาวกุฎีจีนที่มีนิวาสสถานบ้านเรือน เป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 1957
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา