28 พ.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 25] ภาษาโปรตุเกสในฐานะ 'ภาษากลาง' ของการล่ามและแปลระหว่างภาษาตะวันตกกับภาษาไทยในอดีต
Portuguese as the 'Lingua Franca' for interpretation & translation between Western languages & Thai in the past
1
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 5 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของภาษาโปรตุเกสต่อภาษาไทย ในฐานะที่ภาษาโปรตุเกสเคยเป็นหนึ่งใน “ภาษากลาง” (Lingua Franca) ในการติดต่อระหว่างสยามกับชาติตะวันตก ในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งสมัยนั้นมีการแปลโดยตรงระหว่างภาษาอังกฤษ-ภาษาไทย หรือภาษาฝรั่งเศส-ภาษาไทยไม่มาก
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
แสตมป์ที่ระลึกครบรอบ 500 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-โปรตุเกส ในปี ค.ศ.2011 [ที่มาของภาพ : http://beautifulstampsjah.blogspot.com/2014/02/portugal-thailand-joint-issue-2011-500.html ]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง "Amar Pelos Dois" เพลงบัลลาดภาษาโปรตุเกส โดย Salvador Sobral ศิลปินตัวแทนโปรตุเกสที่ชนะเลิศในการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2017 ที่กรุงเคียฟ ยูเครน โดยในคลิปนี้เป็นการร้องเพลงนี้โดย Go Eun Sung ศิลปินชาวเกาหลีใต้ในคอนเสิร์ตของช่อง KBS เมื่อปี ค.ศ.2018 พร้อม Subtitle เนื้อเพลงภาษาโปรตุเกส
ตั้งแต่ที่ชาวโปรตุเกสได้เดินทางมาทางเรือถึงสยาม (อยุธยา) ในปี ค.ศ.1511 ช่วงแรกเริ่มของความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกส (ผ่านการแผ่อิทธิพลบริเวณช่องแคบมะละกาของโปรตุเกสเพื่อควบคุมเส้นทางการค้า) โปรตุเกสเคยใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในการล่ามแปลภาษาระหว่างการเจรจาและแปลเอกสารทางการทูตกับสยาม รูปแบบการล่ามในช่วงนั้นจึงมีขั้นตอนเป็น “ภาษาโปรตุเกส-ภาษามลายู-ภาษาไทย”
1
แผนที่เมืองมะละกา (Malacca) ในระยะเวลาไม่นาน หลังโปรตุเกสเข้ายึดครองเมืองท่าบนคาบสมุทรมลายูแห่งนี้ในปี ค.ศ.1511 วาดโดย Gaspar Correia
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวโปรตุเกสที่เข้ามายังสยามจะเน้นที่การค้าขาย การเผยแผ่ศาสนา การเข้ามาเป็นทหารรับจ้าง ซึ่งภาษาโปรตุเกสก็มากับชาวโปรตุเกสกลุ่มนี้กลายมาเป็นภาษาทางการทูตกับชาติตะวันตกของสยามในเวลาต่อมา เนื่องด้วยสาเหตุดังนี้
- โปรตุเกสเป็นมหาอำนาจทางทะเลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 และบนเส้นทางการค้าทางทะเลในแถบเอเชียแปซิฟิกที่สยามตั้งอยู่ระหว่างจีนกับอินเดีย มีอาณานิคมของโปรตุเกสจำนวนมากตามเส้นทางนี้ เช่น มาเก๊า (จีน) มะละกา (มลายู) ศรีลังกา กัว (อินเดีย) ก่อนที่เนเธอร์แลนด์และอังกฤษจะเข้ามาแย่งอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ภาษาโปรตุเกสถูกใช้เป็นภาษาในการติดต่อค้าขายตามเมืองท่าแถบเอเชียแปซิฟิก
แผนที่แสดงเส้นทางการค้าการเดินเรือในภูมิภาคตะวันออกไกลของโปรตุเกส ในช่วง ค.ศ.1580 ตั้งแต่พื้นที่ใต้อิทธิพลโปรตุเกสอย่างชายฝั่งทางทางตะวันตกและทางใต้ของอินเดีย โดยมีศูนย์กลางของอิทธิพลโปรตุเกสที่เมืองกัว (Goa) เกาะศรีลังกา เมืองมะละกาในคาบสมุทรมลายู มาเก๊าทางตอนใต้ของจีน และสถานีการค้าของโปรตุเกสที่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่น
- ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับสยามโดยรวมค่อนข้างราบรื่นมาตลอด แม้ว่าจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ก็ไม่เคยขัดแย้งกับทางราชสำนักสยามรุนแรงถึงขั้นเกิดการขับไล่ (แบบชาวญี่ปุ่นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง หรือชาวฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) อีกทั้งหลังสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 โปรตุเกสก็เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่กลับมาติดต่อกับสยาม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสขาดตอนไปไม่นาน และมีมายาวนานจนครบรอบ 500 ปีในปี ค.ศ.2011
- ชาวโปรตุเกสในสยามมีแนวโน้มมีปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นมากกว่า ทั้งการค้าขาย การแต่งงานกับคนท้องถิ่นและตั้งรกรากอยู่ที่สยาม (เมื่อเทียบกับเนเธอร์แลนด์ที่เน้นการค้าอย่างเดียว หรืออังกฤษ ฝรั่งเศส สเปนที่ไม่ได้ติดต่อกับสยามสมัยอยุธยาต่อเนื่องนานเท่าโปรตุเกส) ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส
ในสมัยก่อน มีคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่รับราชการเป็นล่ามในกรมท่า สังกัดกรมพระคลัง และชุมชนไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่ตั้งอยู่ใกล้พระนคร ทั้งในสมัยอยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ทำให้มีสยามมีล่ามภาษาโปรตุเกสของตนมาต่อเนื่องนับร้อยปี ปัจจุบันยังคงมีชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสอยู่ที่ชุมชนกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี
ตัวอย่างชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสจากชุมชนกุฎีจีนในอดีต อย่างนางแองเจลินา ทรัพย์ ภรรยาของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษที่ตั้งร้านค้าในบางกอก และนายฟรานซิส จิตร ช่างภาพอาชีพชาวไทยคนแรก
ภาษาโปรตุเกสเป็น “ภาษากลาง” ทางการทูตระหว่างสยามกับชาติตะวันตกถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่สยามจะเปลี่ยนไปใช้ภาษาอังกฤษแทนในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากพระองค์ทรงเคยศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีชาวตะวันตกในบางกอก เริ่มมีการสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยาม และอิทธิพลความเป็นมหาอำนาจของอังกฤษในการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงนั้น
สำหรับตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลางทางการทูตระหว่างสยามกับชาติตะวันตก ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดูได้จากเอกสารทางการทูตและการค้าขายระหว่างสยามกับอังกฤษ ดัตช์ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และเดนมาร์ก
1
แผนภาพแสดงรูปแบบการล่ามและแปลภาษาจากภาษาตะวันตก (อังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์) เป็นภาษาไทย ในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยใช้ภาษาโปรตุเกสกับภาษามลายูเป็น "ภาษากลาง"
1) อังกฤษ
หนังสือเกี่ยวกับการค้าขายที่ส่งจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East Indies Company) ในเมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย) ที่ส่งถึงราชสำนักสยาม (อยุธยา) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1624 ต้องผ่านการแปลเป็นภาษาโปรตุเกสไว้
ภาพจากต้นฉบับที่ Records of the relations between Siam and foreign countries in the 17th century, vol 1: 1607-1632 (หน้า 160) ในเวบไซต์ https://archive.org/details/in.gov.ignca.10644/page/n188/mode/1up
เมื่อเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การล่ามแปลภาษาเพื่อการติดต่อระหว่างสยามกับอังกฤษจะใช้ภาษาโปรตุเกสร่วมกับภาษามลายู เพราะทั้งฝั่งสยามและฝั่งอังกฤษไม่มีล่ามแปลภาษาอีกฝ่ายโดยตรง
ตัวอย่างเช่น ในสนธิสัญญาเบอร์นีย์ สัญญาทางการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษในปี ค.ศ.1826 มีเนื้อความปรากฏใน 4 ภาษา (ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาโปรตุเกส และภาษาอังกฤษ) โดยแต่ละฝ่ายจะมีล่ามแปลภาษา ดังนี้
- ฝ่ายสยาม : ใช้ล่ามภาษามลายู (ขุนนางสยามคนมุสลิมที่ใช้ภาษามลายูได้ หรือจากกรมท่า) กับล่ามภาษาโปรตุเกสคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส (จากกรมท่า)
- ฝ่ายอังกฤษ : ใช้คนมลายูจากดินแดนอาณานิคมหรือคนอังกฤษที่ใช้ภาษามลายูได้ ซึ่งอังกฤษกับโปรตุเกสเป็นชาติพันธมิตรในยุโรปมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 การติดต่อและความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษ-โปรตุเกสอาจส่งผลให้ฝ่ายอังกฤษมีคนใช้ภาษาโปรตุเกสได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ฝ่ายอังกฤษหันมาใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลางเพียงภาษาเดียวเพื่อติดต่อกับสยาม จากเนื้อความในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 29 อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรปว่า...
"อังกฤษเกิดรบกับพม่าครั้งแรกเมื่อปลายรัชกาลที่ 2 ครอเฟิดจะบอกข่าวการสงครามมาให้ไทยทราบ ต้องให้แปลหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกสเสียก่อน แล้วจึงส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ เพราะภาษามลายูถ้อยคำมีน้อย ไม่พอจะแปลความในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเข้าใจได้"
ภาพจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 29 อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (หน้า 82-84) สามารถดูได้ในเวบไซต์ https://books.google.co.th/books?id=D-AyAAAAMAAJ
ส่วนตัว “หนุ่มมาเก๊า” สันนิษฐานว่าเพราะในสมัยนั้น ภาษาโปรตุเกสมีคำที่มีรากศัพท์จากภาษาละตินร่วมกับภาษาอังกฤษเยอะกว่า และวัฒนธรรมอังกฤษ-โปรตุเกสใกล้เคียงกันมากกว่า (อย่างพื้นฐานจากเรื่องศาสนา การค้า การเมืองการปกครอง สังคม)
ขณะที่ภาษามลายูไม่มีรากร่วมกับภาษาอังกฤษเลย วัฒนธรรมอังกฤษ-มลายูไม่ได้ใกล้เคียงกัน คำยืมจากภาษาอังกฤษก็ยังไม่มาก คลังคำในภาษามลายูที่พอใช้เทียบเคียงภาษาอังกฤษในสมัยนั้นจึงน้อยกว่าภาษาโปรตุเกส การแปลข่าวสารที่เร่งด่วนกว่าเอกสารทางการทูตจึงต้องใช้ภาษาโปรตุเกสเพียงอย่างเดียวไปก่อน
2) เนเธอร์แลนด์ (ดัตช์)
ในจดหมายเกี่ยวกับการเข้าเฝ้ากษัตริย์อยุธยาของพ่อค้าชาวดัตช์ เมื่อปี ค.ศ.1629 กล่าวว่าการล่ามแปลภาษาในเอกสารทางการทูตจากฝ่ายสยามสู่ฝ่ายดัตช์ มีขั้นตอนเป็นรูปแบบ “ภาษาไทย-ภาษาโปรตุเกส-ภาษาดัตช์” หรือการล่ามแปลภาษาในเอกสารทางการทูตติดต่อระหว่างสยามกับเนธอร์แลนด์ก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.1628 มีขั้นตอนการแปลจากภาษาดัตช์เป็นภาษาไทยในรูปแบบ “ภาษาดัตช์-ภาษาโปรตุเกส-ภาษามลายู-ภาษาไทย”
แผนที่ของเนเธอร์แลนด์ แสดงกรุงศรีอยุธยา (ทับศัพท์ด้วยภาษาดัตช์ในสมัยนั้นว่า iudia) ช่วง ค.ศ.1650 กับตำแหน่งสถานีการค้าของดัตช์พร้อมที่พักอาศัย เรียกว่า "De logie" ในภาษาดัตช์ (The lodge ในภาษาอังกฤษ) ในแผนที่นี้จึงใช้คำว่า "Hollandze logie" (ที่พักอาศัยของชาวดัตช์) ขณะที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา มีคำภาษาดัตช์เขียนกำกับตัวเล็ก ๆ ว่า "Portugeezer Quartier" (พื้นที่ของชาวโปรตุเกส) แสดงตำแหน่งชุมชนชาวโปรตุเกส แผนที่นี้มาจากเอกสาร Gijsbert Heecq, Journael ofte Dagelijcxsz Aenteijkeninghe wegen de Notabelste Geschiedeniszen voorgevallen en gepasseert op de derde Voyagie van Gijsbert Heecq naer Oost-Indijen (Journal kept by Gijsbert Heecq on his third voyage to the East Indies), 1654-55. เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Dutch National Archives) กรุงเฮก
สำหรับเนื้อความที่กล่าวถึงการแปลภาษาในรูปแบบ “ภาษาไทย-ภาษาโปรตุเกส-ภาษาดัตช์” ระหว่างพ่อค้าชาวดัตช์กับราชสำนักอยุธยา สามารถดูได้ในช่วงท้ายหน้า 42 ของบทความวิชาการเรื่อง De Merees and Schouten visit the court of King Songtham, 1628 โดย Barend J. Terwiel, University of Hamburg ดาวน์โหลดได้จากเวบไซต์ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/pub_jss/article/download/186843/167659/
3) ฝรั่งเศส
บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่มาเผยแผ่ศาสนา หรือตัวแทนในการติดต่อระหว่างสยามกับฝรั่งเศส (ออกญาวิชาเยนทร์) ต่างก็ใช้ภาษาโปรตุเกสในทางการทูต
สนธิสัญญาทางการค้าระหว่างสยาม (อยุธยา) กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1687 ในต้นฉบับภาษาไทยระบุว่าสนธิสัญญานี้ทำไว้ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส และภาษาโปรตุเกส น่าเสียดายว่าต้นฉบับที่เจอในแหล่งข้อมูลฝั่งไทยมีเพียงภาษาไทยเท่านั้น
**สามารถดูสนธิสัญญาฉบับนี้ได้ที่ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/21331
เนื้อความสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างสยาม (อยุธยา) กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1687 ตรงที่ขีดเส้นใต้สีแดงกล่าวว่า "ใช้ภาษาไทยสามชบับ ภาษาฝรั่งเสดสามชบับ ภาษาปัตุกกรรสามชบับ" แสดงถึงภาษา 3 ภาษา (ไทย ฝรั่งเศส โปรตุเกส) ที่ใช้ทำสนธิสัญญาฉบับนี้
ในสนธิสัญญาฉบับนี้ ยังมีร่องรอยภาษาโปรตุเกสในภาษาไทย เช่น "อิงวิยาโดรเอกโตรวิยารี" ที่สยามรับมาจากคำ Enviado extraordinário ในภาษาโปรตุเกส ซึ่งหากพิจารณารูปแบบการทูตในสมัยนั้น อาจเรียกเป็น "ราชทูต" ก็ว่าได้ (ต่างจากการทูตในปัจจุบัน ที่บุคลากรทางการทูตการต่างประเทศ มีการแบ่งลำดับซับซ้อน)
เนื้อความช่วงต้นของสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างสยาม (อยุธยา) กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1687 ตรงที่ขีดเส้นใต้สีแดงกล่าวถึง "อิงวิยาโดรเอกโตรวิยารี" ซึ่งทับศัพท์จากคำศัพท์ภาษาโปรตุเกส
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารร่วมสมัยอย่าง หนังสือของเจ้าพระยาศรีธรรมราช ถึงเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ค.ศ.1694 ก็มีคำไทยที่ทับศัพท์จากภาษาโปรตุเกส คือคำว่า "ปาตรี" มาจากคำ Padre ในภาษาโปรตุเกส หมายถึงบาทหลวงในศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ก่อนจะกลายมาเป็นคำ "บาทหลวง" ในภายหลัง
4) สหรัฐฯ
ในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ.1833 ระหว่างสยามกับสหรัฐฯ นับเป็นสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐฯ กับชาติตะวันออกชาติแรก โดยต้นฉบับทำขึ้น 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาโปรตุเกส และภาษาอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าในช่วงนี้ ภาษาโปรตุเกสยังคงมีบทบาทเป็น "ภาษากลาง" ในการล่ามแปลภาษาของสยามอยู่
ส่วนหัวของหนังสือสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ.1833 ระหว่างสยามกับสหรัฐฯ เรียงจากซ้ายมาขวาเป็นภาษาไทย ภาษาโปรตุเกส ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ โดยส่วนของภาษาโปรตุเกสเขียนว่า Tractado de Amizade e Commercio entre Sua Magestade o Magnífico Rey De Siam e os Estados Unidos da América แปลว่า “สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ระหว่างกษัตริย์สยามและสหรัฐอเมริกา” ซึ่งคำบางคำเป็นคำภาษาโปรตุเกสแบบเก่าที่ไม่ใช้แล้วในปัจจุบัน (คำสีเขียวในรูป) และคำเรียกภาษาไทยของ “สหรัฐอเมริกา” ในสนธิสัญญาฉบับนี้ เรียกเป็น “อิศตาโดอุนิโดดาอะเมริกะ” ที่ทับศัพท์มาจากภาษาโปรตุเกสอีกที
ไฟล์สแกนเอกสารสนธิสัญญาฉบับนี้ทั้งฉบับ สามารถดูได้ที่เวบไซต์ของสถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี
5) เดนมาร์ก
แม้จะยังไม่พบหลักฐานว่ามีการใช้ภาษาโปรตุเกสในการแปลเอกสารทางการทูตระหว่างสยามกับเดนมาร์ก แต่ในบทความเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์กในปี ค.ศ.1939 เรียกเดนมาร์กว่า “ดีลกมาศ / ดีลมาศ” ซึ่งมีการกล่าวว่าเพราะล่ามถนัดภาษาโปรตุเกสมากกว่า (อาจเป็นล่ามชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสสมัยรัชกาลที่ 4 – 5?) ตามที่ภาษาโปรตุเกสเรียกเดนมาร์กว่า Dinamarca แสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อน คนไทยใช้การออกเสียงตามภาษาโปรตุเกสทับศัพท์คำหรือชื่อส่วนหนึ่งในภาษาตะวันตกอื่น ๆ
เนื้อความที่กล่าวถึงล่ามที่ช่วยแปลภาษาว่าถนัดภาษาโปรตุเกส จนทับศัพท์ชื่อประเทศเป็น "ดีลมาศ" จากการออกเสียงภาษาโปรตุเกส เนื้อหาส่วนนี้อยู๋ในศัพทาธิบาย นิพนธ์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวยากร หน้า 36 สามารถดูได้ที่ https://thesiamsociety.org/wp-content/uploads/2020/02/JSS_031_2m_PrinceWanWaityakorn_SapAthibhai.pdf
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นบทบาทของ "ภาษาโปรตุเกส" ในฐานะ “ภาษากลาง” (Lingua Franca) ต่อการล่ามและการแปลภาษาตะวันตกในสยาม สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งสมัยนั้นยังมีการแปลโดยตรงหรือพจนานุกรมระหว่างภาษาอังกฤษ-ภาษาไทย หรือภาษาฝรั่งเศส-ภาษาไทยไม่มากครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม]
- เรื่องฟอลคอนใช้ภาษาโปรตุเกส : https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_896709
- เรื่องจอห์น ครอวเฟิร์ด กับล่ามภาษาโปรตุเกส ล่ามภาษามลายู (หน้า 29) และกงสุลโปรตุเกสแปลหนังสือ (หน้า 42) ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ : https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๖๒
- เอกสารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และสมัยหลังจากนั้นที่เก็บรักษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส : https://www.tru.ac.th/culture2010/database/1297307921_6.pdf
- ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ โดยคริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร สำนักพิมพ์มติชน (หน้า 304-305) : https://books.google.co.th/books?id=CeUuEAAAQBAJ
โฆษณา